บุรีรัมย์แห่งความหลัง เขาพนมรุ้ง+ลูกชิ้นนยืนกิน – ไทยรัฐ

เป็นที่ทราบดีแล้วว่าน้องลิซ่าเป็นเลือดเนื้อ เชื้อไขของจังหวัดบุรีรัมย์ และในการให้สัมภาษณ์คุณ “วู้ดดี้” เมื่อวันเสาร์ก่อนเธอก็ตอบคำถามว่าสิ่งแรกที่อยากทำเมื่อกลับประเทศไทย ก็คือการไปรับประทาน “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่หน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ส่งผลให้เกิดกระแสร้อนแรงผู้คนแห่ไปอุดหนุนลูกชิ้นยืนกินแน่นขนัด ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำ เทท่า หลังจากต้องปิดร้านในช่วงโควิด-19 อยู่พักใหญ่

ขณะเดียวกันทางสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ก็ใช้จังหวะที่ผู้คนกำลังชื่นชมเพลงใหม่ของน้องลิซ่าจัดเทศกาล “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ขึ้นทันที เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 กันยายนไปจนถึง 23 กันยายน รวม 7 วัน พอดิบพอดี และก็มีรายงานว่าแฟนๆลิซ่าต่างก็แห่กันไปอุดหนุนอย่างคับคั่งเช่นกัน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้หัวหน้า ทีมซอกแซกคิดถึง “ความหลัง” เมื่อครั้งตะลอนไปทั่วประเทศ เมื่อเกือบๆ 40 ปีก่อนโน้นขึ้นมาใน บัดดล เพราะมีโอกาสไปสำรวจภาวะเศรษฐกิจและความยากจนถึงขั้นนอนค้างคืนมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งหน และผ่านไปสำรวจแบบไม่ค้างคืนอีก หลายหนที่จังหวัดบ้านเกิดของน้องลิซ่า

หัวหน้าทีมเดินทางไปสำรวจบุรีรัมย์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2523 ประมาณ 40 ปี เข้านี่แล้ว…ช่วงนั้นจังหวัดต่างๆของภาคอีสานตอนล่างได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มยากจนที่สุดของประเทศวัดจากรายได้ต่อหัว ที่สภาพัฒน์คำนวณไว้

ต่ำสุดก็คือ จังหวัดศรีสะเกษใกล้ๆกันนั่นเอง ส่วนบุรีรัมย์ถ้าไม่รองต่ำสุดก็ประมาณที่ 3 หรือที่ 4 จากต่ำสุด ถือว่าอยู่ในเครือข่ายที่ควรประกาศให้เป็นจังหวัดยากจน

ยังจำได้ว่า ค่ำคืนที่ตัวเมืองบุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ.2523 ค่อนข้างเงียบสนิท มีร้านอาหารประเภทมีดนตรีมีนักร้องขับกล่อมไม่เกิน 2 ร้าน และก็ปิดร้านค่อนข้างเร็ว

โรงแรมที่เราไปนอนซึ่งน่าจะดีที่สุดของจังหวัดแล้ว ยังมีห้องแอร์เพียงไม่กี่ห้องและก็มีคนจองไปเรียบร้อยทำให้คณะของเราต้องนอนพักห้องพัดลม แต่ก็ยังโชคดีที่สะอาดสะอ้านพอใช้และมุ้งลวดยังไม่มีรูโหว่ ทำให้นอนได้สบายๆโดยไม่มียุงรบกวน

เนื่องจากพวกเราต้องไปทำงาน จึงไม่ค่อยมีเวลาท่องเที่ยวมากนัก แต่ก็โชคดีมากๆที่มีโอกาสไปที่ปราสาทหินพนมรุ้งตามคำเชิญชวนของจังหวัด ซึ่งมีแผนจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

ในช่วงเวลาที่หัวหน้าทีมซอกแซกกับคณะแวะไปเยือนยังอยู่ในระหว่างการบูรณะ ครั้งใหญ่ยังไม่เปิดให้ประชาชน ทั่วไปเข้าชมอย่างเป็นทางการ

คณะของเราจึงไปยืน ดูอยู่บริเวณด้านหน้า และถ่ายรูปไว้พอให้เป็นประจักษ์ พยานเท่านั้น ซึ่งก็น่าเสียดาย ที่ไม่ได้เก็บรูปภาพไว้เลย

อุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้ง เริ่มเปิดให้ ประชาชนเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อ ราวๆเดือนพฤษภาคม ปี 2531 และเปิดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปเยือนอย่างล้นหลามเป็นไปตามแผนพัฒนาของจังหวัดที่วางไว้แต่แรก

กิตติศัพท์ที่เลื่องลือมาก ของปราสาทหินพนมรุ้งก็คือ ทุกวันที่ 2-4 เมษายน และ 8-10 กันยายนของทุกปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน พร้อมกันและระหว่าง 5-7 มีนาคม กับ 5-7 ตุลาคม ยามอาทิตย์ตกก็จะส่งแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บานสวยงามอย่างยิ่ง

นอกจากปราสาทเขาพนมรุ้งแล้วอีก 1 ความทรงจำของหัวหน้าทีมซอกแซกก็คือ ข้าวขาหมูนางรอง ที่อำเภอนางรอง ซึ่งมีอยู่ 2 ร้านและอร่อยพอๆกัน

เข้าใจว่าใน พ.ศ.ดังกล่าวคงจะมี “ลูกชิ้นยืนกิน” เจ้าแรกแล้ว เพราะตามตำนานบอกว่าเปิดขายมาร่วมๆ 40 ปี แต่เผอิญคงยังไม่ดังมาก จึงยังไม่เป็นที่กล่าวขวัญในยุคนั้นต่างกับขาหมูนางรองที่ดังระดับประเทศในเวลาเดียวกัน

40 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหกอย่างที่คนไทยรุ่นเก่าๆเคยอุปมาอุปไมยไว้ จังหวัดบุรีรัมย์เจริญเติบโตจนแทบจำไม่ได้

มีการลงทุนก่อสร้างสนามกีฬาทันสมัย ที่เรียกกันว่า “ช้างอารีนา” มีความจุถึง 32,600 ที่นั่งในอำเภอเมือง เป็นสนามเหย้าของทีมปราสาทสายฟ้า หรือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มีอดีตนักการเมืองดัง เนวิน ชิดชอบ เป็นประธาน

นอกจากนี้ ก็ยังมีสนามแข่งรถ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ใกล้ๆ ช้างอารีนา นั่นแหละเพื่อใช้แข่งจักรยานยนต์ระดับโลก ที่เรียกว่า โมโตจีพี และได้จัดมาแล้ว 2 ครั้ง มีนักท่องเที่ยว มาเที่ยวอย่างล้นหลาม…เสียดายที่ปีนี้เจอโควิด-19 ทำให้ต้องงดจัดการแข่งขันไป ทั้งๆที่มีกำหนดจะจัดในวันที่ 15-17 ต.ค.ที่จะถึงนี้

จากการพัฒนาและเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้คำขวัญของจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องเติมคำว่า “เมืองกีฬา” เข้าไปด้วย ดังต่อไปนี้ “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา

สำหรับหัวหน้าทีมซอกแซกเอง หลังจากนั่งระลึกความหลังมาทั้งหมดข้างต้นแล้ว ก็ยังสร้างมโน…ตั้งใจว่า โควิดซาจะชักชวนลูกๆหลานๆ ขับรถไปเที่ยว อีสานล่าง เพื่อรำลึกอดีตอีกสักครั้งหนึ่ง รวมทั้งจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย

แน่นอนละ อยากไปดูแสงอาทิตย์ส่องผ่านประตูทั้ง 15 บานของปราสาทหินพนมรุ้งเป็นอันดับแรก…รับประทาน ข้าวขาหมูนางรอง เป็นอันดับสอง…และไปรับประทาน “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ตามคำเชิญชวนของน้องลิซ่าเป็นอันดับ 3 เพื่อไม่ให้ตกกระแส

หัวหน้าทีมมั่นใจว่าไปครั้งนี้คงจะได้นอน โรงแรมดังติดแอร์ครบทุกห้อง และในยามคํ่าคืน เมืองบุรีรัมย์ ก็คงไม่เหงาเหมือนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

แฮ่ม! “เนวินทาวน์” ซะอย่าง ปล่อยให้ เหงาได้ยังไงล่ะครับ.

“ซูม”