ความงามแห่งจิตวิญญาณไร้กาลเวลาของรถคลาสสิค ความหลงใหลของ ‘ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์’ แห่ง Oldiesworks Chiangmai

‘ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์’ เจ้าของอู่ซ่อมรถคลาสสิค Oldiesworks Chiangmai

“เราทำงานเยี่ยงเครื่องจักร ลูกค้าจึงไว้ใจเรามาก ดังนั้น เราต้องมีระเบียบวินัย และต้องซื่อสัตย์ต่อคำพูดของตัวเองจริงๆ ซื่อสัตย์ต่อตัวงานของตัวเองจริงๆ ขยันขันแข็งจนเกินพิกัดที่คนทั่วไปจะทำได้ ระหว่างที่คุณหลับ ผมจะตื่น ระหว่างที่คุณตื่น ผมก็ออกไปทำงานแล้ว Oldiesworks ไม่มีวันหยุด”

“ผมรักรถทุกคันที่ผมทำ…เพราะมันมีจิตวิญญาณของผมอยู่ในนั้นทุกคัน”


ในบรรดาผู้หลงรักและหลงใหลในความคลาสสิคของ Volkswagen หรือรถคลาสสิคอื่นๆ

นามของ Oldiesworks Chiangmai อู่ซ่อมรถคลาสสิค ที่ก่อตั้งโดย ‘ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์’ เจ้าของถ้อยคำข้างต้นเปรียบเสมือนโอเอซิสก็ว่าได้



คำเปรียบเปรยนั้น มิได้เกินจริง เพราะแม้จะก่อตั้งมาเพียง 6 ปี ทว่า Oldiesworks Chiangmai บูรณะซ่อมแซม ทำรถคลาสสิคให้ลูกค้าไปแล้วมากกว่า 400 คัน กระทั่ง ณ ปัจจุบันนี้ มีรถที่รอทำอีกประมาณ 100 กว่าคัน อู่ของเขาในวันนี้มีพื้นที่กว้างขวางถึง 4 ไร่กว่า จากเริ่มแรกที่เป็นเพียงบ้านเช่าเนื้อที่ 60 ตารางเมตร

อะไร เป็นมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ชายคนนี้รัก ทุ่มเท และหลงใหลรถคลาสสิคถึงเพียงนี้ กระทั่งสร้างอาณาจักรสำหรับผู้หลงใหลรถคลาสสิคขึ้นได้อย่างเปี่ยมคุณภาพ



ในแต่ละปี เขาทำรถให้ลูกค้าทางบ้านเพียง 8 คันต่อปี เวลาที่เหลือจากนั้น เขาทุ่มเทให้กับรถที่เขาอยากทำเท่านั้น รถที่เขาแสวงหา แม้จะเป็นเพียง ‘ซากรถ’ ในสายตาใครๆ แต่เมื่อผ่านกระบวนการซ่อมแซมอย่างพิถีพิถัน ด้วยมืออาชีพกว่า 41 คน ในแผนกต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ รถที่ทำขึ้นโดย Oldiesworks จึงมีราคาที่คู่ควรกับคุณค่าไร้กาลเวลา ที่ราวกับถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่

‘ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์’ เจ้าของอู่ซ่อมรถคลาสสิค Oldiesworks Chiangmai

‘ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์’ เจ้าของอู่ซ่อมรถคลาสสิค Oldiesworks Chiangmai

‘ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์’ เจ้าของอู่ซ่อมรถคลาสสิค Oldiesworks Chiangmai

1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท คือราคาเฉลี่ยของรถที่ได้รับการบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์

จุดเริ่มต้นของความรักและหลงใหล แรงบันดาลใจในการซ่อมรถคลาสสิค กระบวนการ ขั้นตอนในการทำงาน วิธีการบริหารจัดการที่ไม่เหมือนใคร การสั่งสมความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การให้ใจ เชื่อมั่น และไว้วางใจในกันระหว่างตัวเขากับช่าง ทีมงาน และลูกค้า รวมทั้งเจ้าของรถเก่า หรือซากรถที่บางคนอาจมองว่าไร้คุณค่า แต่เขาสามารถชุบชีวิตความงามไร้กาลเวลาให้ฟื้นคืนกลับมาได้อีกครั้ง ทั้งยังมีบริการหลังการขายในระดับมืออาชีพ

เรื่องราวที่น่าสนใจ นับจากจุดเริ่มต้น กระทั่งสิ้นสุดบทสนทนา ราวกับช่วยฉายให้เห็นภาพการเดินทางของชายผู้นี้และความรักที่เขามีต่อรถคลาสสิค นับแต่เยาว์วัย กระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบ ผ่านการทำกิจการต่างๆ กระทั่ง ความรักที่มีต่อรถคลาสสิคได้นำทางให้เขาพบว่า หนทางนี้เอง ที่เขาจะก้าวเดิน

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์’ เจ้าของอู่ซ่อมรถคลาสสิค Oldiesworks Chiangmai ในทุกประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งได้ถ่ายทอดความรักที่มีต่อ Vespa, Volkswagen และการทำรถคลาสสิคอื่นๆ ได้อย่างเต็มเปี่ยมในจิตวิญญาณ



จุดเริ่มต้นแห่งแรงบันดาลใจ

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจและความลุ่มหลงที่มีต่อรถคลาสสิค เริ่มต้นขึ้นอย่างไร

ไพสิฐตอบว่า “จริงๆ แล้ว ต้องเรียกว่ามันเป็นการจับพลัดจับผลู เนื่องจากครอบครัวผม ไม่ได้มีธุรกิจแบบนี้เลย

ในญาติพี่น้องก็ไม่มีธุรกิจแบบนี้

แต่ส่วนตัวผม เดิมทีผมเป็นช่างซ่อมรถ Vespa ซ่อม Lambretta ซ่อม Scooters อิตาลี ระหว่างที่เรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย

ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อเลิกเรียนในแต่ละวัน ผมก็มาทำรถ ทำอู่ของตัวเอง

แล้วก็รับทำรถให้พรรคพวกเพื่อนฝูงบ้าง แต่หลักๆ ทำรถตัวเอง

จากนั้นก็เริ่มรู้จักทำมาหากินกับรถพวกนี้ และเริ่มนำรถกระบะตัวเองออกไปต่างจังหวัด ไปเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ไปปักษ์ใต้ เพื่อไปหารถพวกนี้มาขายที่ตลาดรถเก่าตอนกลางคืน ซึ่งเมื่อก่อน เขาเรียกกันว่า ‘ตลาดมัฆวาน’ เพราะอยู่ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ในทุกวันเสาร์ ผมก็ไปหารถมาขาย เมื่อเริ่มขายก็หาเงินได้ เมื่อได้เงินก็เริ่มสนุกแล้ว จากนั้นก็มันส์เลยครับ

แล้วเมื่อวิชาเรียนน้อยลง ผมก็มีเวลาขับรถไปหาของมากขึ้น ก็เลยได้อยู่ในแวดวงของรถเก่ามาตลอด 20 กว่าปีครับ” ไพสิฐระบุ



เลือกหนทางชีวิตด้วยตนเอง

ไพสิฐเล่าเพิ่มเติมว่า

เมื่อจบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต

สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เขาก็ตัดสินใจว่าจะไม่ทำงานประจำ ซึ่งส่วนใหญ่ สาขาที่เรียน

เมื่อจบมาก็มักจะทำงานเกี่ยวกับโรงงาน ซึ่งเขาไม่ชอบบรรยากาศแบบนั้น


ไม่ได้อยากทำในสิ่งที่เรียนมา

“ผมเลือกที่จะทำในสื่งที่ตัวเองชอบมากกว่า

วันนั้นคิดได้เท่านั้นครับ คิดแบบวัยรุ่น ผมก็ตัดสินใจมาอยู่เชียงใหม่เลย


พอมาอยู่เชียงใหม่ปุ๊บ ผมก็รับซ่อมรถเวสป้า

ทำอยู่2 ปี


แล้วในระหว่างนั้นผมใช้รถโฟล์ค (Volkswagen)คันนึงอยู่แล้ว เป็นรถโฟล์คตู้ ปี1965 ซึ่งเป็นรถของครอบครัว

แล้วต่อมา ผมเริ่มเบื่อ เพราะอยู่กับรถมานาน

ก็หันเหตัวเองไปทำร้านอาหาร อยู่พักหนื่ง


ร้านขายเครื่องดื่มตอนกลางคืน มีดนตรี

ส่วนกลางวันก็ไปนั่งขายทุเรียนกับภรรยา พาหนะก็คือรถโฟล์คนี่แหละครับ ที่เอาไปใช้นั่งขายทุเรียน

ผมกับภรรยาแกะทุเรียนขายสองคนผัวเมีย

ชีวิตช่วงนั้นก็กลางวันขายทุเรียน

ตั้งร้านเสร็จเรียบร้อย ผมก็กลับมาซ่อมรถ ตอนเย็นก็ไปช่วยภรรยาเก็บร้านแล้วมาเปิดร้านอาหารกันต่อ

ภรรยาผมก็อยู่หน้าเตา ผมก็เสิร์ฟบ้าง

บางทีผมก็ช่วยงานอยู่ที่บาร์cocktail บ้าง

สิ่งที่ผมทำในนามOldies Caféเพราะในตอนนั้น ผมอยากจะเป็นคนเชียงใหม่ เพราะผมไม่ใช่คนเชียงใหม่

ญาติพี่น้องที่นี่ก็ไม่มี ก็พยายามจะสร้างแบรนด์ของตัวเอง

ก็เลยตั้งOldies Cafe & Restaurant ขึ้นมา” ไพสิฐระบุ



จุดกำเนิด อู่ซ่อมรถคลาสสิค ‘Oldiesworks Chiangmai’

ไพสิฐเล่าว่า เขาทำร้านอาหารอยู่ 4 ปี

บังเอิญมีลูกค้าซึ่งมาทานอาหารที่ร้าน เห็นว่าไพสิฐใช้รถโฟล์ค ( Volkswagen) ซึ่งลูกค้าท่านนี้ก็มีรถโฟล์คเช่นกัน ลูกค้าถามไพสิฐว่า หากจะทำสี หรือบูรณะรถ ควรจะทำที่ไหนในเชียงใหม่

“ผมก็รีเสิร์จดูจนทั่วแล้วก็ไม่มี สุดท้ายก็ตัดสินใจเป็น Project Manager รับงานเลยครับ! ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อ

ตอนนั้น ผมไม่รู้เลย เปรียบเหมือนกับไม่รู้เลยว่า A ถึง Z คืออะไร ไม่รู้เลย ก็ค้นข้อมูลดูในอินเทอร์เน็ต ว่ารถแบบนี้ต้องทำอะไรบ้างรวมทั้งถามจากคนรู้จักที่เล่นรถเก่าด้วยกันว่าทำอะไรบ้าง

จากนั้น ผมก็เริ่มด้วยการไปเช่าบ้านอยู่ในสวน แล้วสร้างอู่ขึ้นมา ก็เป็นบ้านไม้เก่าๆ น่ะครับ มีคูน้ำด้วย เงินก็ไม่ค่อยมี ตอนนั้นจน ทำงานทั้งวัน ร้านอาหารก็รายได้ไม่ค่อยดี

ผมก็เริ่มเช่าบ้านหลังละ 4,000 กว่าบาทต่อเดือน แล้วไปประกาศลงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หาเหล็กมือสองมาเชื่อมเอง เพราะเราเชื่อมเป็นอยู่แล้ว แล้วก็ทำหลังคา เป็นเพิงหมาแหงนขึ้นมา จากนั้นก็ขี่มอเตอร์ไซค์ ตระเวนตามอู่นอกตัวเมือง ที่มี เคาะ ทำสี ตามหาช่าง ผ่านไป 1 เดือน ผมก็ได้ช่างมา ผมคิดว่ามันจับพลัดจับผลู ผมจึงใช้คำนี้

ดังนั้น ผมจึงนำเอารถของลูกค้าที่มาทานร้านอาหารคนนี้ เอารถเขาเข้ามาทำ โดยมีช่างเพียงคนเดียว ทั้งเคาะ เหล็ก เชื่อม ก็ลองทำดู ปรากฏว่าทำได้ ผ่านไป 3 เดือน รถก็เกือบจะเสร็จ แต่แล้วก็มีปัญหาอีกเพราะเราก็ไม่มีช่างสี ผมก็ตระเวนหาอีก ใช้วิธืการเดิม ตระเวนตามอู่ว่าใครมีช่างสีที่มีฝีมือ ผมก็ไปดึงตัวเขามาทำ ซึ่งการดึงตัวเขามาทำงานกับเราก็ใช้เงินเยอะ เพราะเราซื้อตัวเขามา เราก็ต้องจ่ายเงินเป็นสองเท่าครับ เมื่อดึงตัวช่างสีมาได้ งานทำรถครั้งนี้ก็สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ขึ้นมา ผมก็เริ่มโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดีย เพราะอยากให้คนรับรู้ว่าเรามีอู่ ก็เลยใช้ชื่อ Oldiesworks Chiangmai เหมือนเป็นอีกจ๊อบหนึ่ง เพราะผมก็ยังไม่ได้เลิกทำร้านอาหาร Oldies Cafe & Restaurant ก็ยังทำกันอยู่” ไพสิฐบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพถึงความเป็นมาของการทำรถโฟล์คให้ลูกค้าเป็นครั้งแรก



สร้างมาตรฐานในการทำงาน เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ



ไพสิฐกล่าวว่า เมื่อทำรถโฟล์คคันแรกให้ลูกค้าไปแล้ว จากนั้นก็เริ่มมีคนสนใจ และติดต่อเข้ามาให้เขาช่วยทำรถให้

ทั้งนี้ ไพสิฐมองว่า อาจเพราะตัวเขาเองพอจะมีชื่อเสียงในวงการรถ Vespa อยู่บ้าง ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา

เขาเปรียบเทียบอย่างน่าสนใจว่า เหมือนเขาใช้ทางด่วนมาเป็นใบเบิกทางในวงการรถคลาสสิค

เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จัก ลูกค้าที่มาขอให้ทำรถก็เพิ่มขึ้น

จากภายในปีแรกแห่งการก่อกำเนิด Oldiesworks Chiangmai ทำรถได้ทั้งหมด 5 คัน ทั้งที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้มีทรัพยากร เครื่องมือ หรือทรัพยากรบุคคลเลย แต่เขาใช้วิธีการขอร้อง และตระเวนหาอู่ใหญ่ๆ

กล่าวได้ว่า ในช่วงแรกของการมีอู่ซ่อมรถนั้น แม้แต่ห้องพ่นสี เขาก็ไม่มี

ในที่สุด ไพสิฐจึงตัดสินใจเข้าไปคุยกับ บริษัทสยามนิสสัน เชียงใหม่ ว่าจะขอเช่าห้องพ่นสี เพื่อให้ได้การทำงานที่มีมาตรฐาน

“ทั้งที่เราก็ไม่มีเงินไปซื้อห้องพ่นสีราคาหลักล้านบาท ผมก็เลยไปขอเช่าเขา ซึ่งปกติเขาไม่ให้เช่า

ผมก็เลยให้ราคาค่าเช่าเขาไป วันละ15,000 บาท ซึ่งมันแพงมาก คือเราแค่ขอใช้เท่านั้น ผมใช้เงินเดินทางเลย

ซึ่งเขาก็ยอมให้เช่า

เมื่อเขายอม เราก็เอารถเข้าไปพ่น

เมื่อพ่นสีเสร็จ ในระหว่างที่ผมเช่าห้องเขา ผมมีโอกาสได้พบกับฝ่ายเทคนิคของเขา

สำหรับผม เขาเหมือนเป็นครูบาอาจารย์คนแรกของผมเลยครับ ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ ว่าหากผมจะทำสีรถ ทำเทคนิค ทำสีให้สวย ทำรถให้ดี ต้องทำยังไง เหมือนกับว่าเป็นห้องเรียนอีกห้องหนึ่งที่อยู่ในชีวิตจริงของผม ณ วันนั้นเลย ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะผมก็ได้สั่งสมเป็นความรู้ขึ้นมา จากเดิมที่ไม่รูอะไรเลย ก็เริ่มได้รับความรู้ขึ้นมาเรื่อยๆ จนสามารถได้เงินจากการทำรถ

เพราะงานพวกนี้มันเป็น Specialist มันหาคนทำยาก ผมก็เลยเห็นช่องทางนี้ เป็นช่องทางที่ผมจะต้องเลิกทำร้านอาหาร เลิกขายทุเรียนแล้ว ผมจะพุ่งเป้ามางานนี้เลย ซึ่งการจะประสบความสำเร็จได้ต้องอดทน แล้วก็หาความรู้ให้ได้มากที่สุดจากคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งแม้เขาอาจจะไม่ได้เรียนสูงเท่าผม แต่เขามีประสบการณ์และความสามารถ

ดังนั้น ผมจะพยายามอยู่ให้ต่ำกว่าเขาเสมอ เวลาที่ผมอยากจะรู้อะไร ผมจะอยู่ให้ต่ำกว่าเขาเสมอ” ไพสิฐระบุ

ห้องเรียนแห่งชีวิตจริง

ถามว่าเช่าห้องพ่นสีของบริษัทสยามนิสสัน เชียงใหม่ อยู่นานเพียงใด จึงมีที่ทางและห้องพ่นสีของของตนเอง

ไพสิฐตอบว่า “เป็นปีเลยครับ วันละ 15,000 ต่อคัน เพื่อที่อยากได้ภาพสวยๆ อยากให้ได้งานที่เราถ่ายออกไปลงโซเชียล หรือแฟนเพจ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่าเราไม่ใช้มือสมัครเล่นนะ ที่พ่นสีรถราคาเป็นหลายๆ แสนหรือเป็นล้าน ไม่ใช่กลางดิน หรือว่ากางมุ้งพ่นเอาแบบไม่ได้มาตรฐาน

ด้วยความเป็นวิศวกร ทำให้ผมละเมียดในการที่จะคิดจะทำและปฏิบัติ ผมจะคิดเยอะมาก ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปทำเลยโดยไม่รู้เรื่องรู้ราว เป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ ทำการบ้านเยอะ คิดและมองทุกอย่างเป็นตรรกะทั้งหมดครับ” ไพสิฐระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เช่าห้องของบริษัทสยามนิสสัน เชียงใหม่ เขาใช้ทีมงานของบริษัทสยามนิสสัน เชียงใหม่ ใช้มือพ่นสีที่เป็นมืออาชีพ เมื่อช่างพ่นสีเลิกงาน 16 : 00 น. นั่นคือเวลาของไพสิฐและช่างของบริษัทสยามนิสสันฯ

ในการที่ไพสิฐจ่ายมากขึ้นกว่าเดิม ก็เพื่อให้ช่างพ่นสีของบริษัทสยามนิสสันฯ ทำโอทีให้

“เพื่อให้เขาอยู่กับเรา แล้วผมก็มีโอกาสหาความรู้จากเขา เมื่อไม่มีคนอยู่ในโรงงานที่แยกออกมาจากโชว์รูม

เป็นโรงพ่นสี ผมก็มีเวลาได้อยู่ตรงนั้น นั่งดูงาน ตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึง 5 ทุ่ม, เที่ยงคืน

ผมนั่งอยู่ตรงนั้น เอาข้าวกล่องไปนั่งกิน เพื่อจะดูว่าเขาพ่นยังไง ขั้นตอนเป็นยังไงจริงอยู่ อาจจะมีสถาบันการศึกษาที่ฝึกวิชาช่าง แต่ผมว่ามันไม่ชัด ผมไม่อยากเรียนรู้จากกระดานดำ

เพราะผมอยู่กับการเรียนหนังสือมาทั้งชีวิตแล้ว ผมรู้สึกว่ามันไม่ Real ดังนั้น ผมเลือก ‘ทางด่วน’ เลยครับ

เพราะเราไม่มีเวลาแล้ว ทำไปแล้ว รับงานรับเงินแล้ว ความรับผิดชอบในงานเราต้องมี ผมจึงต้องใช้ทางด่วนในการเรียนรู้ ในการดูเรียนรู้ และผ่านบทสนทนาสนทนา

กว่าจะทำได้แต่ละคัน ในช่วงปีแรก คนก็ไม่มี ช่างก็ไม่มี แล้วตัวเองก็ไม่ได้แม่นมาก แต่ในปีนั้น ผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ทั้งหมดของการที่จะเป็นเจ้าของอู่รถทำสี ผมว่าผมสามารถทำได้ 90% แล้ว ที่เหลืออีก 10% มันเป็นเรื่องของเวลา และประสบกสารณ์ที่ผมจะมาลุยของผมเอง ไม่กิน ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย เก็บเงินอย่างเดียว เพื่อขยายอู่ตัวเอง แล้วเพิ่มทรัพยากรบุคคลเข้ามา” ไพสิฐระบุถึงจังหวะก้าวในการสร้างอู่ซ่อมรถคลาสสิคของตนเอง



ก่อร่างสร้างฐานที่แข็งแรง

ไพสิฐเล่าว่า ในปีที่ 2 อู่ของเขามีช่างอยู่ 4 คน ขณะที่ในปีแรก มีช่างเพียง 1-2 คน

นอกจากช่างทั้ง 4 คนที่อยู่กับเขาแล้ว ช่างเหล่านั้นก็ไปชวนช่างมาอีก เพราะมองเห็นถึงความแน่นอน มั่นคง

รู้ถึงแผนงานและอนาคตของไพสิฐ ว่าจะไปในทิศทางไหน เมื่อช่างมองเห็นอนาคต พวกเขาก็ชวนกันมาทำงานที่อู่ของไพสิฐ

“ผมเลี้ยงเขาหมด ที่พักฟรี น้ำ-ไฟฟรี เพื่อให้เขาไม่หนีไปจากผม ให้เขาอยู่กับผม และไม่หนีงาน

ผมคอยดูพวกเขาในการทำงาน จนถึงวันนี้ ผ่านมา 6 ปี ผมไม่มีโอกาสได้ไปไหนเลย ผมคงจะเป็นเถ้าแก่

หรือผู้บริหารที่นั่งเก้าอี้น้อยที่สุดในเมืองไทย ผมเดินทั้งวัน ทำงานไปกับช่างด้วย” ไพสิฐระบุและบอกเล่าว่า

Oldiesworks Chiangmai ก่อตั้งมา 6 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขายอมรับว่าคือการสั่งสมความรู้แบบไม่รู้ตัว

ถามว่า 6 ปีที่ผ่านมา Oldiesworks Chiangmai บูรณะหรือทำรถให้ลูกค้าไปแล้วกี่คัน

ไพสิฐตอบว่า ประมาณ 400 กว่าคัน ซึ่งนับว่าเยอะมาก กระทั่ง ณ ปัจจุบันนี้ มีรถที่รอทำอีกประมาณ 100 กว่าคัน

ขณะที่อู่ของเขา ในวันนี้มีพื้นที่กว้างขวางถึง 4 ไร่กว่า จากเริ่มแรกที่มีเนื้อที่เพียง 60 ตารางเมตร ค่าเช่า 4,000 บาทต่อเดือน

และจากเดิม ในช่วงแรกที่มีคนงานเพียง 4 คน ปัจจุบัน อู่ของเขามีคนงานทั้งสิ้น 41 คน



แนวคิดสุดล้ำในการรับงาน และสรรค์สร้างรถ Project

ถามว่า มีเสียงกล่าวขานกันว่าอู่ซ่อมรถคลาสสิคของไพสิฐ รับทำรถปีละไม่ถึง 10 คันนั้น จริงหรือไม่

เจ้าของ Oldiesworks Chiangmai ตอบอย่างหนักแน่นชัดเจนว่า “จริงครับ

ระหว่างที่ทำรถในปีที่ 2 จนถึงปีที่ 6 ผมตัดใจว่าผมจะไม่รับรถจากทางบ้านมาทำ

ดังนั้น รถที่ผมทำไปหลายร้อยคันที่ผ่านมา ทั้งหมดล้วนเป็นรถของผมเอง และจำนวนที่ผมตั้งไว้ว่าผมจะเลือกรับรถจากทางบ้าน เพียง 8 คันเท่านั้นครับ คือ บ้านละคัน, ครอบครัวละคัน หรือคนละคัน รวมแล้วเพียงแค่ 8 คัน ที่ผมจะรับมาทำให้

ซึ่งก็จะเป็น Exclusive คือคุณต้องโทร.มาจอง ต้องวางค่ามัดจำผมด้วย ต้องซื้อคิว เหตุผลที่ผมรับรถจากทางบ้านเพียงแค่ 8 คันต่อปี เพราะเวลาที่เหลือจากนั้น ผมอยากทำเฉพาะรถที่ผมอยากทำ ผมเลือกที่จะทำเฉพาะรถที่ผมมี และอยู่ในแผนงานที่ว่าปีนี้ ผมจะทำอะไร เพราะในช่วง 2-3 ปีแรก ผมสะสมเงินไว้เพื่อที่ผมจะไปซื้อซากรถ ผมจะไม่ซื้อรถสวยตามอินเทอร์เน็ต ผมไม่ซื้อเลย

สมมตินะครับ เช่นปีนี้ ผมจะทำรถเต่าจอไข่ ผมก็จะตระเวนไปทั่วประเทศเลย ไปซื้อซากที่คนเขาทำไม่ไหวแล้ว

ขับไม่ไหวแล้ว อู่ที่ปล่อยซากทิ้งไว้ หรือคนที่เขาทำไม่สำเร็จ ท้อก่อน ผมก็จะไปซื้อมา

ซึ่งพอเป็นรถซาก ราคามันจะไม่แพง

ผมก็จะซื้อรถพวกนั้น แต่ต้องมีเอกสารแท้ มีทะเบียนนะครับ

ที่ผ่านมา แม้จะเป็นรถขรุขระที่ตกลงไปในแม่น้ำผมก็ดึงมาแล้ว รถที่มีแต่ไมยราพขึ้น ผมก็ดึงมาแล้ว เพียงแต่ขอให้มีเอกสารถูกต้อง มีเล่มทะเบียน

แล้วผมก็จะเอารถเหล่านั้น มาตั้งขาย ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค Oldiesworks Chiangmai

โดยที่ผมจะอธิบายรายละเอียดต่างๆ มีข้อมูลให้คนเข้ามาอ่าน เรียกว่ารถโปรเจ็กต์

เช่น วันนี้ ผมจะขายรถโฟล์ค Volkswagen Karmann Ghia sports

โดยจะให้ลูกค้าที่สนใจโทร.มาเท่านั้น โทร.มาคุยกับผมโดยตรงเลย เช่น ผมจะขายรถคันนี้ 3 ล้านบาท

แต่ผมขอให้คุณวางเงินดาวน์แค่ 2 แสนบาท



แล้วผมก็จะทำสัญญากับคนๆ นั้นเลย แล้วผมก็จะให้เขาเริ่มผ่อนผมไปเรื่อยๆ เดือนละครั้ง ทุกวันที่ 1 ของเดือน

โดยให้ลูกค้าที่ซื้อรถโปรเจ็กต์กับอู่ผม ผ่อนผมเดือนละเท่าไหร่ก็ได้ ให้ลูกค้ากำหนดเอง ว่าคุณจะผ่อนผมเดือนละสองหมื่น, สามหมื่นก็ได้ นับตั้งแต่วัน เดือน ที่ผมเริ่มทำ

สิ่งที่ผมตั้งใจจะบอกก็คือ ผมจัดไฟแนนซ์เอง ซึ่งโมเดลนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ผมท้าเลย

โมเดลนี้ผมคิดหัวแทบแตก ว่าจะทำยังไง ในเมื่อต้นทุนที่มีอยู่ในมือ ไม่เยอะ

โดยที่ไม่มีดอกเบี้ย โดยให้เวลาเป็นตัวกำหนด ให้ใจกัน ผมก็บอกลูกค้า คุณก็โอนมาทุกวันที่ 1 แล้วแต่คุณว่าจะโอนเท่าไหร่ เรื่องของคุณ และตลอดทั้งเดือน ผมจะไม่ขอเบิกจากคุณเลย ไม่มีการเบิกยิบย่อยอะไรอีก แต่ผมจะทำงาน Update ทุกวัน Update รูปถ่าย ไปให้คุณดูทุกวัน คุณจะได้เห็นรถที่คุณเฝ้ารอ ว่าพวกผม ทำงานให้พวกคุณทุกวัน โดยไม่ข้ามกระโดดไปทำคันอื่น เพียงเพราะเขามาทีหลังแต่ให้เงินมากกว่า ไม่เลย ผมไม่ทำแบบนั้น เราจะทำจนเสร็จ Process นั้นๆ

โดยให้เวลาลูกค้า ในการผ่อนชำระให้ครบ 3 ล้านบาท อาจใช้เวลา 12-15 เดือน ซึ่งผมจะทำรถคันนั้น ในโปรเจ็กต์นั้นให้เสร็จภายในสิบเดือน

สิ่งที่ผมอยากบอกคือ โมเดลนี้คือการบังคับตัวผมเอง ให้ผมทำงานให้ตรงเวลา ทำให้ช่างในแต่ละ Process ทำงานแข่งกับเวลา แล้วความรับผิดชอบกับความซื่อสัตย์ต่อคำพูด มันจะเกิดขึ้นทันที

เราทำงานเยี่ยงเครื่องจักร ลูกค้าจึงไว้ใจเรามาก ดังนั้น เราต้องมีระเบียบวินัย และต้องซื่อสัตย์ต่อคำพูดของตัวเองจริงๆ ซื่อสัตย์ต่อตัวงานของตัวเองจริงๆ ขยันขันแข็งจนเกินพิกัดที่คนทั่วไปจะทำได้ ระหว่างที่คุณหลับ ผมจะตื่น ระหว่างที่คุณตื่น ผมก็ออกไปทำงานแล้ว Oldiesworks ไม่มีวันหยุด

ถ้าคิดเป็น 100% รถโปรเจ็กต์ของผมจะมี 95% และอีก 5% คือรถจากทางบ้าน ซึ่งก็มีไม่เกิน 8 คัน ซึ่งปีนี้ ผมลดจำนวนของรถบ้านลงเหลือเพียงแค่ 4 คัน แล้วก็จะลดลงเรื่อยๆ เพราะจะไม่รับแล้ว จะมีเฉพาะรถที่ผมอยากทำเท่านั้น แล้วเป็นรถที่รู้สึกว่า ถ้าทำไปแล้ว มันจะเพิ่มมูลค่าให้กับคนที่รับไป เพราะรถทุกคันไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มเท่ากัน มันอยู่ที่ปีรถ ความนิยม โลกเล่นอะไร เราเล่นด้วย เราจะไม่เล่นรถที่รู้สึกว่า มันไม่สร้างมูลค่า

เมื่อผมสร้างงานให้เขา ทำรถให้เขาใช้ ผมก็วางแผนธุรกิจ เพื่อให้เขาไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย

นอกจากนั้น รถโปรเจ็กต์ผมที่ผมทำออกไป ผมจะเขียนประกันให้ลูกค้าเลย 1 ปี โดยไม่มีข้อแม้

คุณไม่ต้องไปซ่อมที่ไหน บอกผม ผมซ่อมให้ฟรี

ประกันราคาให้ด้วย ว่าหากวันหนึ่งวันใดก็ตามในระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่รับรถผมไป ถ้าคุณอยากขาย ผมยินดีซื้อคืนในราคาที่คุณซื้อไป โดยไม่หักส่วนต่าง

มีการเซ็นสัญญาเลยครับ ว่าอู่ยินดีรับซื้อคืน

เพราะผมห่วงรถผม ผมรักรถที่ผมทำทุกคัน และผมจำมันได้ทุกคันที่ผมทำ แล้วผมก็ไม่อยากให้ใครไปแกะไปแงะอะไรกับรถที่ผมทำ เพราะมันมีจิตวิญญาณของผมอยู่ในนั้นทุกคัน” ไพสิฐถ่ายทอดได้อย่างเห็นภาพถึงความรัก ความใส่ใจที่มีต่อรถทุกคันที่เขาซ่อมและบูรณะ รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการที่น่าสนใจ



‘Volkswagen’ never die

Volkswagen คือหนึ่งในยี่ห้อรถที่อู่ของไพสิฐซ่อมและบูรณะเป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ

ไพสิฐกล่าวว่าสำหรับเขาแล้ว Volkswagen ไม่มีวันตาย เพราะมีอะไหล่ที่ผลิตในประเทศไทยด้วย มีเยอะมาก

ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้ Save cost

“อะไหล่ต่างๆ ของโฟล์ค ผมสามารถโทรไปที่ร้านค้าในกรุงเทพ แล้วเขาสามารถจัดส่งให้ผมได้เลย หรือแม้แต่ร้านค้าในเชียงใหม่เองก็มี

สิ่งสำคัญของการทำรถ ทำธุรกิจยานยนต์ การจะทำรถนั้นๆ ต้องมีอะไหล่ Support

ถ้าไม่มีอะไหล่ Support รถพวกนั้นไม่มีทางแพง

เพราะเราไม่สามารถปรับปรุง และบูรณะรถเหล่านั้น ให้กลับมาดีดังเดิมเหมือนวันที่ออกจากโรงงานได้

ดังนั้น นี่คือเทคนิคสำคัญอย่างหนึ่งเลยครับ ในการที่จะเล่นรถโบราณ ว่าอะไรควรเล่น อะไรไม่ควรเล่น อันไหนมีอะไหล่อันนั้นเล่นได้ แล้วต้อง Worldwide ด้วย คือทั้งโลกเล่น และราคาจะต้องไม่แตกต่างกันมากเกินไป นี่คือเทคนิคครับ”

ไพสิฐให้ข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่หลงใหลและหลงรักรถโบราณ



ราคารถจาก Oldiesworks Chiangmai และมิตรภาพที่มีคุณค่า

ไพสิฐเล่าว่าในปัจจุบัน รถที่ทำจบโปรเจกต์ ราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท

การขายรถโปรเจ็กต์ ทำให้ไพสิฐได้รู้จักคนมากขึ้น รู้จักลูกค้ามากขึ้น ได้คุยกันเยอะขึ้น โดยที่แต่ละคนก็มาจากต่างที่ต่างถิ่น ต่างสาขาอาชีพ แต่รถได้นำพาให้มาพบกัน นำพาให้มารักกัน เกิดมิตรภาพที่สำคัญและเป็นมิตรภาพที่ดี

อาทิ ไม่ว่าลูกค้าจะอยากได้สีอะไร ตกแต่งภายในอย่างไหน ล้อแบบไหน จะแต่งรถยังไง อยากได้เครื่องแบบไหน หน้าเครื่องเป็นยังไง ทั้งหมด ล้วนเป็นการจัดวางร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้

“ที่สำคัญคือ รถที่ผมทำ สร้างความสุขให้คนที่เราไม่รู้จักเยอะมาก

เพียงแค่รถผมไปจอดติดไฟแดงอยู่ 4 แยก

สร้างรอยยิ้มให้คนไม่รู้เท่าไหร่ เราสร้างความสุขให้กับคนที่อยู่รายรอบ โดยบังเอิญในทุกๆ วัน

บางคนบอก โอ้โฮ! รถวิ่งได้ด้วย แล้วตอน เช้าผมไปส่งลูกผมไปโรงเรียน

ผมขับรถโฟล์คไปโรงเรียนทุกวัน เด็กๆ เห็นแล้วยิ้มกัน หยิกแขนกัน

ตามที่เชื่อกันว่าถ้าเห็นรถเต่าต้องหยิกแขน แล้วจะได้รถเต่า

คือการเห็นรถเต่าแล้วหยิกแขน มันเป็นเรื่องโบราณมาก ( หัวเราะ ) มันโบราณมากครับ ตอนนี้ผมอายุ 41 แล้ว แต่เรื่องโบราณนี้ก็ยังคงอยู่ พอลองมองย้อนกลับไปดีๆ มันจะมีเรื่องโบราณๆ อยู่คู่กับมนุษย์เราสักกี่เรื่องกันเชียวรถเต่า ก็คือ รถเต่า เด็กไม่รู้หรอกรถยี่ห้ออื่น เด็กไม่รู้ แต่เด็กรู้จักรถเต่า

แล้วผมอ่านปากได้เลย ผู้ปกครอง คุณแม่ที่ไปส่งลูก คุณแม่บอกลูก ‘รถเต่าลูก รถเต่า’

หรือรถผมติดไฟแดง GrabFood, Foodpanda และอีกมากมาย เขาขับรถจนหน้าดำหน้าแดง แล้วเมื่อรถติดไฟแดง เขาเคาะกระจกรถผมประจำเลยครับ แล้วบอกว่า ‘รถพี่สวยมากครับพี่’ ทั้งๆที่เขาไม่รู้ว่ารถที่ผมขับนั้นรุ่นอะไร

ไร้พรมแดนเลยครับ รถพวกนี้ไร้พรมแดน ไร้กาลเวลา” ไพสิฐระบุ



ขั้นตอน กระบวนการทำงาน

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงกระบวนการทำรถของไพสิฐและทีมงาน ว่ามีกระบวนการ อะไรบ้าง

ไพสิฐยินดีบอกเล่าอย่างละเอียดว่า กระบวนการที่จะสร้างและบูรณะรถหนึ่งคัน โดยละเอียดนั้น เมื่อได้ซากรถมาหนึ่งคัน ตรวจเอกสารเรียบร้อย ซื้อขายถูกต้องตามกฎหมาย เล่มทะเบียนถูกต้อง นี่คือหลักข้อแรกของรถโบราณคือ เอกสารต้องครบ เล่มภาษี เลขเล่มต้องตรง ห้ามซื้อรถไม่มีทะเบียนเด็ดขาด

เมื่อได้รถแล้ว นำมาตั้งที่อู่แล้ว ไพสิฐก็จะเริ่มประกาศขาย

เมื่อได้คุณ ก. คุณ ข. คุณ ค. มาร่วมทำโปรเจ็กต์นี้โดยการวางเงิน ทำสัญญากับอู่แล้ว เดือนต่อไปไพสิฐและทีมงานจะเริ่มทำทันที

“ใน Process แรก เรียกว่า ‘งาน เคาะ ตัด ผุ’

ซึ่งซากรถพวกนี้มันจะผุ สนิมกินหมดเลย เราก็จะใช้คนหนึ่งคน ใน Process แรก

เรียกว่า ‘ช่าง เคาะ ปะ ผุ’ ซึ่งจะเป็นช่างตีเหล็ก ช่างเชื่อม โดยที่เราก็จะมีเครื่องเชื่อมประมาณสอง-สามประเภทไว้ให้เขา ในไลน์ผลิตนั้นๆ

โดยชิ้นงานเหล็กจะใช้แฮนด์เมด ตีเอาตามรูปแบบเดิม แล้วอีกครึ่งหนึ่งจะเป็นการสั่งอิมพอร์ตจากเมืองนอกมา เช่น เม็กซิกัน, บราซิล, เยอรมัน, เบลเยี่ยม

แล้วแต่ในช่วงนั้น ซึ่งมีห้างร้านที่ผลิตตัวถังของรถรุ่นนั้นๆ อยู่ในตลาดโลกอยู่แล้ว แล้วก็มีเอเจนซี่ในไทยที่นำของพวกนี้เข้ามาให้ซื้อด้วย ซึ่งสะดวกมาก แล้วผมก็มีโรงงานปั๊มเหล็ก ชิ้นที่มันหมดสภาพ ผมก็จะให้โรงงานปั้มเหล็กมาวัดขนาดแล้วไปปั๊ม

เมื่อปั๊มเสร็จ ช่างเชื่อมของผมที่เป็นช่างเคาะด้วย ก็เคาะ ปะ ผุ จนแล้วเสร็จ

ใช้เวลา Process แรก ประมาณ 2 เดือน เมื่องานเคาะ ปะผุเสร็จ ผมก็จะเอารถเข้าตู้คอนเทนเนอร์ที่หน้าอู่ เพื่อจะยิงสายตัวถัง ซึ่งก็คือการเอาลมแรงๆ ใส่เม็ดทรายละเอียดมากๆ ยิงไปที่ตัวถัง เพื่อจะเอาสนิมออกจากตัวถังทั้งหมด ให้มันแห้ง

เมื่อยิงทราย เอาสนิมออกจนเหล็กสวยงามแล้ว เราก็จะส่งไปที่แผนกของงานทำพื้น เป็น Process ก่อนจะพ่นสีจริง ซึ่งงานทำพื้นจะใช้ช่าง 2 คน ต่อหนึ่งคัน” ไพสิฐระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า

ปกติ อู่ทั่วไป จะใช้ช่างทำรถ 1 คนต่อรถ 1 คัน แต่ที่ Oldiesworks จะใช้หนึ่งคัน ต่อช่างสองคนในการทำพื้น ที่เรียกว่าการโป๊วสี ทำพื้น เตรียมพื้นเพื่อจะพ่นสีจริง โดยจะใช้เวลาใน Process นี้ 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เมื่อทำพื้นเสร็จแล้ว ก็เข้าสู่กระบวนการที่สาม เป็นทีมช่างชุดที่สาม คือช่างพ่นสี

เมื่อเตรียมรถเสร็จแล้ว รถเหล่านี้ก็จะไปอยู่ในห้องพ่นสี ซึ่งเป็นห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ อบความร้อนได้ เป็นห้องปิด สะอาด และแห้ง ต้องไม่มีความชื้น ช่างสีของอู่ Oldiesworks จะเข้างานตั้งแต่ 6 โมงเย็น และพ่นทั้งคืนจนเสร็จ ตี 4-ตี 5 หรือบางครั้งถึง 6 โมงเช้า ของอีกวันนึง เพื่อจะต้องพ่นสีรถคันนั้นให้เสร็จภายในคืนเดียว จากนั้น จะอบรถคันนั้นไว้ทั้งวันอีก 1 วัน โดยไม่เอารถคันนั้นออกมาจากห้องเลย

ไพสิฐกล่าวว่า เหตุผลในการที่จะต้องพ่นสีในเวลากลางคืน เพราะว่าช่างพ่นสีจะต้องใช้สมาธิสูงมาก ต้องไม่มีเสียงรบกวน เพราะการพ่นไปที่ตัวถัง โอกาสที่หากผิดแล้วจะแก้ไขนั้นทำได้ยากมาก เพราะฉะนั้นจะต้องพ่นด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้คุณภาพของงานสีออกมาอย่างดีที่สุด

จึงต้องใช้ความเงียบ และต้องไม่มีการแย่งลมจากสเปรย์ที่พ่นสี ไม่มีแผนกอื่นมาแย่งลมพ่น ทำให้คุณภาพสีและลมที่ปล่อยออกมา ปล่อยไปบนผิวของถังรถได้เนียน เร็วและแรง

เมื่อพ่นสีเสร็จแล้ว ทิ้งไว้ 1 วัน ในวันที่ 4 จะนำเอารถออกมาตากแดด

“แล้วในวันที่ 5 Process ที่ 4 จะเข้ามา คือแผนกประกอบรถ เป็นช่างประกอบรถ เป็น Process ที่หัวเลี้ยวหัวต่อมาก ถ้าประกอบไม่ดี ไม่ระวัง สีถลอก ผมจะเสียเวลากับการพาช่างสีที่พ่นไปก่อนหน้านี้ กลับมาทำอีก เพราะฉะนั้น ขั้นตอนที่ 4 คนประกอบรถต้องใจเย็น มีพื้นที่เป็นของตนเอง สะอาด เพราะต้องไม่ให้พื้นสีของส่วนประกอบต่างๆ มีปัญหา เมื่อประกอบเสร็จแล้ว เป็นคันแล้ว ก็มา ถึง Process ที่ 5 เป็นช่างทำช่วงล่าง ทำเบรค ทำเครื่อง ซึ่งเขาจะประกอบช่วงล่างรอเอาเกียร์ใส่ เอาเครื่องใส่ จะใช้เวลาใน Process นี้ประมาณ 1 อาทิตย์

เมื่อช่างประกอบตัวถังเสร็จแล้ว แผนกที่ 4 กับแผนกที่ 5 ที่ประกอบช่วงล่าง ใส่พื้น ใส่ล้อเรียบร้อยแล้ว สองแผนกนี้จะมาเจอกัน เพื่อนำตัวถังด้านบนที่ประกอบสีเสร็จแล้ว วางลงไปบนพื้นที่ประกอบระบบช่วงล่าง และระบบเบรค เครื่องยนต์เรียบร้อยแล้ว เมื่อเสร็จช่วงที่ประกอบ มีล้อแล้ว เครื่องสามารถติดได้แล้ว แผนกที่ 6 จะเข้าไปทำต่อ คือช่างเดินสายไฟ ซึ่งเขาอายุ 73 ปีแล้วนะครับ ช่างไฟของผม

เขาคงทำงานให้ผมได้อีก 5 ปีก็คงไม่ไหวแล้ว เขาเป็นช่างไฟที่เกิดมาเพื่อเป็นช่างไฟของ Volkswagen โดยเฉพาะเลย เพราะทั้งชีวิตของเขา เป็นช่างไฟเฉพาะ Volkswagen เลยครับ

ช่างคนนี้เดิมทีเป็นช่างไฟอยู่ที่กรุงเทพ แต่ผมดึงตัวเขามาอยู่ที่อู่ผมเลย ให้เขามารีไทร์ไปกับผมเลย ให้แก่ไปกับผมเลย จนเขาทำงานไม่ไหวผมก็จะเลี้ยง ผมไม่ให้เขาไปไหนเลยคนพวกนี้ ผมจะให้เขาอยู่กับผม เพราะทุกคนคือมืออาชีพ

เมื่อแผนกที่ 6 เดินไฟเสร็จ แผนกที่ 7 เป็นแผนก Interior ตกแต่งภายใน หุ้มเบาะ เมื่อหุ้มเบาะเสร็จแล้วก็จะส่งมายังแผนกที่ 8 คือแผนกขัดสี เพราะเราผ่านมาหลาย Process อาจจะมีรอยเปื้อน รอยเยิ้ม หรือรอยเล็กๆ น้อยๆ ก็จะมีแผนกขัดสี ซ่อมแผลเล็ก เมื่อซ่อมแผลเล็กเสร็จแล้ว ผมก็จะส่งไปที่แผนกติดแอร์

ใช้เวลาติดแอร์อยู่ 2-3 วัน เมื่อติดแอร์เสร็จแล้ว มาแผนกที่ 9 คือ QC Quality Checked ซึ่งผมจะมีลานล้างรถของผม เป็นห้องกระจก เอาไว้ตรวจสอบ QC Quality Checked ว่า รถทั้งคัน ที่ผ่านมา 8 แผนกนั้น มีปัญหาอะไรมั้ย ผิวภายนอกทั้งหมด รวมทั้งภายในรถ อะไรไม่สวย ตรงไหนมีคราบ ไม่สะอาดเรียบร้อย

เมื่อตรวจแล้ว ไม่มีปัญหา เราก็เคลือบแก้ว ( Glass Coating ) ฟรีให้กับลูกค้าด้วย

เพื่อเป็นการป้องกันผิวสีที่เพิ่งทำใหม่ให้มีความแข็งแรงเมื่อโดนอะไรมากระทบ เช่น กรวดหินกระเด็นมาโดน กันกระเทาะ เราจึงเคลือบไว้อีกชั้นหนึ่ง

เมื่อจบทุกแผนกแล้วเสร็จ แผนกสุดท้าย คือ แผนกสตูดิโอ เพื่อเก็บภาพลงโซเชียลมีเดีย และทำ VDO Presentation ให้ลูกค้าฟรี ถ่ายเป็นมิวสิควีดีโอให้ฟรี

สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ คือเกิดขึ้นในอู่ของผมทั้งหมด ไม่มีการนำไปให้ ซัพพลายเออร์ (Supplier) ทำเลยครับ” ไพสิฐบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพความพิถีพิถันละเอียดลออของแต่ละกระบวนการ กว่าจะเป็นรถที่เสร็จสมบูรณ์

ไม่เพียงเท่านั้น Oldiesworks ยังมีแผนกเซอร์วิส บริการหลังการขาย 24 ชั่วโมง “หากลูกค้าผมไปรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุอะไรยังไง โทรหาผม รถสไลด์ (รถยก )ของผมจะไปรับมาทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย

เพราะเป็นรถสไลด์ของผมเองเลย นี่คือจุดเด่นสำคัญของ Oldiesworks ที่ทำให้บริษัทแข็งแกร่ง

คือ การบริการหลังการขายที่แข็งแรง เราไม่เคยทิ้งใครไว้กลางทาง ( หัวเราะ )” ไพสิฐบอกเล่าถึงการบริการที่ลูกค้าของอู่รถคลาสสิคแห่งนี้จะได้รับ



มนต์เสน่ห์ ความหลงใหล และจิตวิญญาญแห่งรถคลาสสิค

บทสนทนาเดินทางมาถึงคำถามสุดท้าย ว่าอะไร เป็นมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ชายคนนี้รัก ทุ่มเท และหลงใหลรถคลาสสิค

ไพสิฐตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “โอ้โห! มันกลืนกินผมตั้งแต่เด็กยันโตเลยครับ รถคลาสสิคมันสวย มันเซ็กซี่ มันสะดุดตาผม ไม่ว่าผมจะเห็นมันที่ไหนก็ตาม มันทำให้ผมเกิดอาการแบบอะดรีนาลีนหลั่งทันที ( หัวเราะ )

เพราะเราเกิดจากความเป็น Hunter ด้วยครับ เราไปล่า เราไปตามหารถ เราไปเจอคนแก่ เจอคนที่ไม่เคยรู้จัก แต่ไปเคาะบ้านเขา ไปเคาะทุกบ้าน ไปรอจนกว่าเขาจะขายรถให้ ขอเบอร์โทรศัพท์ ใช้วาทศิลป์ทุกสิ่งทุกอย่าง

คือเมื่อก่อน รถเหล่านี้ไมได้มีราคา แต่การได้มาซึ่งรถแต่ละคัน มันไม่ใช่แค่ใช้เงินซื้อเสมอไป

เราต้องใช้ความพยายาม ใช้ใจแลกใจกัน และต้องมีความชัดเจน ว่าเราขอไปทำไม

เช่น รถบางคัน จอดอยู่ในบ้านเขาเป็น 10-20 ปี

เราต้องอธิบายให้ชัด ว่าจะเอาไปทำไม เพราะมันเป็นสิ่งที่เขารัก ซึ่งอยู่กับเขามานาน พาเขาไปเที่ยว

พาเขาไปรับ-ส่ง ลูกไปโรงเรียน พาไปนั่นไปนี่

ดังนั้น การที่เขาจะขายให้ผมแต่ละครั้ง มันเป็นอะไรที่ โอ้โห! ผมต้องร่ายเหตุผลกันเป็นวันๆ เป็นเดือนๆ

บางเคสใช้เวลาหลายปี

นี่คือ แรงบันดาลใจที่แท้จริงของผมเลย ที่ทำให้ผมมายืนอยู่ที่จุดๆ นี้ นั่นคือการได้รู้จักคนใหม่ๆ ได้คุยกับคนที่เราไม่รู้จัก แล้วเราได้รับในสิ่งที่เราอยากได้และปรารถนา เพราะเราชอบและรักมันจริงๆ” ไพสิฐระบุทิ้งท้าย

นับเป็นบทสนทนาที่สะท้อนตัวตน จิตวิญญาณแห่งความรักและหลงใหลที่ชายคนนี้มีต่อรถคลาสสิค ที่ส่งต่อความรัก ความมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับผู้คนอีกไม่น้อย ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน

ด้วยเหตุผลดังที่ชายผู้ก่อตั้ง Oldiesworks ผู้นี้ได้กล่าวไว้ว่ารถทุกคันที่เขาทำขึ้นนั้น ทำด้วยจิตวิญญาณของเขาเอง ที่เขาเผยว่าได้ถูกความงามของรถคลาสสิคกลืนกินนับแต่เยาว์วัยกระทั่งปัจจุบัน

เป็นความงามที่ไร้กาลเวลา ไร้พรมแดน

และสร้างความสุขให้ผู้คนมายาวนานอย่างแท้จริง

……………..

Text By รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล

Photo By ไพสิฐ ไชยสมบูรณ์, Oldiesworks