เด็กไทยเจ๋ง!คว้าอันดับ 1 แข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศระดับเอเชีย – กรุงเทพธุรกิจ

เยาวชน ‘ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ’จากรร.อัสสัมชันธนบุรี ตัวแทนประเทศไทย เอาชนะคู่แข่งจาก 8 ประเทศคะแนนเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย การแข่งขันรอบทักษะเขียนโปรแกรม ‘โครงการคิโบะ โรบอต ครั้งที่2’ เตรียมแข่งไฟนอลก.ย.นี้ กับโอกาสครั้งสำคัญในการสื่อสารกับนักบินอวกาศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร สนับสนุนเยาวชนทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศการแข่งขัน โครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียผ่านทางออนไลน์ ในรอบทักษะการเขียนโปรแกรม หรือ Programming Skills Round ถ่ายทอดสดจากศูนย์อวกาศสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น

162687724519

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ในระบบ Simulation ซ่อมแซมสถานีอวกาศที่ชำรุดเนื่องจากอุกกาบาตพุ่งชน เพื่อคัดเลือกผู้ชนะเพียง 1 ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด จาก 176 ทีมทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้รางวัลชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทย ได้ไปร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ของ NASA ในระบบ Simulation ชิงแชมป์เอเชียในรอบ Programming Skills Round 

ถ่ายทอดสดการแข่งขันแบบออนไลน์ จากองค์กรสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลที่ 1 ของเอเชียมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ในระบบซิมูเลเตอร์ ให้เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายและยิงแสงเลเซอร์ได้เข้าจุดกึ่งกลางเป้าทำคะแนนได้สูงสุดของการแข่งขัน

162687726212

ทั้งนี้ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาครอง ด้วยคะแนน 89.82 pt (A Class) ส่วนทีมอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม GeminiPYTW จากไต้หวัน คะแนน 80.04 pt (A Class) และทีมอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม Enigma Systems จากบังคลาเทศ คะแนน 76.65 pt (A Class) ซึ่งทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) เป็นตัวแทนประเทศไทยจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี มีสมาชิก 3 คน ประกอบด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หัวหน้าทีม) เด็กชายเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  

ด้าน นายธฤต วิทย์วรสกุล หรือน้องธฤต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี 1 ในทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) เล่าถึงทีมให้ฟังว่า “พวกผม 3 คนเจอกันครั้งแรกจากการที่ได้เรียนอยู่แผนการเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง สสวท. และ สอวน. (STEM) แล้วได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่พวกผมเริ่มได้รู้จักกันจริงๆ ตอนที่ทำงานอยู่ในชมรมหุ่นยนต์ จึงได้มีโอกาสพูดคุยและปรึกษากัน จึงตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge” ในครั้งนี้ ซึ่งพวกผมทั้ง 3 คน รู้สึกสนุกกับการเขียนโปรแกรม โดยเฉพาะตอนที่เห็นโปรแกรมของเราสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง ผมชอบการที่เราสามารถนำเอาไอเดีย ในสมองของเรา แล้วเขียนออกมาเป็นโปรแกรม แล้วเกิดเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ออกมา พวกผมคาดหวังกับงานนี้เพื่อที่จะมาหาประสบการณ์การเขียนภาษาใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนา Code สำหรับ Android และสิ่งที่ผมคิดว่าการที่พวกผมประสบความสำเร็จและได้รางวัลชนะเลิศ คือความพยายามในการที่จะทดสอบหลายๆ ครั้งโดยทดสอบให้ครบทุกรูปแบบ และพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ออกมาดีที่สุดโดยไม่ย่อท้อ และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมของผมประสบความสำเร็จ

น้องธฤต เล่าให้ฟังต่อว่า การแข่งขันในรอบ Programming Skills ในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นการนำไฟล์ APK ของตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่รอบการแข่งขันชิงแชมป์ของแต่ละประเทศ เข้ามาประมวลผลในระบบซิมูเลเตอร์ของ JAXA ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนักบินอวกาศญี่ปุ่น คิมิยะ ยูอิ และ ศ.ดร.ชินอิจิ นากาซึกะ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และประกาศผลการแข่งขันโดยแสดงคลิปวิดีโอการปฏิบัติภารกิจของหุ่นยนต์ Astrobee ตามโปรแกรมที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนเขียนเอาไว้ ซึ่งตอนประกาศผลการแข่งขันว่าทีมเราได้ที่หนึ่งก็รู้สึกดีใจมาก

162687727963

“ผมและเพื่อนแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ และแต่ละคนก็จะทำงานในส่วนที่ได้รับมอบหมายและหากใครมีปัญหาก็จะมานั่งปรึกษาหาวิธีการแก้ปัญหากัน ปัญหาที่พบส่วนหนึ่งคือ log หรือข้อมูลการบันทึกจากซิมูเลเตอร์ที่ได้ออกมา สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้วิเคราะห์ได้ยาก พวกผมจึงแก้ปัญหาโดยการ เขียน Code มาอ่านตัว Logfile เพื่อดึงเอาเฉพาะข้อมูลที่ต้องการออกมา แล้วเก็บออกมาเป็นไฟล์ csv เพื่อให้สามารถนำเข้าไปอ่านใน Excel / Google sheet แล้วเปรียบเทียบถึงความแตกต่างในการ Simulation แต่ละครั้ง เพื่อให้สามารถปรับแก้ Code ได้ตรงจุด ซึ่งในทุกขั้นตอนมันยากมากแต่ก็ต้องค่อยๆ พยายามแก้ไขและผ่านพ้นไปให้ได้”

สำหรับ ทีมอินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) ซึ่งได้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge จะมีการแข่งขัน รอบ Final Round ชิงแชมป์เอเชียผ่านทางออนไลน์ ในเดือนกันยายน 2564 โดยถ่ายทอดสดจาก ศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เยาวชนจาก 9 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับโอกาสสื่อสารตรงไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีนักบินอวกาศญี่ปุ่น อะกิฮิโตะ โฮชิเดะ (Akihito Hoshide) เป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน และได้สัมผัสกับศูนย์อวกาศสึกุบะ ถือเป็นศูนย์ปฏิบัติการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นสถานที่หลักสำหรับปฏิบัติการโครงการวิจัยอวกาศของญี่ปุ่น และนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนในสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งจะได้รับการฝึกจากที่นี่