วันเวลาของ “รถถีบเฒ่า”

รถจักรยานโบราณหรือที่คนเมืองล้านนาเรียกว่า “รถถีบเฒ่า” พาหนะสำคัญในการสัญจรของคนเมืองเมื่อราว 50 ปีก่อน รถถีบได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนเมืองเชียงใหม่เมื่อครั้งที่บ้านเมืองมีความเจริญ มีเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯขึ้นมาถึงเชียงใหม่ การค้าขายและขนส่งสินค้าระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯจึงมีมากขึ้น

This image is not belong to us

ก่อนปี พ.ศ.2470 ชาวเมืองเชียงใหม่ยังนิยมการเดินทางด้วยเท้าและการใช้เกวียนในการเดินทางเพื่อค้าขายกับคนต่างถิ่น รถจักรยานจึงเป็นพาหนะของคนที่มีฐานะ ในสมัยนั้นรถจักรยานมีไม่กี่คันในเชียงใหม่ จนเวลาผ่านไปรถจักรยานเริ่มมีจำนวนมากขึ้น เพราะสะดวกและใช้ขี่ไปไหนมาไหนได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าสนนราคาในขณะนั้นจะค่อนแพงก็ตาม
เรื่องราวของจักรยานหรือรถถีบ เริ่มต้นในสยามประเทศเมื่อร้อยกว่าปีก่อน หลังจากที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ท่านได้รับพระบรมราชโองการไปทำราชการที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษใน ปี พ.ศ.2421 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวอังกฤษกำลังตื่นตัวอย่างมากกับพาหนะสำคัญที่น่าทึ่งเหล่านี้ เมื่อเวลาเดินทางกลับประเทศไทยพระยาภาสกรวงศ์ท่านได้นำยานพาหนะชนิดใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยใส่เรือเดินทางกลับมาด้วย โดยท่านได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่แน่ชัดว่ารถถีบ

This image is not belong to us

รุ่นแรกที่นำเข้ามามีทั้งสิ้นกี่คัน แต่คงเป็นจำนวนไม่น้อยเพราะมีหลักฐานบันทึกว่า ปีพ.ศ.2456 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรี ได้สั่งจักรยานเข้ามาจำหน่ายรุ่นแรกองค์ละ 100 คัน ทำให้เกิดการใช้รถจักรยานกันอย่างกว้างขวางถึงกับมีการรวมตัวกันตั้งเป็นสโมสรจักรยานขึ้นในวังพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดชการ การจำหน่ายรถจักรยานในสมัยนั้นไม่มีบันทึกว่าเป็นรถยี่ห้ออะไร แต่มีประกาศโฆษณาขายจักรยานโดยผ่านประเทศสิงคโปร์ในยุคนั้น ปรากฏชื่อจักรยานตรา Royal Psycho
แม้จักรยานที่เข้ามาในเมืองไทยจะมีมากกว่า 60 ยี่ห้อ แต่คนไทยกลับให้ความเชื่อถือรถจักรยานอยู่เพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้นคือ ฮัมเบอร์ (Humber) และ ราเล่ย์ (Raleigh) ประมาณ ปีพ.ศ.2495 รถฮัมเบอร์และราเล่ย์ ราคาคันละ 1,400 บาท

This image is not belong to us

เมื่อแรกรถถีบยังไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย คงเรียกทับศัพท์กันว่า “ไบศิเกิล” หลังจากนั้นอีก 15 ปีเมื่อ พ.ศ.2438 นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ จึงได้เรียกว่า “จักรยาน” ขึ้นเป็นคนแรกและชื่อนี้จึงได้แพร่หลายในเวลาต่อมา
ก่อนปี พ.ศ.2500 รถจักรยานเริ่มเข้ามาแพร่หลายในเมืองเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ว่ากันว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนคัน แทบทุกบ้านไม่ว่าจะร่ำรวยยากจนจะต้องมีรถจักรยานอย่างน้อยบ้านละหนึ่งคัน รถจักรยานเริ่มแพร่หลายมากขึ้น เมื่อรัฐบาลอังกฤษได้มีอิทธิพลทางการค้า อินเดียและพม่าตกเป็นเมืองอาณานิคม นักธุรกิจชาวอังกฤษมุ่งหน้าสู่ล้านนาด้วยธุรกิจป่าไม้ เหมืองแร่และใบยาสูบ การค้าขายในล้านนาเวลานั้น ใช้เงินรูปีของอินเดียและพม่าเป็นหลัก ชาวล้านนาเรียกว่า “เงินแถบ”

This image is not belong to us

เมื่อการค้าคึกคักและชาวเมืองมั่งคั่ง รถถีบจึงเป็นพาหนะสำคัญทั้งในด้านความจำเป็นและการแสดงฐานะ รถถีบเข้ามาสู่เชียงใหม่โดยสองทางด้วยกันคือ บรรทุกรถไฟจากกรุงเทพฯสู่ปากน้ำโพแล้วถ่ายลงเรือทวนแม่น้ำปิงขึ้นมา ส่วนอีกทางมาจากอินเดีย บรรทุกเรือสู่อ่าวมะตะบันผ่านเมืองมะละแหม่งเข้าสู่ล้านนาทางบกด้วยขบวนวัวหรือม้าต่าง ด้วยวิธีการนี้ รถถีบบางยี่ห้อซึ่งไม่พบในกรุงเทพและภาคกลาง จึงกลับมาดาษดื่นในภาคเหนือ ทั้งลำพูน ลำปางและแพร่ ในเวลาต่อมา เมื่อรถไฟลอดอุโมงค์ขุนตานสำเร็จ รวมทั้งอิทธิพลของอังกฤษในล้านนาลดลง การขนส่งทางรถไฟจึงทวีความสำคัญขึ้น ห้างร้านในเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นตัวแทนเอเยนต์จำหน่ายให้กับผู้แทนการค้าในกรุงเทพฯ ห้างร้านสำคัญ ๆ ที่ยังยืนยงมาจนถึงปัจจุบันอย่างนิยมพานิชและตันตราภัณฑ์ รวมทั้งเลิกกิจการไปแล้วอย่าง เลี่ยวชุนหลี ล้วนต่างเป็นตัวแทนจำหน่ายรายสำคัญในยุคนั้นทั้งสิ้น
ปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่า รถจักรยานโบราณที่เคยมีใช้อย่างมากมายในสมัยนั้นแทบจะหายากแล้ว นับตั้งแต่รถมอเตอร์ไซด์เข้ามามีบทบาททำให้โรงงานที่ผลิตรถจักรยานโบราณไม่ได้ทำการผลิตอีกต่อไป จะคงเหลือแต่เฉพาะที่ชาวบ้านซื้อมาขี่เท่านั้น ด้วยความคลาสสิคและรูปทรงที่ออกแบบมาอย่างสวยงามผนวกกับคุณค่าของการที่เคยใช้ปั่นรับใช้ผู้คนมาแต่อดีตกาล

This image is not belong to us

จักรยานหรือรถถีบ เคยผ่านช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ มีจักรยานจากต่างแดนหลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อหาทั้ง ราเลห์ ฮัมเบอร์ ฟิลิปส์ ซันบีม เฮอร์คิวลิส บีเอสเอ จนถึงยุครุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง “เฟสสัน” ช่วงเวลาหนึ่งจักรยานเหล่านี้กลายเป็นของล้าสมัย ถูกซุกซ่อนอยู่ในซอกมุมของบ้าน ปล่อยให้ฝุ่นจับ ผุพังไปตามกาลเวลา
ปัจจุบันรถจักรยานโบราณกำลังจะกลายเป็นของหายากแล้ว รถมอเตอร์ไซด์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมเมืองเชียงใหม่ที่มีแต่ความรีบเร่ง จนทำให้ผู้คนหลงลืมภาพชีวิตของคนเมืองเมื่อในอดีตกว่า 50 ปีที่ผ่านมา
บทความโดย


จักรพงษ์ คำบุญเรือง