รีวิว Galaxy Z Fold4 สมาร์ทโฟนจอพับรุ่นล่าสุดของ Samsung เดินทางมาถึงรุ่นที่ 4 เรียบร้อย คงไม่ต้องบอกถึงความปังเพราะถ้าไม่ดีจริง ไม่ตอบโจทย์คงไม่มาจนถึงรุ่นนี้ได้เนาะ รอบนี้ก็มีการปรับปรุงในจุดที่เป็นข้อเสียในรุ่นก่อน ๆ ให้ดีขึ้น ลงตัวมากขึ้นกว่าเดิมทั้งสัดส่วนหน้าจอใหม่ทั้งจอนอกและจอใน, ชิปเซ็ตที่แรงขึ้นเป็น Snapdragon 8+ Gen 1, กล้องที่เปลี่ยนเป็นชุดใหม่ และที่ขาดไม่ได้คือซอฟต์แวร์ที่แทบจะยกเครื่องใหม่มอบประสบการณ์ได้ดีขึ้นแบบเห็นได้ชัด
และหลังจากที่เราใช้งานมากว่า 1 สัปดาห์วันนี้ก็จะขอมารีวิวให้ชมกันทั้งข้อดีและจุดที่ยังต้องปรับอีก มีอะไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่เลยครับ!
สรุปสเปค Samsung Galaxy Z Fold4
- หน้าจอนอก : Dynamic AMOLED 2X ขนาด 6.2” ความละเอียด HD+ (2316 x 904 พิกเซล) อัตราส่วน 23.1:9
- หน้าจอใน : Dynamic AMOLED 2X ขนาด 7.6” ความละเอียด QWGA+ (2176 x 1812 พิกเซล) อัตราส่วน 21.6:18
- Refresh rate: 120Hz
- CPU : Snapdragon 8+ Gen 1 (4nm)
- RAM : 12GB
- ROM : 256GB/512GB/1TB
- แบตเตอรี่ : 4400mAh
- ระบบชาร์จ : 25W Super Fast Charge
- กล้องหลัง : 3 ตัว
- 50MP กล้องหลัก f/1.8, Dual Pixel AF พร้อม OIS
- 12MP กล้อง Ultra Wide f/2.2 มุมกว้าง 123°
- 10MP กล้อง Tele f/2.4 Optical Zoom 3x พร้อม OIS
- กล้องหน้า (หน้าจอนอก) : 10MP f/2.2
- กล้องหน้า (หน้าจอใน) : กล้องใต้หน้าจอ 4MP f/1.8
- รองรับการเชื่อมต่อ : Wi-Fi 802.11a/b/g/n/ac/6e, Bluetooth 5.2, NFC และพอร์ต USB Type-C
- รองรับปากกา Stylus : S Pen
- กันน้ำ : มาตรฐาน IPX8
- ระบบปฏิบัติการ : Android 12L (One UI 4.1.1)
- สีสัน : Phantom Black, Graygreen, Beige
Form Factor ที่คุ้นเคย แต่ไม่เหมือนเดิม
อย่างที่ทราบกันว่า Galaxy Fold Series นั้นถูกออกแบบมาให้เป็นสมาร์ทโฟนที่สามารถพับ-กางหน้าจอเพื่อเปลี่ยนร่างจากสมาร์ทโฟนเป็นแท็บเล็ตได้ เป็น Form Factor แบบนี้มาตั้งแต่รุ่นแรก แต่ก็มีการปรับในเรื่องของขนาดและสัดส่วนหน้าจอให้ใช้งานได้คล่องขึ้นเรื่อย ๆ มาถึงรุ่นที่ 4 Galaxy Z Fold4 ก็มีการปรับให้ลงตัวขึ้นไปอีกจนเรายอมรับว่านี่ใกล้ความสมบูรณืแบบขึ้นอีกสเต็ปแล้วล่ะครับ
หน้าจอด้านนอก (Cover Screen) ที่ใช้งานได้จริงขึ้นไปอีก
เริ่มที่หน้าจอด้านนอกหรือ Cover Screen ที่ปรับอัตราส่วนให้ด้านซ้าย-ขวากว้างขึ้นอีกหน่อยเป็นอัตราส่วน 23.1:9 (จากเดิม 24.5:9) ในขนาดเท่าเดิมคือ 6.2″ จึงทำให้ตัวเครื่องดูเตี้ยลงอีกหน่อยไม่สูงยาวแบบรุ่นก่อน และรอบนี้ Samsung ยังขยายขอบหน้าจอให้ชิดขึ้นไปถึงขอบเครื่องมากกว่าเดิม อีกทั้งยังมีความ Flat ขึ้นเป็นหน้าจอแบบแบนราบกว่าแต่ก่อน
ทำให้แม้ความกว้างของหน้าจอจะมากขึ้นแต่เมื่อเราจับถือก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเทอะทะมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับรุ่นก่อน กลับกันยังทำให้เรามีพื้นที่มากขึ้น ทำให้เราสามารถถือใช้งานได้คล่องกว่าเดิม
เช่นการพิมพ์พื้นที่ของคีย์บอร์ดจะไม่เบียดกันมากเท่าเดิม ให้เราได้แตะแต่ละตัวอักษรได้แม่นยำขึ้น ในที่นี้เราใช้คีย์บอร์ดของ GBoard เนื่องจากถนัดกว่าก็ให้ความรู้สึกในการพิมพ์ที่ดีขึ้นมาก อัตราการพิมพ์ผิดลดลงเยอะเมื่อเทียบกับ Z Fold3 ครับ
ในส่วนของการแสดงผลได้จอ Dynamic AMOLED 2X ความละเอียด HD+ (2316 x 904 พิกเซล) สวยงามคมชัดบนขนาด 6.2″ ตอบสนองได้ลื่นไหลด้วย Refresh rate 120Hz และยังอัปเกรดความแข็งแกร่งของกระจกหน้าจอเป็น Corning Gorilla Glass Victus+ แล้วด้วย แต่…รอบนี้ไม่มีฟิล์มกันรอยติดมาให้จากโรงงานแล้วนะครับ
หน้าจอหลัก (Main Screen) ที่แข็งแกร่งขึ้น
ด้วยความที่จอนอกกว้างขึ้น ทำให้เมื่อเรากางหน้าจอออกมาเราจะได้หน้าจอด้านในที่มีฝั่งซ้าย-ขวามากกว่าเดิม ลดความสูงลงมาเช่นกัน เป็น 21.6:18 (จากเดิม 22.5:18) ส่วนขนาดยังเท่าเดิมที่ 7.6″ แต่อย่างที่บอกอัตราส่วนเปลี่ยนไป แม้จอจะเท่ากันแต่เราว่าแบบใหม่ลงตัวขึ้น
ในเรื่องความสวยสดมั่นใจได้ว่า Samsung นั้นเป็นเบอร์ต้น ๆ อยู่แล้วหน้าจอด้านในใช้จอ Dynamic AMOLED 2X ความละเอียด QWGA+ (2176 x 1812 พิกเซล) สีสวยถูกใจความคมชัดยอดเยี่ยม และความลื่นไหลก็เป็น 120Hz แบบเดียวกับหน้าจอด้านนอก ทำให้ไม่ว่าเราจะใช้งานในจอไหนก็ยังมอบความลื่นไหลที่เท่ากันทั้งหมดครับ
ในเรื่องความแข็งแกร่ง Cover Screen อัปเกรดด้วยกระจก Gorilla Glass Victus+ แล้ว จอด้านใน Samsung ก็อัปเกรดวัสดุขึ้นมาอีกขั้นเป็น Ultra Thin Glass เวอร์ชั่น 2.0 (UTG 2.0)ที่มีความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น แม้หน้าจอจะมีฟิล์มกันรอยติดมาให้หนึ่งชั้น เวลาเราสัมผัสก็จะรู้สึกได้ว่ามีความเป็น TPU อยู่หน่อย ๆ แต่ถ้ากดแบบลงแรงแอบรู้สึกได้ว่าแข็งขึ้น คล้ายสมาร์ทโฟนทั่วไปที่ติดฟิล์มแบบ TPU แล้ว ทำให้เราสามารถใช้งานได้แบบจริงจังกว่าเดิม
กล้องหน้าใต้หน้าจอก็เนียนขึ้นด้วยจากที่เห็นในหลาย ๆ ภาพเราแทบจะไม่สังเกตเห็นเม็ดพิกเซลของกล้องหน้าเลย ซึ่ง Samsung พัฒนาการวางพิกเซลหน้าจอใหม่ทำให้เนียนตาขึ้น 20% ในการทำงานทั่วไปไม่กวนสายตา รวมถึงการใช้งานดูคอนเทนต์ต่าง ๆ ก็แทบจะไม่เห็นเลยด้วย ยิ่งคอนเทนต์ที่สีสด ๆ เนียนมาก
รอยพับกับสมาร์ทโฟนจอพับที่เป็นของคู่กัน…แม้ตัวหน้าจอจะอัปเกรดเป็นจอ UTG 2.0 แล้ว แต่หนึ่งเรื่องที่ยังไม่สามารถลบให้หายไปได้ก็คือรอยพับที่กลางจอ บน Z Fold4 เรายังเห็นได้ค่อนข้างชัดเมื่อกระทบกับแสงและสัมผัสได้โดยตรงเมื่อเอานิ้วรูดผ่าน แต่รอบนี้รู้สึกว่าพื้นที่ของรอยพับจะน้อยลงอีก หนึ่งเหตุผลที่ Samsung ไม่สามารถลบรอยพับไปเลยได้สนิทเพราะมีความสามารถกันน้ำเข้ามานี่แหละครับ แต่การมีรอยพับแบบนี้ก็กลายเป็นเสน่ห์ของสมาร์ทโฟนแบบนี้ไปแล้ว เพราะถ้าไม่มีให้เห็นเลยเวลาถือใช้งานก็จะกลายเป็นแท็บเล็ตจอเล็กไปแทนน่ะสิ
บอดี้ที่เบาและบางลง
อีกเรื่องที่น่าจะเป็น Pain Point ของสมาร์ทโฟนจอพับก็คือขนาดและน้ำหนักเนาะ บน Galaxy Z Fold4 มีการปรับขนาดตัวเครื่องให้เบาและบางลงอีกหน่อย จากรุ่นก่อน 271 กรัม เหลือ 263 กรัม ถือใช้จริงอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเบาลงมาก แต่จากตัวเลขก็เข้าใกล้สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่น Ultra หรือ Pro Max เข้าทุกทีแล้ว
ตัวบานพับก็ทำได้บางลงจากเดิมที่พับเข้าหากันแล้วจะอยู่ที่ 16 มม. รอบนี้ก็ลดลงมาที่ 15.8 มม. แต่ถึงแม้จะบางลงแต่ Samsung บอกว่าความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอีกช่วยให้เราใช้งานได้อย่างไม่ต้องกังวลเหมือนเดิม
ตัวบานพับของ Samsung จะมีความเก่งในเรื่องของการปรับมุมองศาที่หลากหลายไม่ว่าเราจะเลือกกางแค่ครึ่งเดียว หรือจะหยุดตรงไหนก็ทำได้ ไม่ใช่แค่กางออก-พับเข้าเท่านั้น ซึ่งตัวกลไกบานพับก็มีความแน่นอย่างมาก ไม่รู้สึกเลยว่าหากเราพับ-กางไปนาน ๆ แล้วจะหลวมเอาง่าย ๆ ตรงนี้ Samsung เคลมว่าพับได้มากถึง 200,000 ครั้งเหมือนเดิมครับ
แม้บานพับจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นแล้ว แต่จุดที่ยังไม่ได้ปรับแก้บนรุ่นนี้ก็คือการพับที่ยังไม่แนบสนิทเหมือนเดิมครับ เมื่อพับเข้าหากันจพมีช่องเล็ก ๆ อยู่ซึ่งตรงนี้เราแอบขัดใจเพราะช่องเล็ก ๆ นี้แหละคือที่ที่ฝุ่นจะเข้าไปสะสมได้ง่าย เวลาใช้งานแบบกางจอออกมา หลายครั้งที่เราจะเจอฝุ่นเกาะอยู่บริเวณล่างหน้าจอ รุ่นถัดไปคงต้องแก้เรื่องนี้ได้แล้วนะ
กรอบเครื่องที่เปลี่ยนเป็นแบบมันวาว
ดีไซน์ที่เปลี่ยนไปอีกอย่างของ Z Fold4 เมื่อเทียบกับ Z Fold3 ก็คือกรอบเครื่องที่รอบนี้ปรับให้ Flat ขึ้นลดความโค้งมนลงพร้อมเปลี่ยนผิวสัมผัสแบบด้านให้เป็นมันวาวแทน ตรงนี้เพิ่มความหรูหราและจับได้เต็มไม้เต็มมือกว่าเดิมเยอะครับ แต่ก็แลกมากับรอยนิ้วมือที่มักจะติดมามากขึ้นด้วย
ตำแหน่งของปุ่มกดก็ยังวางไว้ที่มุมขวามือของตัวเครื่องเหมือนเดิมครับ มีปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่ม Power ที่ซ่อนเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ภายใน วางไว้ได้ดีและใช้งานได้ถนัดทั้งพับหรือกางจอเลยครับ ถือใช้งานก็แตะสแกนได้ทันทีความเร็วยอดเยี่ยมเลย
ส่วนฝาหลังของ Galaxy Z Fold4 ก็ยังคงเป็นผิวด้านเหมือนเดิม สีที่เราได้มารีวิวคือสี Phantom Black ก็มาในโทนดำดูเรียบง่ายตามสไตล์ครับ ดีไซน์โมดูลกล้องอะไรก็ไม่ได้แปลกตาไปจากรุ่นก่อนเท่าไหร่
พอร์ตการเชื่อมต่อของ Galaxy Z Fold4 จะเป็นพอร์ต USB type-C อยู่ที่ด้านล่างของส่วนหลังตัวเครื่อง ส่วนบนด้านหน้าจะมีลำโพงของตัวเครื่องที่ใช้งานคู่กับลำโพงด้านบนอีกตั้วเป็นลำโพง Stereo ครับ
ลำโพงคู่ เสียงแน่นทั้งพับ-กางหน้าจอ
ไหน ๆ พูดเรื่องลำโพงแล้ว เราขอพูดถึงระบบเสียงของ Galaxy Z Fold4 สักหน่อย รุ่นนี้ได้ลำโพงมา 2 ตัว บน-ล่างถ้าใช้งานในแบบพับจอในแนวตั้งก็ได้หรือใช้ในแนวนอนก็จะออกซ้าย-ขวา เช่นเดียวกับเมื่อกางจอก็จะได้ทิศทางของเสียง Stereo เหมือนกันหมด เรื่องคุณภาพเสียงก็ยอดเยี่ยมครับ เรียกว่าน้อง ๆ แท็บเล็ตลำโพงจัดเต็มได้เลย
กันน้ำมาตรฐาน IPX8 เหมือนเคย
อีกหนึ่งความโดดเด่นของ Galaxy Z Fold4 ที่หาไม่ได้จากสมาร์ทโฟนจอพับรุ่นอื่นก็คือความสามารถกันน้ำตามมาตรฐาน IPX8 ที่เราสามารถใช้งานได้อย่างสบายแม้จะเจอละอองน้ำหรือโดยน้ำกระเด็นใส่ เพราะ Samsung เป็นเจ้าแรกที่พัฒนาความสามารถนี้ขึ้นมา แต่ก็อย่างที่บอกไปครับแลกมาด้วยรอยพับบนหน้าจอที่อาจจะไม่เนียนสนิท ซึ่งเราว่าก็สมเหตุสมผลอยู่เนาะ
โดยรวมในเรื่องดีไซน์ของ Galaxy Z Fold4 ก็ต้องบอกว่าเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ภายนอกจะดูเหมือนเดิมเอามาก ๆ แต่ด้วยอัตราส่วนหน้าจอใหม่ ความ Flat ที่มากขึ้นของตัวเครื่อง กรอบเครื่องที่เปลี่ยนเป็นแบบมันวาวและบานพับที่บางลง ถ้าได้จับเทียบกับรุ่นก่อนแล้วจะรู้เลยว่า “ต่างนะ” ทุกอย่างลงตัวขึ้น Samsung รับฟังเสียงของผู้ใช้จนเข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบได้อีกระดับแล้วจริง ๆ
ประสบการณ์ที่เหนือชั้นของสมาร์ทโฟนจอพับ
นอกจากฮาร์ดแวร์ที่ดีแล้ว ซอฟต์แวร์และประสบการณ์ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในสมาร์ทโฟนจอพับ เพราะหากมีสเปคที่ดีแต่ไม่มีอะไรที่รองรับและส่งเสริมได้เลยก็คงจะไม่ดีนัก โชคดีที่ Samsung เก่งในเรื่องนี้มาก เพราะเดินทางมาถึงรุ่นที่ 4 ข้อบกพร่องในเรื่องซอฟต์แวร์ได้ถูกปรับแก้ไขจนเกือบหมดบน Galaxy Z Fold4 นี้ใช้ระบบปฏิบัติการ Android 12L ที่ครอบทับด้วย One UI 4.1.1 ออกแบบมาเฉพาะสมาร์ทโฟนจอพับเลย
อย่างแรกที่เราขอชมเลยก็คือความลื่นไหลบน Galaxy Z Fold4 ถูกปรับอนิเมชั่นใหม่หมด รู้สึกได้จริง ๆ ว่าลื่นไหล “มาก” ทั้งการเข้า-ออกแอป การเลื่อนหน้าจอ ทำได้เนียนตามากจริง ยิ่งใช้กับจอ 120Hz แบบนี้อีก เป็น One UI แบบที่เราต้องการมาตลอด บนรุ่นนี้ทำได้แล้ว!
ตัว UI จะมีการปรับแยกส่วนกันชัดเจนระหว่างหน้าจอนอกกับหน้าจอด้านในทั้งการวางไอคอนแอป Widget หรือ Wallpaper ซึ่ง UI ด้านนอกก็จะเป็นแบบสมาร์ทโฟนทั่วไป ส่วนด้านในทั้งหน้า Setting หรือการใช้งานแอปอื่น ๆ ก็จะเป็นแบบแท็บเล็ตไปเลย เหมือนเรามีทั้งสมาร์ทโฟนจอเล็กและแท็บเล็ตอยู่ในร่างเดียวกันจริง ๆ ครับ
Taskbar ความสามารถใหม่ที่ใช้งานได้ยอดเยี่ยม
ความสามารถใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาบน One UI 4.1.1 นี้ก็คือ Taskbar หรือแถบแอปพลิเคชั่นด้านล่าง ที่ให้เราได้เข้าถึงแอปได้แบบทันทีแบบไร้รอยต่อ อธิบายง่าย ๆ ก็เหมือนบน Windows ที่เรามักจะเลือกปักหมุดแอปที่ใช้บ่อย ๆ ไว้ด้านล่าง เวลาจะใช้งานก็แตะเลือกได้ทันที ซึ่ง Taskbar ของ Z Fold4 นี้ก็ทำได้แบบนั้นเลย สมมติเรากับหาแอปบน Play Store อยู่แต่ก็อยากหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ก่อน ก็แตะเลือกที่ไอคอน Chrome ที่เราตั้งค่าไว้ที่แถบด้านล่างได้เลย ไม่ต้องกดออกไปหน้าโฮมก่อนแล้วค่อยเข้าอีกที ลดขั้นตอนได้เยอะ
ซึ่งตัวแอปที่โชว์บน Taskbar นี้ก็คือแอปที่เราตั้งไว้ในหน้าหลัก 5 แอปด้านล่างนั่นเองครับ หรือถ้าอยากใช้งานแอปนอกเหนือจากที่ตั้งไว้ก็ไปที่มุมซ้ายล่างจะเจอหน้ารวมแอปให้เราทุกแอปเลยครับ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วแบบนี้ Taskbar จะติดอยู่ในทุกแอปเลยรึเปล่า กินพื้นที่ในตัวแอปไหม ? คำตอบคือ Taskbar จะถูกซ่อนโดยอัตโนมัติในแอปที่แสดงผลเต็มจอครับ อย่างเช่นเราดู YouTube หรือเล่นเกม Taskbar จะไม่โผล่มากวนใจแน่นอน แต่หากเป็นแอปทั่วไปก็จะแสดงตลอด แต่ตรงนี้เราสามารถตั้งค่าให้แตะค้างที่ Taskbar เพื่อซ่อนได้ด้วย เข้าไปตั้งค่าได้ที่ Settings > Display > Taskbar > เลือก Show and hide with touch and hold ครับผม
ใช้งานหลายแอปก็สะดวกขึ้น
อย่างที่บอกว่าตัว Taskbar ที่อยู่ด้านล่างนี้ช่วยให้เราเลือกแอปขึ้นมาใช้งานได้สะดวกขึ้นมาก รวมไปถึงการใช้งาน Multi-Windows ด้วย เพราะเราสามารถแตะค้างที่ไอคอนแอปด้านล่างและดึงมาจับคู่กับแอปที่เปิดอยู่ได้ทันที จากที่แต่ก่อนเราอาจจะต้องเลือกหน้า Side Bar ด้านข้างออกมาแล้วเลือกแอปมารวมกันหรือจะไปกดในหน้า Recent ให้แบ่งหน้าจอก็ถือว่าหลายขั้นตอนกว่าแบบนี้ทั้งหมด
นอกจากวิธีการดึงแอปขึ้นมาจาก Taskbar แล้ว บน One UI 4.1.1 ยังมี Gesture ใหม่ที่ให้แบ่งหน้าจอด้วยการใช้ 2 นิ้วปาดเข้ามาที่จออีกด้วย วิธีนี้ก็แอปง่ายขึ้นอีกเพราะไม่ว่าเราจะเปิดแอปอะไรอยู่ก็สามารถแบ่งหน้าจอได้อย่างรวดเร็ว แต่ Gesture นี้จะถูกปิดอยู่ในค่าเริ่มต้นเราต้องเข้าไปตั้งค่าเปิดก่อนดังนี้ครับ
เข้าแอป Settings > Advanced Feature > Labs > เปิด Swipe for split screen
หรือถ้าแบ่งหน้าจอแบบนี้ยังไม่คล่องตัวนัก อยากได้แบบ Pop-up windows ลอย ๆ บนหน้าหลักไปเลย ก็ยังมีตัวเลือกให้เราดึงจากมุมจอลงมาเพื่อทำ Pop-up view อยู่เหมือนกัน ตรงนี้เราก็สามารถทำหน้าต่างลอย ๆ พร้อมกับใช้งานแอปอื่นไปด้วยได้เช่นกันครับ เช่นเดียวกับฟีเจอร์ที่แล้ว เราต้องไปเปิดการใช้งานในการตั้งค่าก่อน ดังนี้
เข้าแอป Settings > Advanced Feature > Labs > เปิด Swipe for pop-up view
ซึ่งรวม ๆ ความสามารถทั้งหลายทั้ง Taskbar หรือ Gesture ใหม่ ๆ เราก็สามารถใช้งาน Galaxy Z Fold4 ในแบบที่หลากหลายและสะดวกขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ ยิ่งบวกกับความลื่นไหลของ One UI 4.1.1 ยิ่งชวนให้เราประทับใจอย่างมาก เพราะไม่ว่าเราจะสลับแอปไป-มา ย่อ-ขยายแอปใน Multi-windows หรือใช้งานหลาย ๆ แอปพร้อมกัน ก็ยังไม่เคยเจออาการกระจุกหรือหน่วงให้เห็นเลยครับ เรียกว่าปรับแต่งซอฟต์แวร์มาได้เก่งจริง ๆ
Flex mode ที่รองรับได้มากขึ้น
อีกหนึ่งความสามารถของ Galaxy Z Fold ที่ทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกรุ่นก็คือ Flex mode หรือการทำงานร่วมกับการพับหน้าจอ อย่างที่ทราบกันดีว่า Galaxy Z Fold4 นั้นสามารถปรับระดับของหน้าจอได้หลากหลายไม่ใช่แค่พับกับกางเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากเรากางจอออกสักครึ่งหนึ่งก็คงเหมาะที่จะใช้ส่วนหนึ่งของตัวเครื่องเป็นขาตั้งไว้ใช้งานด้วย อาทิ เราเปิด YouTube แล้วพับจอเข้าหากัน หน้าจอบนจะเป็นวิดีโอส่วนจอล่างก็จะเป็นส่วนของ Desciption หรือคอมเมนต์ให้เราอ่านไปพร้อม ๆ กันได้
แต่นั่นไม่ใช่ความเก่งของ One UI 4.1.1 อย่างเดียวในรอบนี้เพราะในแอปดูวิดีโออื่น ๆ เราสามารถตั้งค่าให้มีแถบควบคุมได้ จะเลือกปรับเสียง เลือกปรับความสว่าง เลือกข้ามไปนาทีที่ต้องการดู หรือใช้เป็น Touch Pad เพื่อควบคุมเม้าส์บนหน้าจอด้านบนก็ทำได้ด้วยครับ มีความเป็นเล็ปท็อปไปแล้ว ไม่ใช่แค่แท็บเล็ต!
หรือถ้าเป็นสายถ่ายรูปตัวหน้าจอที่แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แบบนี้ก็เหมาะในการตั้งถ่ายภาพในหลากหลายมุมมองกว่าเดิม จะตั้งเครื่องแล้วเสยขึ้นไปเพื่อให้ได้มุม Ant eye view เท่ ๆ เราก็สามารถเลือกปรับ Viewfinder ให้อยู่ที่หน้าจอส่วนไหนก็ได้
ในเรื่องซอฟต์แวร์ต้องบอกว่า Samsung ทำการบ้านมาดีจริง ๆ ทั้งความลื่นไหลของระบบ การต่อเนื่องของแอปที่ใช้ตั้งแต่หน้าจอด้านนอก-กางออกก็ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง ฟีเจอร์การแบ่งหน้าจอที่ทำได้ง่ายและลื่นไหล หรือจะเป็น Flex mode ที่รอบนี้เก่งขึ้นในหลาย ๆ ส่วน ทำให้เราหลงรักการใช้งานสมาร์ทโฟนจอพับได้แบบเต็มเปาเพราะนอกจากฮาร์ดแวร์ที่ดีแล้ว การมีซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนให้ฮาร์ดแวร์ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพก็ถือเป็นสิ่งยอดเยี่ยมจริง ๆ ครับ
สเปคระดับสูงสุด ลื่นไหลในทุกการใช้งาน
มาต่อในเรื่องสเปคกันบ้าง Galaxy Z Fold4 มาพร้อมชิปเซ็ต Snapdragon 8+ Gen 1 เร็ว แรงที่สุดในสมาร์ทโฟน Android ตอนนี้แล้ว บวกกับ RAM ที่ให้มา 12GB และความจุภายในอีก 256GB/512GB หรือ 1TB อีก เรียกว่านี่คือสเปคที่ครอบคลุมทุกการใช้งานในตอนนี้ตั้งแต่ทำงานทั่วไปจนถึงงาน Multitask แบบหนักที่สุดได้สบายเลย อย่างที่เราบอกไปในการทำงานทั่วไปหรือการแบ่งหน้าจอทำงานพร้อม ๆ กันไป Z Fold4 ทำได้สบายไม่เจออาการกระตุกให้เห็นสักครั้ง
เพื่อให้เห็นภาพหน่อยว่าสเปคระดับนี้นั้นเร็ว แรงแค่ไหน เราก็เลยทดสอบผ่านแอป AnTuTu Benchmark มาให้ดู ซึ่งคะแนนก็ออกมาสูงถึง 931198 คะแนน เรียกว่าสูงเกือบแตะ 1 ล้านคะแนนอยู่แล้ว ท็อป ๆ ในวงการเลยล่ะครับคะแนนนี้
ส่วนฝั่ง Geekbench 5 ที่วัดประสิทธิภาพของ CPU เป็นหลักก็ได้คะแนน Single-Core ไปมากถึง 1275 คะแนน และ Multi-Core ไปที่ 3760 คะแนน แนวหน้าไม่แพ้กันเลย
เล่นเกมล่ะเป็นอย่างไร ?
แรงกันขนาดนี้แล้ว เราขอเล่นเกมทดสอบประสิทธิภาพจริงกันสักหน่อย เกมที่เราใช้ทดสอบ Galaxy Z Fold4 จะมี 3 เกมใหญ่ ๆ ประกอบด้วย Asphalt 9, Pokemon Unite และ Call of Duty ซึ่งเราทดสอบให้ทั้ง 2 รูปแบบคือหน้าจอด้านนอกกับหน้าจอด้านในเลย และผลก็ออกมาดังนี้ครับ
เล่น Asphalt 9 บน Galaxy Z Fold4
เริ่มที่เกมแข่งรถภาพสวยกันก่อนอัตราส่วนของหน้าจอทั้ง 2 ค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน แต่ด้วยความที่เกม Asphalt 9 นั้นเป็นเกมแข่งรถที่วิ่งไปตามเส้นทางอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีผลอะไรมากนัก นอกจากฉากที่เราจะได้เห็นถ้าเล่นบนจอนอกจะกว้างกว่าแบบชัดเจนมากทำให้เราเห็นฉากได้เยอะ แต่รถยนต์คันเล็ก ในขณะที่เมื่อกางหน้าจอออกมาเราจะเห็นรถที่เต็มตาขึ้นแต่ฉากในเกมเหลือหน่อยเดียว
ส่วนในเรื่องความลื่นไหล ด้วยสเปคระดับนี้คงไม่ต้องเดาว่าเล่นได้ลื่นไหลแค่ไหน เราสามารถปรับระดับกราฟิกได้ที่ High Quality พร้อมเปิด 60fps ได้อย่างสบายตัวเกมลื่นไหลดีมาก แต่ความเจ๋งของเกม Asphalt 9 ก็คือความต่อเนื่องที่เราสามารถสลับไปเล่นในแบบหน้าจอหลักหรือจอนอกได้แบบทันทีโดยที่ไม่ต้องกดออกจากเกมเลยครับ
เล่น Pokemon Unite บน Galaxy Z Fold4
ต่อมากับเกม Pokemon Unite ทั้ง 2 หน้าจอก็ใหอารมณ์ที่แตกต่างเหมือนกัน โดยหน้าจอนอกเราจะได้พื้นที่ของฉากค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว แต่ตัวละครก็จะดูเล็กลงไปแบบค่อนข้างชัด ส่วนหน้าจอหลักด้วยความใหญ่ก็ทำให้พื้นที่ในเกมกับปุ่มแยกออกจากกันได้เยอะ แม้อัตราส่วนจะไม่ยาวแบบทั่วไปแต่ก็เล่นได้ดีไม่แพ้กันล่ะครับ
ในเรื่องความลื่นไหล Pokemon Unite ปรับได้สูงสุดเช่นกันทั้งกราฟิกและเฟรมเรต ซึ่งเท่าที่เล่นก็วิ่งที่ 59 – 60fps ตลอดทั้งเกม ไม่เจออาการกระตุกมากวนใจเลยล่ะครับ
เล่น Call of Duty บน Galaxy Z Fold4
ปิดท้ายที่เกมยิงอย่าง Call of Duty เกมนี้จะแตกต่างจาก 2 เกมข้างบนนิดหน่อยตรงที่ในหน้าจอนอก Call of Duty จะเหลือสเกลในเกมที่ 20:9 แทน ทำให้เหลือขอบดำที่ซ้าย-ขวานิดหน่อย แต่สเกลในเกมนั้นถูกต้องเหมือนบนสมาร์ทโฟนทั่วไป ส่วนถ้ากางหน้าเข้ามาเราจะเห็นรายละเอียดของส่วนบน-ล่างมากขึ้นอีกหน่อยแต่รอบข้างจะถูกบีบให้เล็กลงครับ
ส่วนในเรื่องความลื่นไหลเกมนี้ให้เราปรับกราฟิกได้ที่ Very High คู่กับ Max หรือ Low คู่กับ Ultra แต่เราเลือกที่ภาพสวยสุดไว้ก่อน ก็เล่นได้อย่างลื่นไหล ตัวเกมตอบสนองได้ดีเลยทั้งความลื่นไหลของการสัมผัส และด้วยความที่หน้าจอด้านในมีความแข็งแรงมากขึ้น เวลาเราแตะแบบโหด ๆ ก็รู้สึกเหมือนบนจอสมาร์ทโฟนปกติมากขึ้นด้วย
เลือกปรับอัตราส่วนได้เอง ทางเลือกสำหรับสายเกม
อย่างที่เห็นไปว่าอัตราส่วนหน้าจอของ Z Fold4 ทั้งนอกและในไม่มาตรฐานเลย ทำให้ในการเล่นเกมถ้าไม่ยาวเกินไปก็จัตุรัสเกินไป แต่ใช่ว่า Samsung จะไม่เข้าใจปัญหานี้ เพราะเขาก็มีทางเลือกสำหรับสายเกมที่ต้องการเล่นได้แบบสเกลปกติ ด้วยฟีเจอร์การปรับสเกลของแต่ละแอปได้เอง อย่างในที่นี้เราเลิกสเกล 16:9 ให้เกม Call of Duty เพื่อที่จะได้เล่นบนหน้าจอในแบบถนัดขึ้น ผลก็ออกมาอย่างที่เห็นครับ เล่นได้ง่ายขึ้นแถมรอบนี้การปรับสเกลยังสามารถเลื่อนหน้าจอไว้ส่วนบน-ตรงกลางจอ-ส่วนล่างได้ด้วย ทำให้การแตะกดปุ่มในเกมนั้นสะดวกขึ้น
สำหรับการเล่นเกมก็ประมาณนี้ครับ เรียกว่ายังมีความไม่ลงตัวอยู่บ้างเนื่องจากอัตราส่วนที่ไม่ธรรมชาติของทั้ง 2 หน้าจอ แต่เท่าที่ลองดูการปรับอัตราส่วนให้แต่ละเกมนั้นก็พอจะช่วยให้เล่นได้ดีขึ้น แต่ในบางเกม (Pokemon Unite) ก็เจอปัญหาการแสดง UI ที่ผิดพลาดไปเลยเมื่อปรับอัตราส่วนเป็น 16:9 เรียกว่ายังไม่ 100% ซะทีเดียวล่ะเนาะ แต่โดยรวมถ้าเล่นในอัตราส่วนจริงของจอได้ก็ไม่เจอปัญหาเรื่องประสิทธิภาพล่ะครับ
กล้องถ่ายภาพที่อัปเกรดขึ้นมาระดับเรือธง
มาต่อในเรื่องกล้อง รอบนี้ Galaxy Z Fold4 อัปเกรดขึ้นมาได้น่าสนใจ ไม่ใช่กล้อง 12MP ทั้ง 3 ตัวเหมือน 2 รุ่นก่อนแล้ว มีสเปคดังนี้ครับ
- กล้องหลัง : 3 ตัว
- 50MP กล้องหลัก f/1.8, Dual Pixel AF พร้อม OIS
- 12MP กล้อง Ultra Wide f/2.2 มุมกว้าง 123°
- 10MP กล้อง Tele f/2.4 Optical Zoom 3X พร้อม OIS
- กล้องหน้า (หน้าจอนอก) : 10MP f/2.2
- กล้องหน้า (หน้าจอใน) : กล้องใต้หน้าจอ 4MP f/1.8
จะเห็นเลยว่ากล้องหลักปรับใหม่เลย ได้กล้องหลัก 50MP มีกล้อง Tele 3X แล้ว ซึ่งกล้องหลังทั้งชุดนี้คือชุดเดียวกับ Galaxy S22 และ S22+ เลยล่ะครับ เรียกว่ายกระดับขึ้นมาเป็นเรือธงเสียที
ในเรื่องของโหมดการถ่ายภาพก็มีมาให้ครบตามมาตรฐานของสมาร์ทโฟน Samsung ในยุคใหม่ทั้ง Portrait, Portrait Video, Night mode, Pro หรือ Director’s view เป็นต้น ซึ่งในการใช้งานร่วมกับ Flex mode ก็ทำได้อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ จะใช้งานแนวนอนแบ่งส่วน หรือจะเป็นแนวตั้งก็แบ่งส่วนเป็น Capture View ฝั่งหนึ่งเป็นภาพที่ถ่ายไปก่อนหน้าและอีกฝั่งเป็น Viewfinder ได้เหมือนเคย
กล้องหลัก 50MP ที่อัปเกรดพร้อม AI ที่เก่งขึ้นมาก
ด้วยความที่กล้องหลักอัปเกรดขึ้นมาเป็น 50MP ทำให้คุณภาพกล้องของ Galaxy Z Fold4 ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ไฟล์ภาพที่ได้จากกล้องตัวนี้ถูกใจเรามาก ๆ โทนของภาพยังเน้นไปที่ความสดใสและเคลียร์ตามสไตล์ Samsung การละลายฉากหลังที่เนียนตามากขึ้นเพราะขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่ขึ้น บวกกับมี AI ที่เก่งกาจคอยปรับภาพให้สวยขึ้นไปอีก Dynamic Range ที่กว้างมาก แม้เราจะถ่ายย้อนแสงหรือแสงน้อยก็จัดการได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ และนี่คือตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลักของ Galaxy Z Fold4 ครับ
กล้อง Ultra Wide ยัง 12MP เหมือนเดิม แต่ AI เก่งอีกนั่นแหละ
ส่วนกล้อง Ultra Wide แม้จากสเปคแล้วยังมีความละเอียด 12MP และ f/2.2 เท่าเดิม แต่ด้วยความเก่งกาจของ AI ที่พัฒนาขึ้นมาก ทำให้กล้องตัวนี้ถ่ายออกมาได้สวยกว่าที่เคยมาก ทั้งความคมชัดและ Dynamic Range ที่ใกล้เคียงกับกล้องหลักเลย โทนยังคงคมสดใสและสีสันที่ไม่เว่อวังจนเกินไป การปรับ Distortion หรือลดความบิดเบี้ยวของภาพก็ทำได้ดีเลย แม้จะยังมีจุดที่เบี้ยวอยู่บ้างแต่ก็ถือว่าใช้งานได้จริง ไม่โค้งจนเกินเหตุครับ
กล้อง Tele 3X ไปได้ไกลกว่าเดิม
ส่วนกล้อง Tele ก็มีการอัปเกรดเหมือนกัน แม้ความละเอียดจะลดลงแต่ได้ระยะซูมเพิ่มเป็น 3X แบบ Optical และสามารถซูมสูงสุดแบบ Space Zoom ได้ถึง 30X เลยทีเดียว ให้เราได้ใกล้กว่าที่เคย ซึ่งเท่าที่เราลองใช้งานจริง พบว่ากล้องตัวนี้คุณภาพดีมาก ในระยะ 3X ก็คือสวยตามสเปคอยู่แล้ว แต่ในระยะ 5X หรือ 10X ก็ทำได้ดีด้วย AI ที่เก่งมาช่วยประมวลผล
-
ระยะ 0.6X (Ultra Wide) -
ระยะ 1X (Wide) -
ระยะ 3X (Tele)
-
ระยะ 0.6X (Ultra Wide) -
ระยะ 1X (Wide) -
ระยะ 3X (Tele) -
ระยะ 10X (Space Zoom)
Portrait ที่เก่งระดับเรือธง
ในส่วนของโหมด Portrait เราสามารถใช้งานได้ 2 กล้องเป็น 2 ระยะคือ 1X หรือ 3X ซึ่งทำได้ดีทั้งคู่ ถ้าอยากได้เต็มตัวก็ใช้ 1X ได้เลย แต่ถ้าอยากได้แบบครอปเข้าไปเป็นระยะที่พอดีไม่กว้างจนเกินไปก็ใช้ 3X ได้ และที่สำคัญการเป็นสมาร์ทโฟนจอพับก็สามารถเปิดอีกหน้าจอให้แบบเราดูได้ด้วย หรือจะตั้งกล้องเองแล้วใช้ Gesture อย่าง Palm Selfie ให้ถ่ายเองก็จบ
ส่วนคุณภาพของโหมด Portrait ก็ถือว่ายอดเยี่ยมมาก ด้วยกล้องหลักและกล้อง Tele ที่อัปเกรดขึ้นมา บวกกับการประมวลผลเพิ่มเติมหลังถ่ายที่ฉลาด ทำให้ตัดขอบได้เนียน จัดการ Dynamic Range ของภาพได้ครบ แถมยังมีเอฟเฟกต์ละลายฉากหลังให้เลือกหลากหลาย เรียกว่าถ่ายและมาปรับแต่งเพิ่มเติมได้อย่างถูกใจเลยจริง ๆ ครับ
-
Portrait ระยะ 1X -
Portrait ระยะ 3X
เซลฟี่ด้วย Galaxy Z Fold4
ปิดท้ายที่เรื่องเซลฟี่ Galaxy Z Fold4 ให้กล้องมาทั้งหมด 5 ตัว ซึ่งแต่ละตัวก็ทำหน้าที่เป็นกล้องเซลฟี่ได้ทั้งหมด ซึ่งในรอบนี้ไม่ใช่แค่คุณภาพของกล้องหลังที่ดีขึ้น กล้องหน้าใต้หน้าจอก็อัปเกรดให้ถ่ายได้คมชัดมากขึ้นอีกด้วย เราลองมาให้ทั้งแบบแสงเต็มที่กับน้อยแสง และนี่คือผลลัพธ์ที่เราถ่ายมาได้ครับ
สภาพแสงปกติ
-
กล้องหน้า 10MP (หน้าจอนอก) -
กล้องหน้า 4MP (กล้องใต้หน้าจอ) -
กล้องหลัก 50MP -
กล้อง Ultra Wide 12MP
สภาพย้อนแสง
-
กล้องหน้า 10MP (หน้าจอนอก) -
กล้องหน้า 4MP (กล้องใต้หน้าจอ) -
กล้องหลัก 50MP -
กล้อง Ultra Wide 12MP
สรุปแล้วในเรื่องกล้อง Galaxy Z Fold4 ก็ถือว่ามีการอัปเกรดขึ้นจากรุ่นก่อนแบบเห็นได้ชัดเลย ทั้งความละเอียดและความคมชัด การประมวลผลที่รวดเร็วและปรับแต่งได้ดีขึ้นมาก ลบภาพสมาร์ทโฟนจอพับที่มีกล้องระดับกลาง ๆ ไปได้เลย รอบนี้ Samsung เอาจริงขึ้นมาก ใช้งานได้ดีทุกสภาพแสงเลยล่ะครับ ใครที่รอการอัปเกรดเรื่องกล้องบน Galaxy Z Fold Series อยู่ ไม่ผิดหวังแน่นอน!
แบตเตอรี่ใช้งานได้เต็มอิ่มกว่าที่เคย
ปิดท้ายด้วยเรื่องแบตเตอรี่อีกเช่นเคย Galaxy Z Fold4 มาพร้อมแบตเตอรี่ความจุ 4400mAh แม้ตามตัวเลขจะเท่าเดิม แต่ด้วยชิปเซ็ต Snapdragon 8+ Gen 1 ที่ประหยัดพลังงานได้ดีขึ้น บวกกับซอฟต์แวร์ที่ลงตัวกว่าเดิม เท่าที่เราลองใช้งานแบบจริงจังตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องหลักก็ถือว่าใช้งานได้ตลอดทั้งวัน ดึงสายชาร์จออกตอน 8 โมงเช้า ออกไปใช้งานทั้งเล่นโซเชี่ยล ถ่ายรูป เล่นเกมบ้างนิดหน่อย เชื่อมต่อผ่าน 5G ทั้งวัน กลับมาถึงบ้านประมาณ 2 ทุ่มแบตเตอรี่ยังเหลืออยู่เกือบ 30% ถือว่าทำได้ดีเลย Screen on time ประมาณ 4 – 5 ชม.สบาย ๆ รู้สึกได้เลยว่าอึดขึ้นกว่ารุ่นก่อนประมาณ 10 – 15% จริง ๆ ครับ
ระบบชาร์จยังได้ 25W Super Fast Charge เหมือนเดิม
ส่วนเรื่องระบบชาร์จ Galaxy Z Fold4 ยังมีระบบชาร์จไว 25W Super Fast Charge มาให้เท่าเดิม ซึ่งเราว่าความเร็วระดับนี้ก็ไม่ได้แย่อะไร ด้วยความที่แบตฯไม่ได้เยอะระดับ 5000mAh เท่านี้ก็เพียงพอต่อการชาร์จที่รวดเร็วแล้ว แถมที่ชาร์จก็ใช้ที่รองรับ PD 3.0 ได้เลย ใครที่มีอุปกรณ์ที่รองรับอยู่ก็ใช้ได้เลย ไม่ต้องไปหารุ่นพิเศษมาใช้ให้ยุ่งยากครับ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องซื้อเพิ่มหน่อยเพราะรุ่นนี้ไม่ได้มีแถมมาให้ในกล่องแล้วเนาะ
ราคาเริ่มต้น 59,900 บาท มีให้เลือก 3 ความจุ
Galaxy Z Fold4 เปิดราคาอย่างเป็นทางการเรียบร้อย มีให้เลือก 3 สีคือ Phantom Black (สีที่รีวิว), สี Graygreen และสี Beige มีให้เลือก 3 ความจุ 256GB/512GB และ 1TB มีราคาดังนี้
- รุ่น RAM 12GB + ROM 256GB ราคา 59,900 บาท
- รุ่น RAM 12GB + ROM 512GB ราคา 65,900 บาท
- รุ่น RAM 12GB + ROM 1TB ราคา 75,900 บาท
สรุปแล้ว “นี่คือสมาร์ทโฟนจอพับที่มอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดในตอนนี้”
สรุปแล้ว Galaxy Z Fold4 ก็ถือเป็นสมาร์ทโฟนจอพับที่เราคิดว่าลงตัวที่สุดในตอนนี้ทั้งในเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่ยอดเยี่ยมไปจนถึงซอฟต์แวร์ที่จัดเต็ม มอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดในบรรดาสมาร์ทโฟนจอพับในตอนนี้แล้วก็ว่าได้ครับ! ในเรื่องความน่าใช้หรือนิยมคงไม่ต้องพูดถึงในจุดนี้แล้วเพราะอย่างที่บอก…ออกมาถึงรุ่นที่ 4 ถ้าไม่ปังจริงก็คงไม่ได้ล่ะเนอะ และด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ Samsung จึงค่อย ๆ ปรับแต่ละจุดให้สมบูรณ์ขึ้น รอบนี้แก้เรื่องอัตราส่วนหน้าจอให้ใช้งานง่ายและถนัดขึ้นทั้งจอนอกและจอใน กล้องที่เหมือนเป็นจุดอ่อนก็เก่งขึ้นแบบผิดหูผิดตา ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือซอฟต์แวร์ที่ลื่นไหลขึ้นชัดเจนและเพิ่มลูกเล่นการทำงานให้ประสบการณ์การใช้สมาร์ทโฟนจอพับดูแตกต่างกว่าแค่สมาร์ทโฟนจอใหญ่ได้อย่างจริงจัง สำหรับใครที่ใช้ Z Fold3 อยู่แล้วอยากได้ประสบการณ์ที่สมบูรณ์ขั้นการอัปเกรดมาเป็น Z Fold4 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย ส่วนใครที่ยังไม่เคยลองสมาร์ทโฟนจอพับแล้วอยากเริ่มต้นกับรุ่นไฮเอนด์สักรุ่นเราว่ารุ่นนี้ควรเป็นตัวเลือกแรกที่มองมาเลยล่ะครับ
จุดเด่น
- ขนาดและสัดส่วนที่ลงตัวยิ่งขึ้น
- หน้าจอ Dynamic AMOLED 2X ที่ยอดเยี่ยมทั้งจอนอกและใน
- ซอฟต์แวร์ที่ลื่นไหล รองรับการทำงานแบบจอพับครบ
- ชิปเซ็ต Snapdragon 8+ Gen 1 เร็ว แรง ตอบทุกโจทย์การใช้งาน
- กล้องหลังที่อัปเกรดขึ้นเยอะมาก ถ่ายสนุกพร้อมผลลัพธ์ระดับเรือธง
- กันน้ำตามมาตรฐาน IPX8
จุดสังเกต
- รอยพับหน้าจอยังเด่นชัดอยู่
- ตัวเครื่องพับได้ไม่สนิท อาจเก็บฝุ่นได้ง่าย