หมายเหตุ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สัมมาชีพกับประเทศไทย หัวใจในการขับเคลื่อนประเทศ” ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565
เวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่ผมไม่เคยพูดหรือบรรยายในที่สาธารณะใดๆ เลย นับแต่พ้นจากการเมืองมา ตั้งใจไว้ว่าเมื่อพ้นแล้วก็ให้พ้นเลย ขอใช้ชีวิตอย่างประชาชนเต็มขั้น และเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของตนเองจะได้เห็นลูกหลานเติบโตต่อไปได้นานๆ ความตั้งใจของผมต้องมาสะดุด เมื่อทางมูลนิธิได้ติดต่อมา บอกว่าขอให้มาบรรยายสักครั้งให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เห็นหน้า และเพื่อให้เป็นเกียรติกับท่านประธานที่กำลังหมดวาระลง ครับ ผมจึงตัดสินใจมาในวันนี้ อย่าถือว่าเป็นปาฐกถาอะไรเลย เป็นการมาพูดคุยกันในฐานะสมาชิกของสัมมาชีพก็แล้วกัน
เมื่อสิบกว่าปีก่อน หลังจากพ้นจากการเมืองครั้งแรกในปี 2549 ผมได้ตั้งมูลนิธิขึ้นมา 2 มูลนิธิ โดยร่วมกับน้องๆ และลูกศิษย์ลูกหา คือมูลนิธิอนาคตไทยศึกษา และมูลนิธิสัมมาชีพ ในเวลาใกล้เคียงกัน มูลนิธิหนึ่งมุ่งหวังจะให้เป็นแหล่งระดมความคิดดีๆ จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ อีกมูลนิธิหนึ่งเพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมฐานรากให้เข้มแข็ง
ทั้งสองมูลนิธินี้ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากคำแนะนำจากท่านอาจารย์ประเวศ (วะสี) ทั้งสิ้น
ยังจำได้ว่าท่านบอกผมว่าบ้านเราขาด think tank สมคิดรู้จักคนในหลายวงการ ให้ระดมมาช่วยกัน ในขณะเดียวกันท่านก็บอกกับผมว่า การทำให้ภาคประชาชนให้เข้มแข็ง มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและช่วยลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ภาคประชาชนได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็มีข้อจำกัดทั้งเรื่อง know how ทั้งเรื่องกลไกการบริหารจัดการสมัยใหม่ ควรจะต้องให้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมาสนับสนุน นั่นคือที่มาของมูลนิธิสัมมาชีพ และท่านก็ได้กรุณามาเป็นประธานที่ปรึกษาและท่านก็ให้ความกรุณาอัดวิดีโอมาให้พวกเราฟัง ท่านอายุ 91 แล้ว พบท่านเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังแข็งแรง ก็ขอให้ท่านมีสุขภาพดี คนที่เป็นปราชญ์ที่แท้ ไม่ใช่ประเภทลักจำ ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ ยิ่งคนดีที่สามารถรักษาความดีอุทิศตนให้กับสังคมโดยไม่เสื่อมตลอดทั้งชีวิตนั้น ยิ่งหาได้ยากใหญ่
ผมห่างการเมืองและหน้าที่ความรับผิดชอบไป 2 ปี ใน 2 ปีมานี้ แม้ไม่ยาวนานนัก แต่มีหลายสิ่งที่ได้เกิดขึ้นและมีพัฒนาการไปในทิศทางที่น่าห่วงใย ผมใคร่จะขอใช้โอกาสนี้หยิบยกมาเพียงบางประเด็นที่คิดว่าพวกเราคนไทย ควรจะตระหนักและช่วยกันดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ
ในประการแรก ผมรู้สึกว่าโลกที่เราอยู่นี้มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้นทุกขณะ เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอนหนาแน่นขึ้นมาก จนยากที่จะจินตนาการอนาคตให้ชัดเจนได้
ภาวะโรคระบาดโควิดซึ่งเริ่มมากว่า 2 ปีแล้ว เคยคาดว่าโลกจะควบคุมมันได้ หากเราค้นพบวัคซีนที่ดีและเร่งอัตราการฉีดวัคซีนได้มากพอ มาวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววจะยุติมันได้ จนแทบทุกประเทศต้องยอมที่จะอยู่กับมันเพราะเกรงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น หากยังคงใช้แนวทาง lock down ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงมาก ทั้งด้าน demand และ supply จนเกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจ สถานะการเงินการคลังของประเทศ ผู้คนตกงานสร้างความยากจนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า การประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแท้จริงคือการยกธงขาว จำต้องเปลี่ยนแนวทางรับมือ ประเทศส่วนใหญ่ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่สามารถจะรับมือไหว จึงต้องอยู่กับมัน และรับมือด้วยวิธีการบริหารจัดการที่ดีพอ นั่นคือการพัฒนาและจัดหาวัคซีนที่เพียงพอ ความพร้อมของหน้ากากอนามัย การตรวจเชิงรุก และมียาพร้อม หากคนไข้มีอาการหนัก มีสถานรักษาที่เพียงพอ หากต้อง lock down ก็ทำเฉพาะจุดไป เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินไปได้
แต่ในประเทศที่วัคซีนไม่พร้อม อัตราการฉีดต่ำ ไม่ตรวจหาเชิงรุก ยาไม่พร้อม สถานพยาบาลไม่พอ แล้วประกาศเป็นโรคประจำถิ่นโดยไม่มีแผนการรองรับ ก็คือสภาวะตัวใครตัวมัน พลาดก็ติด แข็งแรงก็รอด หากอ่อนแอก็ตาย จะมีก็จีนนี่แหละที่ฮึดสู้ เพราะเขามั่นใจในฐานะทางการเงินการคลัง ความสามารถพึ่งตนเอง ไม่ต้องง้อใคร และระเบียบวินัยในประเทศก็เข้มแข็งพอ จึงต้องการกำจัดการระบาดให้ต่ำสุด เพราะรู้ว่าการระบาดของโรคนั้น หากคุมไม่ได้มันจะจบที่ความระส่ำระสายทางการเมืองซึ่งเขายอมไม่ได้ โลกภายใต้สภาพการณ์ที่การระบาดและการกลายพันธุ์ยังไม่นิ่ง ไม่มีวัคซีนที่ชะงัดพอ ย่อมทำนายอนาคตได้ยากมาก
ภาวะสงครามที่เกิดขึ้นที่ยูเครน ก็ยากที่จะคาดเดาผลบั้นปลาย เพราะผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองโลกอย่างใกล้ชิด จะรู้ว่ามันไม่ใช่สงครามที่เกิดเพราะอุบัติเหตุ ที่ทุกฝ่ายจะเร่งยุติก่อนลุกลาม แต่กรณียูเครนเกิดโดยตั้งใจและอย่างมีเป้าหมาย ตราบใดที่เป้าหมายไม่บรรลุ อย่าเพิ่งนับศพทหารและพลเรือน ฉะนั้น ผลทางเศรษฐกิจที่จะตามมานั้นยังต้องดูกันต่อไป ตอนนี้เราเห็นราคาพลังงาน และภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน การค้าโลกที่จะชะลอตัวลงแน่นอน กระทบทั้ง growth และ stability แต่ผลสงครามต่อสภาพสังคมและการเมืองของแต่ละประเทศ กำลังจะตามมา และที่สำคัญที่สุดไม่มีใครแน่ใจได้ว่าสงครามใหญ่จะไม่ปะทุ เพราะยูเครนเป็นเพียงหมากการเมืองหนึ่งเท่านั้นในแผนภูมิของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังเปลี่ยน
New establishment กำลังมา ขณะที่ old establishment ไม่ยินยอม เราทำนายได้ยากว่าจะจบที่ตรงไหน เมื่อไร แต่ช่วงเวลาจากนี้ stability เกิดยาก
instability จะมาแทน growth ความท้าทายคือ จะบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้มี stability และมี growth พอพยุงเศรษฐกิจและการจ้างงาน
Instability ที่น่ากังวลที่สุดคือ instability ทางสังคมและทางการเมืองที่จะตามมา เพราะผู้จะถูกผลกระทบหนักที่สุดจากปัญหาเศรษฐกิจคือคนที่ยากจน ที่ต้องเผชิญการตกงาน ปัญหาข้าวยากหมากแพง การแก้ปัญหาที่ไม่ทันการ ย่อมสั่งสมความไม่พอใจและความโกรธแค้น เป็นชนวนอย่างดีต่อการปลุกกระแสสังคมและการเมือง เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมสูง หากภาวการณ์โรคระบาดและภัยสงครามยังไม่นิ่ง instability ทางสังคมและการเมืองจะเป็นสิ่งที่ตามมา บางประเทศโดยเฉพาะ emerging countries ที่อ่อนแออาจเริ่มประสบปัญหาจากปริมาณหนี้และความผันผวนทางการเงิน อนาคตจึงไม่อาจจินตนาการได้ ที่บอกว่าเราอยู่ใน new normal ยังครับ ขณะนี้ที่แน่ๆ คือไม่ normal ไม่รู้จะไปถึงจุดไหนจึงจะเป็น new normal ต้องระมัดระวัง
ข้อห่วงใยประการที่สอง เราต้องตระหนักว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังเผชิญภาวะที่ไม่ปกติ ให้ตระเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจหนักกว่าเดิม:
เหตุการณ์ covid ที่ผ่านมา 2 ปีเต็ม ได้ทำให้สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ เข้าสู่จุดที่ตึงตัวเป็นอย่างยิ่งจากภาวะความจำเป็นในการกู้ยืม การใช้จ่ายเพื่อการดูแลประชาชนและประคองเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่การหารายได้มีข้อจำกัด แน่นอน
ย่อมทำให้สถานะการเงินการคลังของประเทศเปราะบางลง และยิ่งสถานการณ์ยังไม่จบ และอาจเผชิญแนวโน้มที่จะหนักกว่านี้ เพราะมี global inflation มาซ้ำเติม เราต้องตระหนักเลยว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ การบริหารจัดการจะต้องเป็นการบริหารในภาวะวิกฤตจริงๆ
จะทำอย่างไรที่จะให้เงินกู้ยืมและการใช้จ่ายไม่เพียงเป็นการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นการบริโภค แต่ต้องสามารถกอบกู้ให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ ธุรกิจกลับมาเดินต่อได้เพื่อให้คนมีงานทำมีรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่เข้าไม่ถึงทุน ต้องล้มหายตายจากไป การอาศัยกลไกของธนาคารชาติและธนาคารพาณิชย์ในสถานการณ์ปกติไม่สามารถไปถึงพวกเขาได้ การสร้างกลไกนอกรูปแบบจะเป็นสิ่งท้าทายและจำเป็นมาก
สถานการณ์ทางการคลังที่นับวันแต่จะตึงมากขึ้นอันเนื่องมาจากภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วงขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องบริหารทรัพยากรอย่างบูรณาการ ไม่แยกส่วน การจัดลำดับความสำคัญ และความจำเป็นจะต้องมาก่อน การ review และจัดสรรงบประมาณจะสำคัญที่สุด จริงๆ แล้วการจัดทำงบประมาณ รัฐบาลมี 4 สถาบัน ประกอบด้วย คลัง แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ การจัดสรรต้องเป็นการจัดสรรในยามวิกฤต จะต้องมีชุดพิเศษเพื่อบริหารจัดการเป็นพิเศษ การบริหารการเงินการคลังจะต้องให้มั่นใจได้ว่าทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้นั้นคุ้มค่า จะสามารถขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าได้ และสามารถสร้างรายได้กลับมาในอนาคต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถฟื้นสภาวะการเงินการคลังของประเทศในอนาคต 4 สถาบันต้องเข้มแข็งและกล้านำเสนอรัฐบาลในแนวทางที่เชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่สุด ไม่ต้องสนใจงบผูกพัน อะไรไม่จำเป็นให้ชะลอหรือยกเลิก และต้องระมัดระวังมือที่มองไม่เห็นมาใช้กลไกงบประมาณในยามวิกฤตเช่นนี้ไปเพียงเพื่อผลทางการเมือง
ภาวะข้าวยากหมากแพงโดยเฉพาะการทะยานของราคาแม้จะมาจากปัจจัยภายนอก แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่จริงจังเด็ดขาด มีเจ้ามือรับผิดชอบ และด้วยความร่วมมือกับเอกชน จึงจะช่วยลดการทะยานอย่างไร้ขอบเขต หรือเกิด spiral inflation จนยากจะดึงกลับมาได้การบริหารจัดการ การเฉลี่ยทุกข์สุข และสื่อสาร บวกความกล้าที่จะตัดสินใจ
รัฐบาลจากวันนี้จะต้องเป็นรัฐบาลภายใต้ภาวะวิกฤต เพื่อให้ชาติรอดไม่ใช่รัฐบาลรอด ยิ่งในสถานการณ์ที่ทุกอย่างยังไม่จบ การบริหารจัดการอย่างรอบคอบและตระเตรียม for the worse เป็นสิ่งจำเป็น
สมมุติสงครามลากยาว โควิดไม่จบ ดอกเบี้ยสูง และยังจะขึ้นอีก เงินเฟ้อก็สูงตาม และถึงแม้คุณจะคุมระดับราคามิให้ทะยานโดยไร้เหตุผล แต่ต้นทุนการผลิต และระดับราคาจะลดลงในเร็ววันหรือ คงจะยากกระมัง กระแสการสวนโลกาภิวัตน์เพื่อความมั่นคงปลอดภัย โดยดึงฐานการผลิตกลับบ้านย่อมทำให้ต้นทุนสูง
Supply chain ที่ติดขัด วัตถุดิบในการผลิตที่แพงขึ้น จะลดลงในเร็ววันหรือ ผมเชื่อว่าชาติที่อยู่รอดจะเป็นชาติที่เตรียมการล่วงหน้า หนึ่งต้องพยายามให้พึ่งตนเองได้มากที่สุด โดยเฉพาะอาหารและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ สอง ต้องหาทางปรับกระบวนการผลิต ปรับประเภทวัตถุดิบ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง สาม พยายามหาแหล่งพลังงานราคาถูกสี่ ตระเตรียมงบพิเศษยามจำเป็น โดยเฉพาะการช่วยเหลือคนยากจน เพราะเขาจะลำบากที่สุด เราไม่ได้มองในแง่ร้าย แต่เราต้องเตรียมตัว ครับ ผมย้ำแล้วย้ำอีกว่าตระเตรียมเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่า และอาจต้องเลิกฝันหวานว่าโลกจะกลับมาเหมือนเดิมในเร็ววัน
เพราะไม่รู้ปัญหาจะจบลงเมื่อไร แต่รู้จากนี้สิ่งที่ต้องเจอก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานจะมีน้อย เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เห็นชัดแล้วมาทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้ว ผมไม่ได้โทษรัฐบาล และไม่โทษใครทั้งนั้น แต่จะชี้บอกว่า ระดับราคาที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากพลังงานและอาหาร รวมทั้งโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะโดยสาเหตุใดก็แล้วแต่ แม้ว่ามันจะมาจากปัจจัยภายนอก แต่จะต้องบริหารจัดการให้ดี ไม่มีคำลอยตัวอิสระ (free flow) เพราะถ้าไม่ดูแลให้ดีๆ ก็จะเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง (spiral inflation) แล้วจะดึงลงมาได้ลำบาก ประเทศก็จะเสียหาย
ดังนั้น ลักษณะของการดูแลบริหารจัดการ ทุกอย่างนั้นมีคำตอบ มีทางออก บางฝ่ายกระทบมาก และบางฝ่ายอาจกระทบน้อย ต้องมีการพูดจาและทำความเข้าใจ ให้รู้ว่าบ้านเมืองต้องมาก่อน ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องพลังงาน นั้นมีตัวแปรอยู่ไม่กี่ตัว เรื่องวัตถุดิบ เรื่องของสูตรการผสม เรื่องค่าการตลาด ภาษี และการอุดหนุน สิ่งเหล่านี้จะปล่อยเรื่องไปไม่ได้ จะต้องเข้าไปบริหารจัดการ สิ่งที่เคยทำให้ภาวะปกติ จะมาใช้กับตอนนี้ไม่ได้ ทุกอย่างจะเป็นไปอัตโนมัติอย่างเดิมไม่ได้ เมื่อมีการกระทบ ต้องดูว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร
เพราะฉะนั้น ภาวะเงินเฟ้อ (inflation) เป็นภาวะที่หลายชาติกลัวมาก ของเรายังถือว่ายังขึ้นไม่เท่าไร ยังอยู่ที่กว่า 4% ในขณะที่บางประเทศทะลุ 10% ไปแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาไม่กลัวเรื่องการขยายตัวการเติบโตเท่าไร เพราะสามารถผลิตธนบัตรได้เอง แต่สิ่งที่กลัวคือ ภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่ขึ้นมาแล้วอาจจะสูงขึ้นไปอีก และนี่คาดสิ่งที่คาดคะเนได้
หนทางของเศรษฐกิจนั้น เห็นแล้วว่าน่าเป็นห่วง แต่มันยังไม่จบ ถ้าเกิดต้นทุนการผลิตไม่ลด ขึ้นไปแล้วไม่ยอมลง เพราะขณะนี้กระแสที่เข้ามา อย่างภาวะโลกาภิวัตน์ ภาวะภัยสงคราม มีการหยุดชะงักของห่วงโซ่ธุรกิจ (ซัพพลายเชน) อนาคตอาจมีการดึงฐานการผลิตกลับประเทศตนเอง ต้นทุนก็จะสูงขึ้นแน่นอน ด้านวัตถุดิบ อินเดียไม่ส่งออกข้าวสาลี อินโดนีเซียไม่ส่งปาล์ม เห็นแล้วว่าทุกประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เชื่อเลยว่าชาติที่รอดได้ ก็คือต้องคิดยืนด้วยขาตัวเองก่อน มีอาหารและสิ่งจำเป็นต่างๆ ซึ่งดีที่ไทยเป็นประเทศการเกษตร เลยมีความอุ่นใจบ้าง แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน
อีกเรื่อง แหล่งพลังงานที่สำคัญและราคาถูก จะหาเพิ่มได้หรือไม่ การตระเตรียมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ในภาวะที่ราคาน้ำมันสูง แม้ว่ารัฐบาลจะควบคุมราคาได้ในระดับหนึ่ง โดยคนที่เดือดร้อนคือคนจน ดังนั้น การตระเตรียมทรัพยากรบางส่วน เพื่อช่วยเหลือคนจน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่เช่นนั้น บ้านเมืองจะวุ่นวาย และการเมืองจะมีปัญหา เพราะจะมีความโกรธแค้น ความไม่พอใจ เพื่อความไม่ประมาท จึงต้องมีการเตรียมตัว รองรับในสถานการณ์ที่จะอาจจะแย่ลง
นี่คือสถานการณ์ไม่ปกติ ดังนั้นต้องใช้การบริหารจัดการแบบไม่ปกติ ผมไม่อยากใช้คำว่าวิกฤต พูดแล้วทำให้ขวัญเสียเอาเป็นว่าเป็นช่วงที่ต้องมีความเข้มข้นในการดูแลและเอาใจใส่ ไม่เพียงแค่รอฟังจากข้าราชการ ซึ่งถูกคุมเข้มด้วยกฎระเบียบ และนี่คือข้อห่วงใย ที่ผมอยากจะฝากถึง เพราะนี่คือความเปราะบาง ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ข้อห่วงใยประการที่สาม สถานการณ์โลกได้ส่งผลให้ปัจจัยภายนอกที่เคยเป็นแรงลมค้ำจุนหนุนส่งเศรษฐกิจไทยอ่อนตัวลง และยากจะฟื้นตัวในเวลาอันสั้น จำเป็นต้องสร้างพลังเศรษฐกิจจากภายในโดยเร่งด่วน
สถานการณ์ของโควิด และผลกระทบจากภัยสงคราม มีผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แน่นอนที่สุดการค้าโลก การลงทุนและท่องเที่ยวจะไม่เหมือนเดิม ในอดีตเราพึ่งพาปัจจัยภายนอกมาอุ้มชูเศรษฐกิจของเรา เพราะง่ายต่อการสร้างการเติบโตและมั่งคั่ง แต่ความเป็นจริงตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 1-12
ความมั่งคั่งไม่เคยกระจายถึงฐานราก ยิ่งวัน ช่องว่างยิ่งถ่างกว้าง อำนาจซื้อภายในจึงไม่เพียงพอกับเป้าหมายการเติบโต ทำให้ไทยยังคงพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกมาโดยตลอด แต่วันนี้แรงลมหนุนจากภายนอกอ่อนแรง ในขณะที่เศรษฐกิจเราอ่อนตัว คนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ ทางเดียวที่จะช่วยได้คือการเร่ง shift mode ให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกับการสร้างเศรษฐกิจภายในให้เต็มที่และจริงจัง จริงๆ แล้วต้องถือว่าเป็นโอกาสที่จะปรับโหมดเชิงนโยบายเพื่อสร้างพลังระเบิดจากภายใน อะไรที่เคยเป็นอุปสรรค ต้องใช้โอกาสนี้ขจัด เพราะการสร้างเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็งได้ สิ่งสำคัญคือ
1) จุดโฟกัสของกิจกรรมเศรษฐกิจไม่ใช่จากภายนอกอย่างเดียว แต่มาจากภายในด้วยไม่ใช่อาศัยแรงซื้อจากส่ง แต่ด้วยการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจภายใน การท่องเที่ยวไม่ใช่นั่งรอต่างประเทศ แต่เร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวจากภายใน การท่องเที่ยวทั้งจากนอกและในต้องให้ลงลึกเชื่อมโยงการพัฒนาชุมชน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่เพียงให้มาลงทุนเพื่อส่งออก แต่ลงทุนให้ภายในเข้มแข็งทั้งเศรษฐกิจและสังคม 2) การกระจายอำนาจบริหาร และการคลัง ออกจากส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณ ยังมีอุปสรรคเรื่องกฎระเบียบอีกมากต้องขจัด 3) แต่ละจังหวัด ไม่ใช่เป็นเพียงการแยกอาณาเขต แต่จะต้องเปลี่ยนให้แต่ละจังหวัดเป็นเครื่องยนต์ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ กระทรวงมหาดไทย และการบริหารส่วนท้องถิ่น คือผู้พัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างพอเพียงจากส่วนกลาง 77 จังหวัด จะกลายเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดยักษ์ แน่นอนที่สุด ตั้งแต่ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ลึกลงไปถึงผู้นำหมู่บ้าน จะต้องเป็นนักพัฒนา และมีความเข้าใจทางเศรษฐกิจและการบริหาร ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ปกครอง
4) การขับเคลื่อนต้องเน้นเชิงบูรณาการ ไม่แยกส่วน ทั้งการผลิต และการสร้างมูลค่า การท่องเที่ยว สาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้ง โดยร่วมกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเราแยกส่วน ซ้ำซ้อน และขาดงบประมาณที่เพียงพอ เราจึงเห็นความเจริญมาที่ส่วนกลางมากกว่าท้องถิ่นในแต่ละภาคทั้งๆ ที่เขามีศักยภาพ
หากเราจริงจัง เร่งปรับ mode เร่งขจัดอุปสรรค นี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจท้องถิ่น และลดช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียม
ข้อห่วงใยประการที่สี่ ผมเห็นแนวโน้มความสามารถการแข่งขันที่เริ่มลดลงโดยลำดับ เรารู้ว่าเรายังต้องอาศัยการส่งออก แต่หลายอุตสาหกรรมของเรากำลังถดถอย เป็นที่คาดการณ์ว่า ในไม่ช้าความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ของเราก็กำลังจะไป เพราะรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแทน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเราขาดความพร้อมโดยเฉพาะแบตเตอรี่ อีกทั้งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับตัวช้า ในขณะที่ประเทศอย่างอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกว่า มีแนวโน้มเศรษฐกิจดี และมีวัตถุดิบจะใช้ผลิตแบตเตอรี่ ภาวะอุตสาหกรรมเก่ากำลังถดถอยแต่อุตสาหกรรมใหม่ยังไม่ปักหลักฐานแน่นหนาพอ เราได้ปักหมุด 4.0 เรากำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ new s-curve แต่สิ่งเหล่านี้จะมา EEC คือแม่เหล็กสำคัญที่จะดึงการลงทุนใหม่ แต่ดูเหมือน EEC ขณะนี้เหมือนรถขาดน้ำมัน ไม่รู้ว่าใครดูแล โครงการใหญ่ติดขัด แหลมฉบัง มาบตาพุด อู่ตะเภา ก็ไปได้ช้า หลับตาก็เห็นภาพ ใครจะแก้ไข
ทุกคนตระหนักดีว่าในยุคดิจิทัล การพัฒนาคนและเทคโนโลยีสำคัญที่สุดต่อความสามารถแข่งขันของประเทศ
การแข่งขันทางเศรษฐกิจนั้น ประเทศไม่ได้แข่ง แต่ภาคเอกชนคือผู้เล่นสำคัญ เอกชนในยุคดิจิทัล player จะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ไม่ใช่รายใหญ่อีกต่อไป เทคโนโลยีสร้าง platform สร้างความสามารถให้กับปัจเจกบุคคล หรือ new start up ให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่จะเจาะเข้าไปแข่งขันในตลาดโลก รายใหญ่คือข้อยกเว้น ประเทศไม่อาจรอรายใหญ่ไม่กี่ราย แล้วคนส่วนใหญ่เป็นแค่ salary man คงไม่ได้ แต่ต้องเป็นความร่วมมือ ความเป็นพันธมิตรระหว่างรายใหญ่กับ start up จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุก sector ไม่ว่าภาคการผลิตหรือบริการ เราจะต้องร่วมกันขจัดกฎระเบียบและอุปสรรคทั้งหลายที่ขัดขวางในอดีตให้หมดไป
ขณะเดียวกัน Digital economy ย่อมครอบคลุมไปถึง digital money ที่สำคัญไม่แพ้กัน ภาครัฐจึงต้องตามให้ทันและสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมและกำกับ ไม่ใช่มีกฎระเบียบที่คอยป้องกันจนไม่สามารถพัฒนา ใครคือผู้กำหนดทิศทางโดยรวม จะผลักดันและขจัดอุปสรรค regulator เราเท่าทันไหม ถ้าเราช้า หากเปรียบการเล่นฟุตบอลเราจะตกลีก
ข้อห่วงใยประการที่ 5 เราเห็นประเทศไทยที่เริ่มสูญเสียความมีนัยสำคัญในเวทีการเมืองโลกโดยเฉพาะในอาเซียน จากประเทศที่ใครก็มองข้ามไม่ได้ และมีเสียงที่โลกต้องรับฟังหากเกี่ยวข้องกับการเมืองในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ต่างประเทศก็มองว่าเราเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในอาเซียน
แต่เพราะความถดถอยในความสามารถแข่งขัน การขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เร็วพอ การถูกมองว่ายังเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ไทยเริ่มกลายเป็นประเทศที่เริ่มถูกคู่แข่งเบียด บทบาททางการเมืองระหว่างประเทศที่เบาบาง ทำให้ไทยเริ่มหายไปจากจอเรดาร์ของการเมืองโลก ผมจำได้ว่าท่าน ลี กวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ เคยกล่าวไว้ว่า ขนาดของประเทศไม่สำคัญ สำคัญที่ประเทศนั้นสามารถทำตัวให้มีนัยสำคัญในเวทีโลกหรือไม่ ถ้ามีนัยสำคัญ จะเป็นพลังดึงดูดการค้าการลงทุนที่สำคัญยิ่ง นั่นคือคำตอบว่าทำไมประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์จึงเพียรพยายามสร้างบทบาทที่มีนัยสำคัญคู่ขนานไปกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล้ำสมัย เพื่อให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ไม่เคยตกจอเรดาร์ในเวทีโลกเลย ไทยเราก็เคยอยู่ในฐานะเช่นนั้นด้วยการวางตำแหน่งจุดยืนอย่างชาญฉลาดในภูมิรัฐศาสตร์โลก ด้วยการวางตัวอย่างสมดุลท่ามกลางการแย่งชิงการขยายอิทธิพลการครอบงำของประเทศยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ เรากลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนของญี่ปุ่น สามารถเข้าไปเป็นส่วนต่อเชื่อมใน one belt one road ของจีน และยังเป็นจุดเชื่อมโยงกับ greater bay area ของจีน เพื่อให้ธุรกิจจากฮ่องกง กวางตุ้ง และเซินเจิ้น มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายออกไปในภูมิภาค ในขณะที่ไทยเราก็ยังสามารถรักษาความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาได้อย่างแน่นแฟ้น แต่ในขณะนี้คำถามมีมากขึ้นทุกทีว่า ความแน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีน ไทยและญี่ปุ่น ยังเหมือนเดิมหรือไม่ เรายังมีความสำคัญต่อเขาเหมือนเดิมไหม และไทยเมื่อเทียบเพื่อนบ้านของเรา เสียงใครดังกว่าใคร
ในยามที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังปรับตัว new establishment กำลังมา และขยายอิทธิพล ในขณะที่old establishment จากตะวันตกไม่ยินยอมจะสูญเสีย ความตึงเครียดและการเดินหมากการเมืองเพื่อสร้างแนวร่วมแรงขึ้นทุกขณะ หากไทยเรายังต้องการรักษาความมีนัยสำคัญทางการเมือง และไม่ถูกดึงเข้าไปในวังวนการแบ่งขั้ว การเดินหมากการเมืองที่พร้อมทั้งเชิงตั้งรับอย่างรอบคอบ ไม่ให้ถลำตัวเข้าไปในความขัดแย้ง และในเชิงรุก คือการนำเสนอ และสร้างบทบาทที่มีนัยสำคัญในภูมิภาค ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่สำคัญมากๆ คือเราต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเราเป็นกลางและจะไม่เป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกับใครอย่างเด็ดขาด
เวทีการประชุมเอเปคที่กำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเราปลายปีนี้ แม้จะมีความตึงเครียดอยู่บ้างอันเนื่องมาจากการเข้ามาประชุมของคู่ขัดแย้ง แต่ก็จะเป็นโอกาสให้เราสามารถแสดงบทบาทที่โดดเด่นได้แทนที่จะเป็นเพียงเจ้าภาพที่ไร้บทบาทอย่างมีนัยสำคัญโดยสิ้นเชิง
แต่ที่น่าห่วงใยที่สุดคือประการสุดท้ายที่จะกล่าว นั่นคือภาวะที่ฝรั่งเรียกว่า Disintegration Of nation power แปลเป็นไทยว่า ภาวะสลายตัวของพลังแห่งชาติ ในหลายปีมานี้เราเริ่มเห็นความเสื่อมสลายจากภายในของรัฐทีละน้อย เริ่มจากการประสบวิกฤตซ้ำซากที่มีผลต่อการชะงักงันของการขับเคลื่อนการพัฒนา ความขัดแย้งและแตกแยกของชนในชาติที่เริ่มจากความเห็นต่างทางการเมือง สู่การแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย จากขัดแย้งการเมืองสู่ปฏิปักษ์การเมือง ในหลายปีมานี้ไม่เพียงจะไม่เบาลง กลับขยายวงออกไปในแทบหลายๆ มิติ ไม่เว้นแม้กระทั่งช่องว่างระหว่างวัย ที่นับวันจะแยกส่วน แยกพวก ทั้งๆ ที่บ้านเมืองเป็นของคนทุกวัย ทุกช่วงวัยล้วนมีความสำคัญ โดยเฉพาะคนรุ่นเยาว์ที่เป็นเจ้าของประเทศในอนาคต การรับรู้ในความต้องการ การสื่อความที่เพียงพอ และการยอมรับความสำคัญในบทบาทของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญ
ภาวะ polarization ทางการเมือง ย่อมบั่นทอนพลังชนในชาติ ยิ่งในยุค information age ช่องทางและ platform การสื่อข้อมูลข่าวสารมีมากและเร็ว ในภาวะเช่นนี้ 2 สิ่งมักเกิดขึ้น ภาวะ misinformation หรือการส่งผ่านข้อมูลที่ผิดพลาดโดยไม่ตรวจสอบมีโอกาสเกิดเสมอ แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่า ภาวะ Disinformation ที่เกิดจากความจงใจให้ข้อมูลที่ไม่จริง เพื่อหวังผลในการสร้างกลุ่มสร้างพวก สร้างความเกลียดชังจนทำให้แต่ละฝ่ายเห็นโลกที่ต่างกัน ในอดีตอยู่ในโลกเดียวกันแต่อาจเห็นต่างกัน ก็หาทางออกที่จะให้ทำงานร่วมกันได้ซึ่งดีกับประชาธิปไตย
แต่ถ้ามาถึงจุดที่มองความเป็นจริงเดียวกันแต่มองกันคนละเรื่อง เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ในสหรัฐจะเห็นได้ชัดถึงการแบ่งขั้วการเมือง ในสมัยเลือกตั้งครั้งที่แล้วจนเกิดจลาจลที่ Capitol Hill disinformation ทำให้เกิดความเกลียด ความแตกแยก และการเป็นปฏิปักษ์ บั่นทอนพลัง บั่นทอนศักยภาพของประเทศ ยิ่งในยามที่ระบบธรรมาภิบาลเริ่มถูกมองว่าเสื่อมลง โดยเฉพาะสิ่งที่เราเรียกว่า political governance หรือธรรมาภิบาลทางการเมือง จนนำไปสู่ภาวะขาดความเชื่อมั่น ขาดความเชื่อถือและขาดความเชื่อใจพร้อมๆ กัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาและการขับเคลื่อนพัฒนา หากมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ทำให้เงื่อนไขพื้นฐานและความรับผิดชอบของรัฐไม่สามารถ function ได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือแม้จะ function ได้ แต่ก็สูญเสียความชอบธรรมแน่นอน ประเทศจะอ่อนแอลง และประชาชนคือผู้รับเคราะห์ในที่สุด
ปัญหาที่มากและสั่งสมที่กล่าวมา ไม่มีทางที่คนเพียงคนเดียวจะแก้ไขได้ จะมีอัศวินขี่ม้าขาวมากี่รอบก็ยังเหมือนเดิมหรือแย่กว่า แต่เป็นสิ่งที่ชนในชาติทุกคนต้องตระหนัก เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง
ประการแรกเลยคือการเมือง การเมืองคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งในการพัฒนา หากการเมืองดี พลังแห่งชาติก็มีมาก ทำอะไรก็สัมฤทธิผลสูง การเมืองไม่ดีทุกสิ่งก็ล้มเหลว มีแต่ความขัดแย้ง วุ่นวาย วันที่ผมได้พบอาจารย์ประเวศนั้นท่านกล่าวกับผมว่าบ้านเรานั้น หากต้องการจะก้าวต่อไปข้างหน้า การเมืองเชิงปฏิปักษ์ขัดแย้งจะต้องพักไว้ก่อนแล้ว เราเห็นต่างได้ คิดต่างได้ มีขั้วทางความคิดได้ แต่ต้องไม่ถึงขั้นแบ่งขั้วเชิงปฏิปักษ์ เกลียดชังจนถึงขั้นมุ่งร้ายทำลายกัน การเมืองสายกลางที่ไม่สุดโต่งสุดขั้ว ไม่เน้นสร้างความขัดแย้งแต่มุ่งทางสายกลางให้ทุกคนในชาติสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขหาทางออก ดึงเอาความเชื่อมั่น เชื่อถือ และเชื่อใจ ให้กลับมาในสังคมไทย น่าจะช่วยพาชาติรอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ท่านบอกผมว่าแนวทางสายกลาง ไม่ใช่ไม่มีจุดยืน แต่เป็นจุดยืนเชิงพุทธ ที่ไม่เน้นความสุดขั้วสุดโต่งแต่เน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อมาแก้ปัญหา เป็นแนวทางที่เน้นไม่เพียงใช้ความรู้แต่ใช้ปัญญาที่รู้ความเป็นจริงของประเทศ และเลือกใช้ความรู้ที่เลือกสรรแล้ว ดัดแปลงแล้วให้เหมาะสมกับความเป็นจริงของประเทศ มาแก้ปัญหาที่ตรงจุด ด้วยเหตุ ด้วยผล การไม่สุดโต่งสุดขั้ว เป็นแนวทางที่ยืดหยุ่น ไม่เพิ่มความขัดแย้ง แต่สามารถระดมคน ระดมความคิดมาแก้ไขโดยไม่ติดที่ขั้ว เราไม่มีเวลาจะมองแต่ความขัดแย้งในอดีตจนไม่เห็นกับอนาคต ท่านบอกว่าพรรคการเมืองใดหากยึดแนวทางนี้จะมีผู้นิยมมาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการขัดแย้ง แต่ต้องการร่วมหาทางออก ซึ่งผมเห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างยิ่ง
2) สภาวะความเป็นผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหา กำลังเผชิญวิกฤตการณ์ในหลายๆ ด้าน สภาวะผู้นำในยามวิกฤตเป็นสิ่งจำเป็นมาก ผมคงจะไม่กล่าวคุณสมบัติ เพราะมีผู้กล่าวไว้มากแล้ว แต่ต้องการบอกว่าคุณสมบัติผู้นำยามวิกฤตกับยามปกติ ไม่ค่อยรวมในคนเดียวกัน เราดู Churchill ของอังกฤษ ดูประธานเหมาของจีน ยามวิกฤตเขามีสมรรถนะโดดเด่นมาก แต่พอก้าวเข้ามาในยามปกติกลับล้มเหลว
ผมคิดว่า clear vision, decisiveness, great communicator และ political will คือคุณสมบัติสำคัญในสถานการณ์ข้างหน้า
และเมื่อผมพูดถึงสภาวะผู้นำ ผมไม่ได้หมายถึงคนคนเดียวแต่หมายถึงผู้นำในทุกองค์กร ที่มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ หรือล้มเหลวในการแก้ปัญหาหรือความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสภาหรือพรรคการเมือง
3) ภาคประชาชน ต้องทำหน้าที่ของพลเมืองอย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสิทธิในฐานะประชาชน ก็ต้องรู้หน้าที่และรับผิดชอบ โดยเฉพาะทางการเมือง การมีส่วนร่วมตั้งแต่ความคิดอ่านจนถึงการกระทำในกิจกรรมทางการเมือง หากภาคพลเมืองเข้มแข็งภาคการเมืองก็เข้มแข็ง และจะเป็นพลังอันมหาศาลในการขับเคลื่อนประเทศ และสามารถสลายสิ่งผิดและความไม่ชอบธรรมทั้งปวงลง การพัฒนาให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่จึงไม่เพียงพอ แต่ต้องควบคู่ไปกับการยกระดับความเป็นพลเมืองเต็มพื้นที่ควบคู่กันไป อันจะทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง และถ้าภาคประชาชนเข้มแข็ง ก็จะหยุดความเสื่อมของธรรมาภิบาลทางการเมืองได้หยุดความขัดแย้งได้ การเมืองและบ้านเมืองก็จะดีขึ้นในที่สุด