ชุติกาญจน์ ยังต้องปรับเทคนิกกระโดด – บีซ ซ้อมข้ามเขา ปรับเวลาให้ตรงวันแข่ง Khaosod – ข่าวสด

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า คณะนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ “โตเกียว 2020” ที่ประเทศญี่ปุ่น ชุดที่สองต่อจาก “บีซ” ร้อยโทหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักปั่นประเภทถนนหญิง คือทีมจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิ่ง ประกอบด้วย “น้องฟ้า” น.ส.ชุติกาญจน์ กิจวานิชเสถียร และ “มิ้ง” น.ส.วรัญญา แซ่แต้ นักกีฬาตัวสำรอง พร้อมด้วย “โค้ชบอส” นายอัถร ไชยมาโย

เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด

เพิ่มเพื่อน

สำหรับนักกีฬาทั้งสองคนปักหลักฝึกซ้อมอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี มร.อดัม แครี่ย์ ผู้ฝึกสอนชาวออสเตรเลีย เป็นผู้กำหนดแผนการฝึกซ้อมของนักกีฬาผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจาก มร.อดัม ยังไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้ เพราะรัฐบาลออสเตรเลียห้ามประชาชนของเขาเดินทางออกนอกประเทศ ส่วน โค้ชอัถร ไชยมาโย เป็นผู้ควบคุมดูแลการฝึกซ้อมอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการฝึกซ้อมส่งกลับไปให้ มร.อดัม วิเคราะห์ทุกวัน

พลเอกเดชา กล่าวว่า การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ชุติกาญจน์ จะต้องเจอเกมการแข่งขันที่หนักมาก เพราะคู่แข่งแต่ละชาติที่มาจากยุโรป, ออสเตรเลีย และอเมริกา ล้วนแต่เป็นนักปั่นดีกรีระดับแชมป์โลกและแชมป์รายการใหญ่ ๆ ทั้งนั้น ขณะที่นักกีฬาจากทวีปเอเชียมีเพียงเจ้าภาพญี่ปุ่น กับ ชุติกาญจน์ จากประเทศไทย 2 ชาติเท่านั้น

อีกทั้งการเตรียมทีมฝึกซ้อมของ “น้องฟ้า” ก็มีเวลาค่อนข้างจำกัด เพราะหลังจากที่ ชุติกาญจน์ และ วรัญญา ไปแข่งขันรายการ “ยูซีไอ บีเอ็มเอ็กซ์ เวิลด์คัพ ซูเปอร์ครอส” ที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคม ก็ต้องกลับมากักตัวเป็นเวลา 14 วัน จนถึงวันที่ 17 มิถุนายน จึงได้ออกจากโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักตัว ทำให้มีเวลาฝึกซ้อมประมาณ 1 เดือนเท่านั้น

นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า การแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ประเภทเรซซิ่งหญิง มีนักกีฬาเข้าชิงชัยจำนวน 24 คน แข่งขันระหว่างวันที่ 29-30 กรกฎาคม ที่สนามบีเอ็มเอ็กซ์ภายในกรุงโตเกียว โดยวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นการแข่งขันรอบคัดเลือก ส่วนวันที่ 30 กรกฎาคม เป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ทั้งนี้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าขอให้ ชุติกาญจน์ ผ่านเข้ารอบลึกที่สุด

ขณะที่ “บีซ” ร.ท.หญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ จะลงแข่งขันประเภทถนนหญิง ในวันที่ 25 กรกฎาคม เป็นนการแข่งแบบวันเดียวจบ ระยะทาง 137 กม. เป้าหมายก็คือแข่งขันจบแบบมีอันดับ แต่หากจะให้ติด 1 ใน 10 อันดับแรก คงค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม นักกีฬาทั้ง 2 คน มีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะทำผลงานให้ดีที่สุด ขอให้พี่น้องชาวไทยช่วยส่งแรงใจเชียร์นักกีฬาจักรยานของไทยลงชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ด้วย

ส่วน “โค้ชบอส” นายอัถร เปิดเผยว่า ตอนนี้สภาพร่างกายของ ชุติกาญจน์ และ วรัญญา มีความสมบูรณ์เต็มร้อยทั้งคู่ แม้ว่า ชุติกาญจน์ จะยังมีอาการบาดเจ็บที่บริเวณนิ้วก้อยมือซ้าย เพราะเกิดอุบัติเหตุตอนไปแข่งขันที่ประเทศโคลัมเบีย แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคแต่อย่างใด การซ้อมที่ผ่าน ๆ มา ตนเองได้ปรึกษาหารือกับ อดัม แครี่ย์ โค้ชชาวออสเตรเลีย ทุกวัน โดยเน้นการแก้ไขจุดที่ยังเป็นข้อบกพร่องของ ชุติกาญจน์ คือเทคนิคการกระโดด และการทำสมาธิในการออกตัว สลับกับการเล่นฟิตเนสในโรงยิม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ

ส่วนสภาพสนามแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนหน้านี้นักกีฬาบีเอ็มเอ็กซ์ของไทยก็เคยไปแข่งขันปรีโอลิมปิกเกมส์ เมื่อปลายปี 2563 จัดว่าเป็นสนามที่ไม่ยากมากนัก เพราะนักกีฬาของไทยเคยไปเจอสนามที่ยากกว่านี้มาแล้ว ส่วนเป้าหมายที่วางไว้คือพยายามให้นักกีฬาผ่านเข้ารอบลึก ๆ ให้ได้

สำหรับคณะนักกีฬาจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ทีมชาติไทย จะเดินทางไปยังกรุงโตเกียว ในช่วงค่ำของวันที่ 21 กรกฎาคม ด้วยสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ JL034 เครื่องขึ้นจากสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 21.55 น. ใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง 15 นาที ถึงสนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว เช้าวันที่ 22 กรกฎาคม เวลาประมาณ 06.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยนักกีฬาและผู้ฝึกสอนทั้ง 3 คน จะเข้าพักอยู่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา

ด้านความเคลื่อนไหวของ “บีซ” ร.ท.หญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักปั่นประเภทถนนหญิง เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา “โค้ชตั้ม” พันจ่าอากาศเอก วิสุทธิ์ กสิยะพัท ผู้ฝึกสอนคู่ใจ ได้ให้ จุฑาธิป ซ้อมตามแผนของ โค้ชลี เสี่ยว เล่อ ผู้ฝึกสอนชาวจีน ด้วยการปั่นระยะทาง 60-70 กม. โดยไม่เร่งความเร็วมากนัก ให้รักษาระดับการเต้นของหัวใจอยู่ในโซน 2 ซึ่ง “โค้ชตั้ม” เลือกเส้นทางให้ จุฑาธิป ปั่นภายในสนามแข่งขันรถยนต์ฟูจิ สปีดเวย์ ที่เป็นเส้นชัยของการแข่งขัน โดยสภาพสนามมีเนินสูง-ต่ำสลับกันตลอดทาง

“โค้ชตั้ม” กล่าวว่า สำหรับการฝึกซ้อมในวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม ตนเองได้ขับรถยนต์ประจำทีมพา จุฑาธิป ข้ามไปยังเมืองที่อยู่ใกล้ ๆ กับกรุงโตเกียว เพื่อให้ จุฑาธิป ปั่นข้ามภูเขาลูกใหญ่ ระยะทางประมาณ 100 กม. ซึ่งเส้นทางแข่งขันทั้งหมดระยะ 137 กม. เราไม่สามารถซ้อมรวดเดียวทั้งหมดได้ จึงแบ่งซ้อมเป็นช่วง ๆ โดยในวันแรกที่มาถึงญี่ปุ่นคือวันที่ 17 กรกฎาคม ซ้อมเส้นทางระยะสั้น ๆ 30 กม. จากนั้น วันที่ 18 กรกฎาคม ซ้อมปั่นขึ้นภูเขาที่เป็นเส้นทางช่วงสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย วันที่ 19 กรกฎาคม ซ้อมภายในฟูจิ สปีดเวย์ และวันที่ 20 กรกฎาคม ซ้อมขึ้นภูเขาที่เป็นเส้นทางช่วงแรกของการแข่งขัน

นอกจากนี้ตนได้ให้ จุฑาธิป ปรับเวลาการฝึกซ้อมเริ่มตั้งแต่ 11.00 น. ของทุกวัน เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ เนื่องจากวันแข่งขันจริง จะเริ่มสตาร์ตเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

สำหรับ “บีซ” จุฑาธิป และ โค้ชวิสุทธิ์ ทางเจ้าภาพกำหนดให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับนักกีฬาชาติอื่น ๆ ผลการตรวจปรากฏว่าเป็น “ลบ” ทั้งสองคน.