ในงานเสวนาใหญ่ก้าวสู่ปีที่ 46 “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023” หัวข้อ “New Episode เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมไทย” จัดโดยเครือมติชน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฉายภาพว่าท่ามกลางเศรษฐกิจโลกขณะนี้ที่กำลังอยู่ในภาวะ “BANI World” ซึ่งเป็นคำนิยามใหม่เดิม VUCA
โดยคำที่เพิ่มมาใหม่นั้น B คือ brittle หมายถึง ความเปราะบาง เทียบเคียงกับเศรษฐกิจถดถอย (recession) ปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อสูง และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
A คือ anxious หรือความกังวล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ climate change โดยมีสัญญาณตั้งแต่ปี 2565 ไม่ว่าจะปรากฏการณ์ฝนทิ้งระเบิด (rain bomb) คลื่นความร้อนยุโรป แม่น้ำแยงซีแห้งขอด
จึงทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ล้อเล่นไม่ได้ N คือ nonlinear หรือการคาดเดายาก โดยเฉพาะในปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และ I คือ incomprehensible คือ ความไม่เข้าใจ จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นดิจิทัล การ disruption จากเทคโนโลยี และห่วงโซ่การผลิต
จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ไทยต้องแก้โจทย์ความท้าทาย ทั้งจากต้นทุนการผลิตที่สูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และรายได้จากการส่งออกชะลอตัว ซึ่งจากการวิเคราะห์ภาพรวมและอีกหลาย ๆ ปัจจัย ทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ เช่นนี้ไปตลอดทั้งปี 2566
ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เองได้ประเมินและเตือนว่า 3 ประเทศขนาดใหญ่ของโลก ที่กำลังเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปี 2566 คือ ยุโรปที่คาด GDP จะโตเพียง 0% จีนโต 4.3% และสหรัฐอเมริกาโต 0.5% เท่านั้น
ผลกระทบยังคงมาจากสงครามการค้า สงครามระหว่างประเทศ การระบาดของเชื้อโควิด-19 และการถูกดิสรัปชั่น ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ส.อ.ท. ยังคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.6% จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเป็นแรงกระตุ้นการลงทุน
กางยุทธศาสตร์ใหม่
ไฮไลต์สำคัญ ประธาน ส.อ.ท.ได้ฉายภาพว่า new episode ของภาคอุตสาหกรรมนั้น จะต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปในแนวทางเดียวกัน 2 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ประกอบด้วย
1.การเกษตรสร้างมูลค่าบีซีจีโมเดล 2.อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 3.สร้างความหลากหลายด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 4.โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทยและเชื่อมโลก ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ 5.พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ (เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน และยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตร (กราฟิก)
© Matichon ตาราง ยุทธศาสตร์ชาติ
โดยในปี 2566 ส.อ.ท.มองว่าควรจะใช้ “new economy” ขับเคลื่อนเพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย และดึงความสามารถในการแข่งขันไทยกลับมาให้ได้ ด้วยการมุ่งส่งเสริม 4 อุตสาหกรรมหลัก
1.เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BCG (biocircular green) ที่จะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG เพิ่มเป็น 24% ของ GDP ในปี 2570
ซึ่งยังรวมไปถึงการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรลดลง 2 ใน 3 จากปัจจุบัน ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มรายได้เกษตรกร
2.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีเป้าในการผลิตและสัดส่วนการใช้ 30% ในปี 2573 ทั้งรถนั่งส่วนบุคคลที่คาดจะมีจำนวน 440,000 คัน รถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000-675,000 คัน รถบัส 33,000 คัน รถบรรทุก 34,000 คัน ซึ่งยังมีแผนเพิ่มสถานีชาร์จให้เป็น 567 แห่ง และเครื่องอัดประจุแบบเร็ว (fast change) ให้ได้มากที่สุดหรือประมาณ 13,251 เครื่อง
3.smart electronics ทั้ง smart home, smart factory, smart farm ภายในปี 2570 ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องถูกยกระดับให้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทภายในปี 2567 รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไม่น้อยกว่า 60% หรือมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท
และ 4.digital ที่ต้องพัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัล ปฏิรูปกระบวนการทำงานและการให้บริการของภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อให้การทำงานโปร่งใส มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งแม้อุตสาหกรรมนี้จะเป็นอุตสาหกรรมเดิม (first S-curve) แต่กลับเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก เช่น การนำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงการผลิต เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน
“เรายังคงมีโอกาสจาก new economy และในสเต็ปถัดไป new episode ของไทย แม้จะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งออกชะลอตัว ดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ไทยภาคการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ คือ ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2566 นี้
ซึ่งจะเป็นตัวที่ช่วยให้เงินในระบบไหลเวียนลงสู่ฐานรากได้อย่างมาก อย่าลืมว่าเรายังมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) มันจะเป็นตัวช่วยเศรษฐกิจไทยทำ GDP ไทยโตได้เกิน 3% เพราะอุตสาหกรรมเดิมมันโตได้น้อย เมื่อมันเกิดอุตสาหกรรมใหม่ (next-gen industries) อย่างที่เรากำลังจะเอา bio มาเป็นวัตถุดิบ (feed stock) ให้กับหลาย ๆ อุตสาหกรรมและให้ทั่วโลก
เช่น เป็น feed stock ให้อุตสาหกรรมยา อาหารเสริม เส้นใย พลาสติก หรือแม้แต่อาหารที่มาจากพืช (plant-based) เป็นสิ่งที่ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม สมาชิกใน ส.อ.ท. จะจับมือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อเดินหน้านโยบายนี้ให้ได้”
ประธาน ส.อ.ท.ปิดท้ายว่า แม้จะเจอวิกฤตความผันผวนจากหลายอย่าง แต่กลับทำให้เกิดหลายอุตสาหกรรมตามมา เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (climate change) ทำให้เกิดอุตสาหกรรม BCG เกิดพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมสีเขียว
แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง อย่างมาตรการกีดกันทางการ CBAM ที่ยุโรปจะเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ควบคุมการปล่อยคาร์บอน แต่ในที่สุดภาคอุตสาหกรรมเราก็ต้องปรับตัวให้ได้ ซึ่งจะกลายเป็นผลดีต่อการสร้างขีดความสามารถแข่งขันในอนาคต ซึ่งเราจะหลีกหนีเรื่องนี้ไปไม่ได้
- เศรษฐกิจโลกสู่ภาวะซึมเศร้า “ไทยโอกาสมา-บุญเก่ากำลังหมด”
- บทใหม่ประเทศไทย