‘วุฒิสภา’ เห็นชอบ ‘ร่างพ.ร.บ.จราจร’ ที่ปรับแก้ไข เตรียมส่งให้ ‘สภาฯ’ ยืนยันเห็นชอบ – กรุงเทพธุรกิจ

เป็นครั้งแรกของสภาฯ ที่ วุฒิสภา ปรับแก้ไขเนื้อหาร่างกฎหมายจราจร จากที่ส.ส.เสนอ ต้องส่งให้สภาฯ พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่ หากเห็นแย้ง ต้องตั้งกมธ.ร่วมพิจารณา

      เมื่อเวลา 17.40 น. ที่ประชุมวุฒิสภา ได้ลงมติ ต่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. เป็นประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ ด้วยเสียงเห็นด้วย 145 เสียง ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาวาระสองนานกว่า 7 ชั่วโมง

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ…. ที่วุฒิสภาเห็นชอบนั้น ได้ปรับแก้ไขถ้อยคำรวมถึงสาระบางประเด็นที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ อาทิ กรณี ข้อกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนบนรถยนต์สารต้องคาดเข็มขัดนิรภัย จากเดิมที่ยกเว้นผู้โดยสารที่นั่งแถวอื่นนอกจากแถวตอนหน้า หากวิ่งในเขตชุมชน, กำหนดให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัย จากเดิมที่กำหนดให้นั่งในที่นั่งพิเศษ เพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ

      แก้ไขบทบัญญัติว่าด้วย ข้อห้ามแข่งรถบนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งแก้ไขสาระสำคัญ คือ จำนวนรถที่ใช้เป็นเกณฑ์ดำเนินคดี โดยปรับแก้ไข ให้รถจำนวน 2 คันขึ้นไป จากร่างเดิมที่สภาฯ เห็นชอบ คือ 5 คันขึ้นไป ทั้งนี้ได้เพิ่มลักษณะจำเพาะ คือ รถที่ใช้รวมกลุ่มมีลักษณะดัดแปลง ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวมีส.ว. ท้วงติง ว่าจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจโดยไม่สุจริต และอาจใช้เป็นช่องกลั่นแกล้งประชาชนที่ใช้เส้นทางได้

      ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ให้ความเห็นต่อข้อสังเกตของกมธ.ฯ ว่า กรณีที่วุฒิสภาแก้ไขเนื้อหา ต้องส่งเนื้อหาให้สภาน เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม แต่การแก้ไขกฎหมายบางประเด็น เช่น การเพิ่มค่าปรับ อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน

      “สิ่งที่หน่วยงานจะออกกฎหมาย ต้องรับผิดชอบต่อการออกกฎเกณฑ์ ขณะที่รางวัลนำจับ ต้องพิจารณาเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ผมขอให้บันทึกไว้ในสภาฯ ด้วยว่า ร่างกฎหมายจราจรมีปัญหาในทางปฏิบัติ ต้องปรับปรุง ผมสนับสนุนให้ยกเลิกรางวัลนำจับ โดยอ้างความปลอดภัยของประชาชน แต่พบการเลือกปฏิบัติ” นายสมชาย กล่าว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ… ถือเป็นร่างกฎหมายฉบับแรก ที่ต้องส่งคืนไปยังสภาฯ เพื่อให้พิจารณา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (3) กำหนดว่า ถ้าวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ให้ส่งร่างพ.ร.บ. ไปยังสภาฯ ถ้าสภาฯ เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ดำเนินการเสนอตราพระราชบัญญัติ แต่หากเป็นกรณีอื่น ให้แต่ละสภาฯ​ตั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแห่งสภาฯ นั้นๆ  เพื่อเป็น กมธ.ร่วมกันให้พิจารณา ก่อนเสนอรายงานให้รัฐสภารับทราบ.