คอลัมน์การเมือง – 30 ปี‘พฤษภาทมิฬ’ ยังมีกลิ่นยุทธการยึดส้วมโชยมา

ใกล้ถึงวันครบรอบสามสิบปีที่หลายฝ่ายเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” ยังมีกลิ่นของเหตุการณ์ยุทธการยึดส้วมโชยมาจากนักเคลื่อนไหวทางเมือง ผู้สูญเสีย นักการเมือง นักวิชาการและคนรุ่นใหม่ ที่เคลื่อนไหวโหมโรงราวกับอยากให้สังคมไทยได้กลับไปสู่เหตุการณ์เหมือนเดือนพฤษภาคม ปี 2535 อีกครา

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯผู้เสียบุตรชายไปในครั้งนั้น วันนี้กลายเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวทุกเรื่องให้เป็นข่าวตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 เรื่องข้าวยากหมากแพง


เรียกร้องกดดัน ให้รัฐบาลยุบสภาบ้าง ให้นายกฯลาออกบ้าง ทำราวกับว่านายกฯคนปัจจุบันเป็นผู้สั่งการให้ฆ่าประชาชน เหมือนเดือนพฤษภาคม 2535

นักเคลื่อนไหวบางคน ยังไม่เกิด ไม่ทันเหตุการณ์และผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลและให้ยุบสภา ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นองเลือด เดือนพฤษภาคม 2535 และไม่รู้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมันมีที่มาที่ไป มีบริบทแตกต่างกับปัจจุบันและรัฐบาลนี้อย่างไร

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่ง ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นตั้งแต่วันที่ 9 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2535 ในฐานะผู้สื่อข่าวที่ต้องซอกแซกหาข้อมูลจากทุกฝ่ าย หาข่าวจากผู้ประท้วงจากฝ่ายรัฐบาลและทหาร จากข้อมูลภาคสนามที่คลุกคลีกับทุกฝ่าย จึงได้ข้อสรุปว่าตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 22 พฤษภาคม เป็นห้วงเวลาของ #ยุทธการยึดส้วม

ก่อนหน้านั้น เป็นการประท้วงอดอาหาร เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่การกดดันด้วยวิธีทรมานร่างกายของแกนนำ เมื่อถึงจุดที่มือที่สามเห็นว่าไม่ได้ผล ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ฝ่ายมือที่สามหรือมือที่มองไม่เห็น เริ่มการเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรง ม็อบรถมอเตอร์ไซค์นับร้อยๆ คัน ออกตระเวนก่อกวนสร้างเดือดร้อนรำคาญให้ชาวบ้านทั่วเมืองหลวงและเมืองบริวาร

ฝ่ายรัฐบาลในห้วงเวลานั้น ก็กดดันผู้ชุมนุมประท้วงกลุ่มใหญ่ในสนามหลวง ซึ่งบางส่วนย้ายไปจากถนนราชดำเนิน

รัฐบาลส่งทหารมากดดันอยู่ใกล้สะพานพระปิ่นเกล้าส่งเครื่องบินเล็กบินสำรวจเหนือพื้นที่การชุมนุม แต่การกดดันด้วยมาตรการทำนองนั้นไม่ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้ชุมนุมและแกนนำการชุมนุม

ในทางตรงข้ามแกนนำการชุมนุมใช้การกดดันของรัฐบาล ปลุกปั่นให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น เมื่อผู้ปราศรัยในเวทีพูดว่า “มันบินวนเหนือหัวเราคงจะมาดูว่าประชาชนมีมากน้อยเท่าไหร่ ถ้าพวกมึงนับไม่ได้ให้ลงมานับตีนแล้วหารสองก่อนไปรายงานไปฟ้องพ่อมึง”

การใช้เครื่องบินเล็กและทหารกดดันกลายเป็นเรื่องตลกโปกฮา

แต่มาตรการกดดัน#โดยการยึดส้วม#มันรุนแรง มันสำคัญจนฝ่ายประท้วงรัฐบาลทนไม่ไหว ในตอนค่ำของคืนวันที่ 17 พฤษภาคม รถสุขาของกทม.ที่จอดให้บริการอยู่หลายคันได้หายไปจากรอบๆ บริเวณการชุมนุมประท้วงในสองสามชั่วโมงแรกผู้ประท้วงเป็นหมื่นๆ คน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเข้าไปใช้ห้องสุขาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง ในโรงแรมรัตนโกสินทร์บ้าง แต่นานเข้าห้องสุขาใน ม.ธรรมศาสตร์และในโรงแรมรับไม่ไหว

แกนนำการชุมนุมแก้ไขปัญหาด้วยการสั่งให้ผู้ชุมนุมช่วยกันขุดหลุมรอบสนามหลวง แล้วใช้ผ้าใบมาขึงบังตารอบๆ ส้วมหลุมชั่วคราวแต่นานเข้าส้วมหลุมชั่วคราวก็รับไม่ไหว ประมาณห้าโมงเย็นผู้ปราศรัยในเวทีประกาศขึ้นว่า “ไอ้…มันยึดอำนาจจากประชาชนยังไม่พอมันมายึดส้วมเราอีก..ดังนั้นพวกเราต้องไปปลดทุกข์(เลี่ยงคำไม่สุภาพ)ใส่ทำเนียบรัฐบาล..ใส่หน้าบ้านมัน…”

คำพูดเหล่านั้น ฟังผิวเผินเป็นคำพูดล้อเล่น แต่ดูเหมือนว่ามันกลายเป็นสัญญาณของการเคลื่อนขบวนผู้เขียนอยู่ข้างเวทีมองไปทางด้านโรงแรมรัตนโกสินทร์ พบว่าขบวนส่วนหน้าได้เคลื่อนตัวออกไปแลัว ผู้เขียนติดอยู่ในวงล้อมของคนนับหมื่นนับพัน กว่าจะแทรกจะดันออกมาได้ใช้เวลานาน แล้วจ้างวินจักรยานยนต์ให้ขับอ้อมไปทางถนนพระอาทิตย์

ไปถึงธนาคารกรุงเทพตรงข้ามโรงหนังเฉลิมไทยพบว่ามีการปะทะกับทหารที่ตั้งแนวกั้นอยู่บนสะพานมัฆวานฯ ผู้เขียนปีนขึ้นบนกำแพงหน้าธนาคารฯ เพื่อให้เห็นการปะทะกัน ถึงตอนนั้นการปะทะกันหยุดลงแล้ว

ประมาณสองทุ่มกว่าๆ เห็นคนชุดดำกลุ่มใหญ่เคลื่อนขบวนออกมาทางวัดภูเขาทอง มาถึงถนนราชดำเนินใน ชุดดำจากนรกเหล่านั้นพลิกคว่ำเผาทำลายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และทุบทำลายขว้างปาทุกอย่างที่ขวางหน้า

ประมาณสิบนาทีหลังจากนั้นมีรถหกล้อสองคันบรรทุกผู้โดยสารเต็มกระบะหลัง ผีห่าซาตานที่มากับรถสองคันนั้น กระโดดลงจากรถแล้วเริ่มทุบทำลาย เผาสำนักงานสวัสดิการฯตำรวจที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกรมโยธาฯ

เกิดความโกลาหลวุ่นวายเมื่อซาตานกลุ่มใหม่ผสมโรงกับผีห่าซาตาน ที่ออกมาทางภูเขาทอง

ได้ยินข่าวจากวิทยุสื่อสารว่า ผีห่าซาตานเหล่านั้นบุกโรงพักนางเลิ้ง ปล่อยผู้ต้องขังแล้วเผาสถานีตำรวจ การทุบทำลายข้าวของ การเผาทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง รถบรรทุกหกล้อก็มารับผีห่าซาตานพวกนั้นออกไปจากพื้นที่

นักข่าวที่อยู่บนกำแพงหน้าธนาคารกรุงเทพ มีผู้เขียน เอนก มั่นใจ ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ และ ปิยะ ผู้สื่อข่าวเดอะ เนชั่น ผู้เขียนกับ ปิยะ ลงจากกำแพงข้ามสะพานไปสังเกตการณ์หน้ากรมโยธาฯ

ประมาณ 30 นาที หลังจากกลุ่มผีห่าซาตานถอนตัวออกไป เสียงปืนรัวขึ้นฟ้าชุดใหญ่ก็ดังขึ้น พวกเราหันไปดูตามเสียงปืนพบว่าทหารกลุ่มใหญ่เคลื่อนตัวเข้ามาจากถนนราชดำเนินใน

ผู้เขียนกับปิยะ รีบเผ่นออกจากพื้นที่ ผู้เขียนตะกุยบันไดหนีไฟขึ้นไปอยู่ชั้นที่หกของอาคารการบินไทยสาขาหลานหลวง ซุ่มสังเกตการณ์อยู่จุดนั้นจนถึงตอนเช้า ก่อนเคลื่อนตัวช้าๆ ผ่านทหารและผู้ชุมนุมที่ยังเผชิญหน้ากันอยู่กลับมาถึงห้องพักในโรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2535

สังเกตการณ์จากห้องพักคืนวันที่ 19 เห็นรถบรรทุกน้ำมันระเบิดหลังไฟไหม้ เห็นการเผาทำลายสำนักงานใหญ่สลากกินแบ่งรัฐบาล เห็นคนขับรถบัสพุ่งชนแถวทหาร ฯลฯ และรายงานข่าวจากห้องพักเข้าสำนักงานจนถึงตีสองของคืนนั้น ก่อนได้ยินเสียงทหารมาถีบประตูห้อง ผู้เขียนหนีออกมาได้อย่างไรได้เขียนไว้ในหนังสือ “เรื่องอยากเล่า ของนักข่าวสายโจร”

นำรายละเอียดมาเล่าในคอลัมน์นี้ทั้งหมดไม่ได้เพราะพื้นที่ไม่พอ หลังจากวันนั้นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ นักวิชาการ นักวิเคราะห์สถานการณ์ นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่เรียกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า “พฤษภาทมิฬ” แต่ผู้เขียนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “วันยุทธการยึดส้วม” เพราะจุดเริ่มต้นของความรุนแรงเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลยึดรถส้วม กทม.ไป

ผู้ที่เริ่มต้นความรุนแรง ไม่รู้ว่ามาจากฝ่ายไหนแต่เท่าที่ได้ยินมากับหูได้ดูมากับตา ขอยืนยันว่าการปะทะการเผาทำลาย ไม่ได้มาจากฝ่ายผู้ประท้วง อาจมีผู้ประท้วงบางคนที่เข้าไปผสมโรงเพราะความคึกคะนอง แต่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เกือบ 100% ไม่ได้มีส่วนร่วมในความรุนแรง

ฝ่ายทหาร ก็ไม่ใช่เป็นฝ่ายเริ่มความรุนแรงจึงเป็นอุทาหรณ์สอนใจ และเป็นบทเรียนแก่นักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ และนักการเมืองบางกลุ่มบางพรรคการเมือง ว่าทุกการเคลื่อนไหว ทุกการชุมนุมประท้วงมีมือที่สาม หรือ มือที่มองไม่เห็นฉวยโอกาสทำให้เหตุการณ์บานปลาย ให้มีการฆ่าฟันกัน มีการเผาทำลายโดยที่นักเคลื่อนไหวและคนรุ่นใหม่จินตนาการไม่ถึง

ผู้เขียนอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยุทธการยึดส้วมปี 2535การชุมนุมของพันธมิตรฯ ปี 2549 ถึง ปี 2551 อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมของมวลมหาประชาชนนำโดย กปปส.นาน 204 วัน

ทุกๆ เหตุการณ์ที่ประสบมาพบว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งมือที่สาม มือที่มองไม่เห็น หรือจะเรียกว่าผู้ประสงค์ร้ายมีเป้าหมายทำลายประเทศไทย จะฉวยโอกาสก่อเหตุร้าย ทำให้ทุกฝ่ายกลายเป็นผู้แพ้ และที่เสียหายอย่างไม่คาดหมายคือประเทศไทยที่เรารัก

สุทิน วรรณบวร