เด็กไม่มีใบขับขี่พ่อแม่ต้องรับโทษด้วย/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน



ภายหลังเห็นข่าวเรื่องที่เยาวชนอายุ 13 ปี ขับขี่บิ๊กไบค์ขนาด 1,000 ซีซี เกิดอุบัติเหตุพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของสองตายาย และรถยนต์อีก 1 คัน เหตุเกิดที่เชียงใหม่…

แล้วคุณรู้สึกอย่างไร ?

ยิ่งเมื่อพ่อของเด็กวัย 13 ปีออกมาให้สัมภาษณ์ว่าส่งลูกไปเรียนขับขี่บิ๊กไบค์ และเรียนเพื่อใช้แข่งขันที่สนามแม่ลาวเซอร์กิต โดยลูกเรียนไปถึงระดับ Advance ลงแข่งจนคว้ามาได้หลายรางวัลแล้ว ตนมั่นใจว่าถึงลูกอายุยังน้อยแต่ก็มีทักษะและความสามารถไม่แพ้ผู้ใหญ่แน่นอน…

แล้วคุณรู้สึกอย่างไร ?

หัวอกคนเป็นพ่อแม่หัวใจแทบสลายเมื่อรู้ว่าลูกประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ และยังส่งผลกระทบไปสู่ผู้อื่นด้วย แม้จะออกมาบอกว่ารับผิดชอบคู่กรณีที่บาดเจ็บ

แต่ก็ต้องมีคำถามตามมาอีกมากมายว่า แล้วใครซื้อบิ๊กไบค์ให้ลูก และวัยนี้ไม่มีใบขับขี่แน่

ที่สำคัญคือวิธีคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อกรณีนี้ !

และ..เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกแล้วหรือ กับความมักง่ายของพ่อแม่ ผู้ปกครอง !

พลันทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุมากมายที่เกิดขึ้น เพราะความมักง่าย และมักจบลงด้วยคำพูดว่า “เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์” และ ”ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น”

ไม่ใช่เพียงแค่กรณีของรถจักรยานยนต์ แต่กรณีของรถยนต์ก็เช่นกัน ที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่ยอมให้ลูกขับขี่โดยที่อายุยังไม่ถึง และไม่มีใบขับขี่

ถ้าจำกันได้ เมื่อปี 2553 มีนักศึกษาสาวซึ่งยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ได้ก่อเหตุขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารบนทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ราย ซึ่งเธอก็อายุไม่ถึง และไม่มีใบขับขี่เช่นกัน

กรณีที่ลูกอายุไม่ถึงตามที่กฎหมายกำหนด ทำไมถึงให้ลูกขับขี่จักรยานยนต์ หรือขับรถยนต์ ?

หรือแม้แต่การปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมชอบขับรถเร็ว โดยไม่สนใจว่าจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ?

แล้วครอบครัวจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้อย่างไร

ฉะนั้นต้องตั้งคำถามว่า รักลูกถูกทางไหม หรืออาจจะเข้าข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน”

รวมไปถึงความประมาทอื่น ๆ และไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่นด้วย

ยกตัวอย่าง กรณีที่คนเป็นพ่อให้ลูกนั่งตักจับพวงมาลัยขับรถ โดยปล่อยให้เด็กควบคุมพวงมาลัยขณะที่รถกำลังแล่นอยู่ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยบนท้องถนน และเคยมีอุบัติเหตุเกิดจากการอุ้มลูกนั่งตักขณะขับรถ จนทำให้รถชนได้รับความเสียหายก็เกิดขึ้นมาแล้ว

การนำลูกนั่งตักขณะขับรถเป็นเรื่องอันตรายอย่าง ยิ่งเพราะเด็กมักไม่นั่งอยู่เฉย ชอบจับนั่นนี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้คนขับไม่มีสมาธิและหากเกิดอุบัติเหตุชนกระแทกขึ้นกะทันหัน เด็กมีโอกาสลอยพุ่งทะลุกระจกออกไปนอกรถได้ เนื่องจากเด็กไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัย หรือหากรถนั้นไม่มีถุงลมนิรภัยเด็กก็จะกลายเป็นผู้รับแรงกระแทกแทนพ่อ หรือหากรถมีถุงลมนิรภัยก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี เพราะลูกอาจโดนถุงลมระเบิดขึ้นมาอัดเข้าเต็มหน้าเต็มตัวยามที่เกิดอุบัติเหตุได้

แต่บทความชิ้นนี้ขอมุ่งเน้นไปที่กรณีของจักรยานยนต์

ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดชัดเจนว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับรถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ คือ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยอายุที่เริ่มขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้ คือ 15 – 17 ปี โดยสามารถขับขี่เครื่องยนต์ที่ไม่เกิน 110 ซีซี

ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในช่วงปี 2559-2560 ระบุว่า จำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่มีใบขับขี่มีมากถึงประมาณ 8 ล้านคน และระบุว่า เด็กจำนวนมากขับขี่รถจักรยานยนต์ตามท้องถนนโดยไม่มีใบขับขี่ ทั้งกลุ่มที่อายุน้อยไม่ถึงเกณฑ์มีใบขับขี่และกลุ่มที่เข้าเกณฑ์อายุขั้นต่ำ 15 ปี แต่ไม่เคยไปทำและไม่ได้รับใบขับขี่เลยตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 (มีการแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 17 พ.ศ. 2557)

นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ด้านสายตาและปฏิกิริยาตอบสนอง ผ่านอบรมภาคทฤษฎี 5 ชั่วโมง ผ่านทดสอบข้อเขียน การทดสอบขับรถจักรยานยนต์ในภาคปฏิบัติ 5 ท่า เพื่อมีใบขับขี่ส่วนบุคคลชั่วคราว 1 ปี จากนั้น (อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี) จึงจะสามารถเปลี่ยนเป็นใบขับขี่ส่วนบุคคล 5 ปี โดยไม่ต้องทดสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งนี้กฎหมายอนุญาตให้เด็กที่อายุ 15-18 ปีขับขี่ได้เฉพาะรถจักรยานยนต์ขนาดกระบอกสูบไม่เกิน 110 ซีซี

แต่ความเป็นจริงคือ มีการละเมิดกฎหมายข้อนี้กันอย่างมาก โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนไปซะอีก

สาเหตุที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่จักรยานยนต์นั้น เพราะมีการศึกษาที่ชัดเจนแล้วว่า เด็กวัยรุ่นยังไม่พร้อมที่จะขับขี่ และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้

ประการแรก – ขาดประสบการณ์

เป็นเรื่องจำเป็นมากในการขับขี่จักรยานยนต์ เพราะต้องมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ แต่เด็กวัยรุ่นยังมือใหม่หัดขับ จึงจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ การขับขี่อย่างถูกกฎจราจร รวมไปถึงต้องมีการสอบใบขับขี่เสียก่อน

ประการที่สอง – ขาดวุฒิภาวะ

การขับขี่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถของระบบประสาทและการตัดสินใจที่ดี แต่เด็กในวัยนี้การพัฒนาการด้านการประสานงานของกล้ามเนื้อ การมองเห็น การแยกแยะภาพเคลื่อนไหว เพื่อตอบสนองทันที และการตัดสินใจภาวะฉุกเฉินยังไม่สมบูรณ์ก่อนอายุ 18 – 25 ปี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับขี่อย่างมาก โดยพบว่ามือใหม่หัดขับในวัยรุ่นที่มีอายุมากกว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า

ประการที่สาม – วัยชอบความท้าทาย

วัยรุ่นชอบมีพฤติกรรมท้าทาย และชอบเสี่ยง ส่วนหนึ่งเกิดจากฮอร์โมนเพศ ทำให้เกิดความต้องการที่จะเสี่ยงในระดับหนึ่งของวัยรุ่นสูงกว่าวัยอื่น ทั้งนี้ อาจมีแรงเสริมจากอารมณ์ของวัยรุ่น แรงผลักดันจากเพื่อนและความเครียดอื่น ๆ เช่น มักพบว่าขับด้วยความเร็วสูง การแซงกระชั้นชิด การเบรกในระยะประชิด การเลี้ยวตัดหน้า การขับขี่ในสถานการณ์ท้าทาย

ประการที่สี่ – ไม่ห่วงความปลอดภัย

ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะช่วงวัยด้วย วัยรุ่นไม่นิยมใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ไม่ยอมสวมหมวกกันน็อค และมักไม่ค่อยสนใจเครื่องหมายการจราจร บางครั้งก็ซ้อนท้ายกันสามหรือสี่คน ที่สำคัญไม่มีใครเตือนใครอีกต่างหาก

ลองไปดูมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศต่อเด็กที่ขับขี่รถจักรยานยนต์กันบ้าง

อ้างอิงจากมูลนิธิป้องกันภัยภิบัติแห่งเอเชีย ประเทศไทย และ www.ldpthailand.org พบว่าข้อมูลสหรัฐอเมริกามีกฎหมายของหลายมลรัฐกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำที่สามารถเริ่มยื่นคำขอทำใบขับขี่ไว้ที่ 15 ปี เช่นเดียวกับกฎหมายไทย หรือในช่วงอายุ 15-16 ปี

แต่ระบบใบอนุญาตขับรถมีความเข้มงวดกว่าบ้านเรามาก มีแบบลำดับขั้น (Graduated Driving Licensing /GDL) และมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์อายุขั้นต่ำ ระยะเวลา จำนวนชั่วโมง ชื่อเรียกใบอนุญาต และรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป โดยในระบบของมลรัฐแคลิฟอร์เนียจากข้อมูลของกรมยานยนต์ (Department of Motor Vehicle/DMV) ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นมลรัฐที่มีจำนวนจักรยานยนต์จดทะเบียนมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา (9.5 แสนคันในปี 2017) พอจะสรุปการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนได้ดังนี้

ขั้นตอนเรียนรู้ (Learner Stage)

ต้องมีอายุตามเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยถือใบอนุญาตฝึกหัด (instruction permit) และต้องให้พ่อแม่ ผู้ปกครองลงลายมือชื่อรับรองในคำขอ รวมถึงต้องแสดงหลักฐานว่ายื่นขอเข้ารับการศึกษาและ/หรือการฝึกอบรมการขับขี่ 6 ชั่วโมง ต้องผ่านการทดสอบสายตา ต้องผ่านการทดสอบภาคทฤษฎี

ขั้นตอนกลาง/ชั่วคราว (Intermediate/Provisional Stage)

ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี ถือใบอนุญาตฝึกหัดมาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน

ต้องผ่านการฝึกหัดขับขี่ 50 ชั่วโมงกับผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป (ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่และรับรองว่ามีการฝึกหัดขับขี่ 50 ชั่วโมงจริง) โดยใน 50 ชั่วโมงนั้นต้องฝึกขับขี่ตอนกลางคืนอย่างน้อย 10 ชั่วโมง

ต้องผ่านการศึกษาและการฝึกอบรมผู้ขับขี่

ต้องมีหนังสือรับรอง DL389 ออกให้โดยกรมทางหลวง แสดงว่าผ่านการเข้าร่วมโครงการความปลอดภัยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (CMSP) (ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติพื้นฐาน)

ต้องแสดงหลักฐานการทำประกันภัยความรับผิด (รถจักรยานยนต์ของผู้ขอฯ)

ต้องผ่านการทดสอบขับขี่ภาคปฏิบัติ

ข้อจำกัดสำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ คือ (1) ไม่ให้ขับขี่ตอนกลางคืน (23.00 น. – 05.00 น.) (2) ไม่ให้ขับขี่ในถนนหลวง (3) ไม่ให้ผู้ใดซ้อนท้ายไปด้วย (4) ไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ (ทั้งที่มีและไม่มี hands-free device) และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์อื่น (5) ต้องไม่ถูกบันทึกการกระทำผิดเกี่ยวกับการขับขี่รถ (6) ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่รถ

ขั้นตอนสำเร็จ (Graduation Stage)

DMV ออกใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ ประเภท M1 ได้แก่ รถจักรยานยนต์สองล้อ ขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 150cc และประเภท M2 ได้แก่ รถจักรยานติดเครื่องยนต์ โดยได้รับ DL แบบชั่วคราวมีอายุ 90 วัน หลังจากนั้นจะได้รับใบอนุญาตขับรถแบบสมบูรณ์ มีอายุขึ้นอยู่กับประเภทรถ

ในกรณีที่ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่มีใบขับขี่ รวมถึงใบขับขี่ถูกพักใช้ ไม่แสดงใบขับขี่ต่อเจ้าพนักงาน เป็นการกระทำความผิดประเภท Misdemeanor หรือความผิดอาญาไม่ร้ายแรง ซึ่งต้องถูกบันทึกในประวัติอาชญากรรมด้วย

บทกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายยานพาหนะ (Vehicle Code) ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย มาตรา 12500 (a) คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 ดอลล่าร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้อาจได้รับโทษที่เบากว่าหรือประเภท Infraction ปรับไม่เกิน 250 ดอลล่าร์ กรณีที่กระทำผิดครั้งแรก ผู้กระทำผิดต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในความผิดทางอาญานี้ แต่ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ความร้ายแรง พ่อแม่เข้าอาจเข้ามามีส่วนรับทราบ ต่อสู้คดี และไม่ให้มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก

ตามกระบวนการในระบบ GDL ที่กล่าวถึงข้างต้น กำหนดการมีส่วนร่วมหรือการดำเนินการของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้แก่ (1) เป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำขอใบขับขี่ ผู้ลงลายมือชื่อในใบอนุญาตฝึกหัดโดยแสดงว่าผู้ขอใบขับขี่ได้ฝึกหัดขับขี่ครบจำนวนชั่วโมงและตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว (2) เป็นผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไปที่ได้ฝึกหัดการขับขี่ให้กับผู้ขอใบขับขี่ การที่พ่อแม่ ผู้ปกครองลงนามรับรองนี้ในคำขอทำใบขับขี่มีผลทางกฎหมาย จากหลักที่ว่าเจ้าของรถและผู้ขับขี่ต้องร่วมกันรับผิดในอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ผู้ปกครองจึงต้องร่วมรับผิดต่อการขับขี่รถของผู้ขับขี่ที่เป็นเด็ก (บุตรของตน) โดยยอมรับผิดชอบทางการเงิน ลักษณะเดียวความรับผิดในทางละเมิด (Wrongful Act) ซึ่งกำหนดให้พ่อแม่ต้องรับผิดร่วมกับบุตรในกรณีที่บุตรกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายหรือสูญเสียต่อผู้อื่น ในกรณีขับขี่รถจักรยานยนต์ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ด้วยเหตุผลที่ว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองย่อมคาดการณ์ได้ว่าอาจมีความเสียหายเกิดขึ้นได้จากการให้ความยินยอมไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ขับขี่รถ และไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ขับขี่จงใจก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย

ถ้าจะนำมาตรการเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในบ้านเรา น่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ในระดับสำคัญ

ที่ผ่านมาการขับขี่บนท้องถนนเมืองไทยก็ลุ้นเรื่องความปลอดภัยอยู่ทุกวี่วัน เราถามหามาตราการความปลอดภัยที่จริงจังมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ปัญหาทุกอย่างก็ยังปรากฏและเผชิญอยู่

อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นต่อเด็กที่ยังไม่มีใบขับขี่ แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองกลับสมยอมปล่อยปละละเลย และประมาทให้ลูกออกไปขับขี่บนท้องถนน โดยเฉพาะถนนหลวง เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

คำถามคือ เรากำลังเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ปลูกฝังลูกหลานแบบไหนกัน ?

เรื่องนี้ไม่ใช่ลูกใครลูกมัน ฉันจะทำอย่างไรก็ได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ต้องรับเคราะห์ไปด้วย