จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษ
“ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด”
แม้โควิดจะกระทบสังคมไทยแทบทุกมิติ แต่ในเชิงเศรษฐกิจก็ยังมีความหวังสดใส ด้วยตัวเลขการส่งออกไทยที่ 7 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 154,985 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16.20%
เพราะการส่งออกคือกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด หนังสือพิมพ์มติชน ภายใต้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จึงเปิดเวทีสัมมนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ชวนคีย์แมนแห่งกระทรวงพาณิชย์มาถ่ายทอดมุมมองความหวังการส่งออกไทย นำโดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย เอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
ขาดไม่ได้คือการเสริมทัพด้วยผู้นำจากภาคเอกชนระดับแถวหน้าของประเทศ ทั้ง ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด
จัดเต็มมุมมอง ความหวัง และพลังการส่งออกไทยจากภาครัฐและเอกชน ส่งตรงถึงทุกคนในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งจากอาคารมติชน ผ่านเฟซบุ๊กมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และยูทูบมติชน ทีวี เพื่อก้าวสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ไปด้วยกันจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด”
“รัฐหนุน เอกชนนำ”
“ในทัศนะผม เศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทางแล้ว” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด”
เหตุผลคือที่ผ่านมา ไทยพึ่งเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 ขา คือ การท่องเที่ยวและการส่งออก ในการนำรายได้เข้าประเทศ เมื่อขาหนึ่งลดศักยภาพไป ก็ยังมีอีกขาที่รองรับ พร้อมขยายความว่า ก่อนโควิด การท่องเที่ยวทำรายได้เข้าประเทศคิดเป็น 11.33% ของจีดีพีประเทศ ส่วนส่งออกอยู่ที่ 44.69% รวมแล้วราว 66% แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวลดเหลือ 1.87% แต่ภาคส่งออกกลับสวนทาง เพราะอยู่ที่ 50.83% เมื่อรวมแล้วอยู่ที่ราว 52% ภาคส่งออกจึงยังเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยได้
“ที่บอกว่าเป็นความหวัง เพราะมีอัตราการเติบโตที่ชัดเจน อย่างน้อยปีนี้ก็เติบโตเป็นบวกตลอด อย่างมีนาคม +7% เมษายน +11% พฤษภาคม +41% เราไชโยแล้ว ทำนิวไฮสูงสุด พอมิถุนายนเราทำได้มากกว่านั้นอีกเป็น +43% ถัดมากรกฎาคม +20% สิงหาคมและกันยายนอาจน้อยกว่านี้ เพราะพิษการล็อกดาวน์เริ่มปรากฏผล กระทบภาคการผลิต แต่ผมยังเชื่อมั่นว่ายังเป็นบวก และปลายปีก็ยังจะบวก”
รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ บอกด้วยว่า ที่การส่งออกยังเป็นความหวัง เพราะรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายดูแลการส่งออกเป็นรูปธรรม พร้อมย้ำถึงความสำคัญของหลักคิด “รัฐหนุน เอกชนนำ” ที่เอกชนต้องเป็นพระเอก ต้องบุกยิงประตู ส่วนรัฐต้องคอยสนับสนุนและส่งเสริมให้กองหน้าทำประตู นำเงินเข้าประเทศ รัฐอย่าทำตัวเป็นพระเอก เพราะไม่เก่งเท่าเอกชน และต้องไม่สร้างกติกาที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน อีกทั้งอุปสรรคอยู่ตรงไหนก็ต้องเร่งแก้ให้เอกชนด้วย
จุรินทร์ ยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ทำงานใกล้ชิดภาคเอกชน อย่างปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาด ก็ร่วมมือกันแก้จนคลี่คลายไปได้ นอกจากนี้ หากทำท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นฮับในการขนถ่ายสินค้า ให้ประเทศเพื่อนบ้านนำสินค้ามาลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ ก็จะช่วยผลักดันการส่งออกให้โตขึ้นได้ทางหนึ่ง แต่ปัจจุบันยังติดขัดเรื่องกฎระเบียบ ก็ต้องหาทางแก้ หรือเรื่องต้นทุนกระป๋องแพง กระทรวงพาณิชย์ก็เข้าไปช่วย เพราะอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องคิดเป็นเกือบ 3% ของยอดส่งออกที่มีมูลค่าราว 7 แสนล้านบาท ยังมีเรื่องการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม ที่ไปคุยกับรัฐมนตรีของเวียดนาม นำสู่ข้อตกลงพิเศษที่ให้ตรวจรถยนต์จากไทยไปเวียดนามเพียงครั้งเดียว ไม่ฝั่งไทยก็ฝั่งเวียดนาม และไม่ต้องตรวจทุกล็อต ซึ่งหลังจากลงนาม ตัวเลขการส่งออกรถยนต์จากไทยไปเวียดนามในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เติบโตขึ้นถึง 922%
“ที่สำคัญเราตั้งทีมเซลส์แมนจังหวัด เอาพาณิชย์จังหวัดมาเป็นกลไกกลาง และให้แต่ละจังหวัดซื้อขายผลผลิตกัน และมีเซลส์แมนประเทศ มีทูตพาณิชย์ช่วยกันขายของ กำหนดทิศทางตลาด ซึ่งต่อไปเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศต้องทำงานร่วมกันแล้ว ในระดับประเทศต้องช่วยหาตลาด นี่คือนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่มีส่วนช่วยให้การส่งออกดีขึ้น”
แม้ทิศทางการส่งออกไทยจะเรืองรอง แต่รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ก็ไม่ประมาท พร้อมบอกเล่าถึงประเด็นที่ไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ
เรื่องแรก การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะรุนแรงขึ้น อาทิ ประเด็นเรื่องแรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่มาใหม่คือภาษีคาร์บอน ที่ภายใน 2 ปีนี้ สหภาพยุโรป (อียู) จะเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้า 5 รายการ ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ไฟฟ้า และปุ๋ย
ประเด็นต่อมาที่ไทยต้องจับตามองเพื่อกำหนดท่าทีคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ร่วมกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (AUKUS) ทำให้ถัดมาจีนยื่นสมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ฉายให้เห็นสงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยว ซึ่งการที่จีนประกาศร่วม CPTPP ทำให้จีนต้องปรับมาตรฐานการส่งออกหลายรายการ ดังนั้น ต้องดูว่าหากจะส่งสินค้าไปจีนที่เป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย ต้องส่งออกด้วยมาตรฐานไหน
อีกเรื่องคือ เอกชนกับรัฐบาลต้องศึกษาข้อตกลงกติกาการค้าโลกที่มีอย่างใกล้ชิด เช่น เขตการค้าเสรี (FTA) การตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Plus) ฯลฯ เพื่อเตรียมปรับตัวและแสวงหาแต้มต่อทางการค้า
“ถ้ามีใครถามว่าส่งออกยังเป็นความหวังได้ไหม ก็ตอบได้ว่ายังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป ผสมกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ก็มีส่วนช่วยให้เราแข่งขันได้ดีในตลาดโลก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าก็เริ่มฟื้นตัว ก็ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของเราได้มากขึ้น” รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ย้ำหนักแน่น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร – ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ และเอกฉัตร ศีตวรรัตน์
“พัฒนาทักษะ ปรับตัวสู่ดิจิทัล ตอบรับเมกะเทรนด์” 3 ปัจจัยหนุนส่งออกเติบโตแดนบวก
ถัดจากเจ้ากระทรวงพาณิชย์ที่ปาฐกถาพิเศษกระตุ้นความหวังเศรษฐกิจประเทศ คือ 3 บุคคลสำคัญเบื้องหลังตัวเลขการเติบโตภาคส่งออกไทย ได้แก่ เอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่มาร่วมเสวนา “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรอันดับต้นๆ ของประเทศ
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า แนะเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อให้ผู้ประกอบการและพนักงานปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิต ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก โดยเฉพาะเมกะเทรนด์ต่างๆ และดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ที่ภาครัฐก็ต้องมุ่งสู่ดิจิทัลด้วยเช่นกัน
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ยังกล่าวถึงทิศทางการส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 ที่ +16.20% สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ว่า เกิดจากการทำงานเชิงรุกตามแผนของรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ การทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนแนวโน้มการส่งออกที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวบ้าง แต่น่าจะยังส่งออกได้ดี คาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปีจะอยู่ที่ 2 หลัก โดยสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัว เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ และส่วนประกอบ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสัตว์เลี้ยง ยางพารา มันสำปะหลัง เหล็ก เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ฯลฯ
“ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเองอย่างการรีสกิลและอัพสกิล ต้องศึกษากฎระเบียบการค้าต่างๆ และต้องติดตามเมกะเทรนด์ เช่น การเข้าสู่ยุคดิจิทัล สังคมผู้สูงวัย กระแสสิ่งแวดล้อม กระแสสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค”
เอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ด้านรองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า รัฐต้องสนับสนุนภาคเอกชนให้ส่งออกได้ดี ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้นำหลัก “3 พ กับ 1 ป” มาใช้ โดย “3 พ” คือ พัฒนาช่องทางการตลาดในยุคดิจิทัล เพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์ จับคู่ธุรกิจออนไลน์ และจัดงานแฟร์แบบเวอร์ชวล พัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยนวัตกรรม และพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ-บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเรื่องการค้าออนไลน์ และ “1 ป” คือ การประชาสัมพันธ์สินค้า ให้ผู้บริโภคต่างชาติมั่นใจว่า สินค้าไทยมีคุณภาพและมีการผลิตที่ปลอดภัย
“ปี 2565 เมกะเทรนด์จะเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว ทั้งเรื่องสินค้าที่ไม่สร้างมลภาวะให้โลก สินค้าสุขภาพจะมาแรงยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ ที่เป็นไปตามตลาดและประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องอัพสกิลและรีสกิลเพื่อให้เกิดสกิลใหม่ เพราะเทคโนโลยีไปเร็วมาก และต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากที่สุด”
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
ส่วนกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ก็เน้นการกระจายความเสี่ยงการส่งออกไปทวีปอื่น เช่น อเมริกาใต้ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจับตา พร้อมหนุนการสร้างแพลตฟอร์มหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ยกตัวอย่างเวียดนาม ที่มีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใกล้เคียงกับไทยคือราว 6 ล้านคน แต่สามารถส่งสินค้าแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ราว 10% ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยส่งออกได้ราว 1% เท่านั้น
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ยังแนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าใจจริต “รักง่ายหน่ายเร็ว” ซึ่ง “รัก” คือคนในโลกอนาคตจะรักและดูแลสุขภาพมากขึ้น “ง่าย” คือตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่าย “หน่าย” คือผู้บริโภคมักเบื่อสินค้านั้นในเวลาไม่นาน และ “เร็ว” คือสั่งแล้วต้องได้สินค้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ ต้องสอดคล้องกับจริตเหล่านี้
“ผมขอฝากคาถาเช็กตัวเองถึงผู้ประกอบการ อย่างแรกคือเช็กหัวใจ เงินส่วนไหนเป็นหนี้ เงินส่วนไหนเป็นเงินสด สองคือเช็กออกซิเจน คู่ค้ายังดีอยู่ไหม ไม่ใช่ว่าคู่ค้าตายไปแล้วแต่เรายังผลิตอยู่ สามคือกระดูกสันหลัง เรามีเครื่องมือที่ดีแล้วหรือยัง เช่น เครื่องจักร ซอฟต์แวร์ สุดท้ายคือเช็กสมอง ธุรกิจของเราเชื่อมโยงกับโลกอนาคตได้ไหม โมเดลธุรกิจของเราเป็นอย่างไร อดีตเราอาจรู้ลึก รู้จริง แต่โลกอนาคตเราต้องรู้รอบ”
รัฐผนึกกำลังเอกชน กลยุทธ์ต้องชัด ปั้นส่งออกรุ่ง
เติมเต็มเวทีสัมมนาของมติชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยหัวข้อ “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” ที่เป็นการรวมตัวของนักธุรกิจส่งออกชั้นนำของไทย ได้แก่ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด ดำเนินรายการโดย ชัยรัตน์ ถมยา พิธีกรและสื่อมวลชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวรอบโลก
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย เผยว่า โควิดกระทบการขนส่งทั่วโลก เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น การนำเข้าสินค้าของต่างประเทศจึงพุ่ง ปีนี้เหลืออีก 3 เดือน มั่นใจว่าการส่งออกของไทยจะเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก แม้อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปหรืออาหารแช่แข็งจะได้รับผลกระทบบ้างจากโควิด แต่โดยรวมการส่งออกก็ยังไม่เจอปัญหาเท่าใดนัก
หากต้องการให้การส่งออกของไทยเดินหน้าอย่างมั่นคง ภาครัฐต้องวางเป้าหมายยุทธศาสตร์การส่งออกให้ชัดเจน ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อน และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เดินต่อไปได้
“ผลประโยชน์ทับซ้อนของการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา โดยเฉพาะถ้าเอาตลาดหลักไปพ่วงประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ พ่วงออสเตรเลีย พ่วงยุโรป จีนถึงแม้จะเป็นประเทศเดียวแต่ใหญ่และมีกำลังบริโภค ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเรามาก นอกจากนี้ สิ่งที่น่าห่วงอีกคือความเสียเปรียบของกรอบการเจรจาระดับพหุพาคีที่คาราคาซังหลายอย่าง”
ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย
ส่วนนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ก็เห็นทิศทางการเติบโตของตัวเลขส่งออก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ว่าน่าจะอยู่ที่ +10% ด้านอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจากที่ดร็อปไปเกือบ 20% ช่วงโควิดปีก่อน ตอนนี้เริ่มฟื้นกลับมา +10% แล้ว คาดว่าจะฟื้นตัวได้เหมือนเดิมราวไตรมาส 2 ของปี 2565
เรื่องการปรับตัวของภาคเอกชนนั้น นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยบอกว่า แม้จะมีการปรับตัว แต่ต้องปรับในเชิงที่ทำได้จริง เพราะบางครั้งทุ่มเทความพยายามผิดทางทำให้ธุรกิจสะดุด ซึ่งภาครัฐควรตั้งธงเชิงกลยุทธ์ร่วมกับภาคเอกชน และผลักดันงบระยะกลางถึงยาวมากขึ้น เพื่อทำให้อุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่ง และหากมีค่าใช้จ่ายระบบซอฟต์แวร์ ERP ในราคาที่ถูกลง เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ใช้ ก็จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการเหล่านั้นขึ้นมาได้
“ตอนนี้ต้องบอกว่าโลกเปลี่ยนเร็วมาก เราต้องกระโดดอย่างเดียว การหาตลาดใหม่ไม่ใช่การเอาสินค้าราคาถูกไปหาตลาดใหม่ แต่ต้องเอาเครื่องมือเข้าช่วย อย่างอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อย่าไปแข่งเสื้อผ้าเย็บราคาถูก แต่ต้องแข่งที่เสื้อผ้าที่สร้างมูลค่าสูง”
ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด
ปิดท้ายที่ประธานกรรมการศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช (จำกัด) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสินค้าสำหรับครัวเรือน เผยว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตเฉลี่ย 35% ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ไตรมาส 4 ของปีนี้ ก็น่าจะโตอีกไม่ต่ำกว่า 30% มีปัจจัยหนุนจากการที่คนยังอยู่บ้านและจากออร์เดอร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และอังกฤษที่เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าและแพ็คเกจจิ้งให้ตอบโจทย์ อี-คอมเมิร์ซ มากขึ้นด้วย
“ช่วงโควิด ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งโลก แต่โควิดก็พิสูจน์ความเข้มแข็งขององค์กร องค์กรไหนที่ใหญ่ก็หันกลับมาทำให้องค์กรกระชับขึ้น และถ้าองค์กรไหนปรับตัวได้เร็วก็จะได้เปรียบ ถ้าเรารู้ว่าคนจะอยู่บ้านและเราเอาสินค้าไปขึ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ก่อนก็จะได้เปรียบ และควรมีนวัตกรรม ยกตัวอย่างเราที่ทำจานชามส่งออกต่างประเทศ ลูกค้าก็บอกต้องทำฝาด้วยเพื่อความปลอดภัย อันนี้ยิ่งดีเลยเพราะเราขายฝาได้อีก ดังนั้น เราต้องตามเทรนด์โลก ทั้งกระแสสุขภาพ และกระแสสิ่งแวดล้อม”
#มติชน #สัมมนา #ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย #ประเทศไทยไปต่อ