เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หนึ่งในตระกูลดังแถวหน้าของอเมริกา กับธุรกิจขนมหวานมากมายหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น มาร์ส บาร์ สนิคเกอร์ส ทวิกซ์ มิลกี้ เวย์ หรือ เอ็ม แอนด์ เอ็ม ฯลฯ ยังไม่ได้นับรวมสินค้าอย่างอื่น เช่นไลน์เครื่องดื่ม หมากฝรั่ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงอีก
อาณาจักรธุรกิจอันใหญ่โต เป็นโรงงานขนมที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาของตระกูลมาร์สนั้น เป็นการลงทุนแบบส่วนตัวของวงศ์ตระกูลล้วนๆ โดยไม่เคยคิดจะเข้าตลาดหุ้น กระนั้นพวกเขาก็ร่ำรวยมากถึง 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัท มาร์ส ก่อตั้งมาเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่งสถาบันวิจัย ซิลเวอร์ สปูน โอลิการ์ช รายงานว่า พวกเขาเป็นตระกูลที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 3 ของอเมริกา แต่ว่า ส่วนใหญ่สมาชิกของครอบครัวมักจะเก็บตัวเงียบๆ ไม่ค่อยชอบออกสื่อสักเท่าไหร่ แถมพวกเขายังดำเนินธุรกิจแบบ ‘ครอบครัว’ ไม่เคยนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นมาให้ใครร่วมลงทุนเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากเปลี่ยนรูปแบบการจดทะเบียนมาเป็น มาร์ส อิงก์. ทายาทรุ่นใหม่ๆ ก็เริ่มเผยโฉมออกมาบ้าง
มาร์ส ก่อตั้งโดย แฟรงก์ มาร์ส ที่ได้เรียนรู้การทำขนมชุบช็อกโกแลตตั้งแต่หนุ่มๆ โดยในปี 1911 เขาได้เริ่มขายขนมที่ทำสดๆ จากก้นครัวบ้านตัวเองในทาโคมา รัฐวอชิงตัน
ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แฟรงก์และภรรยา เอเทล ก็กลายเป็นเศรษฐีแล้ว พวกเขามีบ้าน 2 หลังอยู่ในวิสคอนซินและเทนเนสซี รวมทั้งมีรถยนต์ดอยเซนเบิร์ก คันละ 20,000 ดอลลาร์ขับ
พวกเขาเปิดบ้านในเทนเนสซี หรือฟาร์มม้าแข่ง มิลกี้เวย์ สำหรับจัดงานอีเวนต์ต่างๆ โดยเก็บค่าเข้าชมด้วย นอกจากนี้ ม้าแข่งของเอเทลยังชนะเลิศในการแข่งขันที่เคนทักกี้ ดาร์บี้ ในปี 1940 อีกด้วย
ฟอร์เรสต์ มาร์ส (ซีเนียร์) ลูกชายของแฟรงกฺและเอเทล เข้ามาร่วมงานกับบริษัทขนมในปี 1929 พวกเขาพัฒนาขนมชนิดใหม่อย่าง มิลกี้เวย์ บาร์และสนิคเกอร์ส ทว่า ในปี 1932 ฟอร์เรสต์ (ซีเนียร์) เกิดทะเลาะกับพ่อ พ่อยกสูตรมิลกี้เวย์ บาร์ให้เป็นลิขสิทธิ์ของเขา สุดท้ายเขาก็ไปเปิดบริษัทขนมของตัวเองที่อังกฤษ
นับจากนั้น โรงงานมาร์ส ที่อเมริกา จึงเน้นผลิตขนม 3 ชนิด คือ เอ็ม แอนด์ เอ็ม มาร์ส บาร์ และทวิกซ์ ก่อนที่ในปี 1934 จะมีการเปิดบริษัทลูก อย่าง ชัปเปล โบรส์. ออกมาผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ดังๆ อย่างเพดดีกรี วิสกัส และรอยัลคานิน รวมทั้งพัฒนาไปถึงการทำโรงพยาบาลสัตว์เครื่อข่ายยักษ์ใหญ่ แบนฟิลด์ และวีซีเอ
ในปี 1964 หลังจากที่บิดาเสียชีวิต ฟอร์เรสต์ มาร์ส (ซีเนียร์) ก็กลับมายังบ้านเกิด และจัดการควบรวมบริษัทเข้าด้วยกันทั้งหมด แม้จะเคยไม่ลงรอยกับพ่อ แต่ฟอร์เรสต์ (ซีเนียร์) ก็เลี้ยงลูกเหมือนที่พ่อเคยเลี้ยงเขามา คือให้เข้าศึกษาในโรงเรียนเอกชนที่ดีที่สุด และพวกเขาต้องทำงานถึงจะได้เงินใช้ ซึ่งเขายุติธรรมพอที่จะแบ่งสรรปันส่วนธุรกิจครอบครัวให้ลูกๆ อย่างแจกเกอลีน, จอห์น และฟอร์เรสต์ (จูเนียร์) ช่วยกันดูแล
ปัจจุบัน แจกเกอลีนและจอห์น มาร์ส ช่วยกันบริหารงานบริษัท มาร์ส อิงก์. (ฟอร์เรสต์ (จูเนียร์) เสียชีวิตแล้ว) โดยถือสัดส่วนหุ้นไว้มากที่สุดคนละ 24,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ลูกๆ อีก 4 คนของฟอร์เรสต์ (จูเนียร์) ถือคนละ 6,000 ล้านดอลลาร์
สมาชิกครอบครัวมาร์สใช้ชีวิตอย่างสมถะคิดดิน แม้จะเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 3 ของอเมริกาก็ตาม มีเพียง แจกเกอลีน มาร์ส ที่พอจะออกไปเฉิดฉายในสังคมอยู่บ้าง ด้วยการมีชื่ออยู่ในผู้เป็นเจ้าของที่ดินราคาแพงหลายแห่ง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัท มาร์ส อิงก์ ได้ชื่อว่าเป็น “แดนสนธยา” ด้วยความที่คนไม่ค่อยรู้เรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับบริษัทนัก ถึงกับมีชื่อเล่นๆ ว่า บริษัท เครมลิน ทุกสิ่งที่อยู่อยู่เบื้องหลังกำแพงล้วนเป็นความลับ
แจกเกอลีน มีลูกชายกับอดีตสามี เดวิด แบดเจอร์ 1 คน คือ สตีเวน แบดเจอร์ ซึ่งตอนนี้นั่งในตำแหน่งประธานบริษัท มาร์ส อิงก์ ซึ่งเริ่มมีวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนไปจากผู้บริหารรุ่นพ่อรุ่นแม่
“ในอดีต 99% ของเรื่องราวในบริษัทที่เราไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่โลกตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามามีสวนร่วม มาผูกพันกับสินค้ามากขึ้น” สตีเวน กล่าว
เช่นเดียวกับเรื่องราวอื่นๆ ในปี 2015 จอห์น มาร์ส ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ชั้นอัศวิน จากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบท ที่ 2 แห่งอังกฤษ ก็ไม่ค่อยมีคนรู้ โดยจอห์นและแจ๊กเกอลีน ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิ มาร์ส ขึ้นเพื่อบริจาคเงินสนับสนุนด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และด้านสุขภาพ รวมทั้งมีโครงการจิตอาสาเข้าไปช่วยเหลือการกิจกรรมการกุศลต่างๆ