ทุจริต ‘พันล้าน’ ป.ป.ช.ฟัน 4นายพลตํารวจ


This image is not belong to us

จัดซื้อจยย.‘ไทเกอร์’เมื่อปี50 ชุดใหญ่ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 แฉล็อกสเปกเอื้อบริษัทเดียว

ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ 9-0 ยันเอาผิด 4 บิ๊ก ตร. คดีทุจริตจัดซื้อรถจยย.ไทเกอร์ ขนาด 200 ซีซี 19,147 คัน มูลค่า 1,144 ล้านบาท ระบุล็อก สเปกเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ทำให้มีผู้สามารถยื่นซองประมูลได้เพียงรายเดียว หลังใช้งานไม่นานทยอยเจ๊งแล้วไม่มีศูนย์บริการและอะไหล่รองรับ ทิ้งเป็นสุสานเศษเหล็กตามโรงพัก 1,447 แห่งทั่วประเทศ

กรณีคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ ขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ทดแทน 19,147 คัน วงเงิน 1,144,550,600 บาท นำมาแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปราบปรามตามโรงพักทั่วประเทศ ใช้เป็นพาหนะออกตรวจพื้นที่ โครงการดังกล่าวเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2550 เพื่อจัดซื้อรถจำนวน 19,147 คัน ราคากลางตามงบจัดซื้อคันละ 65,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,144,550,600 บาท เพื่อส่งให้สถานีตำรวจทั่วประเทศ 1,447 แห่ง แต่หลังจากรับรถ จยย.ไปใช้งานได้ไม่นาน ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์จำนวนมากถูกจอดทิ้งไว้ตามหน่วยงานตำรวจทั่วประเทศ เนื่องจากเมื่อรถ จยย.มีปัญหาขัดข้องไม่สามารถซ่อมบำรุงได้ เนื่องจากไม่มีศูนย์ซ่อมและไม่มีอะไหล่ เนื่องจากสเปกของรถ จยย.ไม่เหมือนกับรถ จยย.ทั่วไปในตลาดเมืองไทย จึงเริ่มมีการร้องเรียนจน ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวกับการจัดซื้อรถ จยย.สายตรวจแบบพิสดารครั้งนี้

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ลงนามในหนังสือส่งไปยัง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นาย ประกอบด้วย พล.ต.ท.ประชิน วารี รองจเรตำรวจ (สบ 9) พล.ต.ต.สมพงษ์ น้าเจริญ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ และ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ อดีตคณะกรรมการประกวดราคาโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี รุ่นไทเกอร์ พร้อมอุปกรณ์ทดแทนจำนวน 19,147 คัน วงเงิน 1,144 ล้านบาท ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดกรณีร่วมกันทุจริตการจัดซื้อรถจักรยานยนต์โครงการดังกล่าว ฐานความผิดทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยชี้มูลคดีดังกล่าวไปแล้วเมื่อปี 2557 แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหา 3-4 คนดังกล่าว ยื่นร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา เมื่อ ป.ป.ช.ไต่สวนแล้ว นำกลับมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง ยังยืนยันคำชี้มูลตามมติเดิม จึงส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการทางวินัย ผู้กระทำความผิดทั้งหมดอยู่ในคณะกรรมการจัดซื้อ และคณะกรรมการประกวดราคา ปัจจุบันบางคนเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ มีโทษถึงขั้นไล่ออก ปลดออก แล้วแต่ สตช.จะพิจารณา

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด พล.ต.ท.ประชิน วารี อดีตรองจเรตำรวจ (สบ 9) กับพวกรวม 13 คน ข้อหาร่วมกันทุจริตในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจว่า สำหรับหนังสือที่ส่งมามีขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องความไม่สุจริตของข้าราชการ ตรงนี้อาจมีข้าราชการบางส่วนที่เกษียณราชการไปแล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการต้องตั้งกรรมการตรวจสอบ พร้อมตั้งคณะกรรมการพิจารณาในภาพรวม ต้องใช้เวลาสักระยะ หนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องของการชี้มูลของ ป.ป.ช. ในส่วนของการดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกระบวนการภายในเพื่อดำเนินการ ทุกอย่างมีขั้นมีตอน ต้องเป็นรูปคณะกรรมการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีทุจริตโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซี พร้อมอุปกรณ์ทดแทนจำนวน 19,147 คัน วงเงิน 1,144,550,600 บาทนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน เม.ย.2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดกรณีดังกล่าวไปแล้ว พบว่าโครงการดังกล่าวเปลี่ยนการกำหนดคุณลักษณะรถจักรยานยนต์จากขนาด 150 ซีซี มาเป็นไม่เกิน 200 ซีซี และกำหนดสเปกโรงงานผู้ผลิตต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทำให้มีแต่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อไทเกอร์ รุ่น Boxer200 เท่านั้นที่สามารถเข้าเสนอราคาได้อย่างถูกต้องเพียงรายเดียว อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขการประกวดราคาที่บริษัทคาร์แทรคกิ้ง จำกัด ไม่มีศูนย์ซ่อมและตัวแทนจำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อมบำรุงตามสัญญาได้

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาอีกหลายอย่างเช่น อัตราเร่งไม่สามารถทำความเร็วได้เท่ากับรถยี่ห้อ อื่นในท้องตลาด ดังนั้น ป.ป.ช.จึงชี้มูลความผิดว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ชอบ นอกจาก ป.ป.ช.จะลงมติชี้มูลความผิดนายตำรวจทั้ง 4 นายที่ร่วมเป็นคณะกรรมการประกวดราคากระทำการโดยมิชอบแล้ว ยังชี้มูลความผิดผู้บริหารบริษัทเอกชน 2 ราย ที่เป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้แก่ น.ส.รัชนก แจ๊ะซ้าย กรรมการผู้จัดการบริษัทคาร์แทรคกิ้ง จำกัด ที่เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายให้บริการซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ และนายปิติ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ จำกัด ฐานร่วมกันกระทำการเสนอราคาโดยเอาเปรียบหน่วยงานรัฐ อันมิใช่เป็นในทางประกอบธุรกิจปกติตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 อย่างไรก็ตาม หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อเดือน เม.ย.2557 แล้ว ปรากฏว่า นายตำรวจทั้ง 4 นาย ยื่นขอความเป็นธรรมเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. ให้ทบทวนการลงมติ ป.ป.ช.รวบรวมหลักฐานและพิจารณาแล้วยืนยันว่า นายตำรวจทั้ง 4 นาย มีความผิดตามที่เคยชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วย นายตำรวจทั้ง 4 นายที่ถูกชี้มูลความผิด ประกอบด้วย พล.ต.ท.ประชิน วารี รองจเรตำรวจ (สบ 9) พล.ต.ต.สมพงษ์ น้าเจริญ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ และ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ อดีตคณะกรรมการประกวดราคา มีเพียง พล.ต.ท.อิทธิพล เพียงคนเดียวที่ยังรับราชการอยู่ เพิ่งเลื่อนเป็น พล.ต.ท.ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการประจำ ตร. ส่วนอีก 3 คนเกษียณอายุราชการไปหมดแล้ว