เมื่อโรงงานคือท้องถนน (10) : ไรเดอร์คือลูกจ้าง ไม่ใช่แรงงานอิสระ

ในขณะนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … อยู่ในขั้นยกร่าง และรับฟังความคิดเห็น ที่ผ่านมาเมื่อร่าง พ.ร.บ. นี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ มีเสียงสะท้อนจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร หรือไรเดอร์จำนวนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ในบางมาตรา ซึ่งจะส่งผลให้อาชีพไรเดอร์ถูกจัดเป็น “ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ” (มาตรา 3 (1))

ความเห็นของไรเดอร์กลุ่มนี้ หากพูดในภาษากฎหมายก็คือ มาตรา 3(1) ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ.. จะทำให้อาชีพไรเดอร์ถูก “จัดหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท” (misclassification) บทความนี้จะช่วยขยายความประเด็นนี้ให้เป็นที่เข้าใจมากขึ้น

ก่อนอื่น ผมขอกล่าวถึงประเด็นปัญหานี้ในต่างประเทศโดยสังเขป – สเปน เป็นประเทศต้นแบบของการกำหนดให้อาชีพไรเดอร์เป็นลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์ม ในปี 2021 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมาย Riders Law โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของสภาพการจ้าง ที่บริษัทแพลตฟอร์มใช้อัลกอริทึมเป็นสื่อกลาง เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้บริษัทมีอำนาจควบคุมคนทำงานประหนึ่งนายจ้าง-ลูกจ้าง[1] ไรเดอร์ในประเทศสเปนจึงมีสถานะเป็นลูกจ้างของบริษัท

ขณะที่ประเทศอื่นๆในยุโรป แนวทางการต่อสู้ที่สำคัญของไรเดอร์คือ การฟ้องศาลให้วินิจฉัยว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างอิสระ ประเทศฝรั่งเศส มีกรณีที่โด่งดังคือกรณี Uber (ปี 2020) และ Deliveroo (ปี 2022) ทั้งสองกรณีต่อสู้กันในศาลหลายระดับ ในที่สุดศาลตัดสินให้ไรเดอร์เป็นลูกจ้าง โดยเหตุผลหลักคือ แพลตฟอร์มมีอำนาจให้คุณให้โทษ ไม่ว่าการให้ค่าตอบแทน การลดค่าตอบแทน การไม่มอบหมายงาน การใช้เทคโนโลยีติดตามการทำงานทุกขั้นตอน และไม่เป็นความจริงที่ว่า คนทำงานมีอิสระในการกำหนดเวลาทำงาน แสดงว่าแพลตฟอร์มคือผู้ควบคุมคนทำงานโดยตรง ดังนั้นคนทำงานจึงมีฐานะเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม[2]     

สหราชอาณาจักร มีความแตกต่างออกไป กรณี Deliveroo ในปี 2019 ศาลตัดสินว่าไรเดอร์มีฐานะเป็นผู้รับจ้างอิสระ โดยให้เหตุผลว่าคนทำงานสามารถปฏิเสธงานและส่งผ่านงานไปให้คนอื่นได้ รวมทั้งมีกฎในการทำงานที่ไม่เคร่งครัด มีความยืดหยุ่นสูง และศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันคำพิพากษานี้อีกครั้งในปี 2021 แต่กรณี Uber ในงานเรียกรถรับจ้าง (แท็กซี่) ซึ่งเป็นงานแพลตฟอร์มแบบเดียวกับอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร ศาลตัดสินให้คนขับรถรับจ้างเป็นคนงานของบริษัท ด้วยเหตุผลสำคัญคือ บริษัทมีอำนาจเหนือคนขับรถอย่างเด่นชัด ในการกำหนดค่าตอบแทน และการทำงานในขั้นตอนต่างๆ[3] จะเห็นว่าการตัดสินของศาลสหราชอาณาจักรมีลักษณะรายกรณี (case by case) แต่มีแนวโน้มในทางคุ้มครองคนทำงานให้มีฐานะลูกจ้าง หากมีหลักฐานว่าบริษัทมีอำนาจควบคุมแรงงานอย่างชัดเจน

ในบางประเทศ มีทางออกที่สาม นอกเหนือจากการตัดสินในทางใดทางหนึ่งว่า ไรเดอร์เป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างอิสระ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีการผลักดันกฎหมายรองรับสถานะคนทำงานแพลตฟอร์มที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างลูกจ้างกับผู้รับจ้างอิสระ เรียกว่า “ผู้รับจ้างที่พึ่งพิงต่อนายจ้าง” (dependent contractor) ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายตามสถานะของความก้ำกึ่ง ในทางปฏิบัติ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท บริษัทต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคนทำงานไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทอย่างแท้จริง จึงจะผลักให้คนทำงานมีฐานะเป็นผู้รับจ้างที่พึ่งพิงต่อนายจ้างได้[4]

กรณีตัวอย่างต่างประเทศสะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินว่าไรเดอร์เป็นลูกจ้างบริษัทหรือไม่ ข้อพิจารณาที่สำคัญคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติในสภาพการจ้าง โดยมุ่งไปที่ระดับความมีอำนาจของบริษัทในการควบคุมการทำงานของคนทำงาน[5]

ในประเทศไทย แม้บริษัทแพลตฟอร์มมีสภาพการจ้างที่แตกต่างกับต่างประเทศในข้อปลีกย่อย แต่หลักใหญ่ใจความมีความคล้ายคลึงกัน คือธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหาร มีหัวใจคือการจัดการโดยอัลกอริทึม ซึ่งให้อำนาจบริษัทอย่างมากในการควบคุมการทำงานของไรเดอร์ ผมได้อธิบายเรื่องนี้ไว้แล้วในที่อื่น (กรุณาดูบทความเจ้านายหน้าใหม่ที่ชื่ออัลกอริทึม[6])  ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติม เพื่อแสดงให้เห็นอำนาจของบริษัท โดยดูจากวิธีจ่ายงานและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลนำเสนอต่อไปนี้มาจากสำรวจภาคสนามในช่วงที่ผ่านมา[7]

การจ่ายงานของบริษัทแพลตฟอร์มยอดนิยมใช้วิธีแบบ “ยิงงาน” คือเมื่อไรเดอร์ลงชื่อเข้าใช้งานหรือ log in เข้าสู่บัญชีผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่น อัลกอริทึมจะยิงงานไปยังคนขับที่อยู่ใกล้ร้านอาหาร ไรเดอร์มีเวลา 20 วินาทีในการกดรับงาน หากไม่กดรับงาน งานจะถูกส่งไปยังคนอื่น การรับหรือไม่รับงานดูเหมือนไรเดอร์ตัดสินใจได้อิสระ แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว การรับหรือไม่รับงานจะถูกระบบอัตโนมัติบันทึกข้อมูล หากรับงานมากจะได้คะแนนการรับงาน หากปฏิเสธงานจะได้คะแนนในทางลบ คะแนนจะแสดงถึงประวัติการทำงาน และมีผลต่อการได้รับงานครั้งต่อไป

เพื่อจะไม่พลาดการกดรับงาน ไรเดอร์มักจะเปิดระบบการรับงานแบบอัตโนมัติ แทนที่จะใช้ระบบกดรับงานด้วยตัวเอง ผู้ขับขี่คนหนึ่งอธิบายว่าข้อดีข้อเสียของระบบอัตโนมัตว่า  

“แบบออโต้เราไม่ต้องจ้องหน้าจอตลอด แบบกดรับเองบางทีเราเผลอคุยกันหรือทำอย่างอื่นแล้วกดรับไม่ทัน คือมันเร็วมาก ถ้าอย่างนี้จะเสียประวัติ แต่แบบออโต้มีข้อเสียคือเลือกงานไม่ได้ มันให้งานมายังไงก็ต้องไป บางคนไม่ชอบวิ่งไกล ไม่ชอบพวกเครื่องดื่ม และไม่อยากได้งานแบช แต่ข้อดีของออโต้อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเปิดระบบแบบนี้งานจะเข้าดีกว่า คะแนนรับงานดีกว่า ได้…. [โบนัส] มากกว่า”  

งาน “แบช” หรืองานหลายคำสั่งซื้อ เป็นการจ่ายงานที่สร้างความไม่พอใจให้กับไรเดอร์จำนวนมาก พวกเขาอธิบายว่า ก่อนหน้านี้คำสั่งซื้อจะเข้าที่ละงาน ไรเดอร์ที่ไม่ต้องการงานแบช จึงรับงานแรกแล้วปิดรับคำสั่งซื้อเพิ่มเติม แต่ต่อมางานแบชได้ปรับระบบเป็นการจ่าย 2 งานมาพร้อมกันตั้งแต่ต้น (ไรเดอร์เรียกว่า “ยัด” งาน) วิธีนี้ดูเหมือนว่า ไรเดอร์จะมีข้อมูลสำหรับตัดสินใจแต่ต้นว่าจะรับงานแบชหรือไม่ แต่ไรเดอร์ที่เชียงใหม่คนหนึ่งอธิบายว่า

“มันแจ้งตั้งแต่ต้นว่างานแบชก็จริง แต่ตอนแรกเรารู้แค่ชื่อร้านกับที่ส่งอาหารรายแรกเท่านั้น เราต้องกดรับงานก่อน จึงจะเห็นแผนที่ว่าส่งอาหารรายที่สองที่ไหน คือบางคนพอเห็นว่ารายที่สองมันอยู่ไกล อยู่คนละทาง มันวิ่งไม่คุ้ม ก็เลือกที่จะยก [ยกเลิก] งาน แล้วถ้ายกงานบ่อย ก็จะถูกแบน แล้วตอนนี้มันแย่มาก ยกไม่กี่ครั้งนี่ถูกแบนได้เลย”      

การถูกแบน หมายถึง การถูกระงับสัญญาณการให้บริการ บริษัทกำหนดอัตราการลงโทษไว้อย่างชัดเจน เช่น ถ้ามีอัตรายกเลิกงานมากกว่า 35% (เช่นกดรับงาน 10 งาน ยกเลิกงาน 3-4 ครั้ง) จะถูกระงับสัญญาณ 5 วัน  ซึ่งหมายความว่าจะหมดโอกาสหารายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ไรเดอร์ไม่ชอบงานแบชเพราะ เป็น “งานยาก” เช่น รับคำสั่งซื้อ 2 รายการ ไปส่งให้ลูกค้า 2 ราย บางกรณีร้านอาหารเดียวกัน แต่บางกรณีเป็นร้านอาหาร 2 ร้าน บางร้านต้องรออาหารนาน บางคำสั่งซื้อเป็นอาหารที่ต้องเร่งรีบหรือระมัดระวังสูง เช่นเครื่องดื่มร้อน/เย็น ไอศกรีม เค้ก บางกรณีที่ส่งอาหาร 2 รายอยู่คนละทิศทาง การรับงานแบชมักทำให้อาหารไปถึงมือลูกค้าช้ากว่าปกติ และเมื่อล่าช้า ก็ส่งผลต่อการประเมินความพึงพอใจในการใช้บริการ ซึ่งเป็นคะแนนอีกส่วนหนึ่ง ที่กระทบต่อการได้รับงานและสิทธิประโยชน์ต่างๆ

และสาเหตุที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือความรู้สึกว่า ค่าตอบแทนที่ได้จากงานแบชไม่เป็นไปอย่างที่ควร ไรเดอร์ที่จังหวัดอุบลราชธานีคนหนึ่งกล่าวว่า     

“เรารับงานเดียวได้ค่ารอบ 28 บาท มันก็ปกติ แต่เวลารับงานแบช มันมาสองงาน แทนที่จะได้ 56 บาท แต่เราได้แค่ 41 บาท ผมมองว่ามันเป็นการลดค่ารอบทางอ้อม เหมือนกับการเซฟเงินเขา แทนที่เขาจ่ายงานที่สอง  28 บาทตามปกติ แต่ให้แค่ 12-13 บาทต่อเที่ยว เงินเรามันหายไปไหน”

นอกจากคะแนนการรับงานและความพึงพอใจจากลูกค้า ที่มีผลต่อการได้รับงานครั้งต่อไปแล้ว บริษัทมีวิธีการสร้างแรงจูงใจอื่นๆ เช่น ระบบโบนัสอินเซนทีฟ โดยกำหนดว่า ผู้วิ่งงานช่วงเวลาที่มีความต้องการสั่งอาหารมาก เช่นช่วงเที่ยงวัน จะได้คะแนนพิเศษในการวิ่งแต่ละรอบ คะแนนจะถูกนำไปคำนวณเป็นเงินโบนัสภายหลัง แต่ยังมีข้อกำหนดที่เกี่ยวพันกับการรับงานไว้อีก เช่น กำหนดว่า ผู้ได้รับอินเซนทีฟ ต้องมีอัตราการรับงานไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และมีอัตราการยกเลิกงานไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด

แรงจูงใจอีกแบบหนึ่ง คือการจัดระดับการทำงาน (ranking) ของไรเดอร์ ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ โดยพิจารณาจากจำนวนรอบในการวิ่งงานในรอบเดือนที่ผ่านมา ยิ่งวิ่งงานมาก ยิ่งอยู่ในระดับสูง และจะได้สิทธิพิเศษมากขึ้น สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การประกันอุบัติเหตุ  การได้สินเชื่อเงินสด การซื้อสินค้าเงินผ่อน การได้ส่วนลดจากร้านค้า แต่ยังมีข้อกำหนดอีกว่า การได้รับสิทธิพิเศษต้องมีคะแนนประเมินความพึงพอใจจากลูกค้าไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

การทำงานของไรเดอร์เหมือนว่าเป็นอาชีพอิสระ เพราะผู้ขับขี่สามารถกำหนดได้ว่าจะทำงานในวันเวลาใด รับงานแบบใด มากน้อยเพียงใด โดยบริษัทเปิดให้โอกาสเลือกทำงานได้ตามต้องการ แต่หากเข้าใจการทำงานของอัลกอริทึมจะเห็นว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ได้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงไรเดอร์กับลูกค้าผู้สั่งอาหารที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังทำหน้าที่กำหนดพฤติกรรมของไรเดอร์ด้วย

กล่าวในเชิงเทคนิค การออกแบบการทำงานของอัลกอริทึมที่สำคัญคือ การกำหนดให้ระบบเสนอทางเลือก แต่โน้มน้าวให้ผู้ใช้ เลือกไปในทิศทางที่บริษัทต้องการ โดยใช้การลงโทษและรางวัลเป็นเครื่องมือกำกับการตัดสินใจ[8] ในกรณีการรับงาน ถ้าไรเดอร์ปฏิเสธงาน ยกเลิกงาน ออกมาวิ่งในเวลาที่อยากวิ่ง โทษที่ได้รับคือ ได้รับงานน้อย แต่หากขยัน รับงานยาก ไม่มีวันหยุด ทำงานในเวลาคนสั่งอาหารจำนวนมาก รางวัลก็คือการได้รับงานมากกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งโบนัสและสิทธิประโยชน์ต่างๆ  

เทคนิคที่ใช้อีกประการหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวการตัดสินใจไปในทางที่บริษัทคาดหวัง คือการให้ข้อมูลอย่างจำกัด ดังกรณีงานแบชที่แจ้งมาตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนในครั้งเดียวสำหรับการตัดสินใจ ข้อนี้สะท้อนถึงความไม่โปร่งใสในการจัดการข้อมูล ทำให้ไรเดอร์ไม่มีข้อมูลสมบูรณ์ในการเลือกสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง แต่ต้องตัดสินใจไปในทางที่บริษัทได้ประโยชน์ ภาวะเช่นนี้เป็นตัวอย่างของความไม่โปร่งในในการจัดการข้อมูล เป็นภาวะไม่สมมาตรของข้อมูล (information asymmetries) ซึ่งมักเกิดขึ้นในงานแพลตฟอร์มต่างๆ[9]

ในภาวะที่จำนวนไรเดอร์ล้นเกินจำนวนงาน ซึ่งเกิดจากการเปิดรับผู้ขับขี่อย่างไม่จำกัด เราจึงเห็นไรเดอร์นั่งจับกลุ่มอยู่ใกล้ร้านอาหาร แต่ลึกลงไปจากภาพที่เห็น คือแต่ละคนกำลังจดจ่อว่าคำสั่งงานจะเด้งขึ้นมาเมื่อใด ทุกคนตระหนักดีว่า ในบรรดาคนที่นั่งรอทั้งหมด คนจะได้งาน คือคนที่มีประวัติการทำงานดี รับทุกงาน ไม่ยกเลิกงาน และออกมาวิ่งประจำสม่ำเสมอ การแข่งกันทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนของไรเดอร์ ทำให้บริษัทมีแรงงานสำรองที่พร้อมจะทำงานจำนวนมาก สามารถสั่งงานไปยังคนที่พร้อมทำงาน ใกล้ร้านอาหาร ใกล้ลูกค้า แถมสามารถยัดงานฝาก (แบช) เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้อีกด้วย

ตัวอย่างที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทำให้บริษัทมีอำนาจมากในการควบคุมการทำงานของไรเดอร์ นับตั้งแต่สั่งงาน บงการให้รับงานยาก ทำงานให้เร็ว ถูกต้อง จูงใจให้ทำงานในชั่วโมงที่มีลูกค้ามาก กระตุ้นให้ทำรอบมากที่สุดในทุกๆวัน เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ เช่น การประกันอุบัติเหตุ (ซึ่งควรเป็นสวัสดิการพื้นฐาน) และอันที่จริง บริษัทอาจมีอำนาจเหนือคนทำงานมากกว่ายุคใดๆ เพราะอัลกอริทึมประมวลข้อมูลการทำงานทุกขณะ เสมือนเครื่องมือสอดส่องพฤติกรรม (surveillance) ของแรงงานวันละ 24 ชั่วโมง (ไม่ log in เข้าระบบก็ทราบว่าไม่ทำงาน)

ธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหาร ทำหน้าที่ตัวกลางให้บริการเชื่อมต่อความต้องการระหว่างไรเดอร์กับลูกค้าผู้สั่งอาหาร หากพิจารณาเพียงรูปแบบที่เห็น จะทำให้เข้าใจว่าแพลตฟอร์มเป็นเพียงบุคคลที่สามที่ให้บริการเทคโนโลยี แต่หากเข้าใจการทำงานของอัลกอริทึม และข้อเท็จจริงของความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์ และสภาพการทำงานของไรเดอร์ จะเห็นว่าบริษัทมีอำนาจควบคุมการทำงานของไรเดอร์อย่างมาก จนกล่าวได้ว่าไรเดอร์คือลูกจ้างของแพลตฟอร์มนั่นเอง

ดังนั้น จึงเป็นเหตุสมควรที่ไรเดอร์จำนวนหนึ่งเห็นว่า มาตรา 3(1) ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานอิสระ จะทำให้เกิดการจัดหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท ซึ่งให้ประโยชน์แก่บริษัทแพลตฟอร์ม มากกว่าคุ้มครองไรเดอร์อย่างแท้จริง.

อ้างอิง

[2] Defossez, D. (2022). The employment status of food delivery riders in Europe and the UK: Self-employed or worker? Maastricht Journal of European and Comparative Law. 29(1), 25–46.

[3] เพิ่งอ้าง.

[4] Fendrick, L. (2018). A Third Class of Worker: The Dependent Contractor. https://cupola.gettysburg.edu/student_scholarship/653/ ; ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ. (2565). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2565). 3-25 – 3-31. ; ปกิตตา นิภาวรรณ โชติกิตติกุล. (2565). สถานะทางกฎหมายของ “ผู้ใช้แรงงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล”. วารสารกฤษฎีกา. 1(3): 48-73.

[5] การฟ้องร้องและการพิพากษาของศาลเรื่องสภาพการจ้างของไรเดอร์ในประเทศต่างๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน พฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์. (2565). การโต้แย้งเรื่องสถานะคนทำงานส่งอาหารภายใต้แพลตฟอร์ม บทเรียนจากต่างประเทศ และข้อเสนอทางออกในประเทศไทย. เอกสารประกอบการเสวนา “การคุ้มครองไรเดอร์: ปัญหา ทางออก การรวมกลุ่ม และก้าวต่อไปของการขับเคลื่อน” 26 กันยายน 2565 ณ ห้อง 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. https://drive.google.com/file/d/1XRbPB72vawxJasOmw3RMg6yvTEnlrNYM/view?usp=sharing

[7] การเก็บข้อมูลของทีมวิจัย ระหว่างเดือนมิถุนายน – ธันวาคม 2565 ทำการสัมภาษณ์ไรเดอร์ที่จังหวัดอุบลราชธานี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ รวม 20 คน และจัดเวทีการเสวนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการ รวม 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีไรเดอร์เข้าร่วมเฉลี่ย 10 คน     

[8] Kellogg, KC., Valentine, M. & Christin, A. (2020). Algorithms at Work: The New Contested Terrain of Control. Academy of Management Annals. 14(1), 366–410.

[9] Veen, A., T. Barratt, and C. Goods. (2019). Platform-Capital’s ‘App-etite’ for Control: A Labour Process Analysis of Food-Delivery Work in Australia. Work, Employment and Society. March 25, 2019.

หมายเหตุ: พฤกษ์ เถาถวิล เป็นอาจารย์ผู้สอน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง โครงการวิจัยอยู่ภายใต้ “โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ” มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ความเห็นในบทความเป็นของผู้เขียน มูลนิธิฯ และ สสส. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย