“ยอดคนแห่งวงการรถ” ชีวประวัติของ “ฮอนดะ โซอิจิโร่” ผู้ก่อตั้ง Honda ฉบับย่อสุด

เขาเป็นช่างเทคนิค เขาคือผู้ประกอบการ ผู้เริ่มจากกิจการซ่อมรถยนต์ จนมาถึงผู้ผลิตรถสองล้อถึงรถสี่ล้อ เขาสร้างชื่อของ Honda ในโลกกีฬามอเตอร์สปอร์ต เขานำกิจการของเขาสู่ความเป็น “Honda of the World” ได้ในหนึ่งชั่วอายุคน เขามีคำคมและ “ฉากชีวิต” มากมาย เขาคือ “ฮอนดะ โซอิจิโร่”

ไทม์ไลน์ชีวิต

-ปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) เกิดมาเป็นลูกชายคนโตของช่างตีเหล็กในจังหวัดชิซุโอกะ

-ปี ค.ศ. 1922 (พ.ศ. 2465) เข้าทำงานที่อู่ซ่อมรถยนต์ “Art Shokai (ปัจจุบันคือ Art Metal) ที่โตเกียว

-ปี ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) ก่อตั้ง “Art Shokai” สาขาฮามามัตสึ ถิ่นเดิมของตน

-ปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480): รู้สึกว่ากิจการซ่อมรถถึงจุดอิ่มตัว เลยไปก่อตั้งบริษัท “Tokai Seiki Heavy Industries (ปัจจุบันคือ Tokai Seiki” เพื่อทำงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำพวกแหวนลูกสูบ

-ปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488): ขายบริษัท Tokai Seiki Heavy Industries ให้แก่ Toyato Shokki ด้วยเหตุที่โรงงานพังเพราะแผ่นดินไหวมิคาวะ (三河地震) เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

-ปี ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) ก่อตั้งสถาบันวิจัยเทคนิคฮอนด้า (本田技術研究所) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการพัฒนารถสองล้อที่ติดเครื่องยนต์ใส่รถจักรยาน (รถจักรยานยนต์ ที่เราเรียกว่า มอเตอร์ไซค์นั้น แท้ที่จริงก็คือสิ่งที่พัฒนามาจากรถจักรยานสองล้อติดเครื่องยนต์นี่เอง การที่ต้องติดเครื่องยนต์นั้น เพราะประเทศญี่ปุ่นถนนหนทางเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ มาก ปั่นไม่ไหวก็ต้องจูง จึงคิดติดเครื่องยนต์ใส่จักรยาน ไปๆ มาๆ โครงรถจักรยานนั้นหนักไปก็คิดค้นโครงรถให้เบา จึงเกิดเป็นรถจักรยานยนต์)

-ปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมและวิจัยฮอนด้า (本田技研工業) พอปีต่อมานายฟูจิซาวะ ทาเคโอะ เข้ามาเป็นพันธมิตรช่วยดูแลด้านการเงินและการขาย

-ปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) เปิดตัวรถยนต์สี่ล้อ T360 และรถสปอร์ต S500

-ปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทฯ แล้วมาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหาร

-ปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) เป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้เข้า “หอเกียรติยศยานยนต์” ของอเมริกา

-ปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ถึงแก่กรรม อายุได้ 84 ปี

เกียรติประวัติ

This image is not belong to us

-เป็นผู้ริเริ่มการพัฒนารถจักรยานยนต์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เปิดตัวรถจักรยานยนต์เช่น Super Cub ในทศวรรษที่ 1960 ซึ่งทำให้กลายเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์อันดับต้นๆ ของโลก

-ปี พ.ศ. 2502 เข้าร่วมการแข่งขันเวิร์ลด์กรังปรีซ์ The Isle of Man TT และได้อันดับสูงๆ นี่คือจุดกำเนิดของกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตของฮอนด้า

-ช่วงทศวรรษที่ 1960 เขาก้าวมาผลิตรถยนต์สี่ล้อ ในปี พ.ศ. 2507 เข้าร่วมในการแข่งรถ F1 พอมาปี พ.ศ. 2508 ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ Mexico GP

-ปี พ.ศ. 2515 กฎข้อบังคับเกี่ยวกับก๊าซไอเสียที่เข้มงวดที่สุดในโลกของอเมริกา ก็ยังฝ่าด่านมาได้ ด้วยเครื่องยนต์ CVCC ที่พัฒนาขึ้นมาเอง เครื่องยนต์ CVCC คือการที่ ก๊าซผสมเข้มข้นถูกวางไว้ในห้องเผาไหม้รองแล้วจุดระเบิดด้วยหัวเทียน และก๊าซผสมจาง ๆ จะถูกวางไว้ในห้องเผาไหม้หลัก เพื่อให้เกิดการเผาไหม้โดยรวมเบาบาง มันลดก๊าซไอเสียโดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงลดลงและไม่ต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา รถ CIVIC คันแรกที่ติดเครื่องยนต์ CVCC ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก ซึ่งสร้างฐานะ “Honda of the World” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ฉากชีวิต

ฉากชีวิตและคำคมต่างๆ มากมายของเขาเป็นที่เล่าขาน แต่ในที่นี่จะขอหยิบยกเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับเทคนิคยานยนต์เท่านั้น

ตอนที่เขาทำบริษัท Tokai Seiki Heavy Industries เขาผลิตแหวนลูกสูบ แล้วมีฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างของ Toyota มาตรวจของ ตอนแรกๆ สินค้าเกือบทั้งหมด “ไม่ผ่าน” แทบจะเรียกได้ว่าบรรลัย ด้วยความเจ็บใจว่าตัวเองไม่มีความรู้ เลยไปเป็นนักศึกษา Audit (คือเรียนไม่เอาเกรด) ที่วิทยาลัยช่างอุตสาหกรรมฮามามัตซึ (ปัจจุบันคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิซุโอกะ) แล้วเรียนวิชาวิศวกรรมโลหะอย่างบ้าดีเดือดเป็นเวลาสามปี 

Super Cub

-เครื่องยนต์ของรถ Super Cub ซึ่งเริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2501 เป็นเครื่องยนต์ 4 จังหวะที่ยอดเยี่ยม ซึ่งนายฮอนดะภาคภูมิใจอย่างแรง ในยุคที่สมัยนั้นเครื่องยนต์ 2 จังหวะกำลังพีค รถ Super Cub มียอดการผลิตทั่วโลกถึง 100 ล้านคันในปี พ.ศ. 2560 ในฐานะ “รถจักรยานยนต์ที่ผลิตจำนวนมากที่สุดในโลก”

-นายฮอนดะมีความยึดติดกับ “เครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ” ซึ่งมีน้ำหนักเบากะทัดรัดและราคาถูกจนถึงที่สุด ยึดติดเสียจนเกิดความบาดหมางกับช่างเทคนิคฝ่ายที่พยายามผลักดันเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยน้ำ (วิศวกรบางคนถึงกับประท้วงไม่ยอมมาทำงาน) “Honda 1300” เปิดตัวในปี พ.ศ. 2512 แบบไม่สนคำค้านของช่างเทคนิค เครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ 1300cc ถูกระงับการผลิต เนื่องจากเกิดพบจุดอ่อนของเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศเข้า ด้วยเหตุนี้นายฮอนดะจึงถอนตัวจากสายงานในฐานะช่างเทคนิค

-ไอเดียต่างๆ ของนายฮอนดะ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “จิตวิญญาณที่ไม่เลียนแบบคนอื่น” และ “การมองไปข้างหน้าเพื่อค้นหาความต้องการในที่ที่มีปัญหา”

Honda 1300

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการพิชิตการแข่งขันมอเตอร์ไซด์และรถ F1 ในระดับโลกมากมาย เป็นเครื่องแสดงให้เห็นความสามารถทางเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ของ Honda แต่เป็นของญี่ปุ่นด้วย

ความเป็นคน “หัวแข็ง” แม้ข้อไม่ดีคือมั่นใจในตนเองเกินไปจนพาไปสู่ความล้มเหลวไปบางจังหวะชีวิต (บางทีเพราะเคยคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ไม่ต้องง้อตำรา) แต่เพราะความเป็นคน “หัวแข็ง” เช่นกันจึงไม่ยอมแพ้ สู้หัวชนฝา เอามันให้ได้ นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งอุปนิสัยอย่างหนึ่งของคนที่ “ประสบความสำเร็จ” ความ “หัวแข็ง” อาจไม่ดีเพราะทำให้เราต้องทะเลาะกับคนอื่น (มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบตัว) ก็ได้ในแง่นี้ แต่ความ “ไม่ยอมแพ้” นี่คือสิ่งที่ดีที่ควรมีไว้เป็นนิสัยประจำตัวแน่นอน ลองเอาประวัติของเรามาเรียนรู้ แล้ว “หยิบยาวทิ้งสั้น” กันนะครับ อะไรดีก็เอาไว้อันไหนไม่ดีก็ดูไว้แล้วอย่าตามครับ

สรุปเนื้อหาจาก clicccar

ผู้เขียน TU KeiZai-man