ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางฐานทุนที่แข็งแกร่ง การรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรที่ดี สภาพคล่องที่เข้มแข็ง และแหล่งรายได้ที่กระจายตัวจากประเทศกัมพูชาและลาว ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของบริษัทคือคุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มที่อาจจะลดลงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ในขณะเดียวกัน การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดภายในประเทศที่อาจส่งผลกดดันต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการปรับเพิ่มขึ้นของอัตรารายได้ดอกเบี้ยสุทธิของบริษัทในระยะปานกลางอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้จะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งมาก
บริษัทมีระดับฐานทุนในระดับที่แข็งแกร่งมาก และยังคงเป็นจุดแข็งที่สนับสนุนอันดับเครดิตจากการที่บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่งกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ โดยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ที่ระดับ 68.8% ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้นจากระดับ 56.1% ณ สิ้นปี 2563 ฐานทุนที่ปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สินเชื่อของบริษัทปรับตัวลดลงผนวกกับกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวลดลงในอนาคตหากบริษัทเริ่มกลับมาขยายฐานสินเชื่ออีกครั้งตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ระดับฐานทุนในปัจจุบันของบริษัทน่าจะเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะเวลาหลายปีข้างหน้าโดยไม่กระทบต่อระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท นอกจากนี้ ฐานทุนที่มีความแข็งแกร่งของบริษัทยังช่วยรองรับค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ถดถอยลงได้อีกด้วย
สถานะทางการตลาดภายในประเทศที่อ่อนแอลง
ด้วยกลยุทธ์การเติบโตแบบระมัดระวังของผู้บริหารและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทำให้สินเชื่อรวมของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสู่ ระดับ 4.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 จากประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 โดยสินเชื่อรวมในประเทศอยู่ในระดับ 3.2 พันล้านบาทซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม บริษัทเริ่มกลับมาขยายธุรกิจในช่วงสองไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งสินเชื่อรวมคงค้างมีอัตราการเติบโต 6.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 เมื่อเทียบกับระดับต่ำสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกครั้งตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
บริษัทยังคงมีสถานะทางธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่งหลายรายเมื่อพิจารณาจากการกระจายตัวของธุรกิจ กล่าวคือ ในแง่ภูมิศาสตร์ บริษัทมีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมไปถึงที่ขยายไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) บางประเทศ เช่น กัมพูชาและลาว บริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศคิดเป็น 27% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 21% ในปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าการเติบโตขอธุรกิจในต่างประเทศจะเป็นหนึ่งในตัวเร่งการเติบโตของสินเชื่อรวมของบริษัทใน 2-3 ปีข้างหน้า
คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิตของบริษัทและคู่แข่ง คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ทำธุรกิจเช่าซื้อจักรยานยนต์มีความอ่อนแอกว่าธุรกิจสินเชื่ออื่น ๆ จากระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการตัดหนี้สูญที่อยู่ในระดับที่สูง จากการเติบโตแบบระมัดระวังของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาช่วยทำให้คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวลดลงเป็น 6.1% จากอัตราสูงสุดที่ 9.2% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเกิดจากอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทมีการปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4%-5% ในปี 2564 และไตรมาสแรกของปี 2565 จากค่าเฉลี่ยที่ระดับ 10% ในอดีต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อาจจะเพิ่มขึ้นจากการกลับมาขยายธุรกิจมากยิ่งขึ้นท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
การปรับตัวที่ดีขึ้นในคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเห็นได้จากการลดลงของอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทที่ลดลงสู่ระดับ 3.2% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 และ 5.3% ในปี 2564 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่มากกว่า 10% ในอดีต ซึ่งเกิดจากการปรับตัวลดลงของอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการลดลงของค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทำให้ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อรวมของบริษัทลดลงเป็น 7.2% และ 8.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 และ ณ สิ้นปี 2564 ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทก็ปรับตัวลดลงเป็น 118.2% จาก 120.4% ณ สิ้นปี 2564 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านคุณภาพสินทรัพย์ แต่การที่สภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงที่ถดถอยเป็นเวลานานก็อาจจะส่งผลกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทและต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้อันเนื่องมาจากต้นทุนด้านเครดิตที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น
มีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
การมีแหล่งเงินทุนและสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นผลบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากแผนการขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวังของบริษัท โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินสดในมืออยู่ที่ 2.5 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 2561 ที่บริษัทมีเงินสดในมือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100-200 ล้านบาท ทั้งนี้ เงินสดในมือของบริษัทน่าจะเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้าโดยไม่จำเป็นต้องกู้ยืมใหม่
นอกจากการมีเงินสดจำนวนมากแล้ว ความจำเป็นในการใช้เงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัทลดลงตั้งแต่ปี 2562 จากการชะลอตัวลงของการขยายธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทใช้ฐานทุนเป็นหลักในการขยายธุรกิจและชำระหนี้สินที่คงค้างเมื่อครบกำหนด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 เงินกู้ยืมในประเทศคงเหลืออยู่เพียง 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2565 โดยจะได้รับการชำระคืนจากเงินสดในมือ ทั้งนี้ ในปี 2564 สัดส่วนโครงสร้างเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยหนี้สินระยะยาวจำนวน 2% หนี้สินระยะสั้นจำนวน 11% ซึ่งจากสัดส่วนของหนี้สินระยะสั้นนี้เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีที่ระดับ 10% และส่วนที่เหลือเป็นส่วนทุนที่ระดับ 86% บริษัทประเมินว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดรับสุทธิจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านบาทต่อเดือนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
การแข่งขันที่รุนแรงและเพดานอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อและกดดันต่อความสามารถในการทำกำไร
ในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยและการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์และการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวลดลง 11.8% และ 1.7% ในปี 2563 ซึ่งในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ระดับสินเชื่อรวมของผู้ประกอบการ 8 รายใหญ่ในฐานข้อมูลทริสเรทติ้งค่อนข้างคงที่ ถึงแม้ว่าความต้องการรถจักรยานยนต์ในปีนี้จะมีอยู่ในระดับสูง แต่การขาดตลาดของรถจักรยานยนต์ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์เติบโตแค่ 3% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ในด้านการปล่อยสินเชื่อ นโยบายการอนุมัติสินเชื่อมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นจากคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ปรับตัวอ่อนลงทำให้การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ยังคงเข้ามาในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ดังนั้น การแข่งขันจึงยังคงรุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค จึงมีการพยายามผลักดันกฎหมายการควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยกฎระเบียบการควบคุมที่จะคาดว่าจะประกาศในไม่ช้านี้มีแนวโน้มที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30% ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของสินเชื่อและความาสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
? สินเชื่อคงค้างจะเติบโตโดยเฉลี่ยที่ระดับประมาน 15%-20% ต่อปี
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับมากกว่า 40%
? อัตราผลตอบแทนของรายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะลดลงต่ำกว่า 29%
? ต้นทุนทางเครดิตจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 8%-9% ต่อปี
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ในระดับประมานมากกว่า 55%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะค่อย ๆ กู้คืนสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์กลับมาได้ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีอัตราส่วนการก่อหนี้ในระดับต่ำ โดยมีสภาพคล่องและความสามารถในการทำกำไรที่ยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์จะยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีข้อจำกัดในระยะสั้น ในขณะที่โอกาสในระยะยาวนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถกลับมามีสถานะเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ได้อีกครั้งโดยยังสามารถรักษาผลการดำเนินงานทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากสถานะทางการตลาดของบริษัทอ่อนแอลงมากกว่าเดิม หรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงถ้าการควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยทำให้ความสามารถในการทำกำไรถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งพิจารณาได้จากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่ลดลงต่ำกว่า 1.5% หรือระดับการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงซึ่งลดลงต่ำกว่าระดับ 25%
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) (TK)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html