”โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC)” เล็งลงทุนเพิ่ม 3 หมื่นลบ. เพิ่มกำลังผลิตโรงงานแบตเตอร์รี่ แตะ 10 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ภายใน 10 ปี หลังได้ฤกษ์เดินเครื่องโรงงานแบตเตอร์รี่ SemiSolid เจ้าแรกในอาเซียน หวังผลิตป้อนโรงไฟฟ้า – โรงงานขนาดใหญ่ – ยานยนต์ไฟฟ้า ยันไม่มีแผนเพิ่มทุน เหตุมีกระแสเงินสดเพียงพอลงทุน
*** GPSC วางงบ 3 หมื่นลบ. ดันกำลังผลิตแบตเตอร์รี่แตะ 10GWh ใน 10 ปี
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายกำลังผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid เพิ่มเป็น 10 GWh(กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ใน 10 ปีข้างหน้า ด้วยงบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะในแผนการลงทุน 10 ปี เชื่อว่าจะมีกระแสเงินสดเข้ามาเพียงพอใน 10 ปีข้างหน้า จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน
ล่าสุด บริษัท ได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี
ซึ่งสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และตั้งเป้าก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ในอีก 2 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในช่วงต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถสรุปพื้นที่ตั้งและขยายโรงงานนี้ได้ภายในปี 65
สำหรับการผลิตเริ่มต้น 30 MWh จะใช้ภายในประเทศก่อน ยังไม่มีแผนส่งออก โดยปีนี้คาดมีรายได้จากธุรกิจแบตเตอรี่เข้ามาพอสมควร ลูกค้าหลักเป็นกลุ่มรถยนต์ทั้ง มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า ในส่วนของวัตถุดิบ ปัจจุบันยังคงต้องนำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซียบางส่วน ไทยยังไม่มีสารที่ผลิตแบตเตอรรี่ แต่เชื่อว่าในอนาคตกลุ่ม PTT มีศักยภาพผลิตสารเหล่านี้ในไทยได้ กำลังศึกษาและพัฒนาผลิตวัตถุดิบนี้อยู่ ในอนาคตคาดพัฒนาวัตถุดิบในกลุ่ม PTT ได้เลย
*** ผลิตป้อนโรงไฟฟ้า – โรงงานขนาดใหญ่ – ยานยนต์ไฟฟ้า
นายวรวัฒน์ กล่าวว่า แผนการดำเนินงานครั้งนี้ จะเสริมสร้างความพร้อมด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) การเพิ่มขึ้นของการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจะสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ และเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนคนไทยตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale ซึ่งจะต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อบริหารจัดการพลังงานชั้นนำของประเทศ
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงงานแห่งนี้ มีขีดความสามารถผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานได้ใน 3 ระดับ คือ
1. G-Cell ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell
2. ผลิตภัณฑ์ G-Pack ที่มีการนำ Battery Pouch Cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS) ร่วมด้วย สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (Mobility Application – Light Duty and Heavy Duty) เช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กต๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า
3. กลุ่ม G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน สำหรับระบบสำรองไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกับกลุ่มลูกค้า ตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ลูกค้าเราจะเน้นทั้งในกลุ่ม ปตท. กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของสินค้า โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตและใช้งานระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ด้วยลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับจุดแข็งของ G-Cell แบบ LFP (ลิเธียมไอรอน ฟอสเฟต)
ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 73 ซึ่งมักจะนิยมใช้แบตเตอรี่แบบ NMC นั้น ในเบื้องต้นบริษัทฯ สามารถนำเข้าแบตเตอรี่แบบ NMC ที่ผลิตจากเทคโนโลยีเดียวกัน โดยบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการได้เช่นกัน
แบตเตอรี่ G-Cell ที่ผลิตโดย GPSC ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่มีการคิดค้นและถูกพัฒนา โดย 24M เป็นแบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็ง ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันเหตุไฟฟ้าลัดวงจรจากภายในเซลล์แบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี ด้วยโครงสร้างที่มีชั้นฟิล์มพิเศษห่อหุ้มภายใน Unit Cell และด้วยสูตรการผลิตแบบ SemiSolid ส่งผลให้ G-Cell มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ GPSC เมื่อนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ G-Pack และ G-Box จำหน่ายให้กับลูกค้าแล้วคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานของลูกค้าได้อย่างดี
*** บล.เคทีบีเอสที แนะนำซื้อ ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 95 บาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เคทีบีเอสที แนะนำซื้อ GPSC ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 95 บาท (เดิม 93.00 บาท) อิง DCF (WACC 5.2%, terminal growth 0%)
ทั้งนี้ key catalyst คือการเติบโตควบคู่ไปกับกลุ่ม PTT ซึ่งยังคงมีแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธุรกิจ energy storage แม้อยู่ในกระแสความต้องการในอนาคต แต่เรื่องเทคโนโลยีและการแข่งขันยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าบริษัทจะทำได้สำเร็จและ scale up ได้อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
ราคาหุ้น outperform SET ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาราว +8% ประเมินมาจากกระแส EV ซึ่งตลาดกำลังให้ความสนใจ ทั้งนี้เราคาดหุ้นจะ outperform ต่อเนื่องจากการประกาศลงทุนในประเทศอินเดียและไต้หวันในครั้งนี้ซึ่งจะทำให้ตลาดให้น้ำหนักกับแหล่งการเติบโตครั้งใหม่ซึ่งมีศักยภาพสูงเพิ่มเข้ามานอกจากการเติบโตไปกับกลุ่ม PTT