วิกฤติน้ำท่วมจับปลาขาย ทอดแหรับ 5 หมื่นบาทต่อเดือน

แต่วิกฤติน้ำท่วมไหลหลากนี้ “ชาวบ้านบางส่วน” กลับไม่ยอมแพ้โชคชะตา พากัน “ปัดฝุ่นอุปกรณ์ออกหาจับปลา” เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร รับประทานแล้ว “ขายสร้างรายได้” ส่งผลให้ตามจุดน้ำไหลหลากนั้นต่างเต็มไปด้วย “เซียนทอดแห เซียนยกสะดุ้ง เซียนเบ็ด” ประชันฝีมือจับปลากันคึกคักในช่วงฝนตกหลายวันนี้

เช่นเดียวกับที่ “เขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ” ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนต้องเร่งระบายน้ำออกปล่อยไหลไปตามธรรมชาติ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” มีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ “ปากเขื่อนราษีไศล” ตามคำแนะนำของ “เพจเซียนแหภาคอีสาน” ด้วยจุดนี้มีการรวมพลของบรรดาเซียนหาปลากันอย่างคึกคัก

เพื่อดักจับปลาเล่นกระแสน้ำไหลมีทั้งปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาขาว ปลากด ปลาเก้ง ปลาบู่ แล้วถ้าจับมาได้ก็ซื้อขายกันหน้าเขื่อนกิโลกรัมละ 50 บาทเป็นต้นไป “ทองหล่อ ผลานิสง” หรือเซียนหล่อบ้านไผ่ เล่าว่า

ในช่วงน้ำหลากฤดูฝนนี้ “ปลามักตื่นน้ำออกมามากเป็นพิเศษ” กลายเป็นนาทีทองบรรดาคนหาปลาพากันตระเวนไปตามแหล่งน้ำไหลที่มีปลาออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนลําตะคอง แม่น้ำป่าสัก แต่อาจต้องใช้เวลาค้างแรม 3-4 คืนต่อแห่ง แล้ว “การจับปลาน้ำไหลหลาก” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายจำเป็นต้องมีเทคนิคของแต่ละคน

เบื้องต้นแนะนำว่า “ปลามักไม่ออกกลางวัน” แต่ถ้าต้องการจับปลาให้ได้จำนวนมากควรต้องออกจับตั้งแต่ตี 4 ถึง 7 โมงเช้า อันจะเป็นวงจรการหากินของกลุ่มปลาหนัง เช่น ปลาเนื้ออ่อน ปลากด ชอบออกตอนกลางคืน

อีกรอบคือบ่าย 3 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม เป็นกลุ่มปลามีเกล็ด เช่น ปลานวลจันทร์ ปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาขาว แล้วส่วนตัวก็มักยึดช่วงเวลานี้มาตลอดสามารถทอดแหจับปลาได้คราวละ 20-50 กก.อยู่บ่อยๆ

แต่อาจเป็นเพราะสามารถฟังเสียงของปลาได้ด้วย โดยเฉพาะจุดใดมีปลาเมื่อดำน้ำจะได้ยินเสียงดังเต็มพื้นที่นั้น อย่างเช่นปลากดมีเสียงร้องอ๊อดๆ อ๊อดๆ หากเป็นปลาขาวข้างลายเสียงร้องออดๆ…ลากยาวคล้ายเสียงรถมอเตอร์ไซค์ และยิ่งจุดใดปลาเยอะมากจริงๆ ไม่จำเป็นต้องดำน้ำด้วยซ้ำแค่ยืนบนพื้นดินก็ได้ยินเสียงร้องแล้ว

ต่อมาคือ “วิธีหาปลาน้ำหลากในทุ่งนา” ตามหลักสาเหตุปลาชุกชุมตามทุ่งนาในช่วงฤดูฝนน้ำหลากนั้นมักมาจาก “น้ำท่วมสระเลี้ยงปลาทั้งของหมู่บ้าน หรือภาคเอกชน” ทำให้ปลาในสระเลี้ยงหลุดออกมาหนีไปตามกระแสน้ำกระจายทั่ว แล้วในปีนี้น้ำค่อนข้างมากกว่าทุกปี “ปลาเลี้ยง” จึงหลุดออกมาเต็มทุ่งนาด้วยซ้ำ

ทำให้ชาวบ้านออกมาจับปลาคึกคักมากเป็นพิเศษ แล้วปลาที่ได้ก็นำไปบริโภคในครัวเรือน ส่วนถ้าเหลือบางคนก็นำไปขายในตลาดสร้างรายได้ หรือบางวันจะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารอรับซื้อถึงที่เลยก็มี

จริงๆแล้วถ้าย้อนไปก่อนหน้าที่จะเข้ามา “ทำอาชีพทอดแหจับปลาขาย” เดิมครอบครัวเป็นลูกชาวนา “วิถีชีวิตอยู่กับทุ่งนามาตั้งแต่เด็ก” แต่ละวันพ่อแม่มักพาออกหาจับกุ้ง หอย ปู ปลานำมาปรุงประกอบทำเป็นอาหารรับประทานเลี้ยงปากท้อง จนกลายเป็นความผูกพันเสมือนวิชาชีพติดตัวมาแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้ด้วยซ้ำ

กระทั่งเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ม.การกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตมหาสารคาม ทำให้มีโอกาสได้เข้าเป็นครูสอน โรงเรียนเอกชน 6-7 ปี “ก่อนรู้สึกตัวเองว่าไม่ใช่เส้นทางถนัดของตัวเอง” จึงตัดสินใจลาออกหันมาทำอาชีพค้าขายตระเวนไปตามงานบุญวัด หรืองานเทศกาลประจำจังหวัด

แล้วในช่วงเว้นว่างมัก “ถักต่อแหเอ็นจับปลานำออกมาขายเป็นอาชีพเสริม” ซึ่งสูตรสานแหก็เป็นคนคิดค้นขึ้นมาเอง มีทุกขนาดตั้งแต่แหตาถี่ สำหรับทอดจับปลาตามแหล่งน้ำไม่ลึก และแหตาห่างใช้ทอดแหในน้ำลึกจับปลาใหญ่ แต่เมื่อ “ลูกค้าซื้อไปจับปลาได้ดี” เลยมีการบอกต่อกันจนออเดอร์สั่งเข้ามาไม่ขาดสาย

ก่อนตัดสินใจผันตัวมา “ถักต่อแหเป็นอาชีพหลัก” แล้วจะชอบออกไปทอดแหหาปลานำไปขายตลาด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำวันละ 2-3 พันบาท สุดท้ายกลายเป็น “หันมายึดถักต่อแหควบคู่หาจับปลาเป็นอาชีพหลัก” ด้วยการตระเวนออกทอดแหตามหน้าเขื่อน รวมถึงทอดแหจับปลาตามบ่อปลาขายบัตรทั่วประเทศ

จนถูกขนานนามเรียกว่า “เซียนหล่อบ้านไผ่” ด้วยสมัยก่อนชอบเดินสายเข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันการจับปลาชิงถ้วยรางวัลไม่ว่าจะเป็นในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือตอนล่าง และทุกครั้งมักได้รับรางวัลติดไม้ติดมืออยู่เสมอทำให้มีรางวัลชนะเลิศเซียนจับปลาขนาดใหญ่ รวมถึงรางวัลชนะเลิศจับปลาได้มากที่สุดอยู่มากมาย

ประเด็นสำคัญ “สมัยก่อนปลาตามธรรมชาติมีเยอะกว่าทุกวันนี้” ตัวอย่างง่ายๆ “อยากได้เงิน 1,000 บาท” แค่เดินออกจากบ้านไปหาทอดแหจับปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำสาธารณะในหมู่บ้านคลอง ลำห้วย ฝายน้ำล้น ที่ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวันก็มักได้ปลามากมายนำไปขายในตลาดได้เงินพันบาทแล้ว

ปัญหามีอยู่ว่า “ด้วยวิวัฒนาการอุปกรณ์จับปลาถูกพัฒนาทันสมัยขึ้น” โดยเฉพาะหม้อน็อกเป็นเครื่องจับปลาแบบทำลายล้างสัตว์น้ำนานาชนิด แล้วมักลักลอบใช้จับปลาโดยไม่สนใจลูกปลา หรือสัตว์น้ำขนาดเล็กจะเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปหรือไม่ แม้ “กรมประมง” ห้ามใช้เครื่องมือแบบนี้แต่ก็มีการลักลอบให้เห็นอยู่เสมอ

ไม่เท่านั้นยังมี “โต่งดักปลา ลอบซิ่งดักปลา คอนโดดักปลา” ที่เป็นอุปกรณ์จับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ผลคือ “ปลาตามธรรมชาติลดน้อยลง” จนปัจจุบันชาวบ้านหาจับปลากินกันค่อนข้างยากมากยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ช่วง 6-7 ปีมานี้ “ธุรกิจบ่อตกปลาได้เกิดขึ้นมากมาย” เพื่อให้ผู้ชื่นชอบได้มาร่วมกิจกรรมผ่อนคลายตกปลานิล ปลาสวาย ปลาบึก ปลาจีน ปลายี่สก ปลาตะเพียน แต่ว่าบ่อตกปลานี้จะมีระยะเวลาต้องเปลี่ยนปลาออก จากสาเหตุ “ปลาไม่กินเหยื่อ” ดังนั้นเจ้าของบ่อมักเปิดประมูลโละปลาขายบัตร 500 บาทขึ้นไป

กลายเป็นธุรกิจกำลังนิยมจัดกันมาก “เพื่อให้เซียนแหซื้อบัตรจับปลาออกขาย” ล่าสุดไม่นานมานี้บ่อปลาไจแอ้น จ.ชลบุรี เปิดขายตั๋วบัตร 4,500 บาท/คน แล้วก็มีโอกาสได้เข้าร่วมจับขายได้เงินมา 15,000 บาท

ประการถัดมา “ข้อระวังในการจับปลาเปิดบ่อขายบัตร” นักทอดแหมักจะไม่ลงน้ำเพราะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจมน้ำจาก “ปลามีเงี่ยงตกใจวิ่งชนใต้น้ำ” บ่อยครั้งมักถูกเงี่ยงแทงบาดเจ็บรุนแรงจมน้ำเสียชีวิตได้

ส่วนการหาจับปลาตามธรรมชาติ “ห้ามดื่มสุราลงน้ำเด็ดขาด” เพราะมักก่อให้เกิดการเป็นตะคริวง่าย แล้ว “คนสุขภาพไม่แข็งแรง” ก็มีความเสี่ยงการจมน้ำเช่นกัน หากอยู่คนเดียวอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้

สุดท้ายนี้แม้ “การถักต่อแหและหาปลาขายนั้น” หลายคนอาจมองว่าเป็นอาชีพต้อยต่ำไม่ทำให้ร่ำรวยได้ “แต่สำหรับชาวบ้านคนธรรมดา” อาชีพนี้ถือว่ามีคุณค่า และมีคุณประโยชน์สามารถเลี้ยงปากท้องให้ครอบครัวอยู่อย่างมีความสุขสบายได้ทุกวันนี้ ก็เพราะ “ทอดแหจับปลาขาย” มีรายได้เฉลี่ย 4-5 หมื่นบาท/เดือน

ปัจจุบันนี้สามารถส่งลูก 2 คนเรียนจบ ปวส. แล้วยังผ่อนค่างวดรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ได้อย่างสบายแถมมีเงินเก็บอีกจำนวนหนึ่งด้วย “ทำให้ตอนนี้รู้สึกรักผูกพันกับอาชีพหาปลานี้” แล้วยืนยันว่าจะยังคงยึดอาชีพถักต่อแหจับปลา และทอดแหจับปลาขายนี้ไปเรื่อยๆจนร่างกายจะสู้ไม่ไหว…

นี่คือ “วิถีชีวิตชาวบ้าน” พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในช่วงน้ำท่วมนี้ “หาจับปลา” นำมาทำเป็นอาหารรับประทานในครอบครัว แล้วถ้าเหลือก็ขายสร้างรายได้…อันเป็นอาชีพทางเลือก “ในยุคข้าวยากหมากแพง” ที่ไม่ต้องลงทุนเลยด้วยซ้ำ.