กรมศุลกากร VS กรมปศุสัตว์ แข่งจับหมูเถื่อน ปูเสื่อรอ “ผู้ร้ายตัวจริง”
พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์
ตลอดเดือนกันยายน ที่ผ่านมา นับเป็นช่วงของการแข่งขันปราบปราม “หมูเถื่อน” ระหว่าง กรมศุลกากร กับ กรมปศุสัตว์ ที่ปัญหาพอกพูนมาตั้งแต่เมษายน ที่กองทัพหมูเถื่อนเดินพาเหรดเข้าไทยมาเฉลิมฉลองกำไรส่วนต่างของราคาหมูไทยที่สูงเพราะขาดแคลน แต่หมูลักลอบนำเข้ามาต้นทุนถูกกว่าเป็นเท่าตัว ที่สำคัญการกระทำผิดกฎหมายลักลอบนำเข้าซากสัตว์ ไร้คนสอดส่องดูแล ตรวจจับ ปรับ ดำเนินคดี หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ …อยู่หนใด? (ณ เวลานั้น)
ล่วงเข้าเดือน กันยายน 2565 หลังเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศสุดจะทนต่อความยากลำบากขายหมูไม่ได้ จาก “หมูเถื่อน เกลื่อนไทย” รวมตัวกันทำกิจกรรมเรียกร้องภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามหมูเถื่อนให้ขยับตัว ทั้งแถลงข่าวและยื่นหนังสื่อถึงเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอให้ตรวจสอบการการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ในการปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน โดยไม่เคยเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดทั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบริษัทผู้นำเข้าได้ไม่ยาก…นั่นสิ ทำไมถึงไม่ได้ตัวการนำเข้าที่แท้จริง?กรมศุลกากร แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ว่า จากสถิติการจับกุมการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่แถลงข่าว) ทั้งหมด 5 คดี รวม 43,800 กิโลกรัม มูลค่า 8,940,000 บาท ซึ่งเป็นการสนธิกำลังกันของภาครัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมศุลกากร…ทั้ง 3 หน่วยงาน มีหน่วยสืบสวนเฉพาะกิจ เรดาร์ของใครควรจะเร็วที่สุด? เชื่อว่าหลังจากนี้จะเกิดการแข่งขันมากขึ้น หลังกรมปศุสัตว์สั่ง “เด้ง” ฟ้าผ่า ข้าราชการระดับหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี
ข่าวล่าสุด กรมศุลกากร แถลงข่าวโชว์จับยาอี น้ำหนัก 2.92 กิโลกรัม ซุกซ่อนมากับสินค้าทางพัสดุไปรษณีย์ จากเยอรมนี ณ ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ขอตั้งข้อสังเกต ยาอีเม็ดเล็กๆ และไม่ผ่านด่านศุลกากร หรือ เครื่องเอ็กซ์เรย์ ประสิทธิภาพสูงของกรมฯ ที่ติดตั้งไว้ในท่าเรือแหลมฉบังนับ 10 เครื่อง แต่สามารถตรวจพบ “ดั่งตาเห็น” แต่หมูเถื่อนชิ้นใหญ่กว่ามากและต้องผ่านด่านศุลกากร ดันเล็ดลอดไปได้ทุกครั้ง…เหตุใดถึงผ่านออกมาได้? เครื่องเสีย หรือ ลืมเปิดเครื่อง?ทำไมต้องจับ ปราบ “หมูเถื่อน” ให้สิ้นซาก เพราะการปล่อยให้หมูเถื่อนลักลอบเข้ามาในประเทศนั้น เป็นการบ่อนทำลายอาชีพ “ผู้เลี้ยงหมู” ของคนไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากหมูเถื่อนมีต้นทุนต่ำมาก แม้รวมค่าขนส่งจากต้นทางประเทศในตะวันตก เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน บราซิล อาร์เจนตินา แล้ว ยังสามารถเสนอราคาขายปลีกเฉลี่ยที่ 130 – 140 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาหมูไทยเฉลี่ยขณะนี้ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม คนขายหมูเถื่อนย่ามใจ หากำไรอย่างเดียว ขณะที่ผู้บริโภคละเลยเรื่องอาหารปลอดภัย สนใจแค่เนื้อหมูราคาถูก
ก่อนหน้านี้ นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวย้ำว่า หมูเถื่อนที่มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีโอกาสปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายเป็นเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่คนอเมริกา ยุโรป และคนในประเทศทางตะวันตกไม่บริโภค ไม่ว่าจะขา หัว และเครื่องในหมู การลักลอบนำเข้าจึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง แทนที่จะต้องทำลาย ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีการนำเข้ามานี้ เต็มไปด้วยสารแรคโตพามีน หรือสารเร่งเนื้อแดงที่ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯ และบางประเทศของยุโรปสามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี แต่ไทยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ “หมูเถื่อน” ผสมสารเร่งเนื้อแดง ยังคงมีวางขายปะปนกับหมูไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนเกษตรกรไม่รู้จบ ทำให้โรงชำแหละ เขียงหมู ไม่ซื้อหมูจากเกษตรกรตามปกติ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องแบกภาระเลี้ยงหมูต่อไว้ในฟาร์มรอวันขาย เพิ่มต้นทุนขึ้นไปอีก ด้านผู้บริโภคเป็น “แพะ” รับสารพิษไปโดยไม่รู้ตัว เพราะหมูไทย-หมูเถื่อน ขายปนกันจนแยกไม่ออกกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ สดับดั่งนี้แล้ว จับกุมผู้กระทำผิดนำเข้า “หมูเถื่อน” ครั้งต่อไปต้องสาวให้ถึงผู้นำเข้าตัวจริง อย่าจับแต่ปลาซิว ปลาสร้อย คนขับรถบรรทุกสินค้า หรือเจ้าเว็บไซด์ขายหมู เพราะหน้าเอกสารนำเข้าต้องระบุผู้นำเข้าชัดเจน กรมศุลกากร ออกแรงนิดเดียวก็ปราบไปยกแก๊งแล้ว…เพื่อคนไทย เพื่อเศรษฐกิจไทย อย่านิ่งดูดายและเอาสีข้างเข้าถูว่า “ไม่มี”