โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว”โมโตจีพี” 2 ปีซ้อน – คมชัดลึก

 ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่รวบรวมตัวเลข ต่อการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก ” โมโตจีพี”ในเดือนตุลาคม 2561 น่าสนใจว่า การแข่งขันจักรยานยนต์ ที่มีนักแข่งรถชั้นนำจากทั่วโลก เดินทางมาแข่งขันในไทย โดยมีสังเวียนการแข่งขันอยู่ที่ ช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต  จังหวัดบุรีรัมย์ ตลอดการแข่งขันรวม 3 วัน ในขณะนั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 คือ 5 -7 ตุลาคม 2561 สามารถดึงดูดผู้ชมให้เดินทางเข้าสู่สนามรวม 205,000  แบ่งเป็น ผู้ชมชาวไทย 153,750 หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้เข้ามาร่วมงาน ขณะที่สัดส่วนของชาวต่างชาติอยู่ที่ 51,250 คน  หรือ คิดเป็นร้อยละ 25 โดยต่างชาติที่เดินทางมาไทยมากที่สุด  เพื่อชมการแข่งขัน ” โมโตจีพี” ในขณะนั้น คือ ออสเตรเลีย , สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ตามลำดับ 

การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบความเร็ว ในปี 2561 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย และจังหวัดบุรีรัมย์ เพราะเกิดการสะพัดของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 3,100  ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้เฉพาะเจ้าภาพ คือจังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์กลางการแข่งขัน 2,470 ล้านบาท และพื้นที่ใกล้เคียง คือ ขอนแก่น , สุรินทร์ และนครราชสีมา 630 ล้านบาท  คือรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่มาจาก ” โมโตจีพี”

กระแสฟีเวอร์ของโมโตจีพี ที่ไทยจัดขึ้นเป็นปีแรก ส่งผลให้จำนวนห้องพัก ที่มีอยู่ของโรงแรม และ เกสต์เฮาส์ ในบุรีรัมย์ไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าไป การสะพัดของรายได้ 3,100 ล้านบาท จึงครอบคลุมไปทั้ง ค่าเดินทาง  ค่าที่พัก ค่าอาหาร และ สินค้าที่ระลึก 

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกด้านคือ ก่อให้เกิดการจ้างงาน 7,749 คน โดยเป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3,831 คน คิดเป็นร้อยละ 49.44 ของการจ้างงานใหม่ทั้งหมด ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ ในรูปแบบภาษี รวม 329 ล้านบาท นี่คือภาพที่เกิดขึ้นกับปีแรก ของไทย ต่อการเป็นเจ้าภาพ”โมโตจีพี”ในปี 2561 

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

ส่วนการจัดการแข่งขัน”โมโตจีพี “ในปี 2562 ที่ไทย เป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 4-6 ตุลาคม 2562 ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่สรุปภาพรวม อันเป็นปัจจัยบวกของประเทศไทย พบว่า สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศรวม 3,134.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อันเป็นปีแรก 34 ล้านบาท เศษ  ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้ 254 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงาน 5,466 คน 

การแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก หรือ โมโตจีพี ที่มีประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ คือการสร้างบทบาทใหม่ให้กับประเทศไทย บนแผนที่ของวงการมอเตอร์สปอร์ต เพราะโมโตจีพี คือการแข่งขันในแบบเก็บคะแนน โดยมีสนามแข่งขันประจำฤดูกาลกระจายอยู่ทั่วโลก แน่นอนว่าการได้สิทธิเพื่อเป็นเจ้าภาพ ส่วนหนึ่งคือการที่ภาครัฐและเอกชนของไทย ประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการเป็นเจ้าภาพจากดอร์นาสปอร์ต ประเทศอิตาลี แต่เมื่อเทียบการลงทุนกับกำไรแล้วถือว่าคุ้มค่า

ทั้งนี้การเป็นเจ้าภาพของไทย ในสัญญาฉบับแรก เกิดขึ้นตลอด 3 ปี คือ 2561 ถึง 2563 ตามสัญญาที่ทำไว้ แต่น่าเสียดายที่การจัดการแข่งขันในปี 2563 หรือครั้งที่ 3 ถูกเลื่อนออกไป ด้วยปัญหา”โควิด 19″ ที่ระบาดไปทั่วโลก และฝ่ายจัดการแข่งขัน  นำโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะมาจัดในเดือนตุลาคม 2564 เพื่อชดเชยกับการเลื่อนการแข่งขันในปี 2563 

แต่ด้วยสถานการณ์ของ”โควิด 19″ ที่รุนแรงต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐ และดอร์นาสปอร์ต ตัดสินใจ ให้เลื่อนการแข่งขัน ตามสัญญาในปีที่ 3 ออกไป เป็นปีหน้า หรือ ปี 2565 ซึ่งเท่ากับว่า โมโตจีพี ในไทย เว้นว่างการจัดการแข่งขัน ในปี 2563 และในปี 2564 หรือเลื่อนจัดติดต่อกัน 2 ปี  โดยปัจจัยเดียว ที่ฉุดรั้ง คือ โควิด 19 ที่ทำให้อีเว้นทมอเตอร์สปอร์ตของไทยถูกเล่นงานแบบไม่รู้จบ ทั้งหมดนี้คือภาพด้านหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเสียหายของวงการกีฬา อันมีที่มาจากโควิด 19 

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

โควิด19ไทยวืดจัดดวลความเร็ว

**** แฟ้มภาพการแข่งขันในปี2561 

ขอขอบคุณภาพจาก ช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต