ทุ่มเทสุดกำลัง! ภารกิจพิชิตโควิด-19 เจ้าหน้าที่ กทม.หัวใจของคุณหล่อและสวยมาก! – ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นประวัติศาสตร์สำคัญอีกหนึ่งหน้าของกรุงเทพมหานครกับภารกิจสู้ภัยโควิด-19 ที่สะท้อนความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งล้วนทุ่มเทแรงกายแรงใจให้การช่วยเหลือและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อดูแลและรักษาประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯอย่างไม่ย่อท้อ และพร้อมจะสู้ต่อจนกว่าวิกฤติครั้งนี้จะสิ้นสุด

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินภารกิจหลากหลายด้านอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ผู้อำนวยการเขต รวมถึงข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมปฏิบัติภารกิจทุกภาคส่วนซึ่งได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทุกคนได้ทุ่มเทปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้อยู่ภายในวงจำกัดโดยเร็วที่สุด”



หนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ การรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สายด่วน 1669 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานจัดส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อเข้ารับการรักษา โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสายด่วน 1668 กรมการแพทย์ และสายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีขั้นตอนในการปฏิบัติงาน คือ เมื่อได้รับข้อมูลผลการติดเชื้อของผู้ป่วยและผู้ป่วยยังไม่ได้รับการจัดสรรเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา หน่วยงานและสถานพยาบาลจะประสานมายังกรุงเทพมหานครเพื่อส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และโรงพยาบาลสนามที่จัดตั้งขึ้น



นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้น ภารกิจของศูนย์เอราวัณ คือ การคัดกรองผู้ป่วยโควิดกลุ่มต่างๆ โดยผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจะส่งไปยังศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ซึ่งมีอยู่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต จำนวน 65 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2564)  ด้วยรถยนต์ของฝ่ายเทศกิจ  สำนักงานเขตต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งจะส่งไปยัง Hospitel  และโรงพยาบาลสนาม  ด้วยรถยนต์ของทหาร แต่ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง จะใช้รถพยาบาลของศูนย์เอราวัณ หรือรถเครือข่ายในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวเลือกการกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) มากขึ้น ทำให้ช่วยลดภาระความจำเป็นของหน่วยงาน และเตียงโรงพยาบาลได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้มีเตียง และรถรับตัวผู้ป่วยของศูนย์เอราวัณเพียงพอที่จะนำไปบรรเทาภารกิจดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงได้มากขึ้นด้วย



“ขณะนี้ ศูนย์เอราวัณได้ปรับกระบวนการทำงานรับส่งเฉพาะผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ศูนย์เอราวัณจะเร่งประเมินอาการ รับตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง และป้องกันการติดเชื้อเพิ่มของคนในครอบครัว แม้ว่าในช่วงนี้ไม่ใช่เพียงสถานการณ์รอส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาให้ทันท่วงทีเท่านั้น แต่บางรายระหว่างการนำส่งตัว ศูนย์เอราวัณ ยังเผชิญสถานการณ์ที่เตียงปลายทางในโรงพยาบาลไม่ว่างกะทันหันจากผู้ป่วยรายอื่นที่โรงพยาบาลรับตัวไว้ ทำให้ศูนย์เอราวัณต้องให้ผู้ป่วยพักคอยอยู่ในรถ จนกว่าจะหาเตียงใหม่ทดแทนได้ และนำส่งได้อย่างปลอดภัย” ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ กล่าว



จากการให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ ระบุว่า ปัจจุบันสายด่วน 1669  มีโทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลืออยู่ที่กว่า 2,000 สายต่อวัน ลดระดับลงมาจากก่อนหน้านี้ที่มีสูงถึงหลักหมื่น  เนื่องจากประชาชนเริ่มทราบหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยแต่ละระดับสี และเข้าใจระบบมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ก็ยังเผชิญปัญหาเรื่องเตียงเต็มในผู้ป่วยกลุ่มสีแดง แม้ว่า

โรงพยาบาลตามสิทธิ หรือโรงพยาลที่ใกล้เคียงพื้นที่ผู้ป่วยอาศัยไม่มีเตียงว่าง ศูนย์ฯ ก็จะพยามอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการประสานกับทางโรงพยาบาลในสังกัด กทม. หรือประสานทีม Bed Management เพื่อส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที



ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ต้องรับสายโทรศัพท์จากทั้งผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับตัวเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม

นายนารอน แสนทวีผล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า เดิมที การแจ้งเหตุฉุกเฉิน จะมีจำนวนเคสประมาณ 1,700-1,800 คน ต่อวันภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดของระลอกเดือนเมษายนนั้น มีสายโทรศัพท์แจ้งเข้ามาขอความช่วยเหลือในระบบศูนย์เอราวัณ ประมาณ 2,000-2,700 คนต่อวัน



เมื่อดูสถิติรายเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันสูงถึง 70,000 คน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยในเดือนกรกฎาคม  การโทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลือสูงถึงกว่า 200,000 คน หากดูเฉลี่ยรายวันเดือนสิงหาคม แนวโน้มและทิศทางเริ่มดีขึ้น จากตัวเลขเดือนเมษายนมากกว่า 9,000 คนต่อวัน  แต่ขณะนี้ยอดผู้ป่วยที่โทรศัพท์เข้ามาอยู่ที่ 2,000 คนต่อวัน  (ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2564) ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของการแจ้งเหตุฉุกเฉิน หากนับเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ยังคงเป็นตัวเลขที่คงเดิมอยู่ ในเดือนสิงหาคม จะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนราย แต่ภาพรวมรายวันจะลดลง

“การประสานงานกับโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีที่แจ้งเหตุผ่าน 1669 สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านศูนย์เอราวัณ รับข้อมูลเพื่อเตรียมส่งต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลสอบถามอาการ ประเมินเรื่องความเร่งด่วนของการเข้าช่วยเหลือ เพื่อศูนย์ฯ จะได้จัดรถพยาบาลที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยเข้าไปรับ ซึ่งกระบวนการขั้นต้นใช้เวลาไม่นานเพียง 1-2 นาที หลังจากนั้นจัดเตรียมทีม สั่งการรถพยาบาลเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนาม” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์เอราวัณ กล่าว

สำหรับการเตรียมการรับผู้ป่วยโควิด-19 มีความแตกต่างจากเหตุฉุกเฉินปกติ เนื่องจากต้องมีการเตรียมทีมสำหรับสวมใส่ชุด PPE เพื่อป้องกันเชื้อโรค รวมไปถึงประสานสถานพยาบาลปลายทาง ทั้งนี้ ในกรณีกลุ่มผู้ป่วยที่โทรศัพท์เข้ามาที่ศูนย์เอราวัณ 1669 เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีแดง (วิกฤต) จะต้องเร่งดำเนินการทันที เพราะเป็นเคสผู้ป่วยที่จะรอไม่ได้ ซึ่งศูนย์ฯ จะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และในแต่ละวัน ศูนย์เอราวัณสามารถส่งต่อผู้ป่วยได้กว่า 100 รายต่อวัน

“ช่วงนี้ประชาชนเข้าใจระบบการรักษามากขึ้น ภาพรวมของการบริหารจัดการดีขึ้น ระบบ Bed Management Center ที่มี ทำให้ศูนย์ฯ สามารถทำงานคล่องตัวมากขึ้น ส่วนอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ขึ้นอยู่กับเคสที่เข้ามาเพราะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละวัน เราพยายามจัดการอย่างรอบคอบ เนื่องจากบางเคสมีความซับซ้อนของโรคอื่นร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยทางจิตเวช สิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุดคือ การทำงานแข่งกับเวลา เพราะทุกนาทีหมายถึงชีวิตผู้ป่วย” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ศูนย์เอราวัณ กล่าวเพิ่มเติม

ในด้านศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation: CI) สำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาจากบ้าน นำมาพักที่ศูนย์พักคอยฯ มีการคัดกรองอาการ และดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาด และติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข บริหารจัดการผู้ป่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ร่วมดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย



นายยุทธนา ศรีแย้มวงษ์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตตลิ่งชัน ซึ่งได้ลงตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงาน ณ ศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์พักคอยฯ ดูแลในเรื่องของการออกหนังสือกักตัว หรือแยกกักผู้เสี่ยงสูง โดยรวมไปถึงอำนวยความสะดวกการตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อ

โควิด-19 แยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดสู่คนในครอบครัวและชุมชน รวมไปถึงจัดเจ้าหน้าที่ร่วมอำนวยความสะดวก ทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก (Bangkok Comprehensive Covid-19 Response team: Bangkok CCRT) ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ในชุมชน

“กรุงเทพมหานครยังคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งสำนักอนามัย พบว่า มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในสถานที่ที่ประชาชนหนาแน่น เช่น ตลาด อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ยังคงเข้มงวดให้เป็นไปตามมาตรการที่กรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะเจ้าหน้าที่เปรียบเสมือน บุคลากรด่านหน้า มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่หากไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เป็นการทำงานบูรณาการของทุกภาคส่วนภายในเขต” หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตตลิ่งชัน กล่าว



ขณะที่ นางสาวรัศมีดาว ศรีหงส์ นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตตลิ่งชัน กล่าวถึงภารกิจที่ได้รับในสถานการณ์โควิด-19 เรื่องการปฏิบัติงานในศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน โดยแยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ออกจากชุมชน และรับเข้าพักที่ศูนย์พักคอยฯ มีการคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน

โดยศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวได้จำนวน 56 เตียง เป็นผู้ชาย 28 เตียง  และผู้หญิง 28 เตียง มีการแบ่งกั้นแยกโซนผู้ชาย และโซนผู้หญิง พร้อมมีระบบกล้อง CCTV และการสื่อสารภายในต่างๆ ระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมรองรับผู้ป่วยที่รอเตียงหรือผู้ป่วยตกค้างในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ซึ่งมาตรฐานการรักษาและดูแลผู้ป่วยนั้นได้รับการสนับสนุน และจัดระบบโดยโรงพยาบาลบางปะกอก 8 มีความพร้อมทั้งสถานที่ ระบบดูแล อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์

“ผู้ป่วยที่เข้ามานั้นจะต้องมีผลการตรวจด้วยชุด ATK หรือ RT-PCR เพื่อยืนยันกับเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางปะกอก 8 จะประเมินอาการผู้ป่วยก่อนนำเข้าสู่ศูนย์พักคอยฯ โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจรับตัวผู้ป่วย เมื่อรับเข้ามาแล้วจะมีการพูดคุย หรือมอนิเตอร์ผู้ป่วย ผ่านอินเตอร์คอมฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ไปพักยังเตียงผู้ป่วยที่มีการจัดเตรียมไว้ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางปะกอก 8 จะเป็นผู้ดูแลอาการผู้ป่วย โดยมีการผลัดเวรดูแลตลอด 24 ชั่วโมง”



สำหรับการปฏิบัติงานในจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ที่กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อค้นหาผู้ป่วยและเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตในกลุ่มเขตกรุงธนเหนือหมุนเวียน ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศุขเวช ทำการตรวจด้วยชุด Antigen Test Kit (ATK) หากพบผลเป็นบวก จึงจะตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR และรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบตามแนวทางการรักษาของแพทย์ต่อไป

“ในแต่ละวันจะมีผู้เข้ารับบริการอยู่ที่ประมาณ 1,000 คน รวมไปถึงการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ในตลาดอีกด้วย สำหรับอัตราของผู้เข้าตรวจที่พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีจำนวนไม่เกิน 20-30% ต่อสัปดาห์ ส่วนปัญหาที่พบในจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 จะเป็นเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่มารอเข้าคิวตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้าไปอธิบายให้ทราบว่ากรุงเทพมหานครให้บริการตรวจสำหรับประชาชนชาวไทยที่มีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ” นางสาวรัศมีดาว ศรีหงส์ กล่าว



นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมด ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อ  โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้แล้วจำนวนมาก ซึ่งมาจากสถานบริการด้านสาธารณสุข  เช่น  

โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก สถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐ และโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว (Hospitel) โรงพยาบาลสนาม  หน่วยบริการตรวจเชิงรุก  ศูนย์บริการฉีดวัคซีน  และสถานที่สำหรับผู้กักตัวในอาคารพักอาศัยประเภทต่างๆ เช่น หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่มาจากบ้านเรือนประชาชน ซึ่งปัจจุบันยังคงพบเห็นการทิ้งที่ไม่ถูกวิธี ทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป หรือตกหล่นริมถนน หรือในที่สาธารณะ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค จากรายงานข้อมูลขยะติดเชื้อ ณ วันที่ 30 ส.ค. 64 พบว่า ปริมาณขยะติดเชื้อของวันที่ 29 ส.ค. 64 รวม 128,130 กิโลกรัม แบ่งออกเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 69,555 กิโลกรัม และมูลฝอยติดเชื้อโควิด 58,575 กิโลกรัม

ปัจจุบันมีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยวันละ 10 ตัน กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดจุดตั้งวาง หรือทิ้งขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยกว่า 1,000 จุด เพื่อจัดเก็บและนำไปทำลายตามกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชน ในการแยกทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19



นางสาวสลิลทิพย์ ฝอยทับทิม หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตตลิ่งชัน เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยสำนักงานเขตจะให้คำแนะนำ และขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อออกจากมูลฝอยทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ออกสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดรถเก็บขนมูลฝอยเฉพาะ รวบรวมไปยังจุดพักมูลฝอยติดเชื้อของสำนักงานเขต เพื่อให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จัดเก็บและนำไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งจะใช้การเผาทำลายอย่างถูกวิธีทุกวัน

“ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เจ้าหน้าที่เก็บขนมูลฝอยก็มีความกังวลว่าจะติดเชื้อ ในฐานะหัวหน้างาน ก็ไม่อยากให้ผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อ อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ในการรับผิดชอบส่วนนี้ จำนวนน้อย ดังนั้นเราจึงมีมาตรการให้แต่ละบุคคลสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้มีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทำการจัดเก็บขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ ดำเนินการจัดเก็บที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation: CI) ในพื้นที่เขตตลิ่งชัน โดยเข้าจัดเก็บตามปริมาณขยะ”

หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตตลิ่งชัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พนักงานเก็บขยะยังคงพบ ขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัยปะปนมากับขยะมูลฝอยทั่วไป ทำให้พนักงานเก็บขยะทุกคน ต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการ และสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เสมือนเป็นการเก็บขยะติดเชื้อในทุกกรณี  จึงขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมถึงเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอย โดยขอให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัยใช้แล้ว” และแยกทิ้งกับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ซึ่งตั้งวางในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด ประกอบด้วยสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้าและดินแดง) โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะที่อื่นๆ เช่น ตลาด วัด ชุมชน หน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน เคหะชุมชนต่างๆ อื่นๆ



นายเกรียงศักดิ์ แตงมาก ตำแหน่งพนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดเบา ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตตลิ่งชัน กล่าวว่า เป็นพนักงานประจำปฏิบัติหน้าที่มาแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละวัน จะทำงานปกติจนเสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงดำเนินการเก็บขยะติดเชื้อในศูนย์พักคอยฯ โรงเรียนวัดตลิ่งชัน

“สำหรับขยะทั่วไปจะจัดเก็บในลักษณะเดียวกับขยะตามบ้านเรือน หากบ้านไหนมีขยะติดเชื้อจะดำเนินการเก็บอีกครั้งในช่วงเย็น เพราะต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นชุด PPE และถุงมือสำหรับจัดเก็บ เพื่อเลี่ยงการสัมผัสขยะติดเชื้อโดยตรง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อออกจากมูลฝอยทั่วไป โดยขอให้แยกใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่น เขียนติดหน้าถุงให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าเป็นขยะติดเชื้อรวบรวมและแยกไว้ภายในบริเวณที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ออกสู่สิ่งแวดล้อม” นายเกรียงศักดิ์ แตงมาก กล่าว



ต้องยอมรับว่า นี่คือ ตัวอย่างความร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากรกรุงเทพมหานครอย่างเต็มกำลัง ซึ่งยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือ ร่วมเป็นพลังในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด