วันที่ 13 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กจ 0018.1/7794 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เรื่อง แจ้งข้อเท็จจริงและให้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน
โดยหนังสือระบุว่า ด้วยอำเภอเมืองกาญจนบุรี รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 23.00 น. ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้เข้าทำการตรวจสอบและจับกุม ผู้กระทำความผิด จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายอัฒฐวุฒิ แก้วทอง ซึ่งให้การว่าเป็นลูกจ้างของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบร้าน Camp Bar, นายสายชล ชำนาญกุล ซึ่งให้การว่าเป็นลูกจ้างของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบร้านสะพานดำ และนางสาวสุวิมล คำเงิน เจ้าของร้านเหล้าปั่น เปิดให้บริการอยู่ในพื้นที่ของร้านตลาดค่ายเชลยศึก
โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน “ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์, ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการส่งเสริมการขาย, ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด, ยุยงส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด โดยการจำหน่ายสุราแก่เด็ก, จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา หรือบุหรี่แก่เด็ก, จำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต, ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 และเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ข้อ 4 (1) (2) วรรคสองและวรรคสี และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2502
จังหวัดกาญจนบุรี พิจารณาแล้วเห็นว่า ร้านตลาดค่ายเชลยศึก ของบริษัท วิชั่น อินสเป็คเตอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียวิ่ง จำกัด เป็นสถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการประเภทให้ความบันเทิงแก่ผู้มาใช้บริการ มีการจำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการแสดงดนตรีสด จึงมีลักษณะเป็นสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามบันทึกการจับกุมของที่ทำการปกครองอำเภอเมืองกาญจนบุรี ประกอบคำให้การของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, เจ้าของร้าน, ผู้ดูแลร้าน, ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชนฯ และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่างยืนยันว่าในวันดังกล่าวที่เข้าร่วมตรวจสอบพบว่า
ร้านกำลังเปิดให้บริการขายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งมีเด็กอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์อยู่จำนวนมาก จึงเห็นได้ว่าท่านได้ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์จริง อันเป็นการกระทำความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ข้อ 4 (1) และ (2) ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ที่จะสั่งปิดและห้ามปิดสถานประกอบการในสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี
ในการนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งปิดร้านตลาดค่ายเชลยศึก กรณีดำเนินกิจการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว จังหวัดกาญจนบุรี จึงขอแจ้งข้อเท็จจริงให้ท่านในฐานะคู่กรณีได้รับทราบ หากท่านประสงค์ที่จะโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐาน ให้ยื่นหนังสือโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีได้ ณ ที่ทำการปกครองจังหวัดกาญจนบุรี (กลุ่มงานปกครอง) ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ชั้น 3 ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
ทั้งนี้ หากท่านไม่ได้โต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ถือว่าท่านไม่ประสงค์ที่จะโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐาน และผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีจะได้พิจารณาออกคำสั่งทางปกครองต่อไป
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่