ในที่สุดที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้รับคำร้อง ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้พิจารณา และมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
“บิ๊กตู่” รอลุ้นที่บ้านฟังศาล รธน.
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลถึงความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมเพื่อพิจารณารับคำร้องของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานที่ทำเนียบ แต่สั่งการและประชุมจากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) เพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มผู้ชุมนุม และรอฟังคำว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัย ช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ส่วนช่วงบ่ายตามวาระงานเวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานมอบรางวัล Prime Minister Award: National Startup 2022 และรางวัล Prime Minister Award : Innovation for Crisis ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
“ลุงป้อม” กบดานนิ่งทำเนียบเหงา
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เดินทางเข้าทำเนียบเช่นเดียวกัน เป็นประธานการ ประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ในเวลา 10.00 น. จากห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายใน ร.1 ทม.รอ. ทำให้บรรยากาศภายในทำเนียบรัฐบาลเป็นไปอย่างเงียบเหงา การรักษาความปลอดภัยยังคงเข้มงวดการเข้า-ออก มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่โดยรอบป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุม ยังคงปิดถนนพิษณุโลก ช่วงแยกพาณิชยการถึงแยกสวนมิสกวัน ขณะที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เปิดให้สัญจรเฉพาะ 2 ช่องทางหลัก ทางคู่ขนานยังคงวางแนวตู้คอนเทนเนอร์ และลวดหนาม ส่วนประตูอรทัยวางตู้คอนเทนเนอร์
เพจรัฐบาลตีปี๊บ 8 ปี ที่เปลี่ยนไป
ก่อนหน้านี้เวลา 04.50 น. เพจเฟซบุ๊กศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี PMOC โพสต์คลิปวิดีโอผลงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ช่วง 8 ปี ความยาว 3.28 นาที ท่ามกลางกระแสกดดันวาระ 8 ปี พร้อมติดแฮชแท็ก “#8 ปีที่เปลี่ยนไป #รัฐบาลของคนไทย #แตกต่าง #ไม่แตกแยก ไม่ว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร 8 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยของเราเปลี่ยนไปมากมายแล้ว มุ่งมั่นแก้ไขทุกปัญหาในอดีต #มั่นคง #มั่งคั่ง #ยั่งยืน ตอกเสาหลัก 3 รากฐานไทย”
ข่าวหลุดก่อนผลทางการออก
ต่อมาเวลา 09.30 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ โดย 1 ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาคำร้องพรรคฝ่ายค้านเรื่องวาระดำรงตำแหน่ง นายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ประกอบมาตรา 170 และขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือไม่ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุฯชุดเล็ก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน หลังจากพิจารณาเสร็จ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดของกฎหมายต่อไป สำหรับบรรยากาศรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรืออาคารเอ ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ มีการวางแผงเหล็กกั้นพร้อมปิดป้ายกระดาษแจ้งเขตอำนาจศาล มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ทุ่งสองห้อง ตรวจดูความ เรียบร้อย จนถึงช่วงบ่ายมีรายงานว่าการประชุมเสร็จสิ้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องไว้วินิจฉัย ขณะเดียวกันตุลาการมีเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
รับวินิจฉัย-ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
กระทั่งเวลา 14.30 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารแถลงข่าวเป็นทางการ ระบุว่าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเรื่องต้องพิจารณากรณีประธานสภาฯส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่ากรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 7 (9) มีมติเอกฉันท์รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน สำหรับคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
เปิดโหวตสี่อรหันต์เสียงข้างน้อย
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 คน ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายนภดล เทพพิทักษ์ ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 คน ที่เห็นว่าไม่ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
นัดชี้ชะตา “นิพนธ์” พ้นรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังเผยแพร่เรื่องพิจารณาที่ 22/2564 กรณีประธานรัฐสภาส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 หรือไม่ เนื่องจากผู้ถูกร้องเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ทำให้เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติ และอ่านคำ วินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง วันที่ 14 ก.ย. เวลา 15.00 น. สำหรับคดีดังกล่าวนายนิพนธ์ถูก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทาง 2 คัน วงเงินรวม 50 ล้านบาท ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด เมื่อปี 2556 สมัยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา
“บิ๊กป้อม” รักษาการแทนเบอร์ 1
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย และมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 เรื่องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ระบุว่าในกรณีที่นายกฯไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกฯเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯตามลำดับ ดังนี้ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายวิษณุ เครืองาม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ คำสั่งยังระบุว่าผู้รักษาราชการแทนข้างต้นจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกฯได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน
“วิษณุ” ยันรักษาการมีอำนาจเต็ม
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องมอบหมายให้รองนายกฯรักษาราชการแทนนายกฯ ที่ระบุว่า ผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติงบประมาณได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯเสียก่อน จะทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการแทนนายกฯ ไม่สามารถทำเรื่องเหล่านี้แทนใช่หรือไม่ ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ใช้ในส่วนนี้ เนื่องจากขณะนี้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประวิตรมีอำนาจเต็มทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย การทูลเกล้าฯกฎหมายลูก เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรสามารถปรับ ครม.รวมถึงยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ตามทฤษฎีต้องตอบว่าได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้ทำคนเดียว ต้องไปเกี่ยวกับสถาบันฯ อะไรที่เกี่ยวกับคนอื่นต้องถามคนอื่นด้วย
รื้อโผทหาร-ตำรวจทำได้ยาก
นายวิษณุกล่าวว่า จากนี้ต้องเรียก พล.อ.ประวิตรว่ารักษาราชการแทนนายกฯ พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์แล้วแจ้งว่าระหว่างนี้จะไม่มาที่ตึกไทยคู่ฟ้า จะไปปฏิบัติ หน้าที่ที่กระทรวงกลาโหม การประชุม ครม.ยังสามารถเข้าประชุมในฐานะ รมว.กลาโหม ขณะที่ พล.อ.ประวิตรแจ้งเช่นกันว่าจะไม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ตอนนี้ยังไม่สั่งการอะไร คงรอให้ท่านตั้งตัวก่อน จากการพูดคุยกับทั้ง 2 ท่านไม่มีใครตื่นเต้นตกใจ นอกจากนี้ ทราบว่าทีมกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์เตรียมการทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว และเชื่อว่าปมนี้จะไม่ลากยาวไปจนถึงช่วงการประชุมเอเปกคงรู้ดีรู้ชั่วกันก่อนแล้ว เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.ประวิตรสามารถรื้อโผแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพได้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า อย่าใช้คำว่ารื้อ แต่ให้ใช้คำว่าสามารถทำได้ เรื่องการแต่งตั้งทหารต้องผ่าน 7 คน ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ถ้า 7 คนนี้มาอย่างไรนายกฯก็รื้อไม่ได้ ส่วนการแต่งตั้งตำรวจต้องไปผ่าน ก.ต.ช. ที่เป็นการตั้ง ผบ.ตร.คนเดียว ผบ.ตร.คนเก่าและคนใหม่ต้องช่วยกันทำบัญชีด้วย ทั้งสองส่วนนี้นายกฯเป็นผู้ลงนาม
“ดอน” ลั่นไม่กระทบภาพลักษณ์
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อ ผู้รักษาการแทนนายกฯคือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ คนที่ 1 เมื่อถามว่าการประชุมเอเปกช่วงปลายปีจะสะดุดหรือไม่ นายดอนตอบว่า อยู่ที่ช่วงเวลาจากนี้ไปถ้าออกมาชัดเจนก่อนเดือน พ.ย. เมื่อเคลียร์จบแล้วก็ว่ากันไป เมื่อถามว่าจะมีผลต่อการลงนามหรือความน่าเชื่อถือกับต่างประเทศหรือไม่ นายดอนตอบว่า ไม่ ถ้าเป็นไปตามกระบวนการภายในที่ถูกต้องตามกฎหมายและวิถีทางก็เดินหน้าต่อ ผลออกมาเช่นนี้ไม่ได้ตกใจ เพราะรับทราบจากสื่อล่วงหน้าหมดแล้ว และในที่ประชุม ครม.มีการพูดคุยกัน มีแจ้งให้ทราบว่าอะไรเป็นอะไร รู้ล่วงหน้าในมุมว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรจะได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศหรือไม่ นายดอนตอบว่า ไม่เห็นมีปัญหา ที่ผ่านมาเวลาไปแทนนายกฯ หรือในนามรองนายกฯ ได้รับการต้อนรับสมเกียรติ
ปฏิบัติหน้าที่ รมว.กห.ตามปกติ
นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เคารพผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.เป็นต้นไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหมต่อไปตามปกติ ระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน และปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ ครม. ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารประเทศ และการปฏิบัติงานของข้าราชการ หรือการดำเนินนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังขอให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเชื่อมั่นในกฎหมายและหลักนิติธรรมของบ้านเมือง ที่จะช่วยให้ประเทศชาติสงบสุข
พท.-ก้าวไกลแต่งดำนายกฯเถื่อน
ช่วงเช้าที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พบว่า ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่แต่งชุดสูทสีดำเข้าประชุม อาทิ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด พรรคก้าวไกล นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นการไว้อาลัยให้กับการเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ฝ่ายค้านมองว่าต้องสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังทำหน้าที่ต่อไปไม่ลาออกจากตำแหน่ง
“พิธา” ห่วงสุญญากาศประเทศ
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่า ยังคงกังวลสุญญากาศการบริหารประเทศ และภาวะการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของนายกฯรักษาการ เพราะประชาชนกำลังเดือดร้อนจากหลายปัญหา โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศต้องการนายกฯที่ฉับไวกระฉับกระเฉง พรรคก้าวไกลเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว ไม่ประวิงเวลา กระบวนการวินิจฉัยไม่มีอะไรซับซ้อน น่าจะตัดสินได้เร็วกว่า 1 เดือน เช่นเดียวกับกติกาเลือกตั้งที่ต้องไม่ประวิงเวลา ให้สุญญากาศการเมืองสั้นลง เปิดทางให้ ส.ส.เลือกนายกฯตามบัญชีพรรคการเมือง หรือคืนอำนาจประชาชนผ่านการยุบสภา ช่วยพาประเทศพ้นวิกฤติ เมื่อถามว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์การเมืองขณะนี้ได้หรือไม่ นายพิธาตอบว่า ไม่ได้ เพราะจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนพายเรือในอ่าง ต้องกลับมามีนายกฯ ที่ยึดโยงประชาชนให้เร็วที่สุด
“โรม” เปรียบหนี “ตู่” ปะ “ป้อม”
นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พูดตรงไปตรงมาความรู้สึกแรกน่าจะยินดีกับประชาชนทุกคน แต่ความโชคร้ายคือตัวเลือกต่อไปที่จะมารักษาการแทน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่คิดว่า พล.อ.ประวิตรจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เพราะทั้ง 2 คนมีบทบาทสำคัญทำให้ประเทศเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยไม่ควรมีตัวเลือกแค่ พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร ประเทศไม่น่าจะหมดหวังเช่นนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัยที่เด็ดขาดสุดท้ายออกมา หากคำวินิจฉัยออกมาในลักษณะที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบ 8 ปีแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือต้องเลือกนายกฯคนใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร หากเลือกนายกฯใหม่ สิ่งที่ต้องฝากนายกฯคนใหม่ดำเนินการคือนำไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้ง ไม่ใช่มาเป็นนายกฯแล้วจะอยู่ครบวาระ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการ
ส.อ.ท.มองช่วยคลายตึงเครียด
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้บรรยากาศ หรือความตึงเครียดจากการชุมนุมบนท้องถนนคลี่คลายลง ให้ทุกฝ่ายไปตั้งหลักและรอคำวินิจฉัยตามกระบวนการ คาดว่าจะจบภายในเดือน ก.ย.นี้ ต้องไปรอลุ้นกันว่าจะเป็นอย่างไรในช่วง 1 เดือนนี้ การพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ ระหว่างนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรักษาราชการการแทนนายกฯ แม้อาจมีสภาพการประชุม ครม.ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถขับเคลื่อนนโยบายหรือทำงานได้ปกติ ไม่ส่งผลกระทบอะไร
“ศรีฯ” ยื่นฟัน กกต.ละเว้นหน้าที่
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายศรีสุวรรณกล่าวว่า กกต.ทำงานเช่นนี้ ถึงได้เห็นความวุ่นวายของบ้านเมือง ไม่อาจปล่อยให้ กกต.ลอยตัวอยู่เหนือกฎหมาย
14 องค์กรนิสิต-นศ.ไล่ไม่เลิก
วันเดียวกัน องค์กรผู้แทนนักศึกษา 14 องค์กร อาทิ นายกองค์การบริหารองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)บางเขน, มก.ศรีราชา, มก.กำแพงแสน, มก.สกลนคร, นายกองค์การนักศึกษา ม.ศิลปากร, ประธานสภานักศึกษา ม.อุบลราชธานี, ประธานคณะกรรมาธิการส่งเสริมประชาธิปไตยและความเท่าเทียม สภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต, ประธานคณะกรรมาธิการการเมืองและส่งเสริมประชาธิปไตย สภานักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ประธานสภานักศึกษา ม.มหิดล, นายกสโมสรนักศึกษา ม.มหิดล, ประธานสภานักศึกษา ม.ขอนแก่น, ประธานสภานักศึกษา ม.เชียงใหม่, นายกสโมสรนักศึกษา ม.เชียงใหม่ และประธานสภานักศึกษา องค์การนักศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกันออกแถลงการณ์ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ต้องสิ้นสภาพความเป็นนายกฯภายในวันที่ 23 ส.ค. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญองค์กรผู้แทนนักศึกษา 14 องค์กร ขอแสดงเจตจำนงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าอย่างไร จะเกิดอภินิหารทางกฎหมายหรือไม่ จะเกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมืองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ต้องคืนอธิปไตยให้กับประชาชนโดยทันที ไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น
ม็อบปักหลักชุมนุมสู้ไม่ถอย
ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มมวลชนอิสระ เครือข่ายราษฎร นำโดยนายโชคดี ร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินราษฎร และนางเงินตา คำแสน กลุ่มทะลุคุก ที่ปักหลักค้างแรมอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 23 ส.ค. เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่ง จนมาถึงช่วงสายของวันที่ 24 ส.ค.เป็นไปด้วยความเงียบเหงา เหลือมวลชนอยู่ในพื้นที่บางตา ขณะที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ชั่วคราว ส่วนตำรวจควบคุมฝูงชนและรถฉีดน้ำแรงดันสูงหรือจีโน่ ที่ประจำการอยู่ทางฝั่งสะพานชมัยมรุเชฐ ผลัดเปลี่ยนกำลังเฝ้าระวังเหตุการณ์ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว พากันส่งเสียงไชโยโห่ร้องพร้อมกับด่าทอสาปแช่ง แต่ยังคงไม่พอใจกับคำสั่งนี้ ต้องการให้ลาออกหรือยุบสภาเท่านั้น และยืนยันจะชุมนุมต่อไป จนเวลาประมาณ 15.00 น. พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผกก.สน.นางเลิ้ง เข้ามาเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่เปิดการจราจร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ประกาศลั่นไม่เอาทั้ง “ตู่-ป้อม”
กระทั่งเวลา 16.57 น. กลุ่มราษฎรไล่ตู่ คนแดงปฏิวัติ นำโดยนายวรเวช เปรมกมล ร่วมกับมวลชนประกาศเจตนารมณ์ “ไม่เอาประยุทธ์ ไม่เอาประวิตร ไม่เอารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร” อยู่ตรงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เริ่มเคลื่อนขบวนทั้งจักรยานยนต์และรถกระจายเสียงเข้ามาสมทบ ทำให้บรรยากาศบนถนนพิษณุโลกกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวต้อนรับกลุ่มที่เข้ามาเติมเต็มพื้นที่ จากนั้นเริ่มสลับกันขึ้นปราศรัย แสดงดนตรี รอผู้ชุมนุมที่จะทยอยเข้ามาสมทบในช่วงค่ำ ยืนยันจะชุมนุมแบบสงบไม่สร้างเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆที่นำมาสู่การถูกสลายการชุมนุม ส่วนที่บริเวณแยกนางเลิ้ง มีรถกระจายเสียงของกลุ่มแดงก้าวหน้า 63 ติดป้ายไวนิลภาพหน้า พล.อ.ประยุทธ์และข้อความ “นายกเถื่อน” มาจอดเปิดเพลงและเปิดปราศรัยเป็นจุดที่ 2 มีกำลังตำรวจ สน.นางเลิ้ง ทั้งในและนอกเครื่องแบบเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
ยุติชุมนุมก่อนจะบานปลาย
ต่อมาช่วงค่ำ บรรยากาศการชุมนุมของมวลชนอิสระที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มีวัยรุ่นทะลุแก๊สหลายสิบคนขี่จักรยานยนต์ทยอยเข้าพื้นที่ แกนนำผู้ชุมนุมพบวัยรุ่นบางส่วนนำ ดอกไม้ไฟเข้ามาเพื่อจะจุดยั่วยุเจ้าหน้าที่ จนต้องมีการห้ามปรามไว้เนื่องจากกำลังจะยุติการชุมนุม ขณะที่อีกกลุ่มรวมตัวหน้า ร.ร.ราชวินิตเข้าประชิดแผงรั้วเหล็กที่เจ้าหน้าที่วางแนวกันไว้ ก่อนจะปาถุงใส่สีข้ามแนวรั้วกั้นไปทางฝั่งสะพานชมัยมรุเชฐ ที่มีตำรวจควบคุมฝูงชนตรึงกำลังอยู่ จนถึงเวลา 19.52 น. นายโชคดี ร่มพฤกษ์ ประกาศยุติเวทีแจ้งว่าด้วยเหตุผลบางอย่างที่พูดไม่ได้ แล้วบรรเลงเพลงสุดท้ายเก็บอุปกรณ์เครื่องเสียงออกจากพื้นที่ทันที
ครช.รุกคืบร่าง รธน.ฉบับใหม่
อีกด้านเวลา 16.00 น. ที่หน้าศาลฎีกา คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะแถลง “เปิดคำวินิจฉัยฉบับประชาชน เหตุผลที่ประยุทธ์ไม่ควรอยู่อีกต่อไป” มีสาระสำคัญระบุว่า ปัญหาการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เกิดภายใต้ผลพวงของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชน ไม่ได้ทำให้ปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ทางออกของวิกฤตินี้ไม่ใช่เพียงคำตัดสินหรือการตีความกฎหมายตามหลักการเท่านั้น แต่ต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นกติกาของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่มาจากผู้มีอำนาจผู้หวังจะควบคุม ครอบงำ ครอบครองอำนาจ จากนั้นทางกลุ่มร่วมกันทำพิธีวางดอกไม้จันทน์และเผารูป พล.อ.ประยุทธ์ที่ถ่ายคู่กับ พล.อ.ประวิตรไปพร้อมกัน
ลูกแม่โดมบี้ถอนรากเผด็จการ
ช่วงเย็นที่หน้าอาคาร SC1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามพรรคคนธรรมศาสตร์ จัดเวทีปราศรัยเนื่องในโอกาส “ประยุทธ์ครบ 8 ปี” มีนักศึกษาหลายคนทั้งชายและหญิง สลับกันขึ้นปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ มีนักศึกษาเข้ารับฟังจำนวนมาก ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ชุดสายสืบ สภ.คลองหลวง นำกำลังกว่า 20 นายมาคอยสังเกตการณ์อยู่รอบบริเวณไฮไลต์ของงานคือการแสดงสัญลักษณ์ให้นักศึกษาร่วมกันเขียนข้อความด่า พล.อ.ประยุทธ์ลงในแผ่นผ้าขนาดใหญ่ นายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำไว้เยอะมาก โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 60 จุดเริ่มต้นคือ ส.ว.ยังอยู่ นั่นแสดงว่าคนในเครือข่ายสามารถขึ้นมาเป็นนายกฯได้ มีการวางกลไกต่างๆไว้มากมาย สิ่งที่เราจะดำเนินการต่อไปคือเสนอปฏิรูปการเมือง เช่น ปฏิรูป ส.ว. ปฏิรูปการกระจายอำนาจ ปฏิรูปกองทัพ และยกเลิก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ จากนี้จะกดดันให้ฝ่ายการเมืองร่วมเสนอการปฏิรูปที่เราเรียกร้อง
แขวะ “ตู่” ตาขาวไม่เข้าทำเนียบฯ
ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นอดีตนายกฯไปแล้วเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 158 (4) ห้ามเป็นนายกฯเกิน 8 ปี หากไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 263 พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯครั้งแรกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาตราดังกล่าวรองรับว่า สนช.ปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร และมาตรา 264 รองรับคนที่เป็นรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้เป็น ครม.ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหลังเที่ยงคืนวันที่ 23 ส.ค. โดย ครม.หลุดทั้งคณะไปแล้ว เพราะหัวหน้ารัฐบาลขาดคุณสมบัติ ต่อจากนี้ให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงประชุมร่วมกัน เลือกปลัดกระทรวง 1 คน ทำหน้าที่แทนนายกฯ ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าทำเนียบฯ เพราะกลัวม็อบที่เกิดจากประชาชนไม่ยอมรับ กลัวตายขี้ขลาด มีตาขาวมากกว่าตาดำ
รบ.ย้ำสภาผ่านงบฯคุ้มค่าแน่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ขอบคุณสภาฯที่ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลยืนยันจะใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยงานเป็นสำคัญ นายกฯยินดีรับข้อสังเกตข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 66 และ ส.ส.ทุกคนเพื่อพิจารณาปรับปรุงให้ใช้จ่ายงบอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เรืองไกร” ยื่นศาลตีความงบฯ 66
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 66 กล่าวว่า ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ในชั้น กมธ.ขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 99 วรรค 2 ข้อ 100 และ 101 หรือไม่ ในประเด็นที่พบว่าการเสนอคำแปรญัตติของ ส.ส. 175 คน ทำไม่ถูกต้อง ไม่ยอมมาเสนอคำขอแปรญัตติด้วยตัวเองในที่ประชุม กมธ. แต่มอบให้บุคคลอื่นเสนอคำแปรญัตติแทน ทำให้ผู้แปรญัตติไม่มีสิทธิอภิปรายในที่ประชุมสภาฯได้ ไม่ชอบในกระบวนการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยพิจารณา พ.ร.บ.งบฯปี 63 ว่ากระบวนการพิจารณาไม่ชอบ หากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาและวินิจฉัยตามแนวทาง สภาฯต้องย้อนไปพิจารณาชั้น กมธ.ตัดส่วนคำแปรญัตติที่ทำไม่ถูกต้องออก และลงมติวาระ 3 อีกครั้ง
“วิษณุ” แจงไทม์ไลน์ ก.ม.ลูก
อีกเรื่องนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า เมื่อ กกต.ตอบกลับมาว่าไม่ติดใจอะไร ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้รัฐสภาเก็บเอาไว้ 3 วัน กรณีอาจมีใครไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เริ่มนับหนึ่งในวันที่ 24 ส.ค. หลังเก็บไว้ 3 วันแล้วส่งมาให้รัฐบาลเก็บไว้อีก 5 วัน เผื่อมีใครยื่นศาลรัฐธรรมนูญครบ 5 วัน สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ แต่ต้องไม่เกินภายใน 20 วัน ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ใช่ ไม่แปลก