ผู้บริหารบิ๊กลิสซิ่งประสานเสียง สคบ.ประกาศปรับเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้ออัตราใหม่ ย้ำไม่กระทบผลการดำเนินงาน เผยปัจจุบันคิดอัตราอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ผู้บริหารมั่นใจไม่กระทบธุรกิจ เพราะเน้นปล่อยสินเชื่อมีหลักประกัน และมีความหลากหลาย อีกทั้งคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำ มั่นใจไตรมาส 3 ผลงานโตต่อเนื่อง
จากการที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ประกาศปรับเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ อัตราไม่เกิน 23% สำหรับรถยนต์มือหนึ่ง ไม่เกิน 10% และรถยนต์มือสองไม่เกิน 15% ทำให้มีผลกระทบทั้งบวกและลบ แตกต่างกันไปตามลักษณะของการดำเนินธุรกิจนั้นๆ อย่างเช่นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จะรับผลดีเพราะเมื่อดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อ NIM หรือ Net Interest Margin ปรับตัวดีขึ้น เพราะเงินกู้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว แม้จะมีความเสี่ยงต่อการคาดการณ์กำไร ส่วนแบงก์ขนาดเล็กที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ ต้องรอจนกว่าจะครบอายุสัญญา จึงไม่ได้ส่งผลบวกต่อธนาคารขนาดเล็ก ส่วน Non-Bank อาจส่งผลลบ เนื่องจากสินเชื่อมีอายุสัญญาแต่ดอกเบี้ยจ่ายหากกู้จากธนาคารใช้ดอกเบี้ยลอยตัว
อย่างไรก็ดี แม้หลายฝ่ายกังวลและประเมินผลกระทบในด้านต่างๆกันไปแต่ในส่วนของผู้ประกอบการเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง ผู้บริหารแต่ละบริษัทออกโรงแจงพร้อมยืนยันว่าไม่กระทบผลการดำเนินงาน
MTC ไม่กังวล ย้ำสินเชื่อมีหลักประกันกว่า 80%
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยถึงกรณีการประกาศควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยธุรกิจลิสซิ่งเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ โดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. พิจารณาปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย ประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ไม่เกิน 23% รถยนต์มือหนึ่ง ไม่เกิน 10% และรถยนต์มือสอง ไม่เกิน 15% เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจลิสซิ่ง นั้น “ บริษัทฯไม่ได้รู้สึกกังวลกับประกาศปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจมากนัก โดยปัจจุบันสินเชื่อหลักของบริษัทฯ ยังคงเน้นไปที่การปล่อยประเภทสินเชื่อที่มีหลักประกันที่มีพอร์ตสินเชื่อมากกว่า 80% ”
ขณะที่ประเภทสินเชื่อเช่าซื้อรถนั้น บริษัทฯ เปิดให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคิดดอกเบี้ย 23% อยู่แล้ว จะเห็น ว่าอยู่ในระดับเดียวกับเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ สคบ. พิจารณากำหนด อีกทั้งพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว ขณะนี้มีเพียง 5% จะเห็นว่าสัดส่วนพอร์ตสินเชื่ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการปรับเพดานดอกเบี้ยธุรกิจลิสซิ่ง ไม่ได้กระทบต้นทุนการดำเนินธุรกิจลีสซิ่งของบริษัทแต่อย่างใด ประกอบกับบริษัทฯ ได้วางแผนรับมือการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว มั่นใจได้ว่า สามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้
สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี หลังบรรยากาศทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และสถานการณ์ของโรค โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ความต้อง การสินเชื่อ เพื่อการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ขยายตัวตามไปด้วย ทำให้มั่นใจว่าใน ปีนี้พอร์ตสินเชื่อรวมจะเติบโตประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” หุ้น MTC ให้ราคาเป้าหมาย 54.00 บาท เพราะมองว่าธุรกิจหลังจากนี้จะฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจุบันฐานลูกค้าของบริษัทคือผู้กู้รายได้ต่ำที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของระบบ Free Float (%) ธนาคารปกติได้ เป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนผู้มีรายได้ต่ำทั่วประเทศ เพราะสินเชื่อบริษัทจึงมีโอกาสเติบโตสูง หนุนจากอุปสงค์ สินเชื่อผู้บริโภคและกิจการขนาดเล็ก (SME) ที่โตขึ้น และด้วยการที่สามารถนำยานพาหนะหลากหลายประเภทมาค้ำประกันเงินกู้ได้ ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าบริษัทจะเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ขณะที่การเพิ่มสาขาต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ช่วยให้บริษัทเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น ทำให้คาดกำไรสุทธิปี 2566-2567 โตต่อเนื่องที่ 16% และ 18% ตามลำดับ หนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นเพราะสินเชื่อที่โตขึ้นและรายได้ ค่าธรรมเนียมที่ปรับดีขึ้น จึงมองเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน
SAWAD’ มั่นใจไม่กระทบ เหตุ P-Loan พอร์ตต่ำ
นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยว่า ปัจจุบันพอร์ตธุรกิจของเครือศรีสวัสดิ์ ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล 6% ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ 35% ธุรกิจสินเชื่อบ้านและที่ดิน 36% และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ 23% โดยสัดส่วนธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลมีสัดส่วนน้อยที่สุดของบริษัท จึงคาดว่าจะไม่กระทบหากมีการจัดตั้งบริษัทนอนแบงก์ใหม่ในการทำธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และที่ดินเป็นหลัก อีกทั้งแผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ธุรกิจเกิดความแข็งแกร่ง โดยจะมีการเพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพธุรกิจเดิมตั้งแต่ปี 2566 เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเครือศรีสวัสดิ์
“ที่ผ่านมาในกลุ่มอุตสาหกรรมนอนแบงก์ได้เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่มากมาย ทำให้เกิดการแข่งขันในทุกรูปแบบและบริษัทได้พยายามปรับตัวมาโดยตลอด และสำหรับบริษัทถือว่าได้รับผลกระทบน้อยมากเพราะพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลของศรีสวัสดิ์ค่อนข้างต่ำ ซึ่งปัจจุบันบริษัทโฟกัสการหาพันธมิตรใหม่ การรุกเข้าสู่ธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทั้งเครือ โดยธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ภายใต้องค์กรจะเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นไป “
บล.เมย์แบงก์ แนะนำ “ซื้อ”หุ้น SAWAD จากเดิมให้ถือ ที่ราคาเป้าหมาย 52 บาท/หุ้น หลังจากที่หุ้นมี upside 21% พร้อมลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 52 บาท (P/BV ปี 65 ที่ 2.6 เท่า และ ROE 19.0%) จาก 58 บาท หลังจากปรับลดคาดการณ์กำไรเพื่อสะท้อนอัตราดอกเบี้ยใหม่สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ เชื่อว่าราคาหุ้นได้สะท้อนข่าวร้ายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงและเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่ไปแล้วหลังจากที่ราคาหุ้นร่วงแรง 30% และแย่กว่าดัชนี SET 26% YTD ทั้งนี้ บล.เมย์แบงก์ มองว่าอัตราดอกเบี้ยใหม่สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ 23% (เทียบกับ 30-35% ในขณะนี้) จะส่งผลกระทบต่อ NIM และรายได้ของบริษัท ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ คุณภาพสินทรัพย์แย่ลง
บล.พาย มองว่าจากกรณีที่ สคบ. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา สาระสำคัญของร่างคือ การกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23 % ต่อปี ,สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10 % ต่อปี และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วไม่เกิน 15% ต่อปี โดย พรบ.จะมีผลบังคับใช้ราวต้น ม.ค.66 นั้น มองหุ้นกลุ่มเช่าซื้อหรือลิสซิ่งอย่าง SAWAD ว่า มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ 20% ของสินเชื่อรวม และคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 30% ยังประเมินยากถึงผลกระทบในระยะสั้น กอปรกับไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนถึงแผนธุรกิจในการลดค่าใช้จ่าย และเห็นว่า SAWAD และผู้เล่นรายใหญ่จะเป็นผู้อยู่รอดในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ส่วนด้านราคาหุ้นอาจจะยังผันผวนในระยะสั้น
TIDLOR ย้ำไม่กระทบธุรกิจหลัก
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยมีสาระสำคัญของร่างฯ คือการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ (รถมือหนึ่ง) ไม่เกิน 10% ต่อปี และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว (รถมือสอง) ไม่เกิน 15% ต่อปี บริษัทฯ มั่นใจว่า การควบคุมสัญญาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ของ สคบ.ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลักของเงินติดล้อ เพราะเน้นปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีหลักประกันเป็นรายได้หลัก และยังคงมุ่งเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีหลักประกันต่อไป
ขณะที่ภาพรวมการดำเนินธุรกิจไตรมาส 3 ที่ผ่านมามั่นใจว่าธุรกิจด้านสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจะมีอัตราเติบโตดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จากการวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรม “บัตรติดล้อ” เข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ในการกดเงินสดตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากตู้เอทีเอ็มธนาคารพาณิชยชั้นนำกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง การขยายสาขาของเงินติดล้ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวางกลยุทธ์ขยายพอร์ตสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ประกอบกิจการหรือเพิ่มสภาพคล่อง
“เรามั่นใจจะสามารถขยายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในปีนี้เติบโต 23-28% ตามเป้าหมาย และได้วางแผนรับมืออัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเสริมศักยภาพด้านเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ รวมมูลค่า 6,500 ล้านบาท แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ และได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งกำหนดจ่ายผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถควบคุมต้นทุนอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว” นายปิยะศักดิ์กล่าว
บล. บัวหลวง คาดว่าบริษัทจะตั้งสำรองที่ 1.1 พันล้านบาท สำหรับปี 2565 อิงจากความเสี่ยงจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 140bps (ก่อนหน้า บล. บัวหลวงคาดเพียง 768 ล้านบาท หรือ 100bps) เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง และ คาดว่า TIDLOR จะยังคงอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ที่ 300% เนื่องจากผู้บริหารปรับขึ้นความเสี่ยงจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นไปอยู่ที่ 1.9% จาก 1.5% และยังคงเป้าหมายสัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ 2% ขณะที่คาดบริษัทเร่งตัดจำหน่ายและจัดการกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ในครึ่งหลังของปี 2565 จึงคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัว 25% เทียบปีก่อน ไปที่ 7.68 หมื่นล้านบาท ในปี 2565 จากการขยายสาขาและจำนวนบัตรเงินติดล้อที่มากขึ้น อีกทั้งคาดว่า TIDLOR น่าจะรายงานรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจากการเติบโตของยอดขายประกันพรีเมียม หนุนมาจากการขยายสาขาและแพลตฟอร์มไอที อารีเกเตอร์ คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐานที่ 40 บาท
SAK ยันดอกเบี้ยต่ำไม่กระทบรายได้
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK เปิดเผยว่า หลังจาก สคบ. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 23% ต่อปี สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ (รถมือหนึ่ง) ไม่เกิน 10% ต่อปี และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้ว (รถมือสอง) ไม่เกิน 15% ต่อปี บริษัทมั่นใจว่า ไม่กระทบต่อการดำเนินงานแต่อย่างใด เนื่องจากพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อมีอัตราดอกเบี้ยรับเฉลี่ยที่ 20% ซึ่งต่ำกว่าเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ สคบ.กำหนดไว้
นอกจากนี้ พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อรถแลกเงินมีสัดส่วนเพียง 5.2% ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2565 จากพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมด โดยเป็นสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่เป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถแลก มีเล็กน้อยเท่านั้น ประกอบกับการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ประชาชนที่ต้องการแหล่งเงินทุนนำไปประกอบอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืนทำให้คุณภาพลูกหนี้ของ SAK อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งไตรมาส 4 ปีนี้บริษัทยังมุ่งให้บริการสินเชื่อโดยเคียงข้างเป็นแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าด้วยนโยบายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ช่วยให้พอร์ตสินเชื่อเติบโตกว่าเป้าหมายที่ 25%
“เรามีความแข็งแกร่งในด้านพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลาย ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย SAK มีสินเชื่อทะเบียนรถเป็นประกันเป็นพอร์ตใหญ่ ล่าสุด สินเชื่อโดรนเพื่อการเกษตร รวมทั้งวางแผนเปิดตัวสินเชื่อเพิ่มเติมใหม่ ๆ อีกในอนาคต” นายศิวพงศ์ กล่าว
HENG ยันไม่กระทบ บริหารต้นทุน
นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เปิดเผยว่า จากนโยบายของ สคบ. ที่ต้องการควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ นั้น ประเมินว่า หากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างมีนัย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ HENG เรียกเก็บจากลูกค้าใกล้เคียงและต่ำกว่าเพดานโดยเฉลี่ยอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะบริหารจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวของ สคบ.ได้ เพื่อผลักดันการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อให้ขยายตัวตามแผนที่วางไว้ ซึ่ง HENG เตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าพร้อมมุ่งบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่ง HENG ได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ทำให้ต้นทุนการเงินลดลงช่วยส่งเสริมขีดความสามารถการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าในท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทฯ ปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 30% ได้ตามเป้าหมาย
ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความสามารถในการให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าในท้องถิ่นที่มีความต้องการแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น ภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการมุ่งเน้นควบคุมคุณภาพลูกหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพิจารณาสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ จึงคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs จะมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่า บริษัทแทบทุกแห่ง มั่นใจว่ามาตรการคุมดอกเบี้ยของ สคบ. ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน และเดินหน้าปล่อยสินเชื่อและพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลาย หวังให้ประชาชนเข้าถึงทุกแห่งหน เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง