เหตุเกิดที่ ‘มอเตอร์ เอ็กซ์โป’ ค่ายรถฟันธง ‘ได้อย่างเสียอย่าง’

เปิดฉากขึ้นแล้ว มหกรรมยานยนต์ หรือมอเตอร์ เอ็กซ์โป ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2565 ที่ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี 

มีค่ายรถยนต์เข้าร่วมงานทั้งหมด 35 แบรนด์ จาก 10 ประเทศ รถจักรยานยนต์ 17 แบรนด์ จาก 8 ประเทศ โดยทุกค่ายพร้อมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และมอบโปรโมชั่นพิเศษ

TukTuk ต้นแบบ “e-Rickshaw”

ดัดแปลงการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ของรถไฟฟ้า 100% อย่าง Audi e-tron ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตัวรถจะเป็นรถตุ๊กตุ๊กที่มาจากประเทศไทย มีอายุถึง 30 ปี ผ่านการปรับโฉมให้ดูทันสมัยขึ้น ที่โรงงานในเมือง Neckarsulm เยอรมนี

ประเด็นหลักปีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องความร้อนแรงของยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี หลายค่ายระดมเปิดตัวรถใหม่ แต่ในภาพความเป็นจริงคนก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าซื้อใช้ เพราะมีหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในการใช้งาน

แต่สำหรับในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2022 เป็นอีกปีที่หนักหนาสาหัส หลังจากโควิดคลี่คลาย แต่ดูเหมือนปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังคงตามมาหลอกหลอนค่ายรถยนต์กันอย่างทั่วถึง

ปัญหาก็คือ ขายรถได้ขายรถดี แต่ไม่มีรถส่งลูกค้า เป็นเรื่องชีช้ำน้ำตาตกในกันอย่างทั่วถึง

มีความเห็นจากผู้บริหาร 3 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ สะท้อนทั้งปัจจัยบวกและลบที่เกิดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น

ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ ทาเคชิ คาซาฮาระ รองกรรมการผู้จัดการ และ ปนัดดา เจณณวาสิน ประธานที่ปรึกษา บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด

เริ่มจากค่ายอีซูซุ มร.ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด คาดการณ์ตลาดรถยนต์รวมในประเทศปีนี้คาดว่าน่าจะจบที่ 8.6 แสนคัน เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2021 แบ่งเป็น ปิกอัพ 4 แสน เพิ่มขึ้น 17% ส่วนอีซูซุ คาดว่าจบที่ยอดขาย 216,000 คัน โต 17.6% มีส่วนแบ่งการตลาด 21%

สาเหตุที่ตลาดรวมรถยนต์เติบโตต่ำกว่าคาด เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขาดเซมิคอนดักเตอร์ จีนมีนโยบายซีโรโควิด โรงงานปิด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยลบ ลุกลามถึงปีหน้าหวังว่าน่าจะคลี่คลาย

ส่วนปีหน้าปัจจัยบวก เมื่อโควิดดีขึ้น ท่องเที่ยวดีขึ้นแม้ว่า ศก.โลกชะลอตัวเงินเฟ้อดีขึ้น ดังนั้นแนวโน้มน่าจะดีขึ้น

แต่อีซูซุก็ยังกังวลภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน

แต่สำหรับประเด็นมีปิกอัพไฟฟ้าเข้ามาแข่งขันมากขึ้นจะกระทบอีซูซุ หรือไม่นั้น สำหรับอีซูซุญี่ปุ่นเดินหน้าวิจัยเรื่องความเป็นกลางคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของรถปิกอัพไฟฟ้าขนาดกลางและใหญ่ มีแผนจะเปิดตัวรุ่นใหม่ในปี 2023 

แต่สำหรับในประเทศไทยปิกอัพปกติยังไม่มีผลกระทบ แต่ก็อยู่ระหว่างพัฒนาปิกอัพไฟฟ้าเช่นกัน

สิ่งสำคัญตอนนี้มีรถไม่พอต่อความต้องการจากปัญหาขาดแคลนชิป แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้นจากการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ก็ยังมีข่าวไม่ดีเศรษฐกิจโลกถดถอย มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อน้ำมันลง เงินเฟ้อจะลง

สำหรับต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เราจะพยายามปรับราคาจำหน่ายรถให้ช้าที่สุด หากจำเป็นจะปรับเป็นระยะ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนกรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.25% เป็น 1.25% ทางไฟแนนซ์อาจต้องปรับ

ดอกเบี้ยขึ้น แนะนำลูกค้ารีบตัดสินใจซื้อรถหากมีความพร้อมในขณะนี้

รัฐการ จูตะเสน

ด้านค่ายฟอร์ด ประเทศไทย ประกาศแต่งตั้ง นายรัฐการ จูตะเสน ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 แทน นายวิชิต ว่องวัฒนาการ จะเกษียณอายุ

นายรัฐกรบอกว่า เป็นอีกปีที่ฟอร์ด ประสบความสำเร็จ แม้ว่าตลาดรถรวมตกจากคาดการณ์ แต่ฟอร์ดโตสวนตลาด โตสูงสุดในตลาดถึง 37% ทั้งเรนเจอร์และเอเวอเรสต์ ตอนนี้ครองอันดับ 3 ในแต่ละตลาด

ฟอร์ดมองว่าตลาดรวมปีนี้  8.6 แสน ส่วนการปรับราคารถขึ้นคงจะยังไม่ปรับตอนนี้ เพราะเพิ่งเปิดตัวเรนเจอร์ยังไปได้ดี แต่ปีหน้าอาจปรับ

ส่วนประเด็น ตลาดรถอีวี ตอนนี้ยอดขายขึ้นมากว่าเดิมถึง 3 เท่า เพราะรัฐบาลช่วยกระตุ้นตลาด แต่มีข้อจำกัดเรื่องซัพพลายการส่งมอบรถล่าช้า

สำหรับฟอร์ดมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว ส่วนตลาดในไทยเรากำลังดูความเป็นไปได้ ว่าเหมาะกับเทคโนโลยีแบบไหน และมีโอกาสเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แต่สำหรับปิกอัพอีวีเชื่อว่าต้องใช้เวลา 3-4 ปี กว่าจะมีความต้องการต้องใช้จริง จะไม่เร็วเหมือนรถอีวีทั่วไป

สุรศักดิ์ สุทองวัน

ด้านค่ายโตโยต้า นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คาดการณ์ตลาดรวมปีนี้ 8.8 แสนคัน จากเดิมต้นปีคาดว่าน่าจะถึง 9 แสนกว่าคัน เพราะโควิดคลี่คลาย แต่จากปัญหาซัพพลายไม่ทัน ปัญหาเงินเฟ้อ กระทบธุรกิจอื่นๆ หวนกลับมากระทบธุรกิจรถยนต์ 

ส่วนปัญหาน้ำท่วมกระทบบ้าง แต่ไม่มาก โตโยต้าบอกว่า ตอนนี้พยายามไม่ปรับราคา กำลังมองว่าการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นเรื่องระยะสั้นหรือยาว

แต่สำหรับเลกซัสปรับราคาไปแล้วหนึ่งรอบ

สำหรับตลาดรถยนต์ปีหน้า มีปัจจัยบวกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเรื่องท่องเที่ยวดี การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นก็เป็นผลบวก โดยเฉพาะตลาดปิกอัพ ปีนี้โตโยต้าพยายามทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมาย 3.9 แสนคัน

ส่วนยอดจอง ยาริส เอทีฟ ตอนนี้เพิ่มสูงไปที่ 4.5 หมื่นคัน นับตั้งแต่เปิดตัว ส่งมอบไปแล้ว 1.5 หมื่นคัน พยายามเร่งส่งมอบให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมลูกค้าจองรถโตโยต้า จะได้พบแบบเอ็กซ์คลูซีฟ กับศิลปิน แบมแบม พรีเซ็นเตอร์ ยาริส เอทีฟ เพื่อเป็นการเพิ่มยอดขายและรักษาลูกค้าที่จองรถโตโยต้า

เอทีฟมียอดจองเข้ามาเดือนละประมาณ 4 พันคัน พยายามเร่งแก้ซัพพลายให้ดีขึ้น 

ส่วนปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ส่งผลให้โตโยต้า ปกติขายทั่วโลก 10 ล้านคัน แต่มียอดรอการส่งรถ หรือ แบ๊กออเดอร์ ถึง 2 ล้านคัน สถานการณ์ การผลิตต้องมองเดือนต่อเดือน

เป็นเสียงสะท้อนของค่ายรถยนต์ในยุคขายรถได้ ขายรถดี แต่ไม่มีรถส่ง เป็นเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยและทั่วโลก

นายพล