ยานยนต์
12 เม.ย. 2564 เวลา 12:43 น.175
ช่วงเทศกาล “สงกรานต์” เป็นช่วงที่การเดินทางบนท้องถนนมากกว่าปกติ ทั้งการเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา ซึ่งการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว คงต้องใช้ความระมัดระวัง รวมถึงเตรียมความพร้อมทั้งรถทั้งคนให้ดี
ช่วงเทศกาล “สงกรานต์” เป็นช่วงที่การเดินทางบนท้องถนนมากกว่าปกติ ทั้งการเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา ซึ่งการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว คงต้องใช้ความระมัดระวัง รวมถึงเตรียมความพร้อมทั้งรถทั้งคนให้ดี
ทุกเทศกาล รวมถึง “สงกรานต์” รถบนท้องถนนมีปริมาณที่มากกว่าปกติ โอกาสเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลจึงมากขึ้น ดังนั้นสมาธิในการขับรถ การเดินทาช่วงเทศกาล จะต้องเพิ่มมากกว่าปกติ นอกจากนั้นก็มีเทคนิคเล็กๆ น้อยในการขับ หรือการสังเกตที่ทำได้ไม่ยาก แต่สามารถทำให้เดินทางปลอดภัยเพิ่มขึ้นได้
ทางแยก เป็นหนึ่งในจุดอันตราย ไม่ว่าจะเป็นทางแยกที่มีสัญญาณไฟหรือไม่มีก็ตาม ทุกครั้งที่เห็นว่ามีทางแยกข้างหน้า หรือเห็นป้ายบอกว่าจะมีทางแยก ควรลดความเร็ว จากนั้นพยายามมองมุมกว้าง ทั้งหน้า หลัง ซ้ายขวา แม้ว่าจะอยู่ในทางเอก หรือ ได้สัญญาณไฟเขียวก็ตาม เพราะอาจจะมีผู้ที่พร้อมฝ่าฝืนเสมอ
และต้องจำไว้ว่าถ้าจะขับข้ามทางแยก ไม่ต้องเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน หรือ hazard light เพราะอาจทำให้รถที่อยู่ในทางตัดกัน สับสน มองเห็นไฟข้างเดียว นึกว่าจะเลี้ยวก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดตามมา
ทางร่วม ปั๊มน้ำมัน ในช่วงเทศกาลทางร่วม หรือปั๊มน้ำมัน ก็เป็นแหล่งที่จะต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะบางคนที่จะออกจากปั๊มหรือทางร่วมเพื่อเข้าทางหลักอาจตัดสินใจผิดพลาด กะระยะ หรือความเร็วของรถที่วิ่งมาบนทางหลักผิด ขณะเดียวกันช่วงก่อนถึงปั๊มก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะรถที่ต้องการเข้าปั๊มบางคันก็อาจตัดสินใจกะทันหัน หรือ บางคันอยู่ผิดเลน อยู่ขวาสุด แต่พร้อมจะตัดข้ามเลนเพื่อเลี้ยวเข้าปั๊มก็ได้เช่นกัน
จะเข้า-ออกทางร่วม ทางหลัก หรือทางขนาน ปกติแล้วถนนจะมีเส้นจราจรกำกับไว้ชัดเจน คือ มีเส้นทึบ ซึ่งควรจะเคารพเส้น ไม่ขับทับ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยขึ้นได้มาก
อย่าไว้ใจใคร แม้แต่ตัวเอง หมายถึง อย่าขับรถในลักษณะที่เหมือนกับการขับขี่ในภาวะการจราจรปกติ การเว้นระยะห่างก็ควรจะมีระยะที่มากพอ มีสมาธิในการมองเส้นทาง มองเพื่อนร่วมทางอย่างถี่ถ้วน การใช้กระจกมองข้าง มองหลัง ต้องมีมากกว่าปกติ แต่ก็อย่าเผลอลืมมุมมองหลักคือด้านหน้า
ส่วนการเว้นช่องว่างระหว่างคัน ไม่จำเพาะแต่กับคันหน้าเท่านั้น แต่ควรสังเกตพฤติกรรมการขับของรถที่ตามหลังเรามา ว่ามีลักษณะชอบขับจี้ ขับประชิดหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ยอมเปิดทางให้แซงหน้าไปเลยดีกว่า ไม่ได้เป็นการผลักภาระให้กับรถคันที่อยู่หน้าเราอีกที แต่เชื่อว่าคันหน้าถ้าเห็นและพอจะรู้ถึงความเสี่ยงอยู่บ้างก็คงจะเปิดทางให้เช่นกัน
ไฟเบรก เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อให้รถคันหลังได้รู้ว่ารถที่อยู่ด้านหน้าลดความเร็วลง เพื่อจะได้เตรียมตัวลดความเร็วตามลงไป ปัญหาการชนท้ายเกิดจากคันหลังเบรกไม่ทัน จะด้วยความเหม่อลอย หรือเริ่มเบรกช้าเกินไป หรือเกิดจากคันหน้าเบรกกะทันหัน ทำให้คันหลังเบรกไม่ทัน เหตุการณ์ลักษณะนี้พบเห็นได้บ่อยๆ กับการที่มีรถชนกันติดต่อหลายคัน
วิธีป้องกันอย่างหนึ่งก็คือ การใช้แป้นเบรกให้เร็วขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะยังไม่ถึงเวลาเบรกก็ตาม เช่น เรายังอยู่ห่างจากข้างหน้าพอสมควร แต่เริ่มเห็นสัญญาณไฟเบรกของคันหน้า หรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้เราต้องเบรกรถ ก็อาจจะใช้วิธีการยกเท้าแตะแป้นเบรกเมื่อให้สัญญาณไฟเบรกทำงาน ให้คันหลังได้รับรู้ ขณะที่ตัวรถยังไม่ชะลอตัวลงในทันที จากนั้นระยะหนึ่งจึงจะเพิ่มน้ำหนักลงไป วิธีการเช่นนี้ จะช่วยให้คันหลังเตรียมพร้อมที่จะหยุดเร็วขึ้น
เลิกแซงซ้ายไหล่ทางกันเถอะ ข่าวคราวอุบัติเหตุรถชนกันบริเวณไหล่ทางเกิดขึ้นให้ได้ยินกันเป็นระยะๆ แต่ละครั้งสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินอย่างน่าเสียดาย เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเกิด
ไหล่ทาง ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นไหล่ทาง ไม่ใช่เส้นทางหลักที่ควรจะไปขับขี่กัน ไหล่ทางบางเส้นทางมีไว้สำหรับคนเดินถนน รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รถที่มีเหตุฉุกเฉินต้องจอด และรถช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น กู้ภัย หรือว่ารถพยาบาล
บ้านเรามักมีปัญหาคนขับขี่ชอบใช้ไหล่ทางสร้างเป็นเส้นทางใหม่ นอกจากจะเป็นการกีดขวางรถที่จำเป็นต้องใช้จริงๆแล้ว ก็ยังก่อให้เกิดอันตรายอีกด้วย ดังเช่นข่าวที่ได้ยินได้เห็นกันบ่อยๆ รถเสียจอดอยู่ไหล่ทาง อีกคันมาจากไหนไม่รู้ลงซ้ายไปด้วยความเร็ว และก็ชนกัน
การแซงซ้ายไหล่ทางเป็นเรื่องอันตราย แต่การแซงขวาที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ก็จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดเช่นกัน เพราะเมื่อรถบนท้องถนนเยอะๆ บวกกับมีพวกขับช้าอยู่ขวาจำนวนมาก ทำให้รถหลายๆ คันจำเป็นต้องขับเหมือนงูเลื้อย คือแซงขวาทีซ้ายทีบนถนน และหากเป็นถนนที่มีตั้งแต่ 3 เลนขึ้นไปต่อช่องทาง ก็มีโอกาสที่รถที่อยู่เลนซ้ายสุดแล้วแซงขวา จะไปเจอกับรถที่อยู่เลนขวาสุดแล้วกำลังแซงซ้ายรถที่ขับช้าอยู่ขวา จะมาเจอกันที่เลนกลาง เพราะช่วงที่ทั้ง 2 คันอยู่กันเลนริมสุด กระจกมองข้างจะมีจุดบอดที่ไม่สามารถมองเห็นได้
ดังนั้นการแซงทุกครั้ง เมื่อมองกระจกข้างว่าทางโล่งแล้ว ใช้หางตากวาดเพิ่มทะลุหน้าต่างรถออกไปสักเล็กน้อย เพื่อดูว่ามีรถคันอื่นที่อยู่ในระนาบพอๆกันกำลังเข้ามาใช้เลนดังกล่าวด้วยหรือไม่ และควรเปลี่ยนช่องทางทีละเลนเท่านั้น
การขับขี่ขึ้นลงเขา มีข้อที่ควรรู้มากมาย แต่ใครที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ก็ไม่ควรที่จะเสี่ยง
แต่ใครที่ขับได้ การขับขี่ในเส้นทางอย่างนี้ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง ควรเว้นระยะจากคันหน้าพอควร หากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น คันหน้าเครื่องดับ หรือว่าไหลถอยหลังจะได้มีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอ
และควรจะขับอยู่ในเลนของตนเอง อย่าพยายามตัดโค้งเด็ดขาด อีกสิ่งหนึ่งคืออย่าเลียเบรกหรือคลัทช์ การขับลงเขาควรใช้เกียร์ต่ำช่วยให้เกิดเอนจิ้นเบรก และใช้เท้าเหยียบเบรกเป็นระยะแล้วปล่อย เพื่อลดความเร็วของรถ
ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เป็นเรื่องพื้นๆ เพียงแต่ว่าหลายคนชอบละเลยกันเท่านั้นเอง