‘มิตซูบิชิ’สู้ศึกค่ายรถจีนชิงส่วนแบ่งตลาดอาเซียน หลังค่ายรถจีนใช้กลยุทธเปิดตัวรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคันในราคาถูก
ในสายตาของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างมิตซูบิชิ มอเตอร์ มองตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดเดี่ยวที่มีความสำคัญแก่บริษัทอย่างมาก แต่เมื่อต้องมาแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดกับบรรดาค่ายรถสัญชาติเดียวกันรายอื่นๆและค่ายรถน้องใหม่สัญชาติจีนที่เน้นทำตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคันในราคาถูกแล้ว บอกได้เลยว่ามิตซูบิชิกำลังเจอโจทย์หินและต้องลงสู้ศึกอย่างเต็มตัวหากต้องการอยู่รอด
ปัจจุบัน มิตซูบิชิ เป็นแบรนด์รถยนต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งในอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15% ในฟิลิปปินส์ 10% ในอินโดนีเซีย และ 7% ในประเทศไทย สวนทางกับในญี่ปุ่นที่บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดแค่เพียง 1.7% เท่านั้น โดยภูมิภาคนี้มีสัดส่วน 77% ของผลกำไรจากการดำเนินงานของทั้งกลุ่มบริษัทในระยะเวลากว่า 5 ปี จนถึงปีงบการเงินสิ้นเดือนมี.ค.ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 366,100 ล้านเยน( 3,300 ล้านดอลลาร์)
แต่การปรับตัวร่วงลงอย่างรุนแรงของส่วนต่างจากการดำเนินงานในตลาดอาเซียนสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญ โดยในปีงบการเงิน 2558 มิตซูบิชิ ทำกำไรจากการดำเนินงานได้สูงสุดตลอดกาล โดยส่วนต่างจากการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 15.3% แต่ตัวเลขนี้ลดลงเหลือ 11.5% ในปีงบการเงิน 2562 จากนั้นก็ดิ่งลงเหลือแค่ 2.9% ในปีงบการเงินต่อมา
กำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายรถยนต์ร่วงลงจาก279,000 เยนในปีงบการเงิน 2558 เหลือ 49,000 เยนในปีงบการเงิน 2563
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่สามารถทำการเปรียบเทียบโดยตรงได้ แต่ค่ายรถชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า มอเตอร์ ก็มีรายได้ต่อรถยนต์1คันสำหรับภูมิภาคเอเชียรวมจีนอยู่ที่ 357,000 เยนในปีงบการเงิน 2563 และแม้แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก รายได้ต่อรถยนต์1คันของค่ายรถแห่งนี้ก็เพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 20,000 เยนจากช่วง5ปีก่อนหน้านี้
ข้อมูลจากมาร์คไลน์ส บริษัทวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ระบุว่า ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงของมิตซูบิชิส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง โดยในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของภูมิภาค ส่วนแบ่งตลาดของมิตซูบิชิร่วงลงเหลือ 6.7% ในปีงบการเงิน 2563 จาก 8.6% ในปีงบการเงิน 2562
ที่ผ่านมา มิตซูบิชิชลอการออกรถรุ่นใหม่ๆในภูมิภาค ซึ่งทำให้ความนิยมในแบรนด์รถยนต์ลดลงตามไปด้วย โดยนับตั้งแต่บริษัทเปิดตัวรถปิคอัพไทรทัน รถปิคอัพรุ่นขายดี บริษัทก็ใช้เวลา 6 ปีครึ่งในการดีไซน์รถรุ่นนี้ใหม่เพื่อวางจำหน่ายแต่ก็ถูกคู่แข่งสัญชาติเดียวกันอย่างอีซูซุ มอเตอร์ และโตโยต้า เอาชนะไปด้วยรถรถ่นใหม่ที่โดนใจผู้ขับขี่มากกว่า
แต่ถึงแม้จะเจอปัญหากระแสความนิยมในหมู่ผู้ขับขี่ลดลงจนทำให้ส่วนแบ่งตลาดน้อยลงตามไปด้วย แต่มิตซูบิชิก็ไม่ได้ถอดใจกับความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างน้อย 5 รุ่นในตลาดอาเซียนตั้งแต่ปีงบการเงิน 2565 เป็นต้นไป ในจำนวน5รุ่นที่ว่า รวมถึงรถรุ่นไทรทัน และเอ็กซ์แพนเดอร์ที่ได้รับการออกแบบใหม่จนเสร็จสมบูรณ์
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาดโลก โดยมิตซูบิชิกำหนดให้รถยนต์ขับเคลืื่อนด้วยไฟฟ้าเป็นกลยุทธที่สำคัญในการทำตลาดและพยายามผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ 50% ของรถยนต์ที่จำหน่ายทั่วโลก ภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นจากที่มีสัดส่วนแค่ 8% ในช่วง 12 เดือนสิ้นสุดเดือนมี.ค.
มิตซูบิชิตั้งเป้าพัฒนารถยนต์รุ่นไทรทันเป็นรถไฮบริดที่ได้รับการออกแบบใหม่ และในปี 2566 บริษัทจะเปิดตัวรถไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีราคาขายไม่ถึง 18,000 ดอลลาร์
“รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคันยังมีไม่แพร่หลายทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้นถือว่าตลาดยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก มิตซูบิชิซึ่งเน้นทำตลาดในภูมิภาคนี้อยูู่แล้ว จึงต้องเร่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด”โคอิชิ สุกิโมโตะ นักวิเคราะห์จากมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนเลย์ ซิเคียวริตีส์ ให้ความเห็น
ความตั้งใจของมิตซูบิชิ คือเปิดตัวรถไฟฟ้าแข่งกับค่ายรถยนต์จีนที่เปิดตัวรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่า อย่างกรณีของเอสเอไอซี มอเตอร์ ที่มีฐานดำเนินงานอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ขายรถอีวีในปี 2562 ผ่านหน่วยงานร่วมทุนกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ กรุ๊ปของไทย ขณะที่เกรท วอลล์ มอเตอร์สก็ใกล้จะเปิดตัวรถอีวีในไทยและมีราคาขายไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์
“เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องลดต้นทุนการผลิตรถอีวีด้วยการแชร์ส่วนประกอบร่วมกันกับนิสสัน ซึ่งจะช่วยให้เราแข่งขันกับค่ายรถจีนได้ในระยะกลางถึงระยะยาว”ทาคาโอะ กาโตะ ประธานบริษัทมิตซูบิชิ กล่าว