อ.นิด้า ตั้งคำถาม? ทำไมผู้ปกครองถึงมีปัญหาในการซื้อคาร์ซีท และมองว่าราคาสูง หรือชีวิตลูกเขาราคาถูก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษจากนิด้า ตั้งคำถามหลังเจอดรามากฎหมายบังคับใช้คาร์ซีท ระบุ “ทำไมผู้คนถึง”โกรธ”กับการจ่ายแค่ 1,000 กว่าบาทเพื่อคาร์ซีท เขาไม่รักลูกของเขาหรือ ชีวิตลูกเขาราคาถูกหรืออย่างไร”

จากกรณีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 มีรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) ระบุ เด็ก 6 ขวบ สูงไม่เกิน 135 ซม. ต้องนั่งคาร์ซีต ฝ่าฝืนปรับ 2 พัน และต่อมามีการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายข้อบังคับดังกล่าวที่ออกมา โดยพ่อแม่หลายรายหวั่นลูกไม่นั่งคาร์ซีต และมีอีกหลายรายมองว่าคาร์ซีตมีราคาสูงเกินไป ทั้งที่มีเงินมากพอซื้อรถยนต์

ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ว

วันนี้ (9 พ.ค.) เฟซบุ๊ก “Sunt Srianthumrong” หรือ ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า “ทำไมผู้คนถึง”โกรธ”กับการจ่ายแค่ 1,000 กว่าบาทเพื่อคาร์ซีท เขาไม่รักลูกของเขาหรือ ชีวิตลูกเขาราคาถูกหรืออย่างไร

เชื่อว่าหลายคนที่มีคาร์ซีทและใช้เป็นประจำ และรักลูก ก็ยังโกรธ ใครๆก็โกรธ คนไม่มีเงินยิ่งโกรธ เขาโกรธอะไรขนาดนั้น เขาไม่รักลูกของเขาหรือ?

จริงๆเขาไม่ได้โกรธกฎหมายนี้เสียทีเดียว กฎหมายนี้ทำให้เขาโกรธเพราะมันทำให้นึกไปถึงเรื่้องอื่นๆด้วย

ที่มาที่ไปในใจผู้คนมันซับซ้อนทีเดียวครับ

1. ช่วงนี้เศรษฐกิจเลวร้ายสุดในรอบ 10 ปี เงิน 1000 บาทมีค่ามากสำหรับคนที่ไม่มีเงินจะเติมน้ำมันแล้ว และคนที่รถจะโดนยึดแล้ว มันเหมือนโดนซ้ำเติม

2. เขาโกรธที่ต้องจ่ายเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของลูกเขา “อีกแล้ว” ในขณะที่เงินที่จ่ายไปมากมายผ่านภาษี มันล้มเหลวที่จะทำให้ชีวิตลูกของเขาดีขึ้น

…. เดี๋ยวผมจะขยายความข้อ 2 นี้ …

3. เขาโกรธเพราะรู้ว่าจะมี VIP อีกแล้วที่จะไม่ต้องทำตามกฎที่เกิดขึ้นนี้ เพราะกฎเดิมที่มีอยู่ก็เห็นกันบ่อยๆว่า “เคลียร์ได้”

4. รถของเขาที่่ใช้นั่งกับครอบครัวประจำจะไม่มีวันทำถูกกฎหมายนี้ได้ ทั้งรถกระบะ 2 ประตูที่นั่งกัน 4 คน รถบรรทุกที่ลูกต้องนั่งไปกับพ่อแม่ แล้วถ้ามีลูกเล็ก 3 คนล่ะ ต้องซื้อรถ 6 ที่นั่งเลยเหรอ ก็แค่ไม่รวยพอที่จะมีรถหลายคัน หรือมีเงินพอจ้างคนดูแลลูกระหว่างทำงาน ก็ต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมาย

5. เขาเห็นเด็กเล็กขึ้นมอเตอร์ไซด์ ซ้อน 2 ซ้อน 3 กันเป็นปกติ ดูอันตรายสุดๆ แล้วทำไมสิ่งที่เขาทำและปลอดภัยกว่ามากถึงต้องกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

6. ถ้าเราไม่ให้คนทำข้อ 5 คนก็จะลำบากมาก เพราะคนส่วนมากยากจนเกินกว่าจะใช้ชีวิตได้อย่างถูกกฎหมาย

เด็กส่วนใหญ่ถ้าจะตายบนถนนก็เพราะ

1. ฟุตบาทเดินไม่ได้ ข้างถนนก็เดินไม่ได้เพราะมีรถจอด บางทีต้องไปเดินเกือบกลางถนน

2. มอเตอร์ไซด์วิ่งบนฟุตบาท

3. มอเตอร์ไซค์วิ่งย้อนศร

4. รถกะบะก็ชอบวิ่งย้อนศร

5. รถไม่หยุดตรงทางม้าลาย แถมวิ่งเร็วมาก

6. รถขับความเร็วเกินกำหนดเยอะมาก โดยเฉพาะรถแพงๆ

7. รถในข้อ 2,3,4,5 โดยเฉพาะ 6 ถ้าพลาดพลั้งชนลูกเราตาย ถ้าไม่เป็นกระแสใน Social แบบสุดๆ ก็อาจจะถูก “เคลียร์ได้”

8. รถบรรทุกขับกันเป็น 100

9. รถตู้รถนักเรียน ก็ขับกันเป็น 100

10. ในสถานศึกษา ก็ยังขับกับเร็วกว่า 30 km/h เยอะแยะ

11. ถนนท้องถิ่นหน้าบ้าน ถูกใช้เป็นทางลัดก็วิ่งกันเร็วระดับ High Way

12. ถนนหน้าบ้านเส้นเล็กนิดเดียว ที่ลูกชาวบ้านพอใช้วิ่งเล่นเดินเล่น แต่ก็มีรถบรรทุกหนีรถติด หนีตำรวจ จากถนนใหญ่มาวิ่งด้วย

ขยายความข้อ 2 ทำไม คนถึงโกรธกับการจ่ายเพื่อลูกของเขา เพราะว่าที่จ่ายไปแล้วเขาพบว่า:

1. ถนนคุณภาพต่ำมาก เลนแคบ หลุมบ่อ เส้นเลนไม่ชัด น้ำท่วมขัง ยูเทินเสี่ยงตาย

2. การใช้ถนนดูแลกฎจราจรกันน้อยมาก อันตรายมาก ไม่มีใครใสใจมานานแล้ว

3. PM 2.5 อากาศสกปรก ตายผ่อนส่ง ยังคุมไม่ได้นะ

4. รร. รัฐบาลคุณภาพการศึกษาแย่มาก คนมีเงินต้องยอมจ่ายปีเป็นแสนเป็นล้าน เพื่อการศึกษาที่ดีเพียงพอของลูกเขา

5. มีอาหาร สินค้า แนวคิด การปฎิบัติ ที่เป็นอันตรายกับเด็กๆอยู่มากมาย ทั้งที่ยังไม่ผิดกฎหมาย และที่ผิดกฎหมายแต่ “เคลียร์ได้”

ผมสนับสนุนการใช้คาร์ซีทนะครับ จำเป็นมาก และก็สนับสนุนความปลอดภัยของเด็กในเรื่องๆอื่นๆทั้งหมดด้วย ปัญหาคือความใส่ใจในการบังคับใช้กฎหมาย และการป้องกันอภิหารของ VIP ต่างๆ ที่เราเห็นและเราเหนื่อยใจกับมันมาตลอด นั่นคือที่มาของความ “โกรธ” ของผู้คนจำนวนมาก อย่าหาว่าเขาไม่รักลูกนะครับ เขาโกรธเพราะเขารักลูกเขานี่แหละครับ

สุดท้าย สำหรับคนไม่มีเงิน:

คนที่ไม่มีเงินจะซื้อคาร์ซีทมันมีจริงๆนะครับ และเขาจะไม่มีวันทำถูกกฎหมายนี้ได้ในตอนนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำก็คือ บริหารประเทศให้ได้ดี กอบกู้วิกฤตให้ได้ เติมเงินในกระเป๋าพวกเขาให้ได้เสียก่อนที่จะขู่ว่า จะล้วงเงินออกจากประเป๋าของเขาเพียงเพราะเขาไม่มีเงินพอที่จะทำตัวให้ถูกกฎหมายครับ

คลิกโพสต์ต้นฉบับ