ผู้ป่วยอายุน้อยสุดของไทย ทารกแค่ 2 วัน ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ในพื้นที่มหาชัย

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 ก.พ. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 157 คน เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 144 คน เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 38 คน รวมทั้งจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 106 ราย จากผู้มาจากต่างประเทศ 13 คน ที่น่าตกใจคือพบผู้ติดเชื้อที่มีอายุน้อยสุดเพียง 2 วันที่ จ.สมุทรสาคร ทำให้มียอดรวมผู้ติดเชื้อ 23,903 คน หายป่วย 18,914 คน อยู่ระหว่างการรักษา 4,909 คน มีเสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นหญิงไทยอายุ 65 ปี มีโรค ประจำตัวคือมะเร็งกล่องเสียง ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไขมันในเลือดสูง มีประวัติติดเชื้อจาก จ.สมุทรสาคร เป็นคนในครอบครัว โดยครบครัวดังกล่าวมี 8 คน ติดเชื้อไปแล้ว 5 คน ก่อนเสียชีวิตไปฟอกไตเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 มีอาการหนาวสั่น ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อในวันที่ 1 ม.ค. จึงย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยา-บาลใน กทม. มีอาการหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ ต้องเจาะท่อช่วยหายใจ อาการไม่ดีขึ้นจนเช้าวันที่ 8 ก.พ. ได้เสียชีวิต รวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 80 คน

ตรวจเชิงรุกกว่าแสนคนพบติดเชื้อ 7 พัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก พูดถึงการค้นหาเชิงรุกในชุมชน จ.สมุทรสาคร ซึ่งรอง ผวจ. สมุทรสาคร และ นพ.สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ชี้แจงว่าตรวจเชิงรุกไปแล้วแสนกว่าคน พบผู้ติดเชื้อ 7 พันกว่าคน จากการเข้าไปตรวจโรงงานขนาดใหญ่ 9 แห่ง มี 4 โรงงาน ที่มีคนงานหลักหมื่น พบผู้ติดเชื้อตามข่าวร้อยละ 26-27 ของบางโรงงาน ขณะนี้ใช้ระบบบับเบิลแอนด์ซีล แน่นอนว่าเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อขนาดนั้น บางคนที่ยังไม่ติดเชื้อก็มีโอกาสติดเชื้อได้ในภายหลัง เราจะทอดระยะเวลาไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดการติดเชื้อโดยธรรมชาติ บางคนอาจพูดว่าจากข้อมูลผู้ติดเชื้อจากการตรวจสอบเชิงรุก 106 คน ในวันนี้ อาจน้อยกว่าความเป็นจริงนั้นใช่ แต่ตอนนี้เข้าไปตรวจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ในเชิงที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ใหม่ๆ

This image is not belong to us

เล็งสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติสมุทรสาคร

โฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำอีกระยะคือจะเข้าไปตรวจสอบภูมิคุ้มกัน ขอให้เจ้าหน้าที่สรุปชุดข้อมูลกันก่อน ถ้าเป็นไปตามที่คาดคนที่ติดเชื้อเมื่อนำออกมา คนที่อยู่ภายในอาจได้รับเชื้อมาบ้างอย่างอ่อนๆ จะมีการติดเชื้อไปบ้าง ถ้ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นจำนวนมากขึ้นโดยธรรมชาติ จะทำให้เราเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ หลายประเทศทำกัน แต่ต้องรอข้อมูลจริงที่ออกมาจะเป็นตามที่คาดคิดหรือไม่ ถ้าเป็นตามนั้นจะเห็นภาพการผ่อนคลายเปิดเมืองต่างๆ แต่ต้องให้ความสำคัญเรื่องช่วงเวลา

พบแม่ค้าในตลาดสดติดเชื้อมาก

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลผู้ติดเชื้อในพื้นที่ตลาด 1,815 คน แจ้งต่อที่ประชุม พบว่าร้อยละ 96.86 เป็นการติดเชื้อในตลาดสด ร้อยละ 3.14 ติดเชื้อในตลาดนัด พบเป็นผู้ขายถึงร้อยละ 90.19 ผู้ซื้อร้อยละ 9.81 ปัจจัยของการติดเชื้อคือไม่มีมาตรการระวังตัวเอง ไม่มีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าตลาด แม่ค้าไม่ค่อยล้างมือ ขาดความสม่ำเสมอในการทำความสะอาดในจุดสัมผัสร่วม ไม่มีที่กั้นระหว่างร้านค้า แม้ค้าตลาดสดเดินทางไปซื้อของหลายแห่ง ขณะที่ตลาดนัดมีการหมุนเวียนแม่ค้า จึงมีข้อเสนอแนะทุกตลาดต้องเข้มข้นมาตรการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย หากไม่สามารถเว้นระยะแผงค้าได้ ควรมีฉากกั้นและงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด ช่วงนี้ใกล้เทศกาลตรุษจีนขอเว้นการแถลงข่าวในวันที่ 12-14 ก.พ. เพื่อฉลองเทศกาลตรุษจีน

“อนุทิน” ย้ำอีกวัคซีนถึงไทย ก.พ.แน่นอน

ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ ระยะที่ 1 นายอนุทินกล่าวว่า ไทยจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 63 ล้านโดส โดย 2 ล้านโดส เป็นของบริษัทซิโนแวค ลอตแรก 2 แสนโดส จะมาถึงไทยภายในเดือน ก.พ. เดือน มี.ค.ได้รับ 8 แสนโดส เดือน เม.ย.ได้รับ 1 ล้านโดส เดือน พ.ค.ได้วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์อีก 26 ล้านโดส ในเดือน ก.ย.ได้รับอีก 35 ล้านโดส

This image is not belong to us

หนุนองค์การเภสัชฯผลิตด้วย

นายอนุทินกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน มีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยคนไทยโดยองค์การเภสัชกรรม กับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบัน PATH องค์กรพัฒนาเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดีราคาไม่แพงของสหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมาในสัตว์ทดลอง โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่เป็นเทคโนโลยีหลักที่องค์การเภสัชฯ ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่ในขณะนี้และพร้อมทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือน มี.ค. ในอาสาสมัคร 210 คน ระยะ 2 เดือน เม.ย.-พ.ค. อีก 250 คน และเข้าสู่ระยะ 3 หากครบทั้ง 3 ระยะและวัคซีนมีความปลอดภัย จะยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. และผลิตในระดับอุตสาห-กรรมที่โรงงานขององค์การเภสัชกรรม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ที่มีกำลังการผลิตปีละ 25-30 ล้านโดส หากไม่มีอุปสรรคใดๆ อีกไม่นานไทยจะมีโรงงานผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งที่ 2 ต่อจากของบริษัทสยาม-ไบโอไซเอนซ์ จะสร้างความมั่นใจและความมั่นคงในการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย โดยมีวัคซีนมากเพียงพอที่จะดูแลทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือทุกประเทศที่มีความต้องการวัคซีนโควิด-19

เล่นสำนวนไม่ได้แทงม้าตัวเดียว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า การสนับสนุนการผลิตขององค์การเภสัชกรรม เป็นการลบข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว เพราะนอกจากเราไม่ได้แทงม้าตัวเดียวแล้ว เรายังเป็นเจ้าของคอกม้า เลี้ยงม้าเอง หรือผลิตวัคซีนเอง เราจะดูแลม้าเป็นอย่างดี เพื่อเวลาออกมาแข่งจะทำให้เจ้าของม้าคือองค์การเภสัชกรรม คือคนไทยทั้งประเทศนั่นเองได้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ส่วนที่มีผู้เบี่ยงเบนประเด็นว่าใส่หน้ากากอนามัยดีกว่าวัคซีน ยืนยันว่าแม้เราฉีดวัคซีนแล้วยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล การกล่าวของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ตราบใดที่วัคซีนยังมาไม่ถึงหรือได้รับวัคซีนแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือ การใส่หน้ากากอนามัย ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไทยอยู่กับโควิดมา 14 เดือน คนไทยร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เราถึงได้ป้องกันโควิดได้อย่างดี การระบาดระลอกใหม่เกิดจากคนบางกลุ่มทำผิดกฎหมายนำเชื้อโควิดจากนอกประเทศมาแพร่ในไทย การใส่หน้ากากอนามัยจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อได้รับวัคซีนและสวมหน้ากากอนามัย ถือเป็นการล็อกประตูสองชั้น เรายิ่งปลอดภัยจากโควิด-19

ศึกษาวิจัยวัคซีนในไทยอีก 3 ตัว

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ความคืบหน้าการศึกษาวิจัยวัคซีนชนิดอื่นๆในไทยที่อยู่ในระยะที่จะศึกษาวิจัยในคนระยะที่ 1 นอกจากของ อภ.มีอีก 3 ตัว คือ 1.ชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 2.ชนิด DNA ของบริษัทไบโอเนทเอเชีย จำกัด 3.ชนิดโปรตีน ของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม คาดว่าจะเริ่มศึกษาวิจัยในคนระยะที่ 1 ได้ในเวลาใกล้เคียงกัน คือไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ชนิดอื่นๆคือ ชนิดเชื้อตายของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในขั้นการพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ ชนิดเชื้อเป็นของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อยู่ในระยะทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง, ชนิดไวรัล แว็กเตอร์ ของสวทช. อยู่ในระยะทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง และชนิดไวรัสอนุภาคเหมือน ของ สวทช. และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อยู่ในระยะทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเบื้องต้นในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ ไทยยังมีวัคซีนอีกกว่า 20 ชนิดอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา

This image is not belong to us

“ฮีโร่มหาชัย” หายใจเองลุกนั่งได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเมื่อบ่ายวันเดียวกัน ถึงอาการนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร ว่า อาการดีขึ้นมาก เมื่อวันที่ 9 ก.พ. มีการหยุดเครื่องช่วยหายใจเพื่อลองให้ผู้ว่าฯหายใจเอง สามารถทำได้ถึง 4 ชม. ความจริงทำได้มากกว่านี้ แต่ไม่อยากให้เร่งรีบ ระดับออกซิเจนก็อยู่ในเกณฑ์ดี สื่อถึงปอดทำงานได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ วันที่ 10 ก.พ. เอกซเรย์ปอดด้วยคอมพิวเตอร์อีก และผู้ว่าฯสามารถลุกขึ้นมาอยู่ในท่านั่งระดับ 75 องศาได้ สามารถเคาะมือตามจังหวะเสียงดนตรี กำลังใจดีมาก ทีมแพทย์ได้นำเครื่องดนตรีเข้ามาช่วยฟื้นฟู ประเมินการสื่อสารและกระตุ้นการรับรู้ ถือว่าผู้ว่าฯให้ความร่วมมือทำได้ดีมาก ตอนนี้กำลังจะหาเทคโนโลยีมาให้ผู้ว่าฯได้สื่อสารง่ายขึ้น เรื่องยาขณะนี้ไม่มียาฉีดแล้ว และถอยยาที่ไม่จำเป็นลง เช่นเดียวกับยาลดการสร้างพังผืดลดไป 1 ตัว เนื่องจากดูการฟื้นตัวของปอดดีขึ้น การให้สารอาหารตอนนี้ทำได้เต็มที่

ผู้ว่าฯยิ้มจะได้กลับสมุทรสาคร

“ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ระยะฟื้นตัว เมื่อทุกอย่างดีขึ้น เร็วๆนี้คงย้ายออกจากไอซียู แต่ออกไปแล้วยังไม่อยากให้เยี่ยม เพราะจะทำให้ไม่ได้พักฟื้นและป้องกันการติดเชื้อ ส่วนที่เจาะคอตอนนี้ยังอยู่ จนกว่าจะแน่ใจว่าท่านหายใจได้เอง จะเป็นส่วนสุดท้ายที่จะถอยออก ได้เข้าไปพูดคุยกับท่าน ได้บอกกับท่านว่าเราจะกลับไปสมุทรสาครด้วยกัน จะไปส่งถึงที่ ท่าน มีสีหน้ายิ้มแย้ม ดูมีกำลังใจดีขึ้นมาก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า การฟื้นฟูกล้ามเนื้อสำหรับผู้ป่วยที่นอนรักษามาเป็นเดือน ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์จนถึงเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก สภาพทั่วไป แต่ที่ผ่านมาผู้ว่าฯทำตามที่แพทย์สั่งได้ดี ทำกล้ามเนื้อฟื้นตัวได้ดี แต่สังเกตท่านพยายามทำอย่างมาก ก็บอกว่าอย่าเร่งรีบ ยืนยันว่าท่านสามารถฯฟื้นฟูจนเดินได้ปกติแน่นอน

เจอโควิดที่ตลาดจักรยาน 22 ราย

ส่วนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หลังจากเมื่อวันที่ 9 ก.พ. มีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวดเดียว 18 ราย เป็นคลัสเตอร์จากลุงวัย 75 ปี 10 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกที่ตลาดค้าจักรยานชายแดนแม่สอด 8 ราย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพราะพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนโรคได้ตั้งจุดตรวจที่ตลาดค้ารถจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ท่าเรือที่ 13 คลัง 9 บ้านท่าอาจ ต.ท่าสายลวด คัดกรองกลุ่มผู้ประกอบการและคนงาน รวม 318 ราย เป็น คนไทย 57 ราย เมียนมา 261 ราย พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 22 รายและยังลงพื้นที่มัสยิดอันซอร์ เขตเทศบาลนครแม่สอด ปูพรมตรวจผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงในชุมชน พบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ลุง 75 ปี และยังพบผู้ติดเชื้อในสถานกักกัน 3 ราย ส่งเข้ารักษาใน รพ.แม่สอดแล้ว

This image is not belong to us

พ่อค้าเป็ดไก่ครวญยอดขายตกฮวบ

ส่วนตลาดนครแม่สอดและตลาดสดพาเจริญ ที่ถูกสั่งปิด 2 วัน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 ก.พ. ได้เปิดให้มีการค้าชายได้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ในวันจ่ายและวันไหว้ หลังจากนั้นจะปิดต่อ ทำให้ตลาดอยู่ในความเงียบเหงาเนื่องจากประชาชนยังหวาดกลัวเชื้อโควิด ต่างไปหาซื้อของไหว้เจ้าตามห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาเกตแทน

นายสุริยะ เสรี อายุ 46 ปี เจ้าของร้านขายเป็ด-ไก่พะโล้รายใหญ่ในตลาดสดพาเจริญ กล่าวว่า ช่วงตรุษจีน สารทจีนที่ผ่านมา เคยขายเป็ดไก่ได้ถึงวันละกว่า 500 ตัว แต่ปีนี้เงียบมาก ตลาดปิดมีผลกระทบหนักที่สุด ตรุษจีนปีนี้ขายได้แค่ 100-200 ตัว เป็นออเดอร์จากลูกค้าประจำที่สั่งไว้

ตั้งจุดพ่นยาฆ่าเชื้อที่ด่านปาดังฯ

ที่บริเวณด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา นายเชาว์ เฉลิมเกียรติ์ นายด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ นำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการติดตั้งเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อให้กับรถบรรทุกสินค้าที่เข้า-ออก ระหว่างไทย-มาเลเซียทุกคัน ป้องกันการนำเชื้อโรคที่อาจติดเข้ามากับรถและแจกน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดพ่นให้คนขับรถบรรทุกนำไปฉีดพ่นในห้องโดยสาร

ประจวบฯผ่อนผันเปิดด่านสิงขร

ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รอง ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ และคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา จ.ประจวบฯ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชุมได้พิจารณาให้มีการผ่อนผันการใช้ช่องทางด่านสิงขร เฉพาะเพื่อนำเข้าหรือส่งออกสินค้าบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดน โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. เริ่มวันที่ 22 ก.พ.

This image is not belong to us

ตลาดมหาชัยเหงาคนซื้อของบางตา

ด้าน จ.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวไปสำรวจบรรยากาศการค้าขายที่ตลาดมหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร พบว่าเทศกาลตรุษจีนปีนี้ตลาดมีความเงียบเหงาอย่างมาก เพราะพิษโควิด แม้แม่ค้าแต่ละร้านจะขึ้นป้ายแขวนแจ้งว่าร้านนี้ผ่านการตรวจคัดกรองโควิดแล้ว แต่ลูกค้าก็ยังกลัวไม่กล้าซื้อ ขณะที่บรรดาอาหารทะเลและหมูเป็ดไก่ ที่ต้องใช้ในการไหว้เจ้าจะมี การปรับลดราคาลงมา แต่ก็มีคนซื้อน้อย

วันเดียวกันนายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร ได้สั่งปิดตลาดในเขตเทศบาลนครสมุทรสาครทุกแห่งในวันที่ 12-14 ก.พ. เพื่อล้างทำความสะอาดตลาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและให้ผู้ประกอบการกับลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับตลาดทั้งหมด ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วไม่พบเชื้อเท่านั้นที่จะเข้ามาค้าขายในตลาดได้

บุคลากรจุฬาฯติดโควิดอีก 1

ขณะที่ความคืบหน้ากรณีมีเจ้าหน้าที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พักอาศัยในหอพักบุคลากรติดเชื้อโควิด-19 และได้นำส่งเข้ารักษาตัวใน รพ.จุฬาฯนั้น ต่อมาคณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯได้จัด ให้มีการตรวจคัดกรองโรคเชิงรุกกับกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคลากรกลุ่มดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 ก.พ. พบมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 อีก 1 คน ส่วนโรงเรียน มัธยมวัดเบญจมบพิตร มีประกาศปิดโรงเรียนในวันที่ 10-11 ก.พ. โดยให้เปิดเรียน 15 ก.พ. เนื่องจากมีบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

“ฮุน มาเนต” ฉีดวัคซีนเข็มแรกของกัมพูชา

ที่กัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาเริ่มโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในวันที่ 10 ก.พ. หลังได้รับมอบวัคซีนของบริษัท ซิโนฟาร์ม ที่รัฐบาลจีนบริจาคให้เป็นจำนวน 600,000 โดส เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวรายงานบรรยากาศจากโรงพยาบาลกัลเมตต์ในกรุงพนมเปญว่า ผู้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรกของประเทศคือ พล.ท.ฮุน มาเนต รองผู้บัญชาการกองทัพบก ลูกชายคนโตของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ขณะที่เจ้าตัวกล่าวรณรงค์ให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีน หลังฉีดแพทย์ได้กำชับว่าให้งดอาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนรัฐบาลจีนประกาศก่อนหน้าว่า จะบริจาควัคซีนให้กัมพูชาทั้งหมด 1 ล้านโดส เพียงพอสำหรับ 500,000 คน

เชื่อวัคซีนสู้โควิดต้องฉีดทุกปี

นายอเล็กซ์ กอร์สกี ผู้บริหารบริษัทเวชภัณฑ์จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แบบโดสเดียว ประเมินว่าเนื่องด้วยการที่ไวรัสกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ชาวโลกต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกปี ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2-3 ปี ถึงจะมีภูมิคุ้มกันที่ป้องกันไวรัสได้ ด้านหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่านักวิจัยสหรัฐฯอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม หลังพบผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของโมเดอร์นา ประเทศสหรัฐฯ ป่วยเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน หรือคือการที่ภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) ยังไม่ขอสรุปว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนหรือไม่