คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการเคลียร์ปมไม่สั่งฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต “ปรเมศวร์” ลั่นคดียังไม่จบ มีหลักฐานใหม่ เสพโคเคนและความเร็วรถ เตรียมส่งพนักงานสอบสวนสอบใหม่ 2 ข้อหา หลังพบไม่ปรากฏในสำนวน
วันนี้ (4 ส.ค.2563) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส คดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต เมื่อ 8 ปีก่อน แถลงผลการตรวจสอบคดี โดยมี น.ส.เสฏฐา เธียรพิลากุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าว
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา 5 ข้อกล่าวหา โดยลงความเห็นส่งพนักงานอัยการ ได้แก่ เห็นควรสั่งฟ้องข้อหาขับรถชนคนตาย ทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ สั่งไม่ฟ้อง 2 ข้อหา คือ ขับรถขณะเมาสุราและขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด ส่วน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกแจ้งข้อกล่าวหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย แต่ไม่ฟ้องเนื่องจากเสียชีวิต
คดีนี้เป็นคดีสำคัญ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ได้ตั้งคณะทำงานและมีความเห็นในส่วนขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินเสียหายและหลบหนี เห็นควรสั่งฟ้องตามที่พนักงานสอบสวนเสนอ ส่วนข้อหาขับรถเร็วได้เห็นแย้งและให้สั่งฟ้องข้อหานี้ ส่วนข้อหาขับรถขณะเมาสุราเห็นด้วยสั่งไม่ฟ้องข้อหานี้
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีนี้มีการสั่งไม่ฟ้องบางข้อหา คือ ข้อหาขับรถขณะเมาสุรา จึงเสนอไปยังอัยการพิเศษฝ่ายและมีความเห็นพ้องด้วยในวันที่ 8 และเสนอไปยังรองอธิบดีอัยการ เห็นด้วยในช่วงเดือนเมษายน และเสนออธิบดีฯ เห็นด้วยในวันที่ 2 พ.ค. ซึ่งมีการสั่งไปในแนวทางเดียวกัน จากนั้นเดือนมิถุนายน ผบ.ตร.เห็นด้วย
ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการได้สั่งระงับคดี คำสั่งฟ้องนายวรยุทธ เมื่อสำนวนกลับมาจาก ผบ.ตร.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้ เพราะผู้ต้องหารายนี้ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของศาล กระบวนการร้องขอความเป็นธรรมนั้น อัยการยื่นคำสั่งฟ้องนายวรยุทธตลอดมา
ต่อมาหลายข้อหาขาดอายุความ พนักงานอัยการร้องขอความเป็นธรรมและแจ้งพนักงานสอบสวนให้ติดตามตัวมาฟ้องศาล และแจ้งออกหมายจับ กระทั่งคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ม.ค.63 นายเนตร รองอัยการฯ มีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาที่เหลืออยู่ คือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และส่งไปยัง ผบ.ตร. ซึ่งผู้รักษาการแทนไม่แย้งคำสั่งพนักงานอัยการ จนเกิดประเด็นทีได้รับความสนใจในขณะนี้
สำนักงานอัยการสูงสุดมีบทบัญญัติแบ่งส่วนราชการ การขึ้นรับตำแหน่งของอัยการสูงสุดจะมอบหมายให้รองฯ ไปดูแลภารกิจแต่ละด้าน ซึ่งงานร้องขอความเป็นธรรมอยู่ในความดูแลของนายเนตร
คดีนี้นายวรยุทธร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งนายเนตร รองอัยการสูงสุด สั่งคดีนี้จึงเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เกิดเหตุ 3 ก.ย.2555 กระทั่งสำนวนถึงพนักงานอัยการ 4 มี.ค.2556 ในสำนวนมีพยานสำคัญหลายปาก ส่วนเรื่องความเร็วรถนั้นพบว่ารถของนายวรยุทธอยู่ช่องขวาสุดติดเกาะกลางถนน ส่วนช่องกลางเป็นรถกระบะนายจารุชาติ และช้ายสุดรถจักรยานของ ด.ต.วิเชียร
นายจารุชาติให้การกับพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุ 3 วัน ว่าเห็นรถ ด.ต.วิเชียร ขับมาจากเลนซ้ายสุด ตัวเองแตะเบรกและหลบแซงขึ้นไป 3 วินาทีได้ยินเสียงการเฉี่ยวชน แต่ตนไม่เห็น พยานปากนี้ให้การตอนหลังขับรถความเร็ว 80-90 กม./ชม.
ขณะที่ พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม และ พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิไชย พยานที่ได้ไปตรวจสภาพรถในที่เกิดเหตุ ให้ความเห็นเบื้องต้นว่าร่องรอยเฉี่ยวชนไม่มาก น่าจะไม่ขับเร็ว ส่วน พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น ตร.กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ได้กล้องวงจรปิด และลงความเห็นว่ารถวิ่ง 177 กม./ชม.
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า พนักงานอัยการเชื่อหลักฐานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ และได้สั่งฟ้อง ส่วนผลค่าเลือดนายวรยุทธ พบปริมาณแอลกอฮอล์ 68 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นเศษๆ ซึ่งแพทย์ให้เหตุผลว่าหากเลือดได้เท่านี้ เวลานี้เกิดเหตุมี 380 กว่ามิลลิกรัมเปอร์เซ็น ไม่สามารถครองสติได้ แต่พยานในบ้านเห็นว่าวรยุทธดื่มเหล้าก่อนมอบตัว จึงเป็นที่มาของหลักฐาน ตร.-อัยการ เห็นพ้องส่วนนี้
ขณะที่พยานทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ขณะสำนวนอยู่ในความรับผิดชอบของนายเนตร ไม่มีพยานใดระบุรถนายวรยุทธขับเกิน 100 กม./ชม. ระบุอยู่ที่ 70-90 กม./ชม. คณะทำงานฯ จึงเห็นว่าไม่ได้เป็นหลักฐานนอกสำนวนและสั่งคดีนี้
ทั้งนี้ พยานทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ขณะสำนวนอยู่ในความรับผิดชอบของนายเนตร ไม่มีพยานใดระบุรถนายวรยุทธไม่ขับเกิน 100 กม./ชม. ระบุอยู่ที่ 70-90 กม./ชม. คณะทำงานฯ จึงเห็นว่าไม่ได้เป็นหลักฐานนอกสำนวนและสั่งคดีนี้
สังคมตั้งข้อสงสัย จนคณะทำงานมีข้อเสนอแนะและกราบเรียนอัยการสูงสุด 2 ประเด็น 1.ผลตรวจเลือดพบโคเคน ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ข้อหานี้ยังไม่แจ้งดำเนินคดี จึงให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ยังไม่ขาดอายุความ
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่องความเร็วรถที่สั่งไม่ฟ้องและ ผบ.ตร.ไม่แย้ง คำสั่งย่อมเสร็จเด็ดขาด แต่คดียังไม่ถึงที่สุดหากปรากฎพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งขณะนี้ความเร็วยังไม่นิ่ง หลังจากปรากฎข่าวที่มีพยานสำคัญ 1 ชิ้น พยานปากหนึ่ง คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์จุฬาฯ ให้ข้อเท็จจริงว่าได้ไปเป็นที่ปรึกษาคดีนี้และลงที่เกิดเหตุพร้อม พ.ต.ท.ธนสิทธิ์
ดร.สธน ได้ส่งรายงานให้ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แต่ในสำนวนไม่มีรายงานหลักฐานชิ้นนี้ ที่ระบุความเร็วรถ 170 กว่า กม./ชม. นี่คือพยานหลักฐานใหม่ และจะแจ้งพนักงานสอบสวนเริ่มสอบสวนคดีนี้ใหม่ เพื่อดำเนินคดีนายวรยุทธในข้อหานี้ เหลือายุความ 7 ปี
กระบวนการสอบสวนและกระบวนการดำเนินคดี เชื่อว่าอัยการสูงสุดต้องถอดบทเรียนและเราก็คงจะไม่ให้ร้องขอความเป็นธรรมได้อีก 10-20 ครั้ง
นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์
ขณะที่ นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า ส่วนความเร็วขับรถไม่เกิน 80 กม.เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ มีน้ำหนักเชื่อถือกว่าประจักษ์พยาน สอดคล้องกับพยานทางวิทยาศาสตร์ และความเห็นของตำรวจตรวจความเสียหายของรถ
สำนวนนี้ในตอนต้น ตำรวจ 2 ปากให้ความเห็นความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง โดยพิจารณาความเสียหายของรถ แต่ไม่ได้ใช้การคำนวนเช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ เมื่อผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า 177 กม./ชม. จึงสั่งฟ้องประมาท ต่อมา พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ ให้ความเห็นว่าในขณะนั้นมีความไม่สมบูรณ์ ไม่ชัดเจนในการพิจารณาความเร็ว จึงระบุเป็นไม่ถึง 80 กม.ต่อชั่วโมง ตรงกับพยานทั้ง 2 ปาก
หลังจากสั่งไม่ฟ้องแล้ว จึงมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความเร็วขณะเฉี่ยวชนเปลี่ยนแปลงจากช่วงแรกที่ไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง ถือว่าข้อเท็จจริงในการประมวลความเห็นอาจเปลี่ยนแปลง กระบวนการหาข้อเท็จจริงนี้ ไม่ใช่การรื้อฟื้น เพราะคดียังไม่ยุติเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นพยานหลักฐานใหม่
ส่วนประเด็นยาเสพติดและเมาสุรา เป็นปัญหาเชิงระบบทำให้กระบวนการสอบสวนไม่สมบูรณ์ เพราะเหตุเกิด 05.00 น. แต่นำตัวนายวรยุทธมาเจาะเลือดได้เวลา 16.00 น. พนักงานสอบสวนสอบผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ระบุว่า 69 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น เมาแน่นอน แต่เมื่อพิจารณาย้อนไปที่ช่วงเวลาเกิดเหตุ แพทย์ให้ความเห็นว่าปริมาณแอลกอฮอล์ 380 จะไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะขับรถได้
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ ไม่ได้ยืนยันว่าไม่เมาขณะเกิดเหตุ ส่วนสิ่งที่พบในเลือดมีสารน่าสนใจ 2 ตัว คือ เบนซอยล็อคโคนิน พบเมื่อร่างกายทำปฏิกิริยากับโคเคน และโคคาเอสเทอร์ลิส พบเมื่อเสพโคเคนพร้อมแอลกอฮอล์ จึงให้ความเห็นว่าไม่ใช่ยาเสพติด
นายชาญชัย กล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้สอบสวนต่อไปว่า การพบสารประเภทนี้ยืนยันว่าเสพโคเคนหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่ายืนยัน 100% ไม่ได้ อาจเป็นผลบวกรวม หากเสพยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะอาจให้ผลแบบนี้ได้ ซึ่งทันตแพทย์ยืนยันว่าได้ให้ยาอะม็อกซี่
เรื่องนี้ต้องเข้ากระบวนการสอบสวนว่าผลดังกล่าวเกิดจากยาหรือโคเคน ซึ่งเป็นข้อเสนอภายหลัง ผมมองว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นปัญหาเชิงระบบของการสั่งคดี เพราะการเจาะเลือด การสอบความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เกิดจากดุลยพินิจพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว ไม่ได้ร่วมอัยการ จึงเห็นว่าต้องร่วมกันทำอย่างทันท่วงที
ส่วนการร้องขอความเป็นธรรมที่ทำให้คดีนี้ใช้เวลามาก ซึ่งหลายเรื่องกลายเป็นปัญหา ไม่สามารถยุติกรอบเวลาได้ นำไปสู่การถอดบทเรียนกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมอาจให้เพียงครั้งเดียว
คดียังไม่จบ มีหลักฐานใหม่
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี กล่าวว่า คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องถึงที่สุดหรือไม่ หมายถึงงดการสอบสวนจนกว่าจะมีหลักฐานใหม่ และคดีนี้มีแค่ 2 กรณีที่พิพากษาถึงที่สุด คือนำมาฟ้องใหม่ไม่ได้และการขาดอายุความ แต่คดีนี้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องงดการสอบสวน แต่หากมีพยานหลักฐานให้ลงโทษก็สั่งฟ้องใหม่ได้
ส่วนกรณีความเร็วรถที่เกิดอุบัติเหตุ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในสำนวน วันนี้เราเสนออัยการสูงสุด หากมีพยานหลักฐานใหม่ก็สอบสวนใหม่
ยืนยันไม่ใช่การรื้อฟื้นคดี เพราะตอนนี้อยู่ในชั้นสอบสวนฟ้องร้อง ยกกรณีเคยมีคดีคนต่างชาติเรื่องเพชรซาอุ และสอบสวนใหม่
นายปรเมศวร์ ระบุว่า กรณีพยานคือนายจารุชาติ มาดทอง ที่ตอนนี้เสียชีวิตแล้ว ไม่ได้บอกความเร็ว แต่นายตำรวจที่ไปตรวจบอกว่าความเร็วไม่น่าเกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง และเรื่องนี้ทั้งรถเฟอรารี่ และมอเตอร์ไซค์ชนแล้วกระเด็น 200 เมตร ยังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ถ้าชนความเร็ว 177 กม.ต่อชั่วโมง ต้องรุนแรงมากกว่าและไม่ใช่ 80 กม.ต่อชั่วโมง เพราะศพของดาบวิเชียรก็ตกไปอีกข้าง
ยืนยันคดีนี้ยังไม่จบพร้อมรับฟังข้อเท็จจริงที่พูดถึงพยานหลักฐานใหม่ เพราะฟังทั้งสื่อมวลชนและทุกคนที่พูดในโซเชียล หากมีพยานหลักฐานใหม่ และถ้ามีสำนวนเรื่องความเร็วรถของอาจารย์สธนอยู่ในสำนวน คงสบายใจแต่ไม่ใช่แบบนี้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไม่ถึงไม่มี เพราะในสำนวนมีกระดาษใบเดียว
นายปรเมศวร์ กล่าวว่า โดยสรุปโดยตำรวจที่พิจารณาความเร็วไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง และเคยสั่งสอบใหม่นายจารุชาติ ซึ่งไม่เคยระบุความเร็วรถ เพราะเขาบอกว่าขี่รถจักรยานยนต์ 60-70 กม.ต่อชั่วโมง ดังนั้นความเร็วจึงลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง แบบนี้หากกรณีรถตัดหน้าจะเป็นเหตุสุดวิสัย แต่หลักฐานของอาจารย์สธนน่าจะมากกว่า 80 กม. ถ้ามากกว่าเกินกฎหมายกำหนดจะหยุดไม่ทัน ส่วนที่ไม่มีรอยเบรกเป็นเพราะระบบเบรกเอบีเอส และเราดูทุกมุมว่ามีข้อบกพร่องในการมีพยานหลักฐานประกอบคำสั่งหรือไม่
เครดิตมีการกันอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร เห็นด้วยกับนายชาญชัยที่ต่อไปการพิสูจน์พยานหลักฐานต้องชัดเจน เพราะนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน แต่ยืนยันว่าคดีนี้ยังไม่จบ และเราจะเสนอต่อไปว่าพนักงานสอบสวนต้องไปดูพยานมีหลักฐานใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อในการพิจารณาคดี และสั่งใหม่ตามมาตรา 147 ได้หรือไม่ ไม่ใช่การรื้อฟื้นแต่เป็นระบบการสอบสวนในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“วิชา”ตั้งคณะทำงาน 5 ชุดสางคดี “บอส อยู่วิทยา”
“คุณหญิงพรทิพย์” ชี้ต้องชันสูตรศพ “จารุชาติ มาดทอง” หาสาเหตุเสียชีวิต
ชีวิต “จารุชาติ” พยานปากสำคัญ คดี “บอส อยู่วิทยา”
เปิดตัวใครเป็นใคร ในจุดเปลี่ยน คดี “บอส อยู่วิทยา”
“ทฤษฎีสมคบคิด” ทำเป็นขบวนการ…คดีบอส อยู่วิทยา