ปักกิ่ง, 2 ก.พ. (ซินหัว) — ธรรมเนียมปฏิบัติอันหลากหลายของการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีน นั้นถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานานหลายพันปี โดยการรับประทานมื้อค่ำกันพร้อมหน้าในครอบครัว เขียนคำอวยพร และจุดพลุ ล้วนเป็นธรรมเนียมที่ขาดไม่ได้สำหรับการเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญนี้
การรับชมการแข่งขันกีฬาปักกิ่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว จะกลายเป็นกิจกรรมสำคัญในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2022 นอกเหนือจากกิจกรรมตามธรรมเนียมดั้งเดิม โดยปีนี้ เป็นปีขาลหรือปีเสือตามปฏิทินจันทรคติจีน ตรงกับวันที่ 1 ก.พ. หรือเพียง 3 วันก่อนที่การแข่งขันกีฬาปักกิ่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
โหลวเสี่ยวชี นักวิชาการด้านวัฒนธรรมและผู้ก่อตั้งนิตยสารซิวิไลเซชัน (Civilization) กล่าวว่าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและเทศกาลตรุษจีนล้วนมีความสำคัญทางวัฒนธรรมร่วมกัน เนื่องจากทั้งสองกิจกรรมล้วนเป็นการเฉลิมฉลองการร่วมมือร่วมใจกันและความรักใคร่ปรองดอง การที่กีฬาโอลิมปิกปีนี้จัดขึ้นในช่วงเดียวกันกับเทศกาลตรุษจีน ก็ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์อันแปลกใหม่สำหรับทุกคน
วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า
เทศกาลตรุษจีนนั้นมีความสำคัญเทียบเคียงได้กับเทศกาลคริสต์มาสของตะวันตก และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดประจำปีที่ครอบครัวชาวจีนจะได้อยู่พร้อมหน้า โดยต้นกำเนิดที่แน่ชัดของเทศกาลตรุษจีนนั้นสูญหายไปในม่านหมอกแห่งกาลเวลา แต่ตามคติความเชื่อพื้นบ้านแล้ว ว่ากันว่ามีการเฉลิมฉลองเทศกาลนี้มานานราว 4,000 ปี
เฉินไห่หมิง ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายและธรรมาภิบาลระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซี่ยเหมิน กล่าวว่าเทศกาลตรุษจีนเป็นการผสานหลักการ “ความเป็นหนึ่งเดียวกันของสวรรค์และมนุษย์” ซึ่งเป็นตัวแทนของคุณค่าสูงสุดในวัฒนธรรมจีนทั้งยังเป็นจิตวิญญาณที่มีมาแต่เดิมของเทศกาลตรุษจีน โดยแนวคิดเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินี้ มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งในทุกแง่มุมของสังคมจีน และยังเป็นตัวกำหนดแนวคิดเรื่อง “การพัฒนาสีเขียว” ซึ่งจีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปัจจุบัน
เทศกาลตรุษจีนยังแสดงถึงคุณค่าของการอยู่พร้อมหน้ากันและการแสวงหาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดปรองดองของคนในครอบครัว ดังจะเห็นได้จากมหกรรมการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีนระยะเวลา 40 วัน หรือ “ชุนอวิ้น” ซึ่งมีชาวจีนหลายร้อยล้านคนเบียดเสียดกันเดินทางกลับบ้านด้วยรถไฟ รถบัส รถยนต์ และเครื่องบิน เพื่อกลับไปพบปะกับครอบครัวและเพื่อนฝูง
หลายสิบปีก่อน เทศกาลตรุษจีนมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อยนอกประเทศจีน ทว่าเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น เทศกาลนี้ซึ่งมีความสำคัญเชิงวัฒนธรรมอย่างมากในหมู่ชุมชนชาวจีน ก็มีความโดดเด่นมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งเต็มไปด้วยความหลงใหลในกีฬาและความมุ่งมั่นทางกีฬา ถือเป็นกิจกรรมสำคัญด้านกีฬา สังคม และวัฒนธรรมของกรีกโบราณมานานเกือบ 12 ศตวรรษ
หนึ่งในธรรมเนียมสำคัญที่สุดของโอลิมปิกยุคโบราณ คือสัญญาสงบศึกโอลิมปิก (Olympic Truce) อันเป็นข้อตกลงสันติภาพที่ทำให้นครรัฐต่างๆ ของอาณาจักรที่อยู่ระหว่างทำสงคราม สงบศึกชั่วคราว และเฉลิมฉลองให้กับการร่วมมือร่วมใจและความสงบสุขผ่านการแข่งกีฬา
สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ ได้รับการชุบชีวิตขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 โดยชาวฝรั่งเศสนามว่า ปิแยร์ เดอ คูแบร์แต็ง ผู้ซึ่งเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิกของกรีกโบราณ และเชื่อว่าการแข่งขันกีฬานี้สามารถนำสันติภาพมาสู่โลกและสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศได้
ดังที่คูแบร์แต็งวาดหวังไว้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้กลายเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่และหลากหลายที่สุดของมนุษยชาติ โดยในทุกๆ สองปี ทั่วโลกต่างได้ยลโฉมนักกีฬาจากประเทศและภูมิภาคกว่า 200 แห่ง ซึ่งมารวมตัวกันเพื่อแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
แม้ว่าสัญญาสงบศึกโอลิมปิกจะไม่สามารถหยุดยั้งสงครามได้ แต่ข้อตกลงนี้มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจ ลดความตึงเครียด และคลี่คลายความขัดแย้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีขึ้นเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์
โหลวกล่าวว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ถือเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ
ร่วมยินดีให้กับความร่วมมือร่วมใจและความกลมเกลียว ณ ปักกิ่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว
เมื่อปี 2021 มีการปรับเปลี่ยนคำขวัญประจำโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 120 ปี โดยมีการเพิ่มคำว่า “ด้วยกัน” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญ ดังนี้ “เร็วขึ้น สูงขึ้น แข็งแกร่งขึ้น – ไปด้วยกัน” (Faster, Higher, Stronger – Together)
โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เขียนไว้ในคำนำของม้วนคำประกาศโอลิมปิกว่า “ในโลกอันเปราะบางทุกวันนี้ซึ่งมีความผันผวนมากมาย การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง สันติภาพ และความสามัคคี ของมวลมนุษยชาติ อันทรงพลังมากกว่าครั้งใด ในหมู่เราทุกคนที่ล้วนมีความหลากหลาย”
ขณะที่โลกยังคงต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ประกอบกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์และเอกภาคนิยม ประชาคมระหว่างประเทศจึงเผชิญความท้าทายอันหนักหน่วงหลายประการ จึงถือได้ว่าการแข่งขันกีฬาปักกิ่ง โอลิมปิก ฤดูหนาว เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง และตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ให้ความสำคัญกับความกลมเกลียว ทำให้เทศกาลนี้มีความสำคัญระดับโลกมากยิ่งขึ้น
เฉินกล่าวว่าสิ่งที่โลกต้องการเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันคือการไม่แบ่งแยกระหว่างกัน ซึ่งวัฒนธรรมความปรองดองที่โอบรับความหลากหลายของจีนนั้นตอบโจทย์เรื่องนี้ “คุณค่าและจิตวิญญาณที่อยู่ในเทศกาลนี้ ทำให้ตรุษจีนเป็นการเฉลิมฉลองของผู้คนทั้งในจีนและทั่วโลก”
เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อวาระอันสำคัญนี้ นิตยสารซิวิไลเซชันจึงได้จัดพิมพ์ม้วนคำประกาศโอลิมปิกฉบับที่ 3 ความยาว 60 เมตร โดยส่วนใหญ่บอกเล่าเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีนและการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว อันแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมโลกอันหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาด้านวัฒนธรรมในเทศกาลต่างๆ ของประเทศเจ้าภาพ 23 แห่งและเมืองเจ้าภาพ 43 แห่ง ที่เคยจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งก่อนๆ
โหลทิ้งท้ายว่า “สิ่งนี้บ่งบอกว่าวัฒนธรรมของตะวันออกและตะวันตกกำลังมาบรรจบกันที่กรุงปักกิ่ง และเดินหน้าไปด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน”