‘ผยง ศรีวณิช’ชูหลักคิด ‘GROWTH’ ปัจจัยสู่ความสำเร็จของธุรกิจในโลกอนาคต – เดลีนีวส์

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยในงาน Better Trade Symposium 2021 หัวข้อ “Vision for the next era” ว่า โควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และ ทําให้โลกอนาคตมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นสูงมาก เป็นโลกที่หลายๆ อย่างจะไม่เหมือนเดิม

หากจะมองข้ามช็อตไปในอนาคต หรือ The next era ของทิศทางการดําเนินธุรกิจ มองว่า ผู้ที่จะก้าวไปเป็น winner ในอนาคตได้นั้น จะต้องตีโจทย์แห่งการเติบโต หรือ GROWTH 5 ข้อต่อไปนี้ให้ออก เพื่อที่จะแข่งขัน หรือ อยู่รอดภายใต้บริบทโลกใหม่นี้ให้ได้

ข้อแรก คือ G – Green economy ซึ่งโตอย่างไรในยุค Green economy? การแก้ปัญหาโลกร้อนกําลังกลายเป็น Top Agenda ของโลก ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และ จีน ต่างหันหัวเรือมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Carbon neutrality ภายในปี 2593-2603 ตามข้อตกลงปารีส และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

ขณะที่ประเทศไทยเตรียมที่จะประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2608 พร้อมทั้งชูแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สอดรับบริบทใหม่เหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้เห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ทิศทางการลงทุน และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องตามมาอีกมากมาย ในช่วงสัปดาห์นี้เราต้องติดตามการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติปี 2564 หรือ ที่เรียกว่า “COP26” ว่า แต่ละประเทศจะแสดงจุดยืน และ ประกาศแผนยุทธศาสตร์เพิ่มเติมหรือไม่

สำหรับประเทศไทยนั้น เราก็เห็นการขยับตัวของผู้เล่นรายใหญ่เข้าสู่เทรนด์ Green economy อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเกี่ยวกับ EV หรือ พลังงานสะอาด นอกจากนี้ ยังมีโอกาสทางธุรกิจสำหรับ SMEs อาทิ การทํา Solar-Corporate PPA ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำการลงทุนผลิต และ ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ธุรกิจติดตั้ง Solar Rooftop ภาคครัวเรือน ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ

ขณะที่ภาคการเงินก็ต้องปรับตัวในมิตินี้เช่นกัน เห็นได้ว่ามีนวัตกรรมทางการเงิน อาทิ การระดมทุนผ่าน Green Bond ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการสูงในหมู่นักลงทุน ดังจะเห็นได้จากในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่มี Green bond ออกใหม่ทั่วโลกมากถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ก็เตรียมที่จะยกเรื่อง Green economy เป็นหนึ่งในเรื่องที่จะผลักดันในมิติของ ESG

ข้อสอง คือ RO – Reopening Thailand หรือ โตอย่างไรในยุคที่ประเทศกลับมาเปิดแต่ทุกอย่างไม่ เหมือนเดิม? เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างขึ้น หลังจากในช่วงเกือบ 2 ปีที่เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ทําให้ภาคการท่องเที่ยวไทยซบเซาลงมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เราเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึงปีละเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10% ของ GDP

อย่างไรก็ดี การเปิดประเทศครั้งนี้้อยู่บนสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิม นั่น คือ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ การเดินทางแบบหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์อาจฟื้นตัวช้า ขณะที่หลายประเทศยังไม่อนุญุาตให้ประชาชนมีการเดินทางระหว่างประเทศมากนัก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเคยเป็นฐานนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทย ทําให้กว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวเทียบเท่าก่อนเกิดโควิด-19 นั้น ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี

ดังนั้นมาตรการในการรับมือ และ โมเดลธุรกิจเพื่อรองกับการเปิดประเทศจึงต้องไม่เหมือนเดิม ธุรกิจท่องเที่ยวที่จะเป็น winner ควรเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวที่เน้นเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น หลังจากในช่วง 2 ปีก่อนเกิดโควิด-19 แม้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละเกือบ 3% แต่พอมองลึกลงไปกลับพบว่า การใช้จ่ายต่อคนต่อวันกลับหดตัวลงเฉลี่ยปีละ 2%

ภาคธุรกิจจึงควรออกแบบประสบการณ์ในการท่องเที่ยวใหม่ที่มุ่งหวังเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น และ ยืดระยะเวลาพํานักให้นานขึ้น (Long stay) เช่น Medical & wellness tourism นอกจากนั้น เราควรใช้โอกาสนี้ในการดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และ รอที่จะใช้จ่าย เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ยุโรป และ อเมริกา หลังจากพบว่า อัตราการออมเงินของคนอเมริกันในปี 2563 และ 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 15% ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งแปลว่าหลังจากนี้ เราจะมีโอกาสเห็นกําลังซื้อจากการท่องเที่ยวมากขึ้นจากประเทศเหล่านี้เช่นเดียวกัน

ข้อสาม คือ W – Work and Workforce of the future หรือ โตอย่างไรในยุคที่โลกของงานเปลี่ยนไป? ธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนหลังโควิดจะต้องให้ความสำคัญกับพนักงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร และ ตระหนักถึงกลยุทธ์ด้าน HRD (Human resource development) และ HRM (Human resource management) ที่มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปจากนี้้

ข้อสี่ คือ T – Technology driven หรือ โตอย่างไรในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด? ธุรกิจที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่งยุคหลังโควิดจะต้องมี “speed” ของการดูดซับองค์ความรู้ และ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว เพราะปัจจุบันความเร็วของการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นเป็นแบบ exponential ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใน 10 ปีจากนี้จะเทียบเท่ากับการพัฒนาใน 100 ปีที่ผ่านมาทั้งหมดรวมกัน ยิ่งไปกว่านั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมากลับยิ่งเป็นตัวเร่งให้การปรับใช้เทคโนโลยีในภาคธุรกิจเกิดขึ้นเร็ว และ เป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแบบกระจายและใช้ร่วมกัน (distributed infrastructure) เช่น cloud computing จะกลายเป็น hub วิเคราะห์ข้อมูลจากภาคธุรกิจกว่า 75% ภายในปี 2568 หรือ แม้แต่ Next generation computing เช่น quantum computing ที่มีความสามารถในการประมวลข้อมูลได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบันถึง 100 ล้านเท่า

ทั้งนี้ ประเทศไทยจําเป็นต้องให้ความสำคัญในด้านการลงทุนวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่จะต่อยอดสู่อนาคต ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่มาจากการสะสมองค์ความรู้พื้นฐานมาอย่างยาวนาน 20-30 ปี โดย IMF ประเมินว่าหากประเทศเพิ่มงบประมาณการวิจัยพื้นฐานเพียง 1 ใน 3 และ รัฐบาลเพิ่มเงินอุดหนุนด้านการวิจัยพื้นฐานให้แก่ภาคเอกชนอีกเท่าตัว ก็จะทําให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพิ่มอีกปีละ 0.2%

ข้อที่ 5 คือ H – Health หรือ โตอย่างไรในยุคที่ “Health is really the new Wealth”? หรือ สุขภาพ คือ ความสมบูรณ์ มั่งคั่งอีกรูปแบบหนึ่ง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผนวกกับพฤติกรรมประชาชนที่ได้ใส่ใจสุขภาพ และ สุขอนามัยมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในการใช้บริการทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และ การดูแลสุขภาพทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นมาก

“เชื่อว่า ธุรกิจที่ตอบโจทย์ 5 ข้อของ GROWTH ได้จะเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตและ ประสบความสําเร็จได้ในโลกอนาคต และ จะเป็นกลจักรที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่การฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน สามารถที่จะแข่งขันได้อย่างเต็มภาคภูมิ ในบริบทโลกใบใหม่หลังโควิด ประเทศไทยจําเป็นต้องให้การสนับสนุนธุรกิจทุกขนาดที่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ซึ่งการแข่งขันไม่ได้หมายถึงจะต้องแข่งกับโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่จะต้องแข่งกับตัวเองในทุกๆวัน โดยการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย และ เป็นแรงกระตุ้นให้เราบรรลุเป้าของการฟื้นฟูประเทศได้ในเร็ววัน และ ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตการณ์ในอนาคต และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน”