สั่งสแกนหาที่ตั้ง “ท่าเรือชุมพร-ระนอง” แข่งช่องแคบมะละกา – ประชาชาติธุรกิจ

“ศักดิ์สยาม” ประชุมเตรียมความแลนด์บริดจ์ สั่งสแกนหาที่ตั้งท่าเรือน้ำลึก “ชุมพร-ระนอง” หวังปั้น “แลนด์บริดจ์” เนื้อหอมดึงดูดเรือขนส่ง ฝันไกลแย่งดีมานด์ช่องแคบมะละกา

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings 

 

สแกนหาตำแหน่งตั้งท่าเรือชุมพร-ระนอง

โดยนายศักดิ์สยาม ได้เปิดเผยภายหลังว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการศึกษาโครงการ โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือการคัดเลือกตำแหน่งท่าเรือที่เหมาะสมของฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน โดยพิจารณาจากเกณฑ์การคัดเลือกที่ตั้งท่าเรือ ในด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการลงทุน และด้านสังคม โดยคัดเลือกพื้นที่ศักยภาพที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนา

ลักษณะสำคัญคือ ต้องเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย รองรับเรือขนส่งสินค้าจากฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร และฝั่งอันดามัน จังหวัดระนองโดยนอกจากจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือแล้ว แนวเส้นทางเชื่อมต่อทั้ง 2 ท่าเรือ ต้องมีระยะทางที่สั้นและตรงที่สุด รวมถึงประหยัดเวลาในการเดินทางมากที่สุด  ซึ่งน่าจะเป็นผลดีในการดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้เส้นทางขนส่ง Landbridge ในอนาคต 

โดยจะทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงแนวทางในการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ สอดคล้องกับตำแหน่งท่าเรือและแนวเส้นทางครอบคลุมครบทุกมิติ และนำตำแหน่งที่ตั้งท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ดำเนินการจัดทำการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพิจารณาผลตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ฝันไกลดึงดีมานด์ “ช่องแคบมะละกา”

นอกจากนี้ จากการศึกษารูปแบบและปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ พบว่า การขนส่งสินค้าทางทะเลมีมากถึง 80% ของการขนส่งสินค้าของโลก หรือคิดเป็นปริมาณสินค้าเท่ากับ 11.1 พันล้านตัน และมีการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกามากถึง 1 ใน 4 ของการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก หนึ่งในประเภทสินค้าที่มีการขนส่งทางช่องแคบมะละกามากที่สุด คือการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมัน (Tanker) ซึ่งการพัฒนาเพื่อดึงดูดให้เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่ และเรือขนส่งสินค้า ให้หันมาใช้เส้นทาง Landbridge ในอนาคต จะเป็นโจทย์สำคัญของการศึกษาโครงการ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน 

โดยกระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาท่าเรือและด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ  ด้านการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษ รถไฟเชื่อมท่าเรือ และการขนส่งทางท่อ ด้านการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและกฎหมาย และด้านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้การดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ของกระทรวงคมนาคม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน 

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้มอบหมายให้ศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่จะส่งเสริมให้สายการเดินเรือต่าง ๆ มาใช้บริการโครงการ Landbridge ได้ รวมถึงให้พิจารณาการเพิ่มของปริมาณการนำเข้า-ส่งออกทางน้ำ ภายหลังจากมีการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)

รวมถึงเปรียบเทียบแนวทางเลือกการเชื่อมต่อระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ระหว่างการทำอุโมงค์แยกระหว่างรถไฟและรถยนต์ และการทำอุโมงค์รวมทั้งรถไฟและรถยนต์ โดยเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบด้าน นอกจากนี้ในการศึกษาการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ให้คำนึงถึงชุมชน วิถีชีวิต และปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านด้วย