ผมมีความเชื่อว่าประเทศไทยต้องมีพิมพ์เขียวใหม่ในการพัฒนาประเทศ เพราะแผ่นดินเกิดนี้เดินผิดและหลงทางมาหลายสิบปี
ความที่ผมเป็นคนชอบคิด ขอถือวิสาสะให้ความเห็นว่านี่คือพิมพ์เขียวที่เราสามารถดึงจิตวิญญาณ “ความเป็นไทย” มาแข่งในเวทีโลก
1.ไม่ควรพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม เพราะคุณลักษณะเฉพาะตัวและความเก่งของคนไทยไม่เอื้ออำนวยให้เราเป็น industrialized country ประเทศที่มีความเลิศทางด้านอุตสาหกรรมอย่างเช่นเยอรมนี ญี่ปุ่น ประชาชนเป็นคนเอาจริง เอาจัง วินัยสูง ยินดีทำงานหนัก ซึ่งคุณลักษณะนี้ไม่ใช่จุดเด่นของคนไทย
เอาตัวอย่างง่าย ๆ ให้คนไทยมา “ตรงเวลา” แค่นี้ก็บ่งบอกได้ว่าพวกเรามีคุณลักษณะอย่างไร ทุกวันนี้ประเทศไทยทำอุตสาหกรรมที่เป็นเพียง downstream player ทำอุตสาหกรรมที่ปลายน้ำ ทำให้เรารับมลภาวะเต็ม ๆ แทน upstream player และได้เพียงเศษเงินที่พวกต้นน้ำแบ่งให้เรา
ตัวอย่างเช่นเราชอบเรียกตัวเองว่าเป็น Detroit of Asia ที่จริงเราเป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบรถยนต์ให้กับเจ้าของแบรนด์ เราไม่มีแบรนด์รถยนต์ของตัวเอง การประกอบรถยนต์เราได้เพียงค่าประกอบซึ่งมี profit margin ต่ำกว่าตัวเจ้าของแบรนด์อย่างมหาศาล ประเด็นคือเราไม่ควรพัฒนาประเทศให้เป็น heavy industry player ส่งเสริมให้มีเพียงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน พอเลี้ยงตัวเองเท่านั้นก็พอ
2.แล้วอะไรคือโอกาสที่จะนำแผ่นดินนี้สู่เวทีโลก ความพิเศษของคนไทยอยู่ที่ความประณีตของงานฝีมือ ความมีน้ำใจ เป็นคนมีอัธยาศัย มีความละเอียดอ่อน การพัฒนาประเทศต้องใช้วิธีคิด inside-out
นี่คือที่มาที่ผมเชื่อว่า hospitality business และ medical service คือดาวจรัสแสงที่ shining the light ความเป็นไทยได้ดีที่สุด แต่จะทำอย่างนั้นได้เราต้องสร้าง business model บนความเป็นไทย ไม่ใช่ใช้ model ต่างชาติมาขับเคลื่อนธุรกิจ ธุรกิจโรงแรมเบอร์หนึ่งและทีมบริหารต้องเป็นคนไทย สร้าง customer experience บนความเป็นไทยแท้ อย่าไปใช้ model ฝรั่งมาบริหารโรงแรมของคนไทย
ผมมีตัวอย่างหนึ่งที่อธิบายเรื่องนี้ผมเคยไปเที่ยวที่โรงแรมรายาวดี กระบี่ เป็นโรงแรมที่ทีมบริหารเป็นคนไทยล้วน และออกแบบ model ในการบริการบนแก่นความเป็นไทย ส่งผ่าน Thainess experiece ที่โรงแรมฝรั่งไม่มีทางสู้ ด้วยการดึงศักยภาพที่เป็น DNA คนไทยมาบริหาร ทำให้โรงแรมรายาวดีได้รับ rating จากนิตยสาร Conde Nast ว่าเป็น Top 40 World’s Best Beach Resort
ธุรกิจบริการทางการแพทย์คือ เพชรอีกเม็ดหนึ่งที่รอการเจียระไนให้มีประกายแวววับ ผมเคยคุยกับหมอหลายท่าน ทุกคนให้ความเห็นตรงกันว่าความสามารถในการผ่าตัดของแพทย์ไทยน่าจะติดอันดับโลก เพราะงานผ่าตัดคืองานฝีมือที่อาศัยความประณีตเป็นสิ่งที่คนไทยเป็นหนึ่งไม่รองใคร ประกอบกับความมีน้ำใจที่ส่งผ่าน “บริการ” ในการดูแลคนไข้
ทั้งสองปัจจัยคือพลังขับเคลื่อนให้ประเทศเราแข็งแรงมากพอที่จะเป็น medical hub of the world จะทำอย่างนั้นได้เราต้อง redesign ให้เกิด holistic model ที่ทำให้ medical service ของเรากลายเป็นดาวเหนือของประเทศ
3.ความอุดมสมบูรณ์ทางด้านการเกษตรคือโอกาสทำให้เราเป็น “ตู้เย็นเก็บอาหารของโลก“ จะทำอย่างนั้นได้ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเกษตรให้แข็งแรงทั้ง value chain มีขีดขั้นความสามารถในการแข่งขันทำให้เราเป็น food provider ที่ใหญ่ที่สุด
อุตสาหกรรมเกษตรจะสร้างรายได้แบบเป็นเนื้อเป็นหนัง เราต้องไม่ขายพืชผลเป็น commodity product ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม มีแบรนด์ของตัวเอง เพราะ consumers buy brand value, not just only the product itself.
4.“สร้างคน” ด้วยการรื้อระบบการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน นำผู้บริหารการศึกษาหัวก้าวหน้าพร้อมคนนอกที่มีไฟอยากช่วยประเทศเข้ามาเขียน “แผนแม่บท” ระบบการศึกษาสำหรับทศวรรษ 21 อะไรคือเป้าหมายของระบบการศึกษาใหม่
หัวใจคือสร้าง “ปัญญา” สอนให้คนเรียนมี “วิธีคิด” ของตัวเอง เพราะปัญญาทำให้ “คนคิดเป็น” ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเรียนหนังสือเพื่อ “จำ” องค์ความรู้ ความล้มเหลวของระบบการศึกษาเก่าคือ “ยัดเยียด” แต่ความรู้จนล้นสมอง แต่คนเรียนขาดวิธีคิด นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ ระบบการศึกษาใหม่ต้องกระตุ้นให้คนเรียนรู้จัก “เรียนรู้ด้วยตัวเอง” เพราะบนโลกใหม่ใบนี้ สิ่งที่เรียนภายในเวลาไม่นานจะกลายเป็นความรู้ที่ล้าสมัย
ดังนั้น “self learning process” คือเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางตามกาลเวลา ผมเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เรียนหนังสือแบบพอไปวัดไปวา มาถึงวันนี้ได้เพราะพึ่งพา “การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตลอดชีวิต” เป็นคนขี้สงสัย ช่างสังเกต ทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญว่าการเรียนรู้ที่สุดยอดคือ “เรียนรู้จากโลกแห่งความเป็นจริง” ไม่ใช่ “รู้แต่ในห้องเรียน”
ปัญหาใหญ่ที่ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไม่ได้ ถ้าให้ผมเดามาจากผู้บริหารการศึกษาที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำตัวเป็น “ไม้ขวางถนน” ทำให้ประเทศเราวนอยู่ในอ่างกะละมัง ทราบไหมครับงบประมาณของกระทรวงศึกษาของประเทศมีมูลค่าสูงมาก
ประเด็นคือเราไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดการบริหารจัดการที่ทันกับยุค digital ทำให้คนไทย “ติดหล่ม” ประเทศเดินถอยหลัง ในขณะที่เพื่อนบ้านพุ่งเป็นจรวด ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ Singapore เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว เขากับเรามีจุดตั้งต้นเดียวกัน แต่ Singapore ใช้การศึกษาสร้างคน เพื่อสร้างประเทศ ตอนนี้เพื่อนบ้านเราคนนี้ไปถึงดาวอังคาร แต่เรายังเดินย่ำอยู่กับที่
พูดตรงไปตรงมาปัญหาเรื่องการศึกษาของบ้านเราเกิดจากการบริหารจัดการโดยพวก “old guard” ผมมีความเชื่อว่าการขับเคลื่อนประเทศเกิดจากการสร้างคนให้มีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ การศึกษาจึงเป็น critical instrument ที่นำพาให้คนไทยแข็งแรง เป็น asset ที่เพิ่มขีดขั้นความสามารถของประเทศในการแข่งขันระดับโลก
5.ปฏิวัติระบบการบริหารจัดการทรัพยากรของชาติ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรของชาติอย่างเท่าเทียมกัน คำว่าทรัพยากรตั้งแต่เรื่องง่ายคือ “เงิน ข้อมูล การศึกษา และเรื่องพลังงาน” ทรัพยากรคืออุปกรณ์สำคัญที่ทำให้ผู้คนไม่ว่าจะรวยหรือจนสามารถยืนบนขาของตัวเองได้ ไม่ใช่ “รอแบมือขอความช่วยเหลือจากรัฐ” จะทำเรื่องนี้ได้คือเอา “คนรู้จริง” ไปบริหารจัดการ เพราะทุกวันนี้คนที่บริหารเรื่องนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจ “คุณค่าของชีวิตมนุษย์”
6.ส่งเสริมให้ประเทศมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ การค้าขายต้องเลิกเป็นระบบปิด ยกเลิกการผูกขาดที่ทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาด สร้างระบบเศรษฐกิจให้เป็น open economy ทุกวันนี้เศรษฐกิจของบ้านเราอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน
ผมเชื่อว่า “การแข่งขันนำมาถึงซึ่งคำว่าพัฒนาการของคุณภาพ” เป็นการกระจาย wealth ให้ “ฝนตกทั่วฟ้า”
7.รื้อระบบราชการแบบกลับหัวกลับหาง เพราะระบบเก่าเต็มไปด้วยไขมัน ใหญ่ เทอะทะ อุ้ยอ้าย ขับเคลื่อนประเทศได้ช้ามาก การปฏิรูปคือ streamline ระบบข้าราชการให้เล็ก กระทัดรัด คล่องตัว เพิ่ม productivity ปรับเงินเดือนข้าราชการให้คนเหล่านี้สามารถอยู่บนฐานเงินเดือนแห่งความเป็นจริง
รื้อระบบ rewarding system เพื่อเกื้อหนุนให้ “คนดี ได้ดี” ผมเคยทำงานที่รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งเมื่อชาติที่แล้ว จำได้ดีว่ากระบวนการประเมินผลงานเพื่อขึ้นเงินเดือนไม่ได้ใช้ระบบ fair process แต่เป็นระบบหมุนเวียนการขึ้นเงินเดือนสองขั้น เพื่อให้ระบบการปกครองไม่มีน้ำกระเพื่อม ถ้าเป็นอย่างนี้คนดีจะถามตัวเองว่าทำดีไปเพื่ออะไร เพราะ”ทำดี” กับ “ทำเช้าชามเย็นชาม” ผลลัพธ์มันแตกต่างกันน้อยมาก
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ระบบข้าราชการเอื่อยเฉื่อย ฉุดรั้งไม่ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า สุดท้ายคือการสร้างวัฒนธรรมใหม่ทำให้ระบบข้าราชการรองรับการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ใช่รับใช้ “นักการเมืองที่มีคุณภาพอย่างที่เห็นกันอยู่”
8.พิมพ์เขียวใหม่ต้องพัฒนาผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจที่ต้นน้ำ ไม่ใช่กินน้ำใต้ศอกต่างชาติ อย่างที่เป็นอยู่ เพื่อให้เข้าใจถึงเรื่องนี้ ขอยกตัวอย่างว่ามือถือ iPhone บริษัท Apple ได้กำไร 30% ในขณะที่บริษัท Foxconn ซึ่งเป็นผู้รับจ้างประกอบตัวมือถือให้ Apple ได้กำไรเพียง 2%
9.มีกระบวนการครบวงจรส่งเสริมให้มี SME หน้าใหม่สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ เพราะ SME คือกระดูกสันหลังของชาติที่เป็น eco system ให้กับบริษัทระดับชาติ เมื่อ SME แข็งแรง ประเทศไทยจะเข้มแข็ง ช่วยให้บริษัทระดับชาติกลายเป็น global player
สร้างบ้านยังมีพิมพ์เขียว ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมี new blueprint ของประเทศครับ.
ดูบทความทั้งหมดของ แกะดำทำธุรกิจ