“เอ็นไอเอ” เร่งปั้นสตาร์ทอัพด้านรถ EV รองรับการเติบโตตลาดโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากพูดถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก จะเห็นได้ว่ากระแสของยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ซึ่งกระแสความนิยมนี้เกิดขึ้นจากการที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับปัญหาวิกฤตพลังงานและภาวะโลกร้อนที่เกิดเป็นข้อตกลงในสนธิสัญญาปารีส (COP 21) โดยสมาชิกทั้ง 195 ประเทศจะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ในปี 2030 ทำให้หลายประเทศเริ่มประกาศแนวนโยบายยกเลิกการใช้รถยนต์สันดาปที่ใช้แหล่งพลังงานจากน้ำมัน (Internal Combustion Engine; ICE) ไปสู่ยานยนต์ไร้มลพิษที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle; EV)

จากการรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency; IEA) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 2 เท่า อยู่ที่ 6.6 ล้านคัน โดยร้อยละ 53 ของยอดขายทั่วโลกอยู่ที่ประเทศจีน รองลงมาเป็นตลาดยุโรป ร้อยละ 33 และตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 11 ปัจจุบันคาดว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการใช้งานทั่วโลกประมาณ 16 ล้านคัน ขณะที่ประเทศไทยการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายนักเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ราคาสูง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่มีเพียงพอ เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค รัฐบาลจึงประกาศจุดยืนผลักดันไทยเป็น “ศูนย์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ตามแนวทางการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ



“เอ็นไอเอ เร่งปั้นสตาร์ทอัพด้านรถ EV รองรับการเติบโตตลาดโลก”

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า “การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว โดยมีภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนร่วมกำหนดนโยบายขับเคลื่อนและสร้างระบบนิเวศในการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านกำลังคน มาตรฐาน กฎระเบียบ ให้พร้อมต่อการใช้งาน เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศในอาเซียนได้ ตลอดจนทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม NIA

ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ก็มีนโยบายที่มุ่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยอย่างกลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าผ่านโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า ประจำปี 2566 นี้



“การสนับสนุนนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า เป็นการเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของประเทศ สำหรับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องจะมีการสนับสนุนทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและส่วนประกอบสำคัญ การบริการและแพลตฟอร์มสนับสนุน ตลอดจนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์ ธุรกิจนวัตกรรมผลิตยานยนต์ที่มีการสื่อสารและเชื่อมโยงถึงกัน ซอฟต์แวร์เพื่อใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า การให้บริการสถานีชาร์จ และการบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคการลงทุนและหน่วยงานด้านการส่งเสริมนวัตกรรมของภาครัฐได้เห็นมุมมองใหม่ที่เป็นประโยชน์จากแผนธุรกิจและความแตกต่างในเชิงเทคนิค ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูและเดินหน้าเศรษฐกิจหลังจากนี้ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานวิจัย และกำลังคนที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก”



5 สตาร์ทอัพ ผู้ผลิตรถ EV สัญชาติไทย ผู้หนุนพลังงานสะอาดให้เติบโต

ประเทศไทยมีการวิจัย พัฒนา และใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถโดยสารไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รวมถึงชุดดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ วัสดุ/อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และจากรายงานของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2571 ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะมีมูลค่ามหาศาลถึง 5.97 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 21 ล้านล้านบาท อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคปฏิวัติยานยนต์เลยทีเดียว ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีสตาร์ทอัพและบริษัทสัญชาติไทยหลายรายร่วมลงสนามพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน วันนี้ NIA จะพาทุกคนร่วมเดินทางไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย 5 นวัตกรรมที่กำลังเป็นเทรนด์แห่งการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต จะมียานยนต์ไฟฟ้ารุ่นไหนน่าสนใจบ้าง เตรียมติดเครื่องยนต์ไปอัปเดตพร้อมกันเลย

“ETRAN ผู้ผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า MYRA” ที่มุ่งเน้นการพัฒนายานยนต์สำหรับการบริการสาธารณะ โดยเฉพาะในกลุ่มคนขับวิน และไรเดอร์ หากใครสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันโรบินฮู้ดและชอปปี้ฟู้ดเป็นประจำ อาจเคยเห็นรถรุ่นนี้ผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน และมีรายได้เพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย



“MuvMi ผู้ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า แบบ Ridesharing เจ้าแรกในไทย” รถตุ๊กตุ๊กสายเลือดใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เรียกใช้บริการง่ายผ่านแอปพลิเคชัน ค่าบริการถูก นั่งได้สูงสุดถึง 6 คน ปัจจุบันมีให้บริการทั้งหมด 10 ย่าน ตั้งแต่ จุฬา-สามย่าน อารีย์-ประดิพัทธ์ รัตนโกสินทร์ อโศก-นานา พหลโยธิน เกษตร บางซื่อ อ่อนนุช ชิดลม-ลุมพินี และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกมุมเมืองที่มีการสัญจรหนาแน่น โดยตั้งแต่เปิดให้บริการก็มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 1,000,000 ครั้งไปแล้ว

“BIZ NEX Motor ผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ MuvMi สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ไทยรุ่ง พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์และด้านการขนส่งในเมืองที่มุ่งมั่นพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านการขนส่งของผู้ใช้งาน ซึ่งรถรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นคือรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า NEX1 หรือรถตุ๊กตุ๊กที่อยู่ภายใต้การบริการของ MuvMi



“Sakun C Innovation ผู้ผลิตรถมินิบัสโครงสร้างอลูมิเนียมคันแรกของโลก” ภายใต้การดูแลและพัฒนาโดย บริษัท โชคนำชัย ไฮ-เทค เพรสซิ่ง จำกัด และมีการผลิตรถมินิบัสไฟฟ้า ขนาด 12 เมตรอีกด้วย โดยมีลูกค้ารายสำคัญอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

“Navalian Group ผู้ผลิต ORCA เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หนุนการท่องเที่ยวชมความงามบนท้องทะเล” ผลงานการออกแบบและผลิตโดยวิศวกรต่อเรือในประเทศไทยแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนเกาะหมาก จังหวัดตราด ซึ่งความพิเศษของเรือนี้คือ ชาร์จพลังงานได้ทันทีจากแผงโซล่าเซลล์ ควบคุมง่ายด้วยจอยสติ๊ก เสียงเงียบ และไร้กลิ่นน้ำมัน งสามารถบรรจุผู้โดยสารได้มากถึง 20 คน



ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างสตาร์ทอัพหรือบริษัทสัญชาติไทยที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ชาร์จรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ ฯลฯ ที่ต้องการเข้ามาช่วงชิงโอกาสในอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมในระยะยาวอีกด้วย