นักปั่นจักรยาน “เสี่ยงอันตราย” ถนนไหล่ทางถูกยึดทำกิจกรรม – โพสต์ทูเดย์

วันที่ 02 ธ.ค. 2561 เวลา 08:04 น.

นักปั่นจักรยาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนถนนชี้ นักปั่นจักรยานในไทยต้องเสี่ยงอันตรายสูงจากพื้นที่ไล่ทางบนถนนที่ถูกยึดทำกิจกรรมสารพัด

******************************

โดย…เอกชัย จั่นทอง

ท้องถนนของไทยไม่ปลอดภัยทุกหย่อมหญ้า แม้แต่บนทางเท้าที่เกิดเหตุการณ์มอเตอร์ไซค์ชนเด็กเสียชีวิต

กระทั่งนักขับขี่จักรยานก็เช่นกัน มีอุบัติเหตุหลายครั้ง ไปจนถึงนักปั่นชื่อก้องโลกยังต้องมาจบชีวิตบนท้องถนนในประเทศไทย

ต้องยอมรับว่ากีฬาปั่นจักรยานทั่วโลกให้ความนิยมอย่างแพร่หลาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่อย่างดี แต่กายภาพในเส้นทางสองล้อของนักปั่นจักรยานในไทย ยังไม่ตอบโจทย์เหล่านักปั่นเท่าที่ควร นั่นทำให้เกิดข้อสงสัยในทางกายภาพถึงความเหมาะสม

นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้อธิบายถึงกายภาพความปลอดภัยบนถนนในประเทศไทยว่า กายภาพในเส้นทางจักรยานถือเป็นสิ่งที่มีผลต่อความปลอดภัยกับนักปั่นจักรยาน โดยปกติแล้วจักรยานทุกคันจะใช้พื้นที่ประมาณ 1-1.30 เมตรของการขี่บนถนนที่มีไหล่ทางกว้าง ถือว่าปลอดภัย

สำหรับถนนในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตชนบทหรือถนนที่ผ่านการเวนคืนมักมีลักษณะไหล่ทางแคบ มีถนนเพียง 2 เลนให้รถวิ่งสวนกัน นั่นหมายความว่ามีโอกาสสูงที่จักรยานจะวิ่งปนเลนรถยนต์ สุ่มเสี่ยงอันตรายทั้งเหตุเฉี่ยวชนที่อาจส่งผลต่อชีวิต

“ไม่ว่าเวลากลางวันหรือกลางคืน สมมติว่าเป็นถนนที่ไม่มีไหล่ทาง หากวิ่งปนกับเลนรถยนต์บนถนน เราขับรถมา 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วฝั่งตรงข้ามมีรถวิ่งสวนมา แต่ข้างหน้าเรามีรถจักรยานขี่อยู่ ในความเร็วสัมพัทธ์นั้น ระหว่างจักรยานกับรถยนต์ต่างกันเยอะ เฉลี่ยจักรยานปั่นอยู่ประมาณ 15-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่รถที่วิ่งมา 60 กิโลเมตรฯ จะทำให้เบรกไม่ทัน ถ้ารถที่ขับไม่ชะลอรถจักรยานที่ปั่นอยู่จะเกิดอันตราย เนื่องจากความสัมพัทธ์ต่างกันถึง 30 กิโลเมตรฯ”

นพ.ธนะพงศ์ อธิบายกายภาพอีกว่า ส่วนความเสี่ยงถนนที่มีไหล่ทาง พบว่า ในประเทศไทยถูกใช้กับกิจกรรมอื่น เช่น รถจอดริมทาง (มีอุปกรณ์ยื่นออกมานอกรถ) ร้านค้าขายของ ฝาท่อ ถนนขรุขระ ฯลฯ ทำให้ผู้ขี่จักรยานต้องปั่นปนกับเลนรถยนต์ เสี่ยงต่อการเกิดการชนเช่นกัน เหมือนกรณีตัวอย่างที่นักปั่นถูกไม้ไผ่แทงตาบอดขณะปั่นจักรยาน ตรงนี้ก็มาจากรถที่จอดริมทาง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการขับรถย้อนศร พบว่าถนนหลายจุดมีพฤติกรรมการขับขี่ย้อนศร เช่น จุดขยายถนน 4 เลน 6 เลน แล้วก่อสร้างเกาะกลาง ทำให้ต้องสร้างจุดยูเทิร์นไกล เพราะเดิมคนในชุมชนคุ้นชินกับการข้ามถนนแบบเดิม จึงพบเห็นการขี่ย้อนศร และเมื่อจักรยานปั่นมาหากเกิดการชนแบบปะทะกับจักรยาน จะทำให้จักรยานกระเด็นออกมาบนถนน เสี่ยงต่อการถูกรถทับบาดเจ็บเสียชีวิต

ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวอีกว่า แม้ถนนมีไหล่ทาง แต่ก็มีกิจกรรมข้างทางหลายอย่าง รวมถึงถนนที่กว้าง รถจะขับเร็วและเสี่ยงต่ออันตรายสำหรับนักปั่น ทั้งหมดมันชี้ว่าสำคัญกับเรื่องกายภาพ เพียงแต่เป็นเรื่องกายภาพที่ไม่ใช่การกำกับ ซึ่งนั่นคือโอกาสเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับนักปั่นจักรยาน

กลุ่ม Thai Cyclists’ Network จัดกิจกรรมไว้อาลัยให้กับฟรานซิสโก วิลลา นักปั่นผู้เดินทางเพื่อปั่นจักรยานมาแล้ว 5 ทวีปทั่วโลก ที่ประสบ อุบัติเหตุเสียชีวิตที่ประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน

เช่นเดียวกับ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการจักรยาน สะท้อนความคิดส่วนตัวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการปั่นจักรยานของนักปั่นทุกคนคือ ต้องทำให้ตัวเองปลอดภัย จงทำให้คนอื่นเห็น นั่นคืออุปกรณ์ในการปั่นจักรยาน เช่น เสื้อผ้า สัญลักษณ์ ไฟส่องสว่าง ฯลฯ ต้องทำให้คนอื่นเห็นเราให้เด่นชัดที่สุด เพื่อความปลอดภัยในการขี่รถจักรยาน หากเราไม่ปฏิบัติความสุ่มเสี่ยงต่างๆ อาจส่งผลต่อการเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะการปั่นบนถนนหลวงที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้

นักปั่นผู้เชี่ยวชาญคนเดิมยังถอดประสบการณ์ให้ฟังด้วยว่า “การแข่งขันในรายการต่างๆ ส่วนใหญ่ทางผู้จัดการรับทราบอยู่แล้วว่าต้องดำเนินการให้ปลอดภัย ป้องกันอันตรายให้กับนักปั่น โดยปล่อยนักปั่นเป็นกลุ่มก้อน อาจคิดว่านักปั่นจะเกาะกลุ่มกันไป ในความจริงศักยภาพของนักปั่นแต่ละคนไม่เท่ากัน อาจมีคนถูกทิ้งไว้ให้ปั่นไปตามลำพัง และในการแข่งขันในรายการต่างๆ จะมีการกำหนดเวลาตัดตัวผู้แข่งขัน ทำให้ผู้แข่งขันต้องเร่งความเร็วจนขาดความรอบคอบ เช่น การปั่นจักรยานระยะทาง 1,000 กิโลเมตร แน่นอนว่าต้องผ่านเส้นทางที่อาจมีการจราจรหนาแน่น หรือจุดจราจรต่างๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดงานว่าจัดการดูแลความเรียบร้อยอย่างไร กล่าวคือ ขึ้นกับความรับผิดชอบของผู้จัดการแข่งขันนั้นๆ ด้วยเช่นกัน” ผู้คร่ำหวอดวงการจักรยาน ระบุ

ธงชัยให้ภาพความเชื่อมโยงของกลุ่มผู้ใช้จักรยานว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่ากลุ่มคนใช้จักรยานแบ่งออกได้เป็น 1.กลุ่มคนใช้จักรยานที่ปั่นโดยทั่วไปปกติ 2.กลุ่มนักจักรยาน กลุ่มนี้มีเป้าหมายชัดเจนคือกลุ่มคนที่สร้างรายได้ สร้างการท่องเที่ยว เกิดเม็ดเงินจากการจัดกิจกรรม มีรายได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ กลุ่มนี้ถือว่ามีความสำคัญและมีการใช้จักรยานจำนวนมาก

3.กลุ่มคนขับรถ กลุ่มนี้เป็นผู้ใช้รถบนถนน ซึ่งเราไม่สามารถบังคับคนกลุ่มนี้ บางคนขาดจิตสำนึกประมาทในการขับขี่ ไร้ใบอนุญาต บางคนถูกยึดใบขับขี่แต่ยังสามารถมาขับรถได้ นั่นจึงโยงไปถึงกลุ่มที่ 4.คือกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ไม่อาจบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีอย่างจริงจัง จนเกิดผลกระทบต่างๆตามมาอย่างไม่คาดคิด ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงเป็นขบวน

“ในฐานะที่เคยปั่นจักรยานแล้วในหลายประเทศทั่วโลก และเติบโตมากับงานวิศวกรรม ยืนยันประเทศมีสภาพถนนที่ดีมาก เหมาะแก่การปั่นจักรยาน มีพื้นที่ไหล่ทางกว้างขวาง การันตีได้เลยว่าเป็นถนนที่ดีต่อการปั่นจักรยาน ทัดเทียมท้องถนนอื่นๆ ในนานาประเทศทั่วโลกได้เลย” ธงชัย ยืนยันถนนไทยดีปลอดภัย