ตำรวจร้องกวาง! มาตรการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและการใช้รถจักรยานยนต์ที่ผิดกฎหมาย – เชียงไหม่นิวส์

ผู้สื่อข่าว รายงานมาจากจ.แพร่ เกี่ยวกับมาตรการป้องกัน และปราบเด็กแว้น ของตำรวจใน จ.แพร่ พ.ค.อ.ธนกฤค ภุมมินท์ ผกก.สภ.ร้องกวาง จ.แพร่ เยว่า สภ.ร้องกวาง มี มาตรการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง และการใช้รถจักรยานยนต์ที่ผิดกฎหมาย ด้วยรัฐบาลได้มีนโยบายให้มีการยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาการแข่งรถในทาง หรือการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น การรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะหรือพฤติการณ์ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทาง ตลอดจนผู้ที่สนับสนุน อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญ และเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงต้องกำหนดมาตรการป้องกันแก้ปัญหาการมั่วสุมและยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จึงขอประชาสัมพันธ์มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้.

1. ห้ามเด็ก เยาวชน รวมกลุ่มหรือมั่วสุมในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทางอันเป็นความผิดซึ่งต้องรับโทษตามกฎหมาย หากมีเกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่เข้าระงับยับยั้งตามที่เห็นสมควร เช่นการนำรถที่สงสัยว่าจะใช้แข่งขันมาเก็บรักษาไว้ชั่วคราว ซึ่งการแข่งขันรถในทางเป็นความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 ห้ามมิให้ผู้ใดแข่งรถในทาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร ห้ามมิให้ผู้ใดจัด สนับสนุน หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก ไม่เกินสามเดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะต้องถูกดำเนินคดีโดยส่งฟ้อง ต่อศาลทุกราย สำหรับกลุ่มบุคคลที่ไปยืนดูการแข่งรถในทางสาธารณะ และผู้ที่ซ้อนท้ายผู้ขับแข่งถือว่ามีความผิด ในฐานะผู้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางสาธารณะ จะต้องโทษเช่นเดียวกับผู้ขับขี่หรือผู้แข่งรถในทางสาธารณะ สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางที่ใช้ในการแข่งรถในทาง จึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจสั่งริบได้

2. พ่อแม่ผู้ปกครองต้องยับยั้ง พฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่สนับสนุนหรือปล่อยปละละเลยให้เด็ก เยาวชนรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หากมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ให้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของ พ่อแม่ผู้ปกครองด้วย อาจจะถูกดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ มาตรา ๒๖ ภายใต้บังคับบทบัญญัติ แห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ….( ๓ ) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน สามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

3. ผู้ใดผลิตครอบครอง จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์ส่วนควบ หากการกระทำเชื่อได้ว่าเป็นการยุยง ส่งเสริมให้กระทำผิดตามคำสั่งนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำในลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นผู้ประกอบการร้านค้า ให้เพิกถอนใบอนุญาต

๔. ผู้ใดดัดแปลงท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ ให้มีเสียงดังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ ระดับเสียงในขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่ ต้องมีระดับเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบลเอ เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ 0.5 เมตร มีอัตราโทษ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท นอกจากนั้นแล้วยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine