ติวเข้มเยาวชนไทย จ่อแข่งฝีมือแรงงานนานาชาติ ที่เซี่ยงไฮ้ ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีของรัฐบาล ใน 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาค ซึ่งในปลายปีนี้ จะมีการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 46 (WorldSkills Shanghai 2022) โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการยกระดับทักษะแรงงานของประเทศให้เป็นแรงงานฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในระดับสากล ร่วมจัดส่งเยาวชนไทยสู่การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ เพื่อประกาศให้นานาชาติได้รับรู้ศักยภาพฝีมือแรงงานไทยไม่น้อยหน้าประเทศใดในโลก
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดี กพร. กล่าวว่า กพร.ดำเนินการเก็บตัวฝึกซ้อมให้แก่เยาวชนไทย จำนวน 13 คน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-วันที่ 8 ตุลาคม 2565 เพื่อเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 46 (WorldSkills Shanghai 2022) ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12-17 ตุลาคมนี้ ใน 12 สาขา ประกอบด้วย กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) (CN Turning) สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด) (CNC Milling) สาขาการออกแบบโมเดล (Phototype Modeling) สาขาการสร้างและประกอบแม่พิมพ์ (Plastic Die Engineering) สาขาเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) (ประเภททีม) กลุ่มสาขาอาชีพขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ สาขาเทคโนโลยียานยนต์ (Automobile Technology) สาขาการซ่อมบำรุงตัวถังรถยนต์ (Autobody Repair) สาขาการซ่อมสีรถยนต์ (Car Painting) กลุ่มสาขาบริการส่วนบุคคลและสังคม ได้แก่ สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) สาขาการประกอบอาหาร (Cooking) สาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม (Restaurant Service) กลุ่มสาขาศิลปะสร้างสรรค์และแฟชั่น ได้แก่ สาขาการออกแบบเกมเชิงสามมิติ (3D Digital Game Art)
นายประทีปกล่าวว่า โดยการเก็บตัวฝึกซ้อมจะดำเนินการในหน่วยฝึกอบรมของ กพร.ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถานประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น และ เพชรบุรี และเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกทั้งอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณ และสถานที่สำหรับการเก็บตัวฝึกซ้อม ประกอบด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ จำกัด บริษัท โตโยต้าไอฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่งแอนด์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท เค คอนซัลติ้ง ซัพพลาย จำกัด มูลนิธิเอสซีจี โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีปทุม
“การส่งเสริมเยาวชนได้มีส่วนร่วมการแสดงทักษะในแข่งขันช่วยกระตุ้นให้เยาวชนและแรงงานรุ่นใหม่ เกิดความตื่นตัวและสนใจที่จะพัฒนาทักษะฝีมือของตนให้ทันยุคเทคโนโลยีที่ก้าวไกล อีกทั้งยังช่วยเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและบริการของประเทศไทยในอนาคต ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในความสามารถทักษะฝีมือด้านช่าง สร้างแรงจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยช่วยส่งแรงใจเชียร์ตัวแทนของประเทศไทยในการเข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติในครั้งนี้ด้วย” นายประทีปกล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่