อีกด้าน พนักงานขับรถไฟ ไม่อยากให้เหตุสลดเกิดขึ้นอีก ฝากถึงผู้ใหญ่เห็นใจหน่อย – Kapook.com

          เสียงอีกด้านของพนักงานขับหัวรถจักร เสียใจเหตุสลดรถไฟชนรถพ่วง 18 ล้อ ที่ จ.อุดรธานี เพราะไม้กั้นไม่ทำงาน วอนเจ้านายเห็นใจ การทำงานทุกวัน นี้อำนวยทุกอย่างยกเว้นความสะดวก พนักงานรถจักร ความเสี่ยงสูง…ความสำคัญต่ำ

           จากอุบัติเหตุสุดสลด กรณีรถไฟขบวนรถเร็วที่ 134 (หนองคาย-กรุงเทพฯ) ชนรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ บริเวณทางพาดรถไฟหนองขอนกว้าง ถนนเลี่ยงเมือง เทศบาลตำบลหนองขอนกว้าง อ.เมืองอุดรธานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ พนักงานขับรถไฟและช่างเครื่องนั้น

อ่านข่าว : ไม้กั้นไม่ทำงาน ทำรถไฟชนรถบรรทุก 18 ล้อ สลดช่างเครื่องเตรียมเกษียณ เสียชีวิตด้วย

          ล่าสุด (1 กุมภาพันธ์ 2565) โลกออนไลน์มีการพูดถึงประเด็นนี้กันอย่างมากมาย ซึ่งหลายคนต่างรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sasikorn Thongsrisuk หรือคุณโอม ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจากไปของเพื่อนร่วมอาชีพว่า “จากใจพนักงานรถจักร วันนี้เป็นวันที่ตื่นมาเช้าแล้วไม่อยากกลับไปทำงานอีกเลย หดหู่และเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนกับเพื่อนร่วมอาชีพ ข.134 ชนกับรถพ่วง 18 ล้อ”



ชี้ขับรถไฟไม่ยาก แต่หยุดยาก อาชีพนี้ไม่สบายอย่างที่คิด

          คุณโอม เล่าว่า มีหลายคนเคยถามว่าการขับรถไฟยากไหม เห็นมันแค่วิ่งไปตามทาง แต่งชุดเท่บ้างล่ะ สวัสดิการดีบ้างล่ะ เงินเดือนสูงบ้างล่ะ เป็นอาชีพที่ใครหลาย ๆ คนใฝ่ฝันอยากเป็น ซึ่งตนก็จะตอบเหมือนเดิมว่า ขับไม่ยากหรอก แต่มันหยุดยาก มีกฎระเบียบข้อบังคับกฎหมายเยอะแยะที่ต้องใช้ อาศัยประสบการณ์ ฝีมือ และไหวพริบทุกด้าน

          คนอาจจะมองว่าทำงานสบาย แค่ขับรถไปให้ถึงปลายทางเอง แถมยังวิ่งบนรางอีก ไม่ต้องทำอะไรเลย งานง่าย ๆ แต่กว่าจะสอบเข้าบรรจุเป็นพนักงานรถจักรได้ ต้องสอบแข่งกันเป็นร้อยเป็นพันคน สอบได้ก็ต้องไปอบรมเรียนอีกเป็นปี ๆ กว่าจะได้ทำงาน กับเงินเดือนหมื่นกว่าบาท ต้องตื่นแต่เช้าตี 3 ตี 4 นอนผิดเวลาต่างจากมนุษย์ทั่ว ๆ ไป มาขึ้นรถจักรเพื่อทำขบวน พื้นรถมีน้ำมันเครื่องเพียบ ข้างรถเป็นป่าหญ้าสูงแทบท่วมหัว วันดีคืนดี รถจักรพังรอรถมาช่วยก็เสียเวลารอไปอีก

          กินบนรถ ขับถ่ายบนรถ นั่งตากแดด ไม่มีแอร์เย็น ๆ เหมือนที่เขาโชว์ นั่งไป 4-6 ชั่วโมง หน้าฝนก็โดนถล่มอีก มีน้ำรั่วทุกจุด ตอนทำงานก็ต้องมาเสี่ยงทั้งคน หมา วัว ที่อยู่บนราง ไหนจะรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถสิบล้อ และรถพ่วง ที่ข้ามทางลักผ่านอีก เจอทุกวัน ชนไปก็มีเหตุมีคดีความอีก

รถไฟไม่ได้ชนะเสมอ หากชนพนักงานต้องชดใช้เอง

           คุณโอม เผยว่า หากเกิดการชนกัน รถไฟไม่ได้ชนะเสมอ พนักงานต้องชดใช้เองอีกด้วย ซึ่งก็มีคำที่มักจะพูดเล่นกันเสมอว่า ก้าวขึ้นรถจักรขาข้างหนึ่งอยู่ในคุกอีกข้างอยู่ในโลง ทุกวันนี้ที่ออกไปทำงานแค่ขอให้ปลอดภัย กลับบ้านมาหาครอบครัว พี่น้อง เพื่อนฝูง ก็ดีใจแล้ว พวกตนก็มีครอบครัว มีพ่อแม่ มีพี่น้องที่รักเหมือนทุกคน

วอนเจ้านายเห็นใจ การทำงานทุกวันนี้อำนวยทุกอย่างยกเว้นความสะดวก

           คุณโอม กล่าวทิ้งท้ายว่า “การทำงานทุกวันนี้อำนวยทุกอย่างเลยครับ ยกเว้นความสะดวก เจ้านายก็รู้ดี ใช่ครับ มันไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก แต่ไม่อยากให้เหตุแบบนี้มันเกิดขึ้นอีกแล้ว หวังว่าเจ้านายคงได้ยินและสนใจ เข้าใจในการทำงานของพนักงานรถจักรมากขึ้นนะครับ ขอให้มันเป็นบทเรียน #พนักงานรถจักรความเสี่ยงสูงความสำคัญต่ำ #คนตายไม่ได้พูด #รฟท #rip134 #ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตด้วยครับ #พนักงานรถจักร5ช่างเครื่องชั้น1ปวช59 #ดีเซลรางบางกอก”

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Sasikorn Thongsrisuk, สำนักข่าวไทย