ฟอลโลว์ โตเกียวเกมส์ ยังคงเกาะติดความเคลื่อนไหวมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 อย่างต่อเนื่อง วันนี้ได้รับเกียรติจาก “เสี่ยบิ๊ก” ธนฑิตย์ รักตะบุตร เลขาธิการสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้จัดการทีมเทควันโดไทย มาบอกเล่าการเดินทาง และความเป็นอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา ในยุคที่เรายังต้องสู้กับโควิด-19 ว่าเป็นอย่างไร
ภารกิจในการล่าเหรียญทองของนักกีฬาเทควันโดในช่วงแรกที่กรุงโตเกียวมีอะไรบ้าง ลองไปอ่านกัน…
คณะนักกีฬาเทควันโด ออกเดินทางโดยสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ JL034 ในคืนวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม 2564 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง เราเดินทางมาด้วยกัน 5 คน โดยมีผม ธนฑิตย์ รักตะบุตร เลขาธิการ ในฐานะผู้จัดการทีม รวมถึง เช ยอง ซอก โค้ชทีมชาติไทย วิชิต สิทธิกันฑ์ ผู้ช่วยโค้ช “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ และ “จูเนียร์” รามณรงค์ เสวกวิหารี
ทางสมาคมฯ โดย ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ให้เราเดินทางในชั้นธุรกิจ เพื่อให้มีพื้นที่ และเว้นระยะห่าง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สืบเนื่องจากมาตรการในการจัดที่นั่งของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์สำหรับนักกีฬาโอลิมปิกที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน จะได้รับการเว้นระยะ ซ้ายขวาหน้าหลัง 2 ที่นั่ง นั้นได้บังคับใช้สำหรับการโดยสารเครื่องบินภายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในชั้นธุรกิจของเที่ยวบินที่เราโดยสารมานั้น ไม่มีผู้โดยสารท่านอื่นเลย มีแต่คณะนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยเท่านั้น
เราเดินทางมาถึงสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว ในวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม เวลาประมาณ 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่สายการบินให้เราลงเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของโอลิมปิกมาต้อนรับ และนำเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง
การเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ยากมากๆ รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่อนุญาตให้คนไทยเข้ามาท่องเที่ยว ยกเว้นในกรณีที่มาปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตจากทางรัฐบาลเท่านั้น
เราจึงต้องเตรียมเอกสารตามที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นกำหนด และประสานงานกับทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ
เริ่มตั้งแต่การจดบันทึกอุณหภูมิร่างกาย 14 วันก่อนเดินทาง การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR โดยโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น เราต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อน 5 วัน และ 3 วันก่อนวันที่จะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น
เราต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน OCHA (www.ocha.go.jp) ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและติดตาม เจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาร่วมการแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
เราเดินออกจากเครื่องบินมุ่งหน้าไปยังสถานีที่ 1 เพื่อสแกน QR code บน application OCHA จากนั้นก็เริ่มกระบวนการตรวจเอกสารทั้งหมดที่เราเตรียมมา รวมไปถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ที่สนามบินฮาเนดะ โดยตรวจผ่านทางน้ำลาย (Saliva test) เราผ่านสถานีตรวจเอกสาร และสแกน QR code เข้าระบบประมาณ 8 สถานีในสนามบินฮาเนดะ
โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และแพทย์หลายสิบคนคอยแนะนำ และอำนวยความสะดวก หลังจากผ่านกระบวนการตรวจและคัดกรองเชื้อโควิด-19 แล้ว เจ้าหน้าที่ได้พาเรามาทำ Olymic ID Card ซึ่งใช้เวลาไม่นาน
เราผ่าน ตม.ออกมาได้อย่างราบรื่น ได้รับความสะดวกสบาย และความเป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่ที่สนามบิน และอาสาสมัครที่มาต้อนรับ ในระหว่างทางที่เราเดินไปยังจุดพักรอรถ เราได้พบกับคุณปัทมาวดี เอื้ออารีย์จิต ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว และคณะมาต้อนรับ และมาอวยพรให้เทควันโดทีมชาติไทยการลงชิงชัยในครั้งนี้
ที่จุดพักคอย เราได้รับของว่างและน้ำดื่ม เมื่อผลตรวจเชื้อออกมาเป็นลบ เราจึงได้ขึ้นรถโดยสารมุ่งหน้ามายังหมู่บ้านนักกีฬา เราใช้เวลาประมาณ 30 นาที เดินทางโดยรถยนต์จากสนามบินฮาเนดะ มาถึงหมู่บ้านนักกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้จัดเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมาดูแลเราเป็นอย่างดี ใช้เวลาเพียง 30 นาที เราก็ได้เข้าพักในห้องพักที่ได้จัดไว้
Tokyo Olympic 2020 เป็นโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต ที่ผมมีโอกาสได้มาร่วม และมาในฐานะผู้จัดการทีม นับเป็นมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุด ตั้งแต่ผมได้ร่วมงานกับสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย และเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีระเบียบ มีขั้นตอน และพิธีการที่ไม่เหมือนมหกรรมกีฬาใดๆ ในโลกนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการเดินทาง จำกัดสถานที่ในการเดินทาง โดยเราจะไปได้ 3 ที่ คือ หมู่บ้านนักกีฬา สนามซ้อม และสนามแข่ง
ไม่อนุญาตให้ใช้รถโดยสารสาธารณะ ไม่อนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ที่กำหนด ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ต้องเลือกเวลาการลงไปรับประทานอาหาร ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกวัน ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมการแข่งขัน สื่อมวลชนและบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาในหมู่บ้านนักกีฬา ไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าชมในสนามแข่งขัน และนักกีฬาที่ชนะจะต้องคล้องเหรียญรางวัลด้วยตนเอง
ภายในห้องรับประทานอาหาร ซึ่งเราเดินมาจากอาคารที่พักไม่เกิน 10 นาที ก็จัดไว้เป็นอย่างดี มี 2 ชั้น รองรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ได้ 4,500 คน มีอาหารเสิร์ฟตลอด 24 ชั่วโมง กว่า 700 เมนู ทั้งอาหารยุโรป เอเชีย และฮาลาล มีครบ แถม ไอศกรีมมีให้ไม่อั้น
ถึงจะมีความยากลำบาก และมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็สามารถบริหารจัดการได้อย่างดีเยี่ยม ต้องขอแสดงความชื่นชมทั้งรัฐบาล ผู้จัดการแข่งขัน นักกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมการแข่งขันจากทุกประเทศทั่วโลกที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อกำหนด และมาตรการอันเข้มงวดด้วยความเต็มใจ
ด้วยนโยบายที่ชัดเจน ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้การจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่จัดขึ้นในปี 2021 นี้เป็นการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่จดจำของมวลมนุษยชาติ ครั้งนึงในประวัติศาสตร์การกีฬาบนโลกใบนี้
ฝากพี่น้องชาวไทยร่วมเชียร์และส่งกำลังใจ ให้ “เทนนิส” พาณิภัค และ “จูเนียร์” รามณรงค์ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ในวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้นะครับ…
ธนฑิตย์ รักตะบุตร