ภาพเก่าเล่าตำนาน : ชาวกะเหรี่ยง..มิใช่ใครอื่น โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก – มติชน

มีข้อมูลว่า.. สงครามกลางเมือง ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก คือสงครามกลางเมืองในแผ่นดินเมียนมา ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.2505… เมื่อนายพล เนวิน ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ยาวนาน ต่อเนื่อง

ในแผ่นดินเมียนมามี 7 กลุ่มชาติพันธุ์หลัก และกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆ อีกราว 130 กลุ่ม ..ภาษาพูดหลากหลาย

กลุ่มชาติพันธุ์ “บามาห์” (Bamah) คือ 1 ใน 7 กลุ่มที่กำลังปกครองบ้านเมือง พยายามจะประนีประนอม แบ่งปันอำนาจกับทุกกลุ่มมายาวนาน …เดี๋ยวดี ..เดี๋ยวร้าย..แผ่นดินแทบไม่เคยสงบสุข

ในกลุ่มต่างๆ ยังมีกลุ่มย่อยๆ ที่ขอมีอาณาจักร ขอมีอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตน…มีอาวุธในครอบครอง มีเขี้ยวเล็บ

“การสู้รบ” ผสมผสานกับ “การพูดคุย” ดำเนินมาอย่างทุลักทุเลมากกว่า 80 ปี เดี๋ยวหยุดยิง เดี๋ยวยิงกันใหม่ เปลี่ยนขั้ว ย้ายข้างกัน เพื่อการสู้รบ….เป็นเรื่องที่ “ติดตาม-เข้าใจได้ยาก”

แม้กระทั่งผู้นำในกองทัพ… “บิ๊กเบิ้ม” ทั้งหลายก็ผิดใจกันบ่อยครั้ง ยึดอำนาจ จับกุมกันเอง…ความสงบสุข สันติภาพ เป็นเรื่องที่ไกลสุดขอบฟ้า

มาถึงปี พ.ศ.2565 การสู้รบกันระหว่างกองทัพ-กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ยิ่งเพิ่มดีกรีความโหด …สงคราม คือคำตอบเสมอ

เมียนมา เป็นดินแดนที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ แร่ธาตุ อัญมณี น้ำมันบนบก แม้กระทั่งก๊าซในทะเลที่อิ่มเอิบ อู้ฟู่… ต่างชาติกระหายจะมาลงทุนใจจะขาด

แผ่นดินนี้เคยปลูกข้าวส่งออกได้อันดับต้นๆ ของโลกแข่งกับไทย

ปตท.จากไทย คือ ผู้ลงทุนรายยักษ์ด้านพลังงานในเมียนมา

ผู้เขียนเอง…ในช่วงรับราชการ มีการติดต่อสัมพันธ์กับนายทหารระดับสูงของเมียนมาแบบแน่นแฟ้นหลายรุ่น หลายท่าน มีปริศนาคาใจ ที่พูดไม่ออก-บอกไม่ถูกในหลายประเด็น

แม้กระทั่ง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่เมื่อเป็นแม่ทัพภาคสามเหลี่ยม (Triangle Command) ทางภาคเหนือสุดของเมียนมา ก็เคยพูดคุยกันแบบเพื่อนร่วมงาน ร่วมอุดมการณ์

เราเคยคุยกันเรื่องความสงบสุข สันติภาพ และการทำมาค้าขายของพี่น้องทั้ง 2 ประเทศตามแนวชายแดน ที่ต้องขยายตัวไปตลอดแนวชายแดน 2,400 กม. และต้อง “รวยไปด้วยกัน”

สงครามทำให้ประชาชนเสียชีวิต ลูกหลานไร้อนาคต ล้าหลัง

กาลเวลาผ่านไป การติดต่อระหว่างเพื่อนขาดหายไปบ้าง แต่มีการฝากความระลึกถึงกันผ่าน “ผู้มาเยือน” เสมอ

1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดการรัฐประหารในเมียนมา ท่ามกลางความตกตะลึงของสังคมโลกที่กำลังเข้าไปค้าขาย ลงทุนระดับเมกะโปรเจ็กต์ในแผ่นดินเมียนมา

เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักข่าวที่เกาะติดเรื่องพม่ามานานหลายทศวรรษ รายงานว่า…ค่าเงินจ๊าดลดลงถึง 60% ข้าวสารบรรจุถุงแพงขึ้น 40% น้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น 2 เท่า

บริษัทโทรคมนาคมเทเลนอร์ ขายกิจการทั้งหมดในเมียนมา โวลตาเลีย บริษัทพลังงานทดแทนจากฝรั่งเศส และบริษัทเบียร์ คิริน จากญี่ปุ่นถอนตัวจากเมียนมา รวมถึงเบเนตตอ ที่ระงับการสั่งผลิตเสื้อผ้า

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในประเทศ และต่อมา ออกคำสั่งแต่งตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี

สงครามระหว่างกองทัพเมียนมา (ทัดมาดอ) กับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์เริ่มจาก “สงครามย่อย” กลายเป็นสงครามล้อมปราบเต็มพิกัด เต็มแผนที่ประเทศนี้

ประชาชนในเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ในชนบท ในป่าเขา จับอาวุธเท่าที่มี “ทำสงครามกองโจร” …แย่งชิงอาวุธจากกองทัพเมียนมา

จุดอ่อนของกองทัพของทุกประเทศ คือ การส่งกำลังบำรุงให้ทหารที่ออกไปทำการรบในป่าเขา ต้องใช้รถยนต์บรรทุก เครื่องบิน นำสัมภาระ อาหารน้ำ กระสุน ไปส่ง

กองทัพประชาชนทั่วประเทศ ใช้ยุทธวิธี “ซุ่มโจมตี” ดักยิง วางระเบิดบนถนน ตรงช่องเขา บริเวณจุดคับขัน.. สำเร็จทุกครั้ง

(การรบแบบกองโจร ซุ่มยิงขบวนยานยนต์ วางระเบิด เข้าตีฐานปฏิบัติการทหาร ตำรวจ เกิดขึ้นในไทย ลาว เวียดนาม เขมร ระหว่างสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายรัฐเสียหายมาก)

หลังการรัฐประหารเมื่อกุมภาพันธ์ 2564 นักวิชาการ นักสังเกตการณ์ทั้งหลายรู้ตัวว่า “ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด”

ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ เมื่อมีเหตุขัดแย้ง กองทัพใช้ “กำปั้นเหล็ก” ทุบ ยิงประชาชน นักศึกษา พระสงฆ์ ชาวบ้าน กลัวกันหัวหด

แต่ยุคนี้..โซเชียลมีเดียทั้งหลาย กลายเป็น “ตาวิเศษ” ที่ปลุกชาวเมียนมาออกมา “สู้ยิบตา” ในเมือง ในชนบท ในป่าเขา ติดต่อเชื่อมโยงกันได้หมด

การเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2553 ชาวเมียนมาได้ลิ้มลอง สัมผัสอารยธรรมของ “เสรีภาพบางส่วน” จนติดใจและหวงแหน “ระบบรัฐสภา” ที่มีผู้แทนของประชาชนเข้าไปเป็นปากเสียง

ถึงแม้จะมีเงามืดอำนาจนิยมแฝงทาบทับอยู่

เยาวชนได้เรียนหนังสือ มีอิสรภาพ เสรีภาพ ในชีวิต มีการทำมาค้าขายทั้งในและต่างประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่าย

ชาวเมียนมาส่วนหนึ่งใช้ภาษาอังกฤษได้ดี (โดยเฉพาะกะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์) สามารถสื่อสารออกไปสู่สังคมโลกได้อย่างเฉียบแหลม กล้าหาญ

ขณะนี้…กองทัพเมียนมากำลังเจอ “ประชาชนคนกระดูกเหล็ก” แบบไม่เคยเจอมาก่อน…กองทัพสูญเสียมาก เสียขวัญ

ระเบิดแสวงเครื่องดังระงมไปทุกหนแห่งในสถานที่ของรัฐ

2 พ.ค.64 กองกำลังกะฉิ่น (KIA) ยิงเฮลิคอปเตอร์ตกด้วยจรวดต่อสู้อากาศยาน FN6 ไฟลุกท่วมตกลงตายหมด

ทัดมาดอสูญเสียทหารและสูญเสียอาวุธจำนวนมาก..

ประชาชนใช้มือถือ…บอกกล่าวสงครามสู่สังคมโลก

เมื่อกองทัพเป็นรองด้านการรบในป่าเขา..ต้องปรับยุทธวิธี

ช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาปรับเปลี่ยนยุทธวิธี…หันไปยิงทำลาย โจมตี “ชุมชน-หมู่บ้าน” ด้วยปืนใหญ่ระยะไกล เครื่องบินถล่ม แล้วใช้ทหารราบตามเข้าไปเผาหมู่บ้าน

กองกำลังต่างๆ ที่มี “หมู่บ้าน-ครอบครัว” เป็น “ที่พักพิง” ต้องเสียขวัญ เสียฐานที่มั่น ลูกเด็กเล็กแดง ต้องอพยพหนีตาย ขาดแคลนอาหารระส่ำระสาย

บ้างก็เข้าไปในบังกลาเทศ อินเดีย และพยายามเข้าไปในจีน

ดินแดนที่เป็น “ตัวเลือกที่ดีที่สุด” คือประเทศไทย ที่จะเข้ามาทางไหน ช่องทางธรรมชาติ มีทั้งมาเองและ “มีนายหน้า” เสียเงิน

ชาวบ้านที่อยู่ติดกับชายแดนไทย คือ ผู้มาเยือนขาประจำ

ขอกล่าวถึงเฉพาะ “ชาวกะเหรี่ยง” ที่อยู่ติดกับชายแดนไทยจำนวนมากที่สุด ตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปถึง จ.ราชบุรี

“ขมิ้นกับปูน” คือ คำนิยามระหว่าง ชาวบามาห์-กะเหรี่ยง

“กะเหรี่ยง” เป็นใคร เหตุไฉนจึงไม่กินเส้นกับพม่า

“ชาวกะเหรี่ยง” เป็นหนึ่งในชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า คาดว่ามีประชากรประมาณ 5-7 ล้านคน

ในความเป็นเผ่า “กะเหรี่ยง” ก็แยกย่อยแตกต่างกันไปอีกหลายสาขา มีถิ่นที่อยู่อาศัยกระจายกันออกไปตามขุนเขา ใช้ชีวิตในที่สูง เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ตั้งหลักแหล่งอยู่บนที่สูงตั้งแต่เกิดจนตาย

กะเหรี่ยง ที่อพยพลงมาสู่ที่ราบก็มี…

ชาวกะเหรี่ยงประมาณ 3 ล้านคนอาศัยอยู่ใน “สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี” เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในที่ราบก็ “ทำนา” ชุมชนกะเหรี่ยงแยกออกทางภาษา วัฒนธรรม

“กะเหรี่ยง” ในแผ่นดินไทยก็มีเยอะนะครับ

กะเหรี่ยง หรือ ปกากะญอ มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มชาวเขาในไทย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อกันว่ากลุ่มกะเหรี่ยงเป็นคนกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมานานหลายร้อยปี

ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนที่รักความสงบ ผูกพันกับธรรมชาติและไม่ชอบการต่อสู้หรือความรุนแรง

ในอดีตชาวกะเหรี่ยงจึงมักหลีกเลี่ยง จะไม่ข้องเกี่ยวกับคนภายนอกชุมชนของตนและมักตั้งหมู่บ้านอยู่ห่างไกลชุมชนอื่น

ในภาคกลางของประเทศไทย…มีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากตั้งแต่สมัยพระเจ้าอลองพญา เนื่องจากปัญหาสงครามและความขัดแย้งระหว่าง “พม่ากับมอญ”

เมื่อมอญเป็นฝ่ายพ่ายแพ้พม่า….กะเหรี่ยงได้ให้ที่หลบภัยและช่วยเหลือมอญ ในที่สุดก็อพยพตามมอญ…ลี้ภัยมาอยู่ในไทย

จากสมุดราชบุรีซึ่งเป็นรายงานของมณฑลราชบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว …ได้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายและได้กล่าวถึง “ชาวกะเหรี่ยง” ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าได้มีการตั้งหลักแหล่งแน่นอนภายใต้การปกครองของสยามมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์

ในเมืองราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี กะเหรี่ยงพวกนี้มาจากเมืองมะกวย แขวงเมืองมะละแหม่งทางใต้ของพม่า….

ช่วงแรก…ได้อพยพเข้ามาประมาณ 100 คน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ห้วย “ชองกะเลีย” ต่อมาก็มีการอพยพเพิ่มเติมเรื่อยมา เมื่อมีจำนวนมากขึ้น ก็ขอเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม จึงได้ตั้งผู้ปกครองเป็นลำดับ โดยได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีเช่นเดียวกับข้าราชการท้องถิ่นอื่นๆ

ผู้นำชาวกะเหรี่ยงได้รับแต่งตั้งเป็น “พระยาศรีสุวรรณคีรี”

เจ้าเมืองสังขละบุรีต้องลงไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่กาญจนบุรี 3 ปี/ครั้ง โดยจะนำเอาผ้าทอสีขาวสีแดงที่ชาวกะเหรี่ยงทอเอง 20 ผืน ต้นดอกไม้เงิน 2 ต้น เครื่องยาสมุนไพรและของป่าเป็นเครื่องบรรณาการไปถวายที่กรุงเทพฯ (ข้อมูลจาก ฉลอง สุนทราวาณิชย์, 2550 : 23-24)

เมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์… ชาวกะเหรี่ยงคือ พี่น้อง เพื่อนบ้าน ที่ไปมาหาสู่เนืองๆ …ทุกครั้งที่มีภัยสงคราม

ความบาดหมาง-แผลในใจ แต่เก่าก่อน….

พ.ศ.2492 ในสมัยอังกฤษปกครองพม่า กะเหรี่ยง (หรือ กอทูเล) ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองหรือขอเป็นเอกราชจากพม่า โดยกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุดคือ KNU ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองและมีกองกำลังติดอาวุธ

ช่วงอาณานิคม ชนเผ่ากะเหรี่ยงที่อยู่ตามหุบเขาได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ โดยการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีชาวอเมริกันและครูสอนศาสนาชาวอังกฤษ

เมื่อชาวกะเหรี่ยง ฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้ดี ชาวกะเหรี่ยงได้ไปเรียนหนังสือในอังกฤษ กลับมาทำงานในเมืองหลวง เมืองใหญ่ ทำงานแบบผู้มีความรู้ และได้รับราชการในกองทัพอังกฤษ

เมื่อเกิดสงครามระหว่างพม่า-อังกฤษ กะเหรี่ยงคริสต์จงรักภักดีต่ออังกฤษ …ช่วยกองทัพอังกฤษรบกับชาวบามาห์

ชาวบามาห์…ฝังใจ…จำไม่ลืม

นี่คือ “แผลเก่า” ที่รักษาไม่หาย..เรื้อรังนับร้อยปี

แต่ไหนแต่ไร เมื่อเหตุการณ์ปกติสุข กะเหรี่ยงก็ไปมาค้าขาย ข้ามไป-ข้ามมา ค้าขายกับฝั่งไทย

ในช่วงสงครามเย็น (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ชนเผ่ากะเหรี่ยงทำตัวเป็น “รัฐกันชน” เคยช่วยไทยสกัดกั้นคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma : CPB) มิให้เข้ามาถึงชายแดนไทย เรามีสัมพันธ์อันดีต่อกัน

กะเหรี่ยงทั้งหลาย เมื่อเดือดร้อนก็ข้ามมาไทย สงบก็กลับ ชาวกะเหรี่ยงในไทยก็คอยอุ้มชูดูแลกันทุกครั้ง

การพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลเมียนมากับกะเหรี่ยงและกลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่จบลงแบบพังไม่เป็นท่า.. ได้ฟังมาตลอดนับสิบปี

ผู้เขียนเห็นว่า… ความทุกข์ยาก ความสูญเสียทั้งหลายของประชาชน ต้องหอบข้าวของหนีมันแสนทรมาน

สงครามที่กำลังดำเนินอยู่แบบ “จัดหนัก” จะนำไปสู่อะไร

ในเมืองใหญ่… มีระเบิดระงมไปหมด

(ธันวาคม 2564 กองทัพเมียนมากำลังปราบหนักในรัฐกะยา ยิงถล่ม เผาหมู่บ้าน จับชาวบ้านมัดมือเผาจนตาย 38 คน เป็นข่าวไปทั่วโลก และอีกหลายพื้นที่ในประเทศ)

15 ธันวาคม 2564 ชนเผ่ากะเหรี่ยงในแผ่นดินเมียนมา หนีตายเข้ามาในไทย ข้ามแม่น้ำ เดินเท้ามาทางบกราว 5 พันคน

ทหาร ส่วนราชการและเอกชนในจังหวัดตากดูแลให้ที่พัก ข้าวปลาอาหาร ดูแลเรื่องโควิด

หลังขึ้นปีใหม่ 2565 ทยอยกลับไปบ้างแล้ว…

ถ้าจะบอกว่า… “สงครามในเมียนมา..เป็นเรื่องภายในของเค้า” คงจะเป็นความคิดที่คับแคบและใจดำ

ประชาชนจากฝั่งเมียนมาหนีตาย บางส่วนต้องจ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อเข้ามาในประเทศไทย เป็นข่าวแทบทุกวัน

การสกัดกั้นตามชายแดน เป็นเรื่องปลายเหตุ

ชาย หญิง เด็ก คนแก่ จากเมียนมา ที่ยังตกค้างในค่าย “ผู้หนีภัยจากการสู้รบ” 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดอีกราว 8 หมื่นคน ตั้งแต่ พ.ศ.2527 ยังคาราคาซัง ไม่มีใคร

รับไป…

คนเก่า” ..ผลักก็ไม่ไป.. “คนใหม่” กำลังเข้ามาเติมอีก

7-8 มกราคม 2565 นรม.ฮุน เซน ของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน มีกำหนดบินไปพูดคุยกับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ในกรุงเนปยีดอ

นรม.กัมพูชาในอำนาจราว 30 ปี ที่โชกโชนกับ “ศาสตร์และศิลป์” แห่งสันติภาพต้องมีทีเด็ดในการทำงานแน่นอน…..

ในขณะที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี …อาเซียน และแม้แต่สหประชาชาติ ยังได้แค่ส่งเสียง “ประณามพอเป็นกริยา” ….

หวังว่า นรม.ฮุน เซน..คงจะมี “รูปธรรม” ติดไม้ติดมือมาบอกกันบ้าง เพราะ “ผู้เดือดร้อนตัวจริง (ตลอดมา) คือ ไทย…