นักวิชาการย้ำธุรกิจส่งอาหารบูม มีผู้ส่งอาหารกว่า 3 แสนคนทั่วประเทศ ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง สาเหตุเพราะต้องแข่งกับเวลา ทำให้ต้องใช้ความเร็วขับขี่
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยายนยนต์ปลอดภัยและนักวิชาการ กล่าวว่า ขณะนี้ กิจการส่งอาหาร (food delivery) เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้เข้าสู่ระบบธุรกิจนี้ มากกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายหลักๆ บางแบรนด์มีพนักงานมากกว่า 120,000 คนทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการส่งอาหารเป็นทางเลือกใหม่สร้างรายได้ให้กับประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งน่าเป็นห่วงและกังวล คือ ผู้ให้บริการในธุรกิจนี้มากกว่า 70% คือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า รถจักรยานยนต์จำหน่ายในประเทศไทยหลายรุ่นสเปกต่ำกว่ารถจักรยานยนต์จำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว หรือ ประเทศผู้ผลิต เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น จากสถิติจะพบว่า อัตราการตายเฉลี่ย 35 นาทีต่อ 1 คน ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ยังคงสถิติเดิมเหนียวแน่น แต่ระยะหลังมีการตั้งข้อสังเกตการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยว ชน เป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือ กลุ่มธุรกิจส่งอาหาร
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวต่อว่า จากกรณีดังกลาว จึงอยากเสนอให้บริษัท หรือผู้ประกอบธุรกิจส่งอาหาร หรือแม้แต่ผู้จัดส่งเอกสาร อบรมพนักงานเรื่องการขับขี่มอเตอร์ไซค์ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย ซึ่งข้อจำกัดของพนักงานเหล่านี้คือ ทำงานแข่งกับเวลา ทำให้ต้องใช้ความเร็วขับขี่ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะขณะนี้ การระบาดของโควิด-19 กำลังวิกฤติ ส่วนใหญ่มีการทำงานที่บ้านและใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น แต่ผู้ที่ต้องทำงานนอกบ้านคือ พนักงานส่งอาหาร ที่นอกจากจะต้องเสี่ยงกับโควิด-19 ยังต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุบนถนนอีกด้วย
ทั้งนี้ รายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุจำนวนการสั่งอาหารในปี 2563 มีอัตราการขยายตัวสูง 78.0%-84.0% เช่นเดียวกับจำนวนแพลตฟอร์มของธุรกิจส่งอาหารเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10 ราย ในช่วงเวลาไม่นาน ยังไม่รวมธุรกิจรับส่งพัสดุที่เกิดจากพฤติกรรมและความนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ ในช่วงร้านค้าและห้างต่างๆ กำลังถูกดิสรัปชัน (Disrupt) ให้ต้องปรับตัวสู่รูปแบบการขายสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวอีกว่า โครงการฯ พยายามนำเสนอให้เห็นปัญหาหลายอย่างของรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสเปกเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและยังเปิดช่องให้มีการดัดแปลงแต่งซิ่งได้ง่าย และวันนี้ ถ้ายังต้องใช้รถจักรยานยนต์ทำงาน ทำเงิน ต้องอยู่กับรถสองล้อคันนี้ทั้งวัน บางคนควงกะถึงกลางคืนเป็นเรื่องน่าห่วง ขณะที่จากการค้นหาข่าวอุบัติเหตุของกลุ่มคนทํางานส่งอาหารยังพบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของธุรกิจส่งอาหารมีอยู่ 2 แบบคือ ผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาท ซึ่งเป็นไปได้เรื่องทำงานแข่งกับเวลา และแบบที่สองคือ เกิดจากสิ่งรอบข้าง เช่น มีรถปาดหน้า เบรกกะทันหัน หรือถนนชำรุด เป็นต้น ซึ่งเท่าที่ศึกษาข้อมูลผู้ขับขี่จักรยานยนต์ส่งอาหารมักจะขับเร็ว ทำให้มีมุมมองด้านข้างลดลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วิ่งเร็วและเบรกกะทันหัน ทำให้เสียหลัก เป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย.