Mazda USA ปรับเปลี่ยนความสามารถของรถยนต์ไฟฟ้า Mazda MX-30 โดยใส่เครื่องยนต์โรตารี 1 หรือ 2 โรเตอร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับแบตเตอรี่ของ MX-30 การเพิ่มเจเนอเรเตอร์สำหรับปั่นไฟใส่แบตฯ จะทำให้ MX-30 มีระยะทางไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เครื่องยนต์โรตารีจะรับหน้าที่เป็นเครื่องปั่นกระแสไฟแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต่อเชื่อมกับเพลาขับเคลื่อนแต่อย่างใดทั้งสิ้น โรตารี่ขนาดเล็กให้พลังงานไฟฟ้ามากพอที่จะเพิ่มระยะทางจาก 250 กิโลเมตร เป็น 400 กิโลเมตร ไม่ต้องกังวนว่าแบตฯ จะไฟหมดระหว่างทาง เนื่องจากเครื่องโรตารีที่ใช้เชื้อเพลิงจะช่วยเพิ่มความสะดวกและความมั่นใจสำหรับเดินทางไกล ขอแค่มีเชื้อเพลิงในถังหล่อเลี้ยงเครื่องสูบหมุนตัวจิ๋วสำหรับการปั่นไฟก็เพียงพอแล้ว
“เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบโรตารี่สำหรับ MX-30 จะเป็นระบบขับเคลื่อนสำหรับแพลตฟอร์มไฟฟ้าขนาดกลางรุ่นใหม่ของเรา” Jeff Guyton ประธานและ CEO ของ Mazda (อเมริกาเหนือ) กล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับกลยุทธ์การใช้พลังงานไฟฟ้าของ Mazda ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2021 Guyton เสริมว่า เครื่องยนต์โรตารีของ Mazda MX-30 สำหรับทำหน้าที่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะมีขนาดเล็กลง กินเชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็น มีมลพิษต่ำ และเงียบ ซึ่งหมายความว่า ประสบการณ์การขับ จะใกล้เคียงกับครอสโอเวอร์ไฟฟ้า MX-30 เวอร์ชันมาตรฐาน
เมื่อเปิดตัวเมื่อปี 2019 การทำระยะทางเพียงน้อยนิดของ Mazda MX-30 EV แค่ 256 กิโลเมตร ทำให้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ลูกค้าจำนวนมากเข้ามาดูและออกจากโชว์รูมเมื่อเห็นตัวเลขระยะทางไฟฟ้าของมัน อย่างไรก็ตาม Mazda MX-30 Range Extender Rotary ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารีจะเอาชนะข้อจำกัดดังกล่าวได้ ตามรายงานของสื่อญี่ปุ่น Nikkei ที่เผยแพร่ข้อมูลนี้ในเดือนธันวาคม 2020
ข้อได้เปรียบที่สำคัญของเครื่องยนต์โรตารีก็คือ พลังงานที่เกิดจากการเผาไหม้ จะส่งพลังงานให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ชาร์จแบตเตอรี่แต่เพียงอย่างเดียว พูดง่ายๆ ก็คือมันทำหน้าที่เป็นเครื่องปั่นกระแสไฟ และไม่ได้ใช้เพื่อขับเคลื่อนแต่อย่างใดทั้งสิ้น โดยธรรมชาติแล้ว เครื่องยนต์สูบหมุนจุดระเบิดและเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ด้วยรูปแบบการใช้งานที่ถูกปรับจูนให้มี การประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษต่ำ ตัวเลขต่างๆ ทั้งอัตราสิ้นเปลืองและการปล่อย CO2 จึงต่ำกว่ากว่ารถยนต์สันดาปภายใน ICE
ซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Mazda MX-30 Range Extender แจ้งว่า Mazda ต้องการเพิ่มระยะของ MX-30 EV จาก 256 กิโลเมตร หรือ 159 ไมล์ ไปเป็น 400 กิโลเมตร หรือ 249 ไมล์ ด้วยความช่วยเหลือของเครื่องยนต์โรตารี (1 หรือ 2 โรเตอร์) ที่รับหน้าที่ในการปั่นไฟใส่แบตฯ ในหลักการเดียวกับ Nissan e-Power
MX-30 EV มีชุดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 35.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานป้อนกระแสไฟให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าที่เพลาหน้า มอเตอร์ขับเคลื่อน มีกำลัง 143 แรงม้า แรงบิด 270 นิวตันเมตร หรือ 200 ปอนด์-ฟุต แบตเตอรี่สามารถชาร์จเร็วได้ด้วยไฟกระแสตรง DC จาก 0 ถึง 80% ใน 36 นาที เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย Mazda ร่วมมือกับ ChargePoint ติดตั้งโซลูชันสถานีชาร์จให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกา
Mazda MX-30 Range Extender มาพร้อมกับคุณสมบัติที่คล้ายกับยานยนต์ EV ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งขายหมดแล้ว มันติดตั้งระบบอินโฟเทนเมนต์ Mazda Connect แผงควบคุมสภาพอากาศ หน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว และบริการ Mazda Connected ที่รวมการล็อกประตูจากระยะไกล การควบคุมสภาพอากาศ (เปิดระบบปรับอากาศหรือสั่งเปิดแอร์ระยะไกล) การตรวจสอบสถานะแบตเตอรี่จากระยะไกล และอื่นๆ คาดว่า MX-30 จะเป็นการกลับมาของเครื่องยนต์โรตารี เป็นรถยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของเครื่องยนต์สูบหมุนในรถยนต์ Mazda
Mazda ผูกพันกับกับเครื่องยนต์โรตารีมาตั้งแต่ตำนานเลอมังค์ในรถแข่ง 787B การนำเครื่องโรตารีกลับมาใช้งานใน MX-30 R-EV Range Extender เนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ที่มีขนาดกะทัดรัดและเบากว่าเครื่องยนต์สูบเรียง รวมถึงสมรรถนะที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด สามารถติดตั้งเข้ากับรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างง่ายดายจากขนาดที่เล็กและมีน้ำหนักเบา ความนุ่มนวลและความเงียบในการทำงาน เนื่องจากหลักการของลูกสูบที่ไม่เหมือนใคร ช่วยให้มั่นใจได้ว่าการติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเพื่อปั่นไฟฟ้า จะไม่ทำให้ฟิลลิ่งการขับขี่ยานนยนต์ EV ของ MX-30 EV หายไป
เทคโนโลยีเครื่องยนต์โรตารีของ Mazda เป็นที่รู้จักในด้านประโยชน์ เช่น ขนาดที่เล็ก น้ำหนักเบา กำลังสูง ในปี 2013 Mazda ได้สาธิตรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมระบบ Range Extender ในรถยนต์ต้นแบบ Mazda Demio EV (Mazda2 EV) เครื่องยนต์โรตารีที่คอยปั่นไฟ ทำระยะทางให้กับ Mazda2 EV ไกล 400 กิโลเมตร
เครื่องยนต์โรตารีส่งกำลังได้นุ่มนวลกว่าและทำงานที่ความเร็วรอบสูง ไม่เหมือนกับเครื่องยนต์สูบเรียงแบบดั้งเดิม ด้วยชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยลง ขนาดที่เล็กและน้ำหนักของเครื่องยนต์ที่เบากว่า Mazda พัฒนาท่อไอเสียพิเศษ เพื่อลดเสียงที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์โรตารีของ MX-30 เพื่อไม่ให้สูญเสียความเป็นยานยนต์ EV ที่เน้นความเงียบขณะขับใช้งาน
เครื่องยนต์โรตารีความจุ 830 ซีซี กำลัง 163 แรงม้า แรงม้า แรงบิด 260 นิวตัน-เมตร ชุดแบตเตอรี่ขนาด 17.8kWh เมื่อทำหน้าที่เป็นเจเนอเรเตอร์ปั่นไฟ ทำให้ MX-30 สามารถวิ่งได้กว่า 400 กม. ชุดขับเคลื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ากับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 17.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง และ ถังน้ำมัน 50 ลิตร Range Extender ที่เหมือนกับ BMW i3 Range Extender ที่ใช้เครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ปั่นไฟ และ Nissan Kicks e-Power ที่ใช้เครื่องยนต์สามสูบคอยปั่นไฟฟ้าใส่แบตเตอรี่
Mazda MX-30 Range Extender พร้อมเครื่องยนต์โรตารี จะเปิดตัวที่งาน Brussels Motor Show ปี 2023 ในวันที่ 13 มกราคม 2023 เวลา 10.00 น. โดย Mazda ยืนยันว่าจะเปิดตัว MX-30 พร้อมระบบขับเคลื่อน Range Extender ในยุโรป ในฤดูใบไม้ผลิปี 2023 ส่วนอเมริกาเหนือจะเปิดตัวในปีหน้า (2024)
MX-30 Range Extender อาจเป็นจุดขายที่ทำให้แฟนๆ รถยนต์ไฟฟ้า กลับเข้ามาที่โชว์รูมตัวแทนจำหน่ายของแบรนด์มากขึ้น ในสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มที่จะเปิดตัวในชื่อ Mazda MX-30 R-EV 2023 รายงานระบุว่า Mazda จะเรียกมันว่า ‘MX-30 R-EV’ ในบางตลาด
แม้แบรนด์ญี่ปุ่นจะล่าช้าไปบ้างเมื่อเทียบกับการปรับตัวของแบรนด์ยุโรป ภายในปี 2025 Mazda วางแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฮบริด HEV 5 รุ่น, รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด PHEV 5 รุ่น และยานยนต์พลังงานไฟฟ้า EV อีก 3 รุ่น โดยใช้แพลตฟอร์มใหม่ ‘SKYACTIV Multi-Solution Scalable Architecture’ ระหว่างปี 2025-2030 Mazda วางแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหลายรุ่น โดยใช้แพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าสั่งทำพิเศษแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘SKYACTIV EV Scalable Architecture’
ในตลาดโลก Mazda วางแผนที่จะเปิดตัวรถ SUV รุ่นใหม่ 5 โมเดล ได้แก่ Mazda CX-50, Mazda CX-60 (เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2565), Mazda CX-70, Mazda CX-80 และ Mazda CX-90 ภายในสิ้นปี 2566 ยกเว้น CX-50 รถยนต์ทุกคันจะมาพร้อมกับระบบส่งกำลังไฟฟ้าทั้งไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด
ในยุโรป Mazda มุ่งไปที่เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง และ 6 สูบเรียง เป็นหลัก นอกเหนือจากเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริดแล้ว Mazda พัฒนาระบบไฮบริด Mild Hybrid 48 โวลต์ ในเครื่องยนต์เบนซิน Skyactiv-X และดีเซล Skyactiv-D แบบ 6 สูบเรียงที่จะช่วยยกระดับสมรรถนะของรถให้สูงขึ้น.