“อรรถพล” โชว์วิสัยทัศน์ใหม่ของปตท. มุ่งตอบโจทย์การเติบโต สู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน ลุยอีวีและแบตเตอรี่เต็มตัว รุกอุปกรณ์การแพทย์ ผลิตยารักษามะเร็ง หุ่นยนต์ AI คลาวด์เซอร์วิส และโดรน
ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงโลกอุบัติใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้เมื่อใด ส่งผลให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่เว้นองค์กรขนาดใหญ่อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนบริบทการดำเนินงานที่เปลี่ยน แปลงไป
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ปลุกพลังของพนักงาน และชี้ให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินงานของกลุ่มปตท.หลังจากนี้ ภายใต้ “Powering life with future energy and beyond” หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เป็นการบ่งบอกจุดมุ่งหมาย และทิศทางการเติบโต ตอบโจทย์การดำเนินงานของกลุ่มองค์กร
ไฟฟ้ามาแทนนํ้ามัน
นายอรรถพล ชี้ให้เห็นว่า ด้วยสถานการณ์โลกทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกวินาทีมีสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้ ทุกนาทีมีความท้าทายใหม่ๆให้ต้องเผชิญ พนักงานทุกคนจำเป็นต้องร่วมเป็นผลักความคิดและขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กร สร้างความมั่นคงที่ไกลกว่าพลังงานในทุกมิติอย่างสมดุล และพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กระแสโลกที่มุ่งเน้นพลังงานสีเขียวเป็นหลัก จะส่งผลให้การใช้นํ้ามันของโลกลดน้อยลงยิ่งขึ้น จากเดิมที่คาดการณ์กันว่า Peak oil หรือสถานการณ์ที่กำลังการผลิตนํ้ามันของโลกเพื่อตอบสนองความต้องการสูงสุดจะมีไปถึงปี 2035 แต่ขณะนี้คาดการณ์ว่าสั้นลงไปจนถึงปี 2025 เท่านั้น
ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตเป็น 2 เท่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า และเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนมากกว่า 12% และอาจขึ้นไปถึง 38% รวมถึงการมีเป้าหมายระยะยาวของการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ปตท. โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ลงให้ได้ 20 % ภายในปี 2573 ตามจึงเป็นตัวแปรหนึ่งที่กลุ่มปตท.จะต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
สู่พลังงานอนาคต
ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มปตท.จะดำเนินงานจากนี้ไปนั้น จะต้องรุกธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีครบวงจร พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน แหล่งกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ ไฮโดรเจน รวมไปถึง Life science , Logistic infrastructure , AI Robotics , Mobility Lifestyle , High Value business เป็นต้น
ทั้งนี้ การมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตนั้น จะดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ โดยปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซแอลเอ็นจีระดับโลก ที่ตั้งเป้าหมายขยายการค้าแอลเอ็นจีนอกประเทศให้ได้กว่า 8.7 แสนตัน การนำเข้าแอลเอ็นจีในรูปแบบราคาสปอร์ด ป้อนความต้องการของประเทศ ช่วยลดต้นทุนค่าก๊าซฯได้ 2 พันล้านบาท รวมถึงการค้าแอลเอ็นจีในรูปแบบรถส่งทางรถยนต์ เป็นต้น
ขณะที่บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จะเป็นหัวหอกในการขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าต่างประเทศ จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และการเข้าไปลงทุนทำโรงไฟฟ้าโซลาร์ในประเทศไต้หวัน รวมถึงการลงทุนในบริษัท SUNFOLDING ที่พัฒนาระบบ Technology Solar tracker ด้วยความดันลม ที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการติดตั้งและบำรุงรักษา
รุกธุรกิจแบตเตอรี่
ส่วนบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ และบริษัท On-Ion จะร่วมมือขยายธุรกิจชาร์จไฟฟ้า และลงทุนในสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ในและนอกสถานีบริการนํ้ามันของโออาร์ที่มีอยู่
พร้อมทั้งจะจัดตั้งบริษัท SWAF Go เพื่อลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ สำหรับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และจะเปิดตัว recc ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนอย่างครบวงจรรายแรกในประเทศไทย และให้บริษัท จีพีเอสซี เป็นหัวหอกในการลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ Semi-Solid รายแรกของไทย
ลุยอุปกรณ์การแพทย์
สำหรับการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ตามทิศทางการเติบโตนั้น จะเน้นไปที่ ธุรกิจ Life science เป็นการจัดตั้งบริษัท innobic ขึ้นมา เพื่อไปลงทุน โดยร่วมลงทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด เพื่อรุกตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย โดยมีแผนเดินหน้าสร้างโรงงานในปี 2565 และผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของไทย
รวมทั้งธุรกิจ Mobility Lifestyle ที่บริษัท โออาร์ ลงทุนในบริษัท แฟลช อินคอร์ปอเรชั่น และลงทุนในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย และการเข้าซื้อ โอ้กะจู๋ เพื่อช่วยตอบโจทย์เทรน Lifestyle
นอกจากนี้ จะรุกธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. จัดตั้งบริษัท ATI Technologies เพื่อพัฒนาโดดรน และจัดตั้งบริษัท Zeaquest เพื่อให้บริการวิศวกรรมทางทะเล และจัดตั้งบริษัท RAISE เพื่อพัฒนา AI & Robotics รวมทั้งจัดตั้งบริษัท MekhaTech เพื่อลงทุนด้านดิจิทัล และ Cloud Service เป็นต้น
ตั้งงบ8แสนล้านรอ
นายนายอรรถพล กล่าวทิ่งท้ายว่า ตัวเองเชื่อมั่นว่า หากพนักงานทุกคนร่วมมือร่วมใจดำเนินภารกิจให้สอดคล้องกับบริทบที่เปลี่ยนแปลงไป ปตท.จะยังคงแข็งแกร่งและเป็นพลังช่วยผลักดันให้ทุกชีวิตเติบโตได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
สำหรับในช่วง 5 ปี(2564-2568) กลุ่ม ปตท. ได้เตรียมงบลงทุนในอนาคตไว้ 804,202 ล้านบาท และงบลงทุนในธุรกิจหลักอยู่ที่ 850,573 ล้านบาท
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,666 วันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ. 2564
ปตท.ก้าวสู่ยุควิสัยทัศน์ใหม่ ปรับองค์กรสู่การเป็นบริษัทพลังงานรูปแบบใหม่รับ 6 เทรนด์มาแรง
ปตท.สผ. พบก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่โครงการซาราวักเอสเค 417
เชฟรอนส่งมอบแหล่งเอราวัณให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่