อนาคตลาดกระบังที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป – ผู้จัดการออนไลน์



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

หากจะกล่าวถึงพื้นที่โซนกรุงเทพตะวันออก นอกเหนือจากเขตมีนบุรี และเขตหนองจอกแล้ว ยังมีเขตลาดกระบัง ซึ่งปัจจุบันทั้งสามเขตกำลังค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจากพื้นที่เกษตรกรรมสู่ชุมชนเมืองและอุตสาหกรรม

โซนกรุงเทพตะวันออก ประกอบด้วย เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก คลองสามวา และประเวศ มีพื้นที่ทั้งหมดรวมกัน 693.88 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพในอนาคต

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของเมือง อาทิ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด และหมายเลข 9 ถนนกาญจนาภิเษก, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่กำลังจะพัฒนาเป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

รวมทั้งโครงการในอนาคต อาทิ รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี, รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี, โครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี, โครงการถนนวงแหวนรอบนอก รอบที่ 3 ฝั่งตะวันออก (วังน้อย-บางพลี) เป็นต้น



ว่ากันด้วยเขตลาดกระบัง มีพื้นที่ 123.86 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเขตหนองจอก ที่มีพื้นที่ 236.26 ตารางกิโลเมตร ส่วนอันดับ 3 เป็นของเขตบางขุนเทียน 120.69 ตารางกิโลเมตร

แม้ว่าพื้นที่ 2 ใน 3 ของเขตลาดกระบังจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ปัจจุบันความเจริญคืบคลานเข้ามา ทั้งโครงการบ้านจัดสรร คลังสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรม หลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

ในยามบ้านเมืองปกติ ชั่วโมงเร่งด่วนทุกเช้าและเย็น การจราจรจะติดขัดบนถนนมอเตอร์เวย์ ตั้งแต่ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ถึงทางแยกต่างระดับร่มเกล้า ขณะที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก็มีผู้ใช้บริการหนาแน่นถึงวันละ 7-8 หมื่นคน

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้พื้นที่ลาดกระบังดูซบเซาลงไปบ้าง จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลดลงเหลือวันละ 1-2 หมื่นคน แต่ความเจริญด้านโลจิสติกส์ ทำให้ยังคงเห็นรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ผ่านพื้นที่ลาดกระบังอย่างต่อเนื่อง

ภาพ : สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

หากย้อนกลับไปในอดีต เขตลาดกระบังเดิมเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ห่างจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ประมาณ 30 กิโลเมตร เดิมพื้นที่แถบนี้เป็นป่าโปร่ง ผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง มี คลองประเวศบุรีรมย์ เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก

คลองประเวศบุรีรมย์ ขุดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุงจากเมืองหลวงไปยังสนามรบ ช่วงที่ทำสงครามกับเวียดนามเพื่อแย่งชิงกัมพูชา นำโดย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

แต่ขุดยังไม่ทันเสร็จ รัชกาลที่ 3 สวรรคต มาถึงปี 2420 ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองต่อจากคลองที่ได้ขุดค้างไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เชื่อมแม่น้ำบางปะกง เพื่อเปิดพื้นที่เพาะปลูก

จึงได้ขุดคลองออกมาเป็นเส้นตรง ยาวไปถึงแม่น้ำบางปะกง บริเวณประตูน้ำท่าถั่ว อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุด เริ่มขุดคลองปี 2421 แล้วเสร็จในปี 2423 ระยะทาง 46 กิโลเมตร

นับจากนั้นเริ่มมีชาวบ้านจับจองที่ดินทำกินตลอดสองฝั่งคลอง โดยได้ขุดคลองแยกอีก 4 คลอง เพื่อขยายที่ดินทำกิน นอกจากนี้ยังมี คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จากคลอง 17 และคลองแสนแสบ ผ่านคลองประเวศบุรีรมย์ ถึงคลองสำโรงอีกด้วย

ภาพ : สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของเขตลาดกระบังเป็นท้องทุ่ง ประมาณ 2 ใน 3 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีลำคลองในพื้นที่มากถึง 65 คลอง ทำหน้าที่รับน้ำเพื่อทำการเกษตร ปลูกข้าว และอาศัยคลองเหล่านี้สัญจรไปมา

ศูนย์กลางทางการค้าของลาดกระบังขณะนั้น คือ ตลาดหัวตะเข้ ซึ่งเป็นสี่แยกโดยมีคลองลำปลาทิวทางทิศเหนือ และคลองหัวตะเข้อยู่ทางทิศใต้ ถัดออกไปจะเป็นตลาดหลวงแพ่ง บริเวณถนนขุมทอง-ลำต้อยติ่ง

สมัยก่อนลาดกระบังไม่มีถนนตัดผ่าน ก็อาศัยเรือขนส่งจากประตูน้ำปทุมวัน ผ่านหัวตะเข้ ถึงคลองสวน โดยมีเรือขนส่งสินค้า 2 บริษัทแข่งกัน คือ หัวตะเข้ขนส่ง และสมจรูญขนส่ง

ต่อมาปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตัด ทางรถไฟสายตะวันออก จากสถานีกรุงเทพ ถึงสถานีแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 61 กิโลเมตร ก่อนจะขยายไปยังสถานีปราจีนบุรี และสถานีอรัญประเทศ

ระหว่างนั้นมีการก่อสร้างสถานีรถไฟหัวตะเข้ อยู่ทางเหนือคลอง เปิดเดินรถเมื่อปี 2450 นับจากนั้นเป็นต้นมา ตลาดหัวตะเข้ก็เริ่มคึกคักมากขึ้น ชาวบ้านที่อยู่ริมคลองก็ต้องนั่งเรือไปลงที่ตลาดหัวตะเข้ แล้วต่อรถไฟเพื่อเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน



ชื่อของลาดกระบังเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ชัด แต่มี วัดลาดกระบัง หรือ วัดสาม ตั้งอยู่ริมคลองประเวศ สร้างขึ้นเมื่อปี 2419 ต่อมาในการสร้างทางรถไฟสายตะวันออก ได้มีการตั้ง สถานีลาดกระบัง บริเวณใกล้กับวัดลาดกระบัง

เดิมลาดกระบังคือ อ.แสนแสบ จ.มีนบุรี แต่ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เห็นว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะคลองแสนแสบไม่ได้ผ่านตรงนี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ลาดกระบัง เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2470

แต่เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงได้ยุบจังหวัดมีนบุรีเข้ากับจังหวัดพระนคร เมื่อปี 2474 เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน อ.ลาดกระบัง จึงขึ้นตรงกับจังหวัดพระนคร และถูกลดฐานะเป็นกิ่งอำเภออยู่พักหนึ่ง

มาถึงปี 2502 นางทองคำ กิมสูนจันทร์ ได้บริจาคที่ดินเพื่อก่อสร้างที่ว่าการอำเภอลาดกระบัง สถานีตำรวจ และสถานีอนามัย จากเดิมมีสถานีอนามัย ชั้น 2 ริมคลองประเวศ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จได้ยกฐานะเป็นสถานีอนามัย ชั้น 1 ลาดกระบัง

กระทั่งปี 2521 มีประกาศคณะปฏิวัติให้ศูนย์การแพทย์และสถานีอนามัยลาดกระบัง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไปขึ้นกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ลาดกระบัง

เมื่อจังหวัดพระนครถูกรวมกับจังหวัดธนบุรี เป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และกลายสภาพเป็นกรุงเทพมหานคร จึงได้กลายสภาพจากอำเภอลาดกระบัง เป็นเขตลาดกระบัง นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2515 เป็นต้นมา

โรงเรียนพรตพิทยพยัต ภาพ : prot.ac.th

เขตลาดกระบังแบ่งออกเป็น 6 แขวง ได้แก่ แขวงลาดกระบัง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ แขวงคลองสองต้นนุ่น ทางทิศตะวันตก ตามมาด้วย แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว แขวงทับยาว และแขวงขุมทอง ทางทิศตะวันออกติดกับจังหวัดฉะเชิงเทรา

ช่วงที่ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการขุดคลอง ได้จับจองที่ดินริมคลองประมาณ 1,500 ไร่ เพื่อตั้งเป็นสถานศึกษา เมื่อถึงแก่อสัญกรรม คุณหญิงเลี่ยม บุนนาค ซึ่งเป็นทายาท จึงได้บริจาคที่ดิน 1,041 ไร่ แก่กระทรวงศึกษาธิการ

โดยมอบบ้านพักบริเวณหัวตะเข้ให้เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ใช้ชื่อว่า โรงเรียนพรตพิทยพยัต ซึ่งเป็นชื่อสามีของคุณหญิงเลี่ยม เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ หลวงพรตพิทยพยัต (พรต เดชา) ผู้ล่วงลับ

อีกส่วนหนึ่ง ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งเป็นวิทยาลัยอาชีวะสอนวิชาชีพ และขอให้ใช้ชื่อ “เจ้าคุณทหาร” ซึ่งเป็นพระนามของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ที่มีนามเรียกขานโดยทั่วไปว่า “เจ้าคุณทหาร”

กระทั่งปี 2513 ได้เริ่มย้ายโรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม มาที่โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พระนคร ต่อมาวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรี กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ย้ายมาอยู่ที่ลาดกระบัง ในปี 2514

ปัจจุบัน คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งใน “สามพระจอม” ที่กล่าวขวัญ ประกอบด้วย 8 คณะ 4 วิทยาลัย สอนตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภาพ : kmitl.ac.th

เมื่อกรุงเทพมหานคร ตัดถนนสายหลักเข้าสู่เขตลาดกระบัง อาทิ ซอยสุขุมวิท 77 จากแยกอ่อนนุช ถนนหลวงแพ่ง และถนนลำปลาทิว จากถนนสุวินทวงศ์ ประชาชนจึงเดินทางโดยรถยนต์มากกว่าทางเรือ และความเจริญเริ่มมีมากขึ้น

13 ตุลาคม 2520 สถานีตำรวจนครบาลลาดกระบัง ได้ย้ายมาที่ตั้งแห่งใหม่ บนพื้นที่ 4 ไร่ ริมถนนลาดกระบัง ห่างจากจุดเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร หลังนายเยื้อน จาดสันทัด ได้บริจาคที่ดินให้กับกรมตำรวจ แทนที่ดินเดิมซึ่งเป็นของเจ้าจอมมารดากลิ่น

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการตั้ง กิ่งสถานีตำรวจภูธรจระเข้น้อย ขึ้นตรงต่อสถานีตำรวจภูธรลาดกระบัง ก่อนจะกลายมาเป็น สถานีตำรวจนครบาลจระเข้น้อย ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในภายหลังมีการตั้ง สถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2539 แยกจาก สน.จระเข้น้อย รวมทั้งก่อตั้ง สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้า แยกจาก สน.ลาดกระบังอีกด้วย 

ปี 2521 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อตั้ง นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง บนถนนลำปลาทิว (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นถนนฉลองกรุง) แขวงลำปลาทิว ต่อจากนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และบางปู มีเนื้อที่ 2,559 ไร่

ทางเข้านิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

ปี 2529 กรุงเทพมหานครปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ลาดกระบัง เป็น โรงพยาบาลชุมชนลาดกระบัง ขนาด 30 เตียง เนื่องจากประชากรหนาแน่นขึ้น เป็นเขตชานเมือง การคมนาคมไม่สะดวก แล้วเสร็จและเปิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531

ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ขึ้นตรงกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ขนาด 60 เตียง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน มีอาคารทั้งหมด 4 หลัง ซึ่งในอนาคตจะขยายโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง

ปี 2534 กรุงเทพมหานครทยอยก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นบนที่ดินบริเวณถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง บนที่ดิน 84 ไร่ ที่คุณหญิงหรั่ง กันตารัติ บริจาคเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาล โดยได้เชิญพระนาม โรงพยาบาลสิรินธร เปิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545

ปี 2540 มีการปรับปรุงถนนสายหลักในพื้นที่เขตลาดกระบัง ได้แก่ ถนนลาดกระบัง ถนนฉลองกรุง และถนนหลวงแพ่ง ให้เป็นถนนคอนกรีตขนาด 4-6 ช่องจราจรพร้อมท่อระบายน้ำ ยกระดับเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมฝั่งตะวันออก



จุดเปลี่ยนสำคัญของเขตลาดกระบังเกิดขึ้น เมื่อกรมทางหลวงเปิดทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) เริ่มจากช่วงลาดกระบัง-บางพระ (คีรีนคร) จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541

ก่อนเปิดใช้ตลอดสายตั้งแต่ทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 ตามมาด้วย ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2542 บรรจบกันที่ทางแยกต่างระดับทับช้าง

หลังจากนั้น กรมการขนส่งทางบก ยังได้ก่อสร้าง สถานีขนส่งสินค้าชานเมือง (ICD) 3 แห่ง ได้แก่ พุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า เปิดให้บริการในปี 2543 โดย สถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า เชื่อมต่อทั้งมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ

การเปิดใช้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ตามมาด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 สร้างความเจริญให้กับเขตลาดกระบังแบบก้าวกระโดด



ลาดกระบังในวันนี้ กลายเป็นชุมชนหนาแน่น เต็มไปด้วยคนที่ทำงานสนามบิน คลังสินค้า และนิคมอุตสาหกรรม บริเวณถนนสายหลักก็มีโครงการบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมแบบโลว์ไรส์ ราคาไม่แพงเกิดขึ้นมากมาย

ขณะที่กลุ่มทุนค้าปลีก เข้ามาลงทุนในพื้นที่ลาดกระบังและใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีเพียงคอมมูนิตีมอลล์ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเซ็นทรัล เปิดศูนย์การค้า โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562

หรือจะเป็นกลุ่มสยามพิวรรธรณ์-ไซม่อน เปิดศูนย์การค้า สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีทางเข้าโครงการบริเวณถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง เปิดบริการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์รองรับสนามบิน หนึ่งในนั้นมี โครงการโรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท สุวรรณภูมิ ของบริษัท มนตรี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บนพื้นที่ 12 ไร่ ความสูง 7 ชั้น มีห้องพักกว่า 617 ห้อง

ที่ผ่านมามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง เช่น การตัด ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า เชื่อมกับถนนเจ้าคุณทหาร ระยะทาง 11.2 กิโลเมตร กระทั่งสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 9 แล้วเสร็จ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562



อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการก่อสร้างในพื้นที่ลาดกระบังและใกล้เคียงเกิดขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง เช่น โครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ขนาด 4 ช่องจราจร ความยาว 3,360 เมตร คาดว่าแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2566

โครงการทางหลวงชนบท ฉช.3001 หรือถนนเทพราช-ลาดกระบัง 4 ช่องจราจร สัญญาที่ 2 เปิดใช้งานอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เหลือสัญญาที่ 1 แยกเทพราช-คลองสวน กำลังก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

รวมถึง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ก่อสร้างต่อจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปยังท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ขณะนี้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างในบางช่วงแล้ว

ส่วนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กำลังก่อสร้าง โรงพยาบาลเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น บนพื้นที่ขนาด 14,000 ตารางเมตร ขนาด 60 เตียง

จากอดีตพื้นที่เกษตรกรรม มีลำคลองมากกว่า 65 คลอง ท้องทุ่งเต็มไปด้วยงูเห่าและงูจงอาง ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ชั้นใน นับจากนี้อีก 10-20 ปีข้างหน้า ลาดกระบังในอนาคต อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีลาดกระบัง