จากกรณีข่าวอุบัติเหตุสลดตำรวจหนุ่มขี่มอเตอร์ไซต์ด้วยความเร็วสูงอย่างผิดกฎจราจร ชนเข้ากับแพทย์หญิงจนเสียชีวิต ถือเป็นอุบัติเหตุสลดครั้งสำคัญที่คนในสังคมต่างพูดถึง
ประเทศไทยติดอันดับการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนติดอันดับโลก ที่ผ่านมาเป็นที่รับรู้กันว่าการข้ามถนนในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯเป็นเมืองที่อันตรายและต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาก็เกิดอุบัติเหตุคล้ายกรณีดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งมาเป็นเวลานาน หลายฝ่ายจึงพยายามยกระดับการพูดถึงเรื่องดังกล่าวให้เป็นปัญหาสาธารณะ ที่ต้องพูดถึงวิธีแก้ปัญหาความปลอดภัยด้านการจราจรอย่างจริงจัง
เช่นเดียวกับแคนดิเดต ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.จำนวน 3 ราย ที่ออกมาแสดงความเห็นวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครสังกัดอิสระ นาย สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สังกัดพรรคก้าวไกล โดยเขียนบทความเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เป็นโอกาสอันดีที่จะนำมุมมองการแก้ปัญหา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในท้องถนน โดยเฉพาะกับผู้เดินเท้า ให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีรายละเอียดดังนี้
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
|
– กวดขันวินัยจราจรกันจริงจังลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่
-ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล – มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน – มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึง – มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม – ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย |
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ |
-ตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อถอดบทเรียนจริงจัง ถอดบทเรียนหาต้นตอปัญหา
-ตั้งหน่วยงานกลางไต่สวนหาสาเหตุที่แท้จริง เก็บข้อมูล ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ -การประเมินความปลอดภัยบนถนนปีละ 2 ครั้ง ประชาชนร่วมประเมินด้วย -ปลูกฝังจิตสำนึกจราจร ตั้งแต่เด็ก เริ่มที่ โรงเรียนอนุบาลกทม. |
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร |
-ต้องมีกลไกหรือระบบเตือนใจให้รถหยุด ชะลอ ระวัง
-ต้องมีเส้นชะลอความเร็ว ต้องมีไฟส่องสว่าง ต้องมีไฟสัญญาณให้คนข้ามทางม้าลาย -ติดตั้งกล้องวงจรปิด ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว -กทม.ต้องเป็นเจ้าทุกข์ รวมรวมหลักฐาน แจ้งความดำเนินคดีเพื่อปกป้องชีวิตทุกคน -จับและตัดแต้มใบขับขี่อย่างต่อเนื่อง จริงจัง สร้างค่านิยมใหม่ในการใช้รถ -ผู้ว่าฯกทม.ต้องมุ่งอำนวยความสะดวก ไม่สร้างภาระ ไม่เห็นด้วยสร้างสะพานลอยเพื่อแก้ไขปัญหา |
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่โดนบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ขณะเดินข้ามทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา ความสูญเสียดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของความปลอดภัยของการเดิน โดยเฉพาะการข้ามถนน ที่ทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ หลายครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ต้องขอบคุณรถที่หยุดรถให้ ทั้งๆที่มันเป็นสิทธิของคนข้ามถนนที่ทางข้าม
ได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นชัดเจนว่าคุณหมอข้ามทางม้าลาย รถตู้ที่มาเลนกลางชะลอให้แล้ว ส่วนบิ๊กไบค์ที่มาเลนขวาสุด มาด้วยความเร็ว ไม่มีการชะลอ แล่นแซงรถตู้และชนคุณหมอ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวินัยจราจร ตามพรบ.จราจร พ.ศ.2522 ให้สิทธิ์คนข้ามถนนที่ทางม้าลายอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 70 เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง (บิ๊กไบค์ไม่ชะลอความเร็ว)
สำหรับป้ายสัญญาณทางข้าม ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนทางข้ามนั้น หมายความว่า ทางข้างหน้ามีทางสำหรับคนข้ามถนน ถ้ามีคนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย (บิ๊กไบค์ไม่หยุดรถให้คนเดินข้าม)
ต้องมีการกวดขันวินัย จราจรกันอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่ ในปัจจุบัน เราจะเห็นวินัยจราจรที่หย่อนยานทั่วไปหมด พอไฟแดง แต่รถว่าง ก็ฝ่าไฟแดงกันจนเป็นเรื่องปกติ เราเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร ขับบนทางเท้า รถจอดซ้อนคัน พอมีคนไปตักเตือน ยังโดนด่ากลับมาอีก
นอกจากนี้ ลักษณะทางกายภาพของทางข้ามที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุง
– ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล
– มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน
– มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึง
– มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม
– ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่าให้ทางม้าลาย เป็นแค่สิ่งที่ช่วยให้เราบาดเจ็บหรือตายได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้นครับ
เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
แค่เสียใจ คงไม่พอ สามทางแก้ ผมขอเสนอ โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญบนถนนใจกลางกทม. เมื่อรถมอเตอร์ไซด์ชนคุณหมอเสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลาย ผม เอ้ สุชัชวีร์ ขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุด ต่อครอบครัวคุณหมอกระต่าย และเพื่อนร่วมงานทุกท่าน ในฐานะวิศวกร อดีตนายกวิศวกรรมสถานฯ และอดีตนายกสภาวิศวกร ผมขอเสนอ (อีกครั้ง) ว่า ในประเทศที่อุบัติเหตุบนถนนน้อยมาก เขาทำอย่างไร ทำไมเราต้องเปลี่ยนถนนกทม.ให้ปลอดภัย
1. “ต้องไม่ยอมให้ผ่านไป เหมือนไฟไหม้ฟาง มีหน่วยงานหาความจริง” เมื่อมีอุบัติเหตุบนถนน เขาจะตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อถอดบทเรียนจริงจัง ไม่รอข่าวเงียบ เพื่อหาต้นตอปัญหา ไม่ใช่แค่รู้ว่าใครชน คนนั้นรับผิดชอบ เพราะมันอาจเกิดจากปัจจัยอื่นด้วย ดังนี้
“เกิดจากถนน และสิ่งแวดล้อม” หรือ “เกิดจากยานพาหนะ” หรือ “เกิดจากคน ผู้ขับขี่” หรือ ทุกปัจจัยเพื่อนำไป “แก้ไขที่ต้นเหตุ!!!” ลดความเสี่ยง หยุดการสูญเสีย ในอนาคต กทม. จะต้องมีหน่วยงานกลาง เพื่อไต่สวนหาสาเหตุที่แท้จริง ถอดบทเรียนเพื่อนำมาดำเนินการลดความเสี่ยง หน่วยงานนี้ต้องมี ผู้เชี่ยวชาญด้านถนนและวิศวกรรมจราจร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระภายนอก ดำเนินการเก็บข้อมูลหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถวิเคราะห์สาเหตุได้ถูกต้อง แล้วเสนอทางแก้ไข ทั้งด้วยการเปลี่ยนกายภาพถนน ใช้เทคโนโลยี และใช้กฏหมายเข้มข้น… กทม. มีสำนักจราจร มีสำนักโยธา มีสำนักการแพทย์ มีคณะวิศวะ คณะแพทย์ มีคนเก่ง พร้อมครับ ต้องทำ
2. “ประชาชน ชุมชน ต้องร่วมตรวจประเมินถนน ฟุตบาท” การป้องกันดีกว่า การแก้ไขหลังสูญเสีย ในต่างประเทศ จะมี “การประเมินความปลอดภัยบนถนน” หรือ Road Safety Audit เป็นประจำ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ที่ได้รับการอบรมและมีใบอนุญาตตรวจสอบถนน และมี “ตัวแทนประชาชนผู้ใช้ถนน” มาเดินร่วมกันตรวจถนนและฟุตบาท ปีละสองครั้งก็ได้ ชุมชนเช่น หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบ และปรับปรุงจุดเสี่ยงร่วมกัน เพราะลูกเขาข้ามถนน ใช้ฟุตบาทไปโรงเรียนตรงนี้ทุกวัน เขามาทำงานเดินผ่านทางนี้ทุกวัน เขารู้ดี ว่าเขามีอันตราย ลูกเขาเสี่ยง ผมมั่นใจ ประชาชนพร้อมช่วยครับ หากกทม.เปิดโอกาส และ สำคัญสุด
3. “ปลูกฝังจิตสำนึกกฏจราจรแต่เด็ก ให้ลูกสอนพ่อแม่” เพราะต่อให้ถนนดีแค่ไหน เทคโนโลยีล้ำขนาดไหน ก็แค่ลดความเสี่ยง ยังไงไม่สู้ การมีจิตสำนึกของคนใช้ถนน จริงไหม? ทุกชาติ เริ่มที่เด็กเล็ก! ผมอยากทำโรงเรียนอนุบาลกทม. ที่สอนหน้าที่พลเมือง เรื่องกฎจราจร การขับรถ การข้ามถนน แม้ว่าวันนี้เขาขับขี่ยังไม่ได้ แต่เขาสอนพ่อแม่! “ไฟเหลืองนะคะ คุณพ่อหยุดนะคะ” หรือ “มีคนรอข้ามทางม้าลาย แม่หยุดนะครับ” ใครกล้าไม่เชื่อลูก? อายลูก และเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ กรุงเทพก็มีพลเมืองคุณภาพ เคารพกฎจราจรทุกคน ดีไหมครับ ผมอยากทำจังเลย.. มาร่วมกันเปลี่ยนกรุงเทพ ให้ปลอดภัยเพื่อเราทุกคนเถอะครับ อย่าให้ความสูญเสียนี้ เกิดขึ้นกับใครอีกเลย #เราทำได้ ครับ
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 24 ม.ค. ที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ นายวิโรจน์ กล่าวว่า วันนี้ตนลงมาดูโครงสร้างปัญหา เพื่อดูว่าทางวิศวกรรมจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ซึ่งหลังจากทดลองเดินข้ามทางม้าลายที่เกิดเหตุ วันนี้พฤติกรรมของประชาชนทุกอย่างยังเหมือนเดิม การเดินข้ามถนนต้องรีบวิ่งหลบรถกันอยู่ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องผิดปกติมาก แต่จะโทษนิสัยคนขับรถอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีกลไกหรือระบบเตือนใจ กทม.จะต้องมีเส้นชะลอความเร็ว ต้องมีไฟส่องสว่าง ต้องมีไฟสัญญาณ กล้องวงจรปิดต้องมี กล้องตรวจจับความเร็ว
ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีแล้ว การดูแลเมืองต้องใส่หัวใจไปด้วย ทางข้ามต้องปลอดภัย คนข้ามต้องปลอดภัยเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะมีอาชีพใด เพศไหน แค่ไม่กี่ตารางเมตรตรงนี้ต้องปลอดภัยได้
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น กทม.ต้องเป็นเจ้าทุกข์ไปแจ้งความดำเนินคดีให้ทันทีเพื่อปกป้องชีวิตทุกคน แม้เราไม่มีหน้าที่ปรับโดยตรง แต่เรารวบรวมพยานหลักฐานไปแจ้งความได้โดยไม่ต้องรอเจ้าทุกข์ เมื่อจับและตัดแต้มเรื่อยๆ เราจะสามารถสร้างค่านิยมใหม่ในการใช้รถใช้ถนนได้
ตนไม่เห็นด้วยกับการสร้างสะพานลอยเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะประชาชนต้องการเดินข้ามถนนด้วยทางข้าม กทม.ไม่ควรสร้างภาระให้ประชาชน แต่ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เราต้องให้ความสำคัญกับประชาชนที่ใช้ถนนบนทางเท้า หากวันนึงคนที่ประสบอุบัติเป็นพี่น้องเรา เป็นครอบครัวเรา เราต้องรับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
“คนที่เป็นพ่อเมืองหรือพ่อบ้านต้องไม่ท้อ เราต้องเป็นเหมือนพ่อบ้านจู้จี้จุกจิก แต่เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ผู้ว่าฯ ต้องเป็นพ่อเมืองที่เข้าใจหัวอกของทุกคน” นายวิโรจน์ กล่าว
ขณะที่ นายสุรเชษฐ์ หนึ่งในแกนนำพรรคก้าวไกล ที่มาพร้อมกับนายวิโรจน์ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขทางวิศวกรรม 3 ประเด็น ได้แก่ 1.จะต้องมีการควบคุมความเร็ว ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยี หรือมีป้ายเตือน เพราะบนถนนมีจุดบอด (blind spot) 2.จะต้องมีการกวดขันวินัยจราจร โดยเสนอเป็นกฎหมายเชิงตัดแต้มที่ไม่ใช่การจ่ายค่าปรับอย่างในปัจจุบัน ซึ่งไม่กระทบกับคนรวย และ 3.แก้ไขแต่ละจุด หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต้องพิจารณาหากลไกดูตามแต่ความเหมาะสมในพื้นที่