สานต่อพระราชปณิธาน ในหลวง ชีวิตครูบนดอย ของ ลูก “ม.ท.ศ.” ตอบแทนแผ่นดินตราบสิ้นลมหายใจ

สานต่อพระราชปณิธาน ในหลวง ชีวิตครูบนดอย ของ ลูก “ม.ท.ศ.” ตอบแทนแผ่นดินตราบสิ้นลมหายใจ

  “หากข้าพเจ้าได้เป็นครูอย่างที่หวังไว้ ข้าพเจ้าจะไม่สักแต่สอนหนังสือ แต่ข้าพเจ้าจะ ‘สอนคน’ คือสอนเด็กๆ ให้เป็นคนดี มีความรู้ มีความสามารถ และช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือชุมชน และช่วยเหลือประเทศชาติได้”

หนึ่งในคำมั่นของ “วาสินี รุ่งเมือง หรือ หญิง นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 2 จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ที่ประกาศคำมั่นในการทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเพื่อน้องบนดอยสูง

จากชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สู่ชีวิตข้าราชการครูที่ตั้งใจจะถ่ายทอดความรู้ที่มีให้แก่เด็กๆ และตั้งปณิธานอันแน่วแน่วว่าจะ   “ตอบแทนแผ่นดิน…ตราบสิ้นลมหายใจ”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่เรียนดี ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามสาขาวิชาที่ต้องการ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนจบระดับปริญญาตรี

แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ

วาสินี ได้รับทุนพระราชทานตั้งแต่ปี 2553  ทุนพระราชทานนี้ทำให้วาสินีได้ศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาที่มุ่งหวัง ซึ่งเลือกเรียนสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพราะมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็น ‘คุณครูบนดอย’ หรือ ‘คุณครูตามถิ่นทุรกันดาร’

เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหมุดหมายของชีวิตหวังไว้ วาสินี เลือกกลับมาสอบแข่งขันบรรจุข้าราชการ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนเอง เพราะต้องการกลับมาพัฒนาเยาวชนในบ้านเกิดให้มีความรู้ มีทักษะชีวิต มีโอกาสที่ดีเหมือนตัวเขา และชีวิตข้าราชการครูที่มุ่งหวังและใฝ่ฝันไว้ก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน วาสินีเป็นครู  โรงเรียนบ้านกอกหลวง ตำบลแม่นาจาง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยโรงเรียนนี้อยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 51 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์ กว่าสามชั่วโมง สภาพถนนหนทางมีทั้งลาดยาง คอนกรีต และลูกรัง สลับกันไป ทางลูกรังในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว ถนนก็จะเต็มไปด้วยฝุ่นหนา ส่วนในช่วงฤดูฝน ถนนก็จะสัญจรลำบาก

เนื่องด้วยเส้นทางดังกล่าวต้องลัดเลาะตามภูเขา จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น แต่ความยากลำบากดังกล่าวก็มิได้ทำให้วาสินีรู้สึกท้อแท้หรือหวาดกลัว เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่วาสินีตั้งใจอยากมาสัมผัส อยากมาเรียนรู้ และอยากมาช่วยพัฒนาเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้มีคุณภาพชีวิต รวมถึงคุณภาพความคิดให้ดียิ่งขึ้น

แม้ว่าเส้นทางเข้าหมู่บ้านจะค่อนข้างลำบากและห่างไกล รวมถึงสื่อการเรียนการสอนอาจมีไม่ครบเหมือนอย่างโรงเรียนที่อยู่ในเมือง แต่บรรยากาศทั้งในโรงเรียนและในหมู่บ้านก็เต็มไปด้วยความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความเป็นครอบครัว เพราะเป็นเรื่องปกติที่คุณครูบนดอยจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง ไม่แบ่งแยก เช่นเดียวกับเด็กๆ และชาวบ้านที่ให้ความเคารพ ให้ความร่วมมือต่าง ๆ แก่คณะครูและทางโรงเรียนเป็นอย่างดี สิ่งนี้จึงถือว่าเป็นกำไรของคุณครูที่ได้มาอยู่บนดอย

ชีวิตครูบนดอย ของ ลูก “ม.ท.ศ.”

นอกจากการที่ได้มีโอกาสเดินทางตามความฝันจนถือว่าสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้วนั้น

สิ่งที่วาสินีตั้งมั่นในปณิธานไว้เสมอก็คือ “…หากได้เป็นครูอย่างที่หวังไว้ จะไม่สักแต่สอนหนังสือ แต่จะ ‘สอนคน’ คือสอนเด็กๆ ให้เป็นคนดี มีความรู้ มีความสามารถ และช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือชุมชน และช่วยเหลือประเทศชาติได้…”

เหนือสิ่งอื่นใด วาสินีรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาพระราชทานทุนการศึกษานี้ให้แก่เธอ หากไม่ได้รับทุนพระราชทานนี้ คงไม่ได้รับโอกาสดีๆ อีกมากมายที่เข้ามาในชีวิตและครอบครัว โดยสัญญาว่าจะมอบโอกาสดีๆ ให้ผู้อื่น จะตั้งใจถ่ายทอดวิชาอันเป็นความรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กๆ จะเป็นข้าราชการ…ข้าของแผ่นดิน ที่ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนแผ่นดิน ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบไป

มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) เป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่จะสร้างโอกาสแก่เยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ และทรงมีพระราชดำริพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินที่มีผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่ยากจนให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำ “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อพุทธศักราช 2552 และต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” (ม.ท.ศ.) เพื่อดำเนินการส่งเสริมเยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม มีฐานะยากจน สามารถศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่ตรงตามความต้องการ โดยทรงวางหลักการกระจายทุนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด อันเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถ และศักยภาพแก่เยาวชนไทย