หุ้น “อีวี” ตีปีก จ่อรับคลังจัดแพ็คเกจลด “ภาษีรถ EV” คันละ 1.5 แสนบ. – ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มเห็นสัญญาณบวกมากขึ้นสำหรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เริ่มมีความชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้คาดว่าคณะกรรมการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย (บอร์ดอีวี) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาได้ภายในเร็วๆนี้ คาดว่าจะลดภาษีเป็นแพ็คเกจ ทั้งภาษีนำเข้ารถยนต์ ปัจจุบันมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น บางประเทศเก็บ 0% บางประเทศ 20-40% ให้ลดลงมาในระดับที่แข่งกันกันได้ รวมถึงอัตราภาษีสรรพสามิตก็ปรับจะลดลงด้วย

โดยรัฐบาลจะมีส่วนการสนับสนุนเป็นตัวเงินในรูปแบบเงินอุดหนุน เพื่อทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ในประเทศถูกลง เป็นการส่งเสริมคนไทยมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หากรวมมาตรการทางภาษี กับเงินอุดหนุนแล้ว จะทำให้ราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าลดลงมาได้มาก เช่น รถขนาดใหญ่ อาจจะมีส่วนลดมากกว่า 1.5 แสนบาท ขณะที่รถขนาดเล็กอาจจะมีส่วนลดราคาหลายหมื่นบาท

สำหรับมาตรการสนับสนุนรถ EV จะไม่ได้เป็นการลดภาษี หรือมีเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า เพื่อให้ซื้อรถยนต์ราคาถูกอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศระยะยาว โดยผู้ประกอบการรถยนต์ที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ จะต้องมีเงื่อนไขเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ดีมาตรการนี้มีเจตนาหลักต้องการให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาแทนรถยนต์พลังงานสันดาป เช่น หากบริษัทไหนเข้าร่วมมาตรการ และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 1 แสนคัน ก็มีเงื่อนไขต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 1.5 แสนคัน ภายใน 2-3 ปี เป็นต้น

กลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

โดยรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้ภายใน หรือที่เรียกกันว่า “สันดาป” ดังนั้นกลไกสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าจึงอยู่ที่ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรีคุณภาพสูง

สำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน คือแบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ถูกคิดค้นเพื่อนำมาทดแทนแบบเดิมที่เป็นตะกั่วกรด ซึ่งเหมาะกับการใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า เพราะน้ำหนักเบา อายุใช้งานนาน และถูกยอมรับว่าเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานที่ดีที่สุดในเวลานี้

ส่วนของตลาดหุ้นไทยเองก็มีบริษัทที่ลงทุนธุรกิจแบตเตอรีลิเธียมไอออน ทั้งที่มีโรงงานในประเทศไทย และโครงการลงทุนเหมืองลิเทียมในต่างประเทศ ได้แก่ DELTA, EA, GPSC, BANPU, BPP และ BCPG เป็นต้น

ผู้ให้บริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับสถานีชาร์จพลังงานยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger ถือเป็นบริการปลายน้ำที่ต่อยอดมาจากการเติบโตของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มเห็นทางภาคเอกชนทยอยติดตั้งสถานีชาร์จมากขึ้นแล้วในบางพื้นที่ เช่น สถานีบริการน้ำมัน ที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงหลายบริษัทก็อยู่ระหว่างการศึกษาแผนเข้าลงทุนสถานีชาร์จไฟในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ ได้แก่ PTT, OR, BCP, CPALL, FORTH, EA และ DELTA

ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์

ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์จะมีทั้งคนที่ได้ผลบวก และเจอผลกระทบเชิงลบ อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนที่ใช้กับเครื่องยนต์สันดาป แต่เป็นบริษัทที่ประกอบชิ้นส่วนอื่น ๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนพลาสติก เบาะ ยาง โคมไฟ ระบบปรับอากาศ

สำหรับหุ้นผลิตชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ EV 100% ประกอบด้วย  EPG, TKT, FPI, PACO, AH, HFT, PCSGH และ TRU ขณะที่กลุ่มที่เป็น Hybrid/plug-in ก็จะมีหุ้น STANLY และ GYT เป็นต้น

ผู้ผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีความสำคัญมากกับอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยบริษัทผู้ผลิตแผ่นวงจรอิเลคทรอนิกส์ภายในรถยนต์ที่เรารู้จักกันดีก็อย่างเช่น  KCE, HANA, DELTA

ผู้ประกอบรถโดยสาร EV Car

ด้านผู้ประกอบรถโดยสาร EV Car อาทิ รถบัสไฟฟ้า มินิบัสไฟฟ้า และรถตู้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้ใช้รถโดยสารประจำทางของภาครัฐ โดยบริษัทที่ประกอบธุรกิจนี้ในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ NEX, CHO, CWT และ EA