ซีรีส์ดัง “สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” กัดจิกปัญหาจริงในสังคมเกาหลีใต้ – วีโอเอไทย – VOA Thai


ภาพยนต์ซีรีส์แนวลุ้นระทึกของเน็ตฟลิกซ์ “สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” ที่ได้กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามนั้นเป็นภาพสะท้อนของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจริงในสังคมเกาหลีใต้ ​โดยเฉพาะปัญหาทางการเงินและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ฝังรากลึกมาหลายสิบปี

“สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” ภาพยนตร์ซีรีส์แนวลุ้นระทึกที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ และกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลกในขณะนี้ เป็นภาพสะท้อนด้านมืดของสังคมเกาหลีที่มีเค้ามาจากประวัติศาสตร์และปัญหาด้านมืดของสังคมที่เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ประเด็นการเลิกจ้างงานของบริษัทใหญ่ ๆ ประชากรจำนวนมากมีหนี้สินท่วมตัว และความเหลี่ยมล้ำทางสังคมที่เห็นชัดได้มากขึ้นทุกวันจากวิกฤตทางเงินต่าง ๆ ที่ประเทศต้องเผชิญมานานกว่า 20 ปี

South Korea Squid Game

South Korea Squid Game

เนื้อเรื่องของซีรีส์ดังกล่าว บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ประสบภาวะขัดสนทางการเงินอย่างรุนแรง รวมทั้งตัวเอกซึ่งเป็นผู้ชายที่เคยทำงานเป็นช่างเครื่องให้กับบริษัทผลิตรถยนต์แห่งหนึ่ง แต่กลับตกงานและหันมาติดการพนันอย่างหนัก โดยตัวเอกต้องร่วมเล่นเกมท้าความตายกับผู้แข่งหลายร้อยคนที่ต่างหมายตารางวัลเงินสด 45,600 ล้านวอน หรือราว 38.31 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาใช้ปลดหนี้ และเริ่มชีวิตใหม่นั่นเอง

ในโลกของความเป็นจริง ลี ชาง-คึน ชาวเกาหลีใต้ที่เป็นอดีตช่างเครื่องของบริษัทผลิตรถยนต์ซันยอง ก่อนที่บริษัทแห่งนี้จะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักจนทำให้ต้องยื่นเรื่องต่อรัฐบาลเกาหลีให้เข้ามีคุ้มครองเรื่องปัญหาล้มละลายเมื่อสิบกว่าปี และบริษัทเลิกจ้างคุณลีและพนักงานอีกราว 2,600 คน โดยหลังจากตกงาน ตัวเขาก็ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักและมีภาวะซึมเศร้า

เมื่อเทียบกับภาพที่ซีรีส์ยอดนิยมนำเสนอแล้ว คุณลี บอกกับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอพีว่า ตนเองทำใจดูบางตอนของ “สควิดเกม”ไม่ค่อยได้เลย

คุณลีเล่าว่า พนักงานหลายคนประท้วงและฟ้องร้องบริษัทซันยองอยู่หลายปี โดยรัฐบาลเองได้พยายามยื่นมือเข้าช่วย กว่าพนักงานหลาย ๆ คนรวมทั้งเขาเองจะได้กลับเข้าทำงานอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง เพียงแต่ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ได้ หลายคนเลือกจบชีวิตตัวเองเพราะไม่สามารถต่อสู้กับปัญหาทางการเงินที่รุมเร้าอย่างหนัก

ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี คุณลีและเพื่อนร่วมงานของเขาที่ออกมาประท้วงยังถูกตีตราว่าเป็น “นักเคลื่อนไหวทางด้านแรงงาน” และโดนขึ้นรายชื่อบัญชีดำกับบริษัทผลิตรถยนต์อื่น ๆ จึงทำให้หางานได้ยากลำบากมาก

เขาเปรียบเทียบความเป็นจริงที่คล้ายกับเรื่องราวใน “สควิดเกม” โดยเล่าย้อนว่า ในซีรีส์นั้น ตัวละครต่าง ๆ ก็ตะเกียกตะกายพยายามที่จะเอาตัวรอดด้วยอาชีพแปลก ๆ หลังจากที่ตกงาน เช่น บางคนหันเปิดร้านอาหารอย่างทุลักทุเล บางคนก็เอารถตัวเองไปขับส่งคนเมาตอนกลางคืน

ตัวละครเหล่านั้นทำให้คุณลีนึกถึงเพื่อนร่วมงานที่ซันยองของเขาที่คิดสั้นและตัดสินใจปลิดชีพตัวเองกันไปแล้ว

South Korea Squid Game

South Korea Squid Game

ทั้งนี้ รายงานโดยนักวิจัยด้านการแพทย์จาก Korea University ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2016 ชี้ว่า พนักงานที่ตกงานหรือญาติของพนักงานที่ตกงานจากบริษัทซันยองอย่างน้อย 28 คนได้จบชีวิตตัวเองหรือประสบปัญหาทางสุขภาพอย่างหนัก

เกาหลีใต้เริ่มสร้างประเทศขึ้นมาใหม่หลังสงครามเกาหลี (Korean War) ซึ่งสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1953 โดยเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จหลายด้าน ทั้งการสร้างบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อย่างซัมซุง หรือความโด่งดังของนักร้อง K-Pop ที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถเผยแพร่อิทธิพลและวัฒนธรรมผ่านเสียงเพลงไปได้ไกลทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำและปัญหาทางสังคมก็เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน

สำนักข่าวเอพีระบุว่า ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากรู้สึกสิ้นหวังในการถีบตัวเองขึ้นไปประสบความสำเร็จในสังคมที่มีสภาวะงานที่ถดถอยและราคาบ้านที่สูงเกินเอื้อม หลายคนจึงเลือกที่จะเสี่ยงโชคกับการพนันหรือการลงทุนต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งการซื้อสกุลเงินดิจิทัลหรือ cryptocurrencies ด้วย

รายงานของเอพี ระบุว่า ปัจจุบันตัวเลขหนี้สินครัวเรือนของเกาหลีใต้นั้นอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าจีดีพีของประเทศ สภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบากเช่นนี้ทำให้อัตราการเกิดของเด็กในประเทศที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว ยิ่งต่ำลงไปอีก เพราะคู่แต่งงานจำนวนมากตัดสินใจที่ไม่มีบุตรกัน

ในส่วนของซีรีส์ชื่อดังนี้ ยังมีการพูดถึงตัวละคนอื่น ๆ ที่สะท้อนปัญหาสังคมอันน่าสลดใจด้วย เช่น ผู้หญิงชาวเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยหลบหนีออกจากประเทศตนเองและผันตัวมาเป็นโจรขโมยเล็กขโมยน้อย เพื่อส่งเงินกลับไปยังครอบครัวใช้สำหรับหาทางหลบหนีออกมาจากเกาหลีเหนือ หรือ แรงงานชาวปากีสถานที่ถูกนายจ้างกดขี่และต้องทนทำงานในสถานทำงานที่ไม่ปลอดภัยจนประสบอุบัติเหตุ สภาพแวดล้อมทั้งหมดนี้ทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนทั้งในชีวิตและในเกมท้าความตายคล้าย ๆ กัน

เซ -อง คิม ทนายความหญิงสัญชาติเกาหลีใต้ที่ทำงานที่ประเทศโปแลนด์ ได้เขียนลงในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์ Seoul Shinmun ซึ่งบทหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในเกาหลีใต้ว่า ถ้าคนต่างชาติเข้ามาพูดคุยด้วยความตื่นเต้นว่า ชอบดูเรื่อง ‘สควิดเกม’ และตั้งคำถามว่าสถานการณ์ของตัวละครอย่าง อาลี แรงงานชาวปากีสถาน เกิดขึ้นจริงในประเทศที่ร่ำรวยอย่างเกาหลีใต้หรือไม่ ตัวเธอเองคงไม่กล้าที่ตอบอะไรไป

สุดท้ายนี้ คิม จอง-วุค ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทซันยองที่เคยร่วมกับ คุณลี ทำการประท้วงบริษัทและเรียกร้องให้ผู้บริหารจ้างพนักงานที่ถูกปลดออกไปกลับมาทำงานอีกครั้ง กล่าวว่า ตนลองชม “สควิดเกม” ได้เพียง 1 ตอนเท่านั้น เพราะ “มันตอกย้ำแผลที่บาดลึกจนเกินไป”

(ที่มา: สำนักข่าวเอพี)